Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เหลาจนคม
•
ติดตาม
6 พ.ย. 2023 เวลา 17:41 • ประวัติศาสตร์
รัชกาลที่ 7 กับภาพยนตร์ไทย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 ของราชวงศ์จักรี ยุครัชสมัยของพระองค์เป็นการเปลี่ยนผ่านระหว่างระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตย (ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ)
หนึ่งในพระราชอัจฉริยภาพและพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ นั่นคือด้าน "ภาพยนตร์" พระองค์ทรงโปรดปรานในการสร้างถ่ายทำภาพยนตร์ และทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุดในสยามคือ "ศาลาเฉลิมกรุง"
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยภาพยนตร์ และโปรดทอดพระเนตรภาพยนตร์ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเมื่อทรงพระเยาว์นั้น ทอดพระเนตรภาพยนตร์บ่อยเท่าใด และเรื่องอะไร
แต่ในราชสำนักรัชกาลที่ 5 มีการฉายภาพยนตร์จากต่างประเทศแล้ว จึงน่าจะได้ทอดพระเนตรด้วย ระหว่างที่ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ (พ.ศ.2448-2457) เป็นช่วงที่ภาพยนตร์ได้รับความนิยมในต่างประเทศมาก น่าจะได้ทอดพระเนตรหลายเรื่อง แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานว่าในช่วงรัชกาลที่ 6 ได้ทอดพระเนตรภาพยนตร์อะไรหรือทรงริเริ่มการถ่ายภาพยนตร์อะไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อทรงครองราชย์แล้วนับได้ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกที่เป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น
ในปี พ.ศ.2463 เสด็จฯ ไปทรงศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนเสนาธิการฝรั่งเศส เมื่อเสด็จฯ กลับในปี พ.ศ.2467 ทรงแวะสหรัฐอเมริกา ได้ทอดพระเนตรโรงถ่ายภาพยนตร์ที่ฮอลลีวู้ด และทรงคุ้นเคยกับผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ นักแสดง เช่น ดักลาส แฟร์แบ้งก์ส จูเนียร์ และแมรี่ ปิคฟอร์ด ภรรยาซึ่งเป็นหุ้นส่วนก่อตั้งบริษัทยูไนเต็ด อาร์ติส โรงถ่ายภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง
ในการทรงถ่ายภาพยนตร์ ทรงได้รับคำแนะนำจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งโปรดการถ่ายภาพยนตร์เช่นกันและทรงเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงที่มีหน้าที่ผลิตภาพยนตร์ของรัฐบาล ในการถ่ายภาพยนตร์ ต้องมีการเตรียมฟิล์มดิบ อุปกรณ์ สถานที่ การล้างฟิล์ม พิมพ์ฟิล์ม ตัดต่อ เขียนอักษรคำบรรยายประกอบหนังเงียบซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เอง บางทีก็จัดฉาก เครื่องแต่งกาย ซ้อมการแสดง
ภาพยนตร์ส่วนพระองค์นี้ระยะแรกเรียกว่า “ภาพยนตร์ทรงถ่าย” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ภาพยนตร์อัมพร” ตามนามของพระที่นั่งอัมพรสถาน ที่ประทับ บางส่วนทรงถ่ายเอง บางส่วนโปรดเกล้าฯ ให้ผู้อื่นหรือกรมรถไฟหลวงถ่าย มีทั้งสารคดี ซึ่งให้ความรู้ต่างๆ เช่น พระราชพิธี ประเพณี และบันเทิงคดี
ภาพยนตร์สารคดี เช่น เรื่องนาลิวันรำเขนง ทรงถ่ายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน มีการแต่งกายผู้รำเหมือนพิธีโล้ชิงช้า ภาพยนตร์การรำมอญ ทรงถ่ายเมื่อเสด็จฯ ปากลัด (ข่าวศรีกรุง 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473) บางเรื่องก็ทรงถ่ายไว้ทอดพระเนตรในกลุ่มผู้ใกล้ชิด เช่นเรื่อง ภัตกรเรือนต้น
ภาพยนตร์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทยอีกเรื่องหนึ่งคือ พระราชพิธีเฉลิมพระนคร 150 ปี ซึ่งจัดในเดือนเมษายน พ.ศ.2475 เป็นบันทึกภาพและข้อมูลพิธีฉลอง เช่น การเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า และขบวนเสด็จฯ ข้ามสะพาน การเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 พิธีบวงสรวงสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชที่พระนครศรีอยุธยา มีพระสุรเสียงพระราชดำรัสในพิธีบวงสรวง
ภาพยนตร์อัมพร ซึ่งทรงถ่ายด้วยพระองค์เองบางส่วน ยังมีที่บันทึกการเสด็จประพาสในต่างประเทศด้วย เช่นที่สิงคโปร์ ชวา และบาหลี ในปีพ.ศ. 2472 และที่อินโดจีนของฝรั่งเศส (เวียดนาม และกัมพูชาในปัจจุบัน) ในปีพ.ศ.2473 ที่ชวานั้น เป็นที่น่าสังเกตมากว่าทรงบันทึกเรื่องราวที่สลักบนหิน ณ โบราณสถานปรัมบานันและบุโรพุทโธไว้อย่างละเอียดละออ แสดงถึงความสนพระราชหฤทัยในโบราณคดี
ภาพยนตร์บันเทิง มีการดำเนินเรื่อง ตามที่มีร่องรอยหลักฐานมีอย่างน้อยที่สุด 4 เรื่อง ได้แก่ พระเจ้ากรุงจีน ชิงนาง ภาพยนตร์แนวจักรๆ วงศ์ๆ ที่ไม่ทราบชื่อ และแหวนวิเศษ
เรื่องพระเจ้ากรุงจีนเป็นภาพยนตร์แนวตลกล้อเลียน เป็นเรื่องของชาวตะวันตกที่ไปเข้าเฝ้าฯ พระเจ้ากรุงจีน แต่ไม่ยอมปฏิบัติตามธรรมเนียมจีน พระเจ้ากรุงจีนกริ้ว สั่งให้นำตัวไปประหารแต่เปลี่ยนพระทัยให้นำตัวมาเข้าเฝ้าฯใหม่ จึงกราบบังคมทูลเรื่องธรรมเนียมฝรั่งให้ทรงทราบ แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้ทรงตัดต่อและประกอบคำบรรยาย
เรื่องแหวนวิเศษ เป็นภาพยนตร์บันเทิงที่ฟิล์มภาพยนตร์ยังคงสภาพมาถึงปัจจุบันอย่างสมบูรณ์ที่สุด และเป็นภาพยนตร์บันเทิงที่ทรงทำสำเร็จสมบูรณ์ เนื้อเรื่องกล่าวถึงนายคง ซึ่งมีภรรยาเป็นแม่หม้ายลูกติด นายคงไม่ชอบลูกเลี้ยงทั้ง 5 คน จึงพาลูกเลี้ยงไปปล่อยในป่า
แต่ลูกเลี้ยงเดินพเนจรไปจนพบนางพรายน้ำ นางพรายน้ำมอบแหวนวิเศษ ซึ่งสามารถเนรมิตสิ่งที่ปรารถนาได้ทุกอย่าง ลูกๆ เดินมาพบพ่อเลี้ยง จึงเล่าเรื่องนางพรายน้ำและแหวนวิเศษให้พ่อเลี้ยงฟัง ต่อมาพ่อเลี้ยงจึงแอบขโมยแหวน แต่ถูกลูกจับได้จึงถูกสาปเป็นสุนัข แต่ด้วยความเมตตาของลูกคนเล็ก พ่อเลี้ยงจึงกลายเป็นคนดี แล้วทุกคนก็กลับบ้านอย่างมีความสุข
ภาพยนตร์เรื่องนี้สอนคุณธรรมแก่เด็กคือให้รู้จักความดี ความชั่ว เช่น ความเมตตา การให้อภัย ความสามัคคีในกลุ่ม ความช่วยเหลือกันและกัน และสอนไม่ให้เชื่องมงายในอำนาจเร้นลับมากกว่าคำสอนของศาสนา
พระองค์ไม่ได้เพียงแต่ทรงถ่ายภาพยนตร์เป็นการส่วนพระองค์เท่านั้น ยังได้ทรงสนับสนุนกิจการภาพยนตร์ในประเทศด้วย ในปีพ.ศ.2473 โปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นแล้วก่อตั้งสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม (Amateur Cinema Association of Siam – A.C.A.S) เป็นสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสำนักงานอยู่ในบริเวณสวนจิตรลดา
สมาชิกประชุมกันเดือนละครั้ง เพื่อนำภาพยนตร์ฝีมือของตนไปฉายให้ได้ติชมกัน ทำนอง “เพื่อนช่วยเพื่อน” โปรดเกล้าฯ ให้ทำแหนบหรือเข็มชนิดหนึ่งด้วยทองคำแบบตราอาร์ม มีอักษรลงยาในวงตราว่า “ส.ภ.ส.” เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง มีพระมหามงกุฎอยู่เบื้องบนตัวอักษร ในกรอบสี่เหลี่ยมตัดกันคล้ายแผ่นฟิล์มภาพยนตร์
ในการประชุมครั้งหนึ่ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำภาพยนตร์อัมพรของหลวง เรื่องการเสด็จประพาสเกาะบาหลีออกฉาย และยังได้เสด็จฯ พระราชทานคำอธิบายเป็นตอนๆ โดยตลอดด้วย ซึ่งมีรายงานว่า “พระราชกระแส แจ่มใสไพเราะ และยังพระราชทานความขบขันอีกหลายตอน”
สำหรับภาพยนตร์ที่จะออกฉายแก่สาธารณชนในโรงนั้น ทอดพระเนตรภาพยนตร์ก่อนการฉายในกรณีที่ผลิตในประเทศไทย และพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้สร้าง เช่น ภาพยนตร์โชคสองชั้น ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่สร้างโดยคนไทยคือกลุ่มกรุงเทพภาพยนตร์บริษัท เมื่อบริษัทภาพยนตร์พัฒนากรทดลองผลิตภาพยนตร์เสียง ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทอดพระเนตรก่อน ต่อมาจึงเกิดภาพยนตร์ไทยมีเสียงเรื่องแรกคือ หลงทาง ฉายวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2475
และพระองค์ยังทรงมีแนวทางส่งเสริมให้ผู้นำเข้าภาพยนตร์ เจ้าของโรงภาพยนตร์ และผู้สร้างภาพยนตร์ให้มีคุณภาพและความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมทั้งมีมาตรฐานการกำกับดูแลในหมู่วิชาชีพกันเอง โดยโปรดให้ค่อยๆ กวดขันและท้ายที่สุด โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ.2473 ขึ้น เพื่อเป็นกรอบควบคุมการปฏิบัติ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้จัดสร้าง “โรงมหรสพ” ขึ้นบริเวณหัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนตรีเพชร ซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญในยุคนั้น เพื่อเป็นที่ระลึกในการฉลองกรุงเทพมหานครครบ 150 ปี (พ.ศ. 2475) ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี (พ.ศ. 2473-2476) โดยมี ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ และ อาจารย์นารถ โพธิประสาท เป็นผู้คำนวณโครงสร้าง เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “ศาลาเฉลิมกรุง”
ศาลาเฉลิมกรุง เป็นอาคารกล่องสี่เหลี่ยมที่เรียบเกลี้ยง ความสูง 3 และ 4 ชั้น โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐฉาบปูน ต่างจาก โรงภาพยนตร์ ขณะนั้นที่ส่วนใหญ่เป็นอาคารและโครงสร้างไม้หลังคามุงด้วยสังกะสี ตัวอาคารแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นโถงหน้า และส่วนโรงภาพยนตร์ สามารถรองรับผู้ชมได้กว่า 1,000 ที่นั่ง รูปแบบอาคารสันนิษฐานว่า ม.จ.สมัยเฉลิม ได้แนวคิดจาก Theatre des Champs-Elysees โรงละครที่ตั้งอยู่บนถนนชองป์-เซลิเซ่ส์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ความทันสมัยของศาลาเฉลิมกรุง ที่ชาวสยามพากันฮือฮา อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ของยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเครื่องปรับอากาศจากโรงภาพยนตร์ยุคเก่าที่มีแค่พัดลม ระบบเปิดม่านอัตโนมัติ การออกแบบที่นั่งชมภาพยนตร์แบ่งเป็นชั้นๆ และมีชั้นลอยแบบโรงละครในตะวันตกที่เรียกว่า “ชั้นบ๊อกซ์ (Box)”
รวมทั้งมีระบบการเก็บบัตรชมภาพยนตร์ในราคาที่แตกต่างกันตามชั้นของที่นั่ง และมากกว่าเรื่องงานออกแบบคือการจัดรอบปฐมทัศน์ภาพยนตร์ และการฉายภาพยนตร์เสียงในฟิล์มจากฮอลลีวู้ดซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีด้านภาพยนตร์ที่ทันสมัยมากในยุคนั้น
ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ฉายในศาลาเฉลิมกรุง เมื่อวันเปิดโรงภาพยนตร์เป็นปฐมฤกษ์ (2 กรกฎาคม พ.ศ.2476) คือ ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดมีชื่อไทยว่า มหาภัยใต้ทะเล เป็นภาพยนตร์ ระบบเสียงในฟิล์ม (ไม่ต้องใช้คนพากย์สด) และถือเป็นรอบการกุศลโดยรายได้จากการขายบัตรทั้งหมดมอบให้กับสภากาชาดสยาม โดยในค่ำวันเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภาพยนตร์เรื่อง Tarzan the Apeman ฉบับหนังขาวดำ (ออกฉายครั้งแรกในอเมริกาปี พ.ศ.2475)
ในยุคแรกของศาลาเฉลิมกรุง เปิดรอบฉายหนังวันละ 2 รอบ ต่อมาเพิ่มเป็น 4 รอบ และวันหยุดเพิ่มรอบอีกหนึ่งรอบ โดยภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ต่างประเทศเสียงในฟิล์ม มีภาพยนตร์ไทยบ้างแต่น้อย
ส่วนราคาบัตรชมภาพยนตร์ยุคเริ่มแรกของศาลาเฉลิมกรุงนั้น ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 7 สตางค์ และราคาสูงสุดสำหรับชั้นบ๊อกซ์คือ 40 สตางค์ บางครั้งก็มีโปรโมชันบัตรสมนาคุณลดราคา 1 ที่นั่ง สำหรับนักเรียนที่ซื้อบัตรเข้าชมเป็นหมู่คณะพร้อมกัน 10 ที่นั่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าเริ่มมีการทำการตลาดสำหรับโรงภาพยนตร์ที่แตกต่างจากการฉายหนังแบบเดิมๆ
อีกซีนประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยที่เกิดขึ้นพร้อมศาลาเฉลิมกรุง คือการจัดฉายภาพยนตร์ไทยรอบปฐมทัศน์ หรือ “กาลา พรีเมียร์” ตามอย่างโรงภาพยนตร์เมืองนอกโดยมี "สามเสือสมุทร" เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่จัดฉายรอบปฐมทัศน์หรือ กาลา พรีเมียร์ ในปี พ.ศ.2496
ครั้งนั้นมีดาราและแขกผู้มีเกียรติมาชมภาพยนตร์เป็นรอบแรก ก่อนรอบขายบัตรทั่วไป พร้อมการแสดงดนตรีและศิลปบันเทิงที่โด่งดังในยุคนั้น เช่นการการแสดงดนตรีสดให้ชมบนเวทีก่อนการฉายหนัง วงดนตรีที่ได้รับความนิยมรอบกาลา พรีเมียร์ ก็เช่นวงดนตรีคณะสุนทราภรณ์ วงดนตรีทหารอากาศ เป็นต้น
นั่นก็แสดงให้เห็นว่าในเวลานั้น ศาลาเฉลิมกรุง เป็นโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทยและในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดฉายภาพยนตร์ทั้งจากต่างประเทศและไทย โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่ มิตร ชัยบัญชา พระเอกขวัญใจคนไทยตลอดกาล นำแสดง ที่มีแฟนๆ แห่มาดูกันแน่นโรง ซึ่งครั้งหนึ่ง มิตร ชัยบัญชา ได้มาแจกภาพถ่ายของเขาที่ด้านหน้าศาลาเฉลิมกรุงด้วย
ปัจจุบันศาลาเฉลิมกรุงดำเนินกิจการมาถึง 90 ปี และยังเปิดดำเนินการภายใต้การดูแลของ "มูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง" มีการจัดแสดงและเปิดพื้นที่บริการงานด้านศิลปวัฒนธรรมหลากหลาย เช่น การแสดงโขน ละครเวที คอนเสิร์ต ระบำโบราณคดี-ระบำสี่ภาค เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดโปรแกรมทัวร์สำหรับชาวต่างชาติ เช่น การจัดรถรางจากสนามหลวงเชื่อมมาดูโขนที่ศาลาเฉลิมกรุง
ศาลาเฉลิมกรุง
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%96%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2_%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C
https://www.silpa-mag.com/culture/article_78320
https://www.sarakadeelite.com/brand-story/sala-chalermkrung-theatre/
ประวัติศาสตร์ไทย
ภาพยนตร์
บันทึก
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย