7 พ.ย. 2023 เวลา 15:04 • ไลฟ์สไตล์

๒. ศีล

คุณสมบัติข้อที่สองคือ ศีล
ซึ่งหมายถึง ความประพฤติเรียบร้อย
ทางกาย ทางวาจา เว้นจากการเบียดเบียน
ทางกาย ทางวาจา มีมารยาทดี
มีกิริยาอาการงดงาม
นี้ก็อยู่ในคุณสมบัติของศีล
ที่สำคัญที่สุดก็คือศีลที่เป็นเบื้องต้น
ตามภูมิชั้นของตนเช่นว่า ศีล ๕ ศีล ๘
ศีล ๑๐ หรือ ศีล ๒๒๗ อะไรก็แล้วแต่ฐานะ
หรือภูมิชั้นของตน
อันนี้ก็ไม่มีอะไรจะต้องพูดกันมาก
ถ้าจะพูดให้ละเอียดก็ต้องพูดกันยาว
แต่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายอยู่แล้ว
ว่าจะต้องมีศีลเป็นพื้นฐานสำคัญ
ทีนี้ผู้ที่จะทำสมาธิ หรือเจริญปัญญานั้น
จะต้องมีศีลพอสมควร ไม่ใช่ไม่มีเลย
ถ้าไม่มีเสียเลย
จะทำสมาธิหรือเจริญปัญญาไม่ได้
ถึงจะมีไม่บริบูรณ์ก็ตาม
ถ้าจะคอยให้บริบูณ์เสียก่อน
ก็ไม่มีโอกาสที่จะทำสมาธิและอบรมปัญญาได้
เพราะว่าโดยความเป็นจริงแล้ว
สมาธินั้นจะมาช่วยศีล
ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์งดงาม
เพราะว่าคนที่ใจสงบแล้ว
จะรักษาศีลได้ง่าย
ถ้าไม่มีสมาธิ การรักษาศีลก็ยาก
ศีลมันจะคอยออกนอกทางอยู่เรื่อยไป
มันดิ้นขลุกขลัก ขลุกขลักอยู่
เพราะว่าใจของเราไม่สงบ
ก็ต้องคอยระแวดระวัง
เหมือนกับเราเอาสัตว์ที่ยังไม่เชื่อง
มาขังเอาไว้มันก็จะดิ้นจะกระโดด
ออกจากคอกอยู่เรื่อยไป
แต่ถ้าสัตว์ที่เชื่องแล้ว
เราทำแค่ปิดประตูขังเฉยๆ มันก็ไม่ไปไหน
เพราะฉะนั้นกายกับวาจา
มันเป็นลูกน้องของจิต
ถ้าเราฝึกจิตได้พอสมควร
ให้จิตสงบแล้ว
การคิดเบียดเบียนก็ไม่มี
การที่จะล่วงศีลก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น ท่านจะต้องทำพร้อมกันไป
รักษาศีลไปด้วย เจริญสมาธิไปด้วย
อบรมปัญญาไปด้วย
ใครเขาจะว่าอย่างไรก็ช่างเถอะ
เขาบอกว่า แหม ศีลยังรักษาไม่ครบเลย
ไปทำสมาธิ ก็บอกเขาว่าฉันไปทำสมาธิ
เพื่อรักษาศีลให้ครบนั่นแหละ
ถ้าเผื่อไม่ทำสมาธิ
ศีลฉันจะไม่ครบอยู่อย่างนี้
ต้องไปทำสมาธิช่วยใจ
จะได้สงบรักษาศีลได้ง่าย ไม่กระวนกระวาย
ในขณะเดียวกันทำปัญญาไปด้วย และนี้อีกข้อหนึ่ง
“ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต”
#อาจารย์วศิน อินทสระ
#เพจอาจารย์วศิน อินทสระ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา