7 พ.ย. 2023 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

"Trigger Fund" กองทุนที่เหมาะกับคนไม่รู้ว่าจะขายออกตอนไหนดี?

รู้จักกองทุนรวมของคนถนัดซื้อ แต่ไม่ได้ถนัดขาย
แทบทุกครั้งที่ตลาดหุ้นตกหนักๆ สวนทางกับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ ภาวการณ์ลงทุน ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทย หุ้นจีน หรือ หุ้นเวียตนาม ฯลฯ มักจะมีกองทุนประเภทหนึ่งเกิดขึ้นเสมอ คือ กองทุน Trigger Fund
Trigger ตามความหมายในพจนานุกรม แปลว่า สิ่งกระตุ้น ดังนั้น Trigger Fund จึงแปลว่า กองทุนที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อมีสิ่งกระตุ้น โดยสิ่งกระตุ้นโดยทั่วไปของกองทุน Trigger Fund ก็คือ NAV (มูลค่าหน่วยลงทุน) แตะเป้าหมายที่กำหนด
เช่น เป้าหมาย Trigger คือ NAV เติบโต 6% ใน 6 เดือนบ้าง หรือ 10% ใน 1 ปีบ้างนับจากวันจดทะเบียนกองทุน โดยการดำเนินการที่บริษัทจัดการจะดำเนินการก็คือ จะทำการเลิกกองทุน และรับซื้อคืนโดยอัตโนมัติ และเพื่อให้ผู้จัดการกองทุนสามารถบริหารกองทุนให้ NAV บรรลุเป้าหมาย Trigger ในระยะเวลาที่กำหนดได้อย่างเต็มที่ บริษัทจัดการจะล็อคไม่อนุญาตให้ผู้ถือหน่วยลงทุนซื้อเพิ่มหรือขายคืนหน่วยลงทุนได้ (เหมือนกองทุนปิดนั่นเอง)
แต่หากครบกำหนดระยะเวลาที่ระบุแล้ว NAV ของกองทุนยังเติบโตไปไม่ถึงเป้าหมาย Trigger หรือมีมูลค่าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อย่างเช่น NAV เติบโตไม่ถึง 6% ใน 6 เดือนล่ะ จะทำอย่างไร?
บางบริษัทจัดการก็จะเปิดให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อ/ขาย/สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ โดยเป้าหมายที่เป็นเหตุให้เลิกโครงการยังคงดำเนินอยู่ต่อไป หรือ บางบริษัทจัดการจะเปิดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถทำการขายคืนหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการที่บริษัทจัดการกำหนด คือขายคืนได้อย่างเดียว ซื้อเพิ่มไม่ได้ และหาก ณ วันใดก็ตามที่กองทุนเข้าเงื่อนไขการเลิกกองทุนตามเงื่อนไขที่บริษัทจัดการกำหนด บริษัทขอสงวนสิทธิที่จะดำเนินการเลิกกองทุนตามเหตุการณ์ดังกล่าว
ประเด็นสำคัญที่หลายคนเข้าใจกันผิด ก็คือ กองทุน Trigger Fund รับประกันว่าจะได้รับผลตอบแทนตามระยะเวลาที่กำหนด แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่นะ เป้าหมาย Trigger คือ เป้าหมายที่จะเลิกกองทุนในระยะเวลาที่กำหนด ถ้า NAV ถึงเป้าหมาย บริษัทจัดการก็เลิกกองทุน เราจะได้เงินลงทุนคืนบวกกำไร แต่ถ้า NAV ไม่ถึงเป้าหมาย บริษัทจัดการก็ไม่เลิกกองทุน เราก็ถอนเงินลงทุนไม่ได้เช่นกัน
มองผ่านๆ กองทุน Trigger Fund ก็เป็นกองทุนที่น่าสนใจกองทุนหนึ่ง โดยเฉพาะกับนักลงทุนที่ถนัดซื้อแต่ไม่ถนัดขาย คือ ไม่รู้ว่าจะขายตอนไหนดี กองทุน Trigger Fund จะช่วยแก้ปัญหานี้ให้ ถ้าถึงจุดขายที่กำหนด บริษัทจัดการก็จะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติจากเราเลยทันที
แต่ถ้ามองให้ลึกขึ้น กองทุน Trigger Fund มีข้อที่ผู้ลงทุนควรคำนึงหลายข้อ ดังนี้
(1) ความเสี่ยงสภาพคล่อง
ไม่สามารถขายคืนได้ในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งเทียบไม่ได้กับกองทุนเปิดทั่วไปที่สามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ ทำให้ผู้ลงทุนขาดความยืดหยุ่นในการจัดสรรเงินลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า หรือมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า หรือ หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินด่วน ผู้ลงทุนก็ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ หรือ กรณีเลวร้าย ก็คือ หากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมากได้ด้วยเช่นกัน
(2) ความเสี่ยงจากรูปแบบกองทุน
ที่จำกัดกำไร ไม่จำกัดขาดทุน ในภาวะที่ตลาดขาขึ้นชัดเจน (Bull market) แทนที่จะปล่อยให้ NAV กองทุนปรับเพิ่มตามตลาดไปเรื่อยๆ (let profit run) บริษัทจัดการกลับต้องเลิกกองทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
แต่ในทางกลับกัน ในภาวะตลาดขาลงชัดเจน (Bear market) ผู้ลงทุนกลับต้องยอมรับสภาพติดล็อคอยู่ในกองทุนตามเงื่อนไข แม้ว่านโยบายกองทุนจะให้อิสระผู้จัดการกองทุนปรับสัดส่วนการลงทุนได้ 0 -100% แต่ไม่มีผู้จัดการกองทุนคนไหนกล้าปรับสัดส่วนเต็มที่ดังกล่าว เพราะความผันผวน ความซับซ้อนของการลงทุนมีมาก ไม่สามารถชี้ชัดว่าอะไรจะเกิดขึ้นแน่นอน 100%
ตัวอย่างเช่น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED ก็ไม่มีใครบอกได้ชัดเจน 100% ว่า FED จะหยุดหรือขึ้นดอกเบี้ยเท่าไหร่ในการประชุมครั้งหน้า เป็นต้น และหลายๆครั้งที่ NAV เพิ่มขึ้นไปเกือบจะถึงจุด Trigger แล้ว แต่กลับปักหัวลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัจจัยภายนอก
เช่น มีข่าวร้ายเกิดขึ้นกับตลาด หรือ หลักทรัพย์ที่กองทุนลงทุน หรือ หลักทรัพย์ราคาขึ้นไปมากจนเกินมูลค่าพื้นฐาน จึงมีการขายทำกำไรจากนักลงทุนในตลาด ทำให้กองทุนแทนที่จะยกเลิกกองทุนได้ กลับยกเลิกไม่ได้ เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาต่างๆเหล่านี้ บริษัทจัดการก็มีการปรับเงื่อนไขกองทุนบางอย่างเหมือนกัน เช่น
- รับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติจํานวน 2 ครั้ง ไม่ต้องรอ Trigger ครั้งเดียว ช่วยลดความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น อย่างเช่น เป้าหมาย Trigger 6% ใน 6 เดือน เมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนมากกว่าหรือเท่ากับ 10.30 บาทต่อหน่วย (แตะ 3% ครึ่งหนึ่งของเป้าหมาย Trigger) บริษัทจัดการจะรับซื้อคืนในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.00 ของมูลค่าที่ตราไว้ (10 บาท)
แต่ถ้า NAV แตะ 10.30 ครั้งแรกแล้วปรับลดลง แล้วค่อยปรับขึ้นต่อ กรณีแบบนี้ภาษาหุ้นเรียกว่า พักตัวในแนวโน้มขาขึ้น การที่ NAV แตะ 10.30 อีกครั้ง กรณีอย่างนี้ ทาง บลจ.มักจะสงวนสิทธิรับซื้อคืนที่จะรับซื้อคืนเฉพาะกรณี NAV แตะ 10.30 เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
- กำหนดเป้าหมาย trigger ทั้งกำไรและขาดทุน เช่น เป้าหมาย trigger คือ NAV เติบโต 6% และขาดทุน 6% ใน 6 เดือน แปลว่าถ้า NAV เติบโต 6% ใน 6 เดือน บริษัทจัดการจะเลิกกองทุนหรือถ้า NAV ขาดทุน 6% ใน 6 เดือน บริษัทจัดการก็จะเลิกกองทุนเช่นกัน คือล็อคกำไรและขาดทุนทั้ง 2 ด้าน
(3) ความเสี่ยงด้านจังหวะการลงทุน
โดยทั่วไป Trigger Fund ที่ออกมากองแรกๆ NAV มักจะแตะ Trigger ทำให้ปิดกองได้เร็วก่อนกำหนด ทำให้บริษัทจัดการก็จะรีบออก Trigger Fund กองต่อไปออกมาทันที เราจึงมักเห็น Trigger Fund ออกมาเป็นซีรีย์เกาหลีเลย มี Trigger Fund 1, Trigger Fund 2, Trigger Fund 3, ฯลฯ ไปเรื่อยๆ
และเหตุการณ์ก็มักจะซ้ำรอยกองทุน Trigger Fund ในอดีต ก็คือ กองทุน Trigger Fund ที่ออกมากองหลังๆ มักจะไม่สามารถเลิกกองทุนได้ในกำหนดระยะเวลา เหตุผลก็เพราะกองทุน Trigger Fund กองทุนแรกๆ จะออกมาในจังหวะที่ระดับราคาหลักทรัพย์ในตลาดต่ำมากจึงมีโอกาสที่จะกำไรสูง (upside gain) จึงทำให้ปิดกองทุนได้เร็ว แต่กองทุนที่ออกมากองหลัง
แสดงว่าระดับราคาหลักทรัพย์ได้ปรับขึ้นมามากแล้ว ยิ่งกองทุน Trigger Fund ที่ออกมากองหลังมาเท่าไหร่ ก็แสดงว่าออกมาในจังหวะที่ระดับราคาหลักทรัพย์สูงขึ้นมาก โอกาสกำไรก็ย่อมลดน้อยลง แต่โอกาสขาดทุนกลับมากขึ้น
(4) ความเสี่ยงจากนโยบายและเป้าหมายของกองทุน
เพราะกองทุน trigger fund มักมีเป้าหมายระยะสั้น เช่น 6 เดือน 1 ปี เป้าหมาย หรือ KPI ของผู้จัดการกองทุน Trigger Fund ก็คือ การทำให้ NAV กองทุนแตะ Trigger โดยเร็ว ผู้จัดการกองทุนจะไม่สนใจลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีอัตราการเติบโตที่ดีระยะยาว แต่จะเน้นหลักทรัพย์ที่เติบโตเร็วในช่วงสั้นๆ หากเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ อย่างเช่น ถ้าเป็นหุ้นก็จะเน้นเล่นหุ้นที่เป็นหุ้น event อย่างหุ้นที่ได้ผลดีจากการเลือกตั้ง เป็นต้น ซึ่งหุ้นประเภทนี้จะมีความผันผวนของราคาสูง โอกาสกำไรมีมาก โอกาสขาดทุนก็มากเช่นกัน
(5) ความเสี่ยงด้านความชัดเจนในการลงทุน
เนื่องจากกองทุน Trigger Fund มีเป้าหมายที่ต้องบรรลุ Trigger ในกำหนดระยะเวลา ดังนั้นผู้จัดการกองทุนจึงต้องมีอิสระในการบริหารเงินลงทุนเต็มที่ นโยบายการลงทุนของกองทุน Trigger Fund จึงมักให้อิสระผู้จัดการกองทุนลงทุนในสินทรัพย์การลงทุนที่หลากหลาย ไม่กำหนดสัดส่วนแน่นอนตายตัว
เช่น สามารถกระจายเงินลงทุนของกองทุนในตราสารแหงทุน ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ตราสารแหงหนี้ เงินฝาก กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (infra) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) และ/หรือ ลงทุนในหลักทรัพยหรือทรัพยสินอื่น หรือการหาดอกหาผลโดยวิธีอื่นอยางใดอยางหนึ่ง หรือหลายอยางได้ตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด ในสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 100 ของ มูลคาทรัพยสินสุทธิของกองทุน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ
- ข้อดี คือ... เรามอบอำนาจการตัดสินใจให้ผู้จัดการกองทุนที่มีความเป็นมืออาชีพ มีระบบ มีข้อมูลพร้อม เป็นผู้ตัดสินใจแทนเราได้อย่างอิสระเต็มที่
- ข้อเสีย คือ...
เราไม่รู้เลยว่า เงินลงทุนของเรา ณ วันนี้ลงทุนในอะไรอยู่ สัดส่วนเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเห็นด้วยกับบริษัทจัดการที่ออกเสนอขายกองทุน Trigger Fund ว่าจังหวะนี้หุ้นไทยราคาถูกมาก มีโอกาสได้กำไรสูงในอนาคต การเลือกลงทุนในกองทุนเปิดประเภทหุ้นทุน หรือกองทุน ETF ที่อ้างอิงดัชนี SET ที่ลงทุนในหุ้นอยู่แล้วเกือบทั้งหมดของกองทุน ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่าเลือกลงทุนในกองทุน Trigger Fund เพราะกว่าบริษัทจัดการจะระดมเงินได้ กว่าจะจัดตั้งกองทุนได้ ระดับราคาหุ้นอาจไม่ใช่ระดับราคาที่น่าสนใจแล้วก็ได้
กองทุน Trigger Fund ไม่มีดัชนีอ้างอิง (Benchmark) เนื่องจากกองทุนไม่สามารถวัดผลการดำเนินงานได้เพราะกองทุนมีการกำหนดมูลค่าหน่วยลงทุนเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นกองทุนจึงกำหนดกลยุทธ์การลงทุนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถเทียบกับกองทุนอื่นๆที่มีนโยบายการลงทุนใกล้เคียงกันได้เลยว่า กองทุนไหนดีกว่ากัน อย่างเช่น กองทุน Trigger Fund ที่เน้นลงทุนในหุ้นไทย ไม่สามารถเทียบกับกองทุนเปิดที่เน้นลงทุนในหุ้นไทยได้ เพราะนโยบายและเป้าหมายการลงทุนต่างกัน
ดังนั้นก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุน Trigger Fund ควรศึกษาข้อมูลกองทุนอย่างละเอียดรอบคอบก่อน และคำนึงถึงคำเตือนของกองทุนที่ว่า
“มูลคาหนวยลงทุนเป้าหมายไม่ใช่การรับประกันผลตอบแทนจากการลงทุน / ผู้ลงทุนไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ในช่วงเวลาที่กำหนด ดังนั้น หากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก / ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”
#aomMONEY #กองทุนไหนดี2023 #FundDebate
โฆษณา