11 พ.ย. 2023 เวลา 05:30

คนยุคใหม่ลืมตาอ้าปากได้ยาก เพราะถูกบีบให้สิ้นหวังตั้งแต่เริ่มทำงาน

ตอนเด็กๆ เรามักจะถูกสั่งสอนให้ตั้งใจเรียน เรียนสูงๆ จะได้มีชีวิตที่ดี พ่อแม่พยายามส่งลูกๆ เข้าสถาบันกวดวิชา คาดหวังให้ได้คะแนนสอบดีๆ สอบเข้าในโรงเรียนรัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง หากครอบครัวไหนมีทุนทรัพย์มากหน่อย ก็ยังพอส่งลูกไปเรียนต่างประเทศได้
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อช่วงที่พ่อแม่ของเรายังเป็นหนุ่มสาว การเรียนจบระดับปริญญาตรี หรือมีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศถือเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จในหน้าที่การงานไปแล้วครึ่งหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของตัวเองที่ต้องพยายามทำงานอย่างหนัก เพื่อสะสมต้นทุนชีวิตสำหรับการสร้างครอบครัว การแต่งงาน การซื้อบ้านและเตรียมทุนไว้ให้ลูกหลานต่อไป
ทว่าในปัจจุบันไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะสังคม ณ ปัจจุบันนี้เป็นยุคของคนรุ่นใหม่ ที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่า “คนเจน Y และเจน Z” โดยคนเจเนเรชัน Y หมายถึงคนอายุประมาณ 28-41 ปี ส่วนคนเจเนเรชัน Z หมายถึงคนอายุตั้งแต่ 10-27 ปี ซึ่งคนกลุ่มนี้กลายเป็นแรงงานสำคัญกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในภาคธุรกิจทั่วประเทศในตอนนี้
ถึงแม้ว่าจะเป็นแรงงานหลักของชาติ แต่คนรุ่นใหม่ทั้งสองเจเนเรชันนี้กลับประสบกับความสิ้นหวังในชีวิต สาเหตุเป็นเพราะอะไร? พวกเขาขี้เกียจและเรื่องมากเรื่องการเลือกงานจริงหรือ? แล้วทำอย่างไรคนกลุ่มนี้ถึงจะสามารถสร้างตัวและสร้างความหวังขึ้นมาใหม่ได้สักที?
‘เงินเฟ้อ’ ทำให้ความหวังกลายเป็นความฝันที่ฟุ้งเฟ้อเกินตัว
ภายในไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลกหลายครั้งด้วยกัน โดยที่คนไทยจะคุ้นหูมากที่สุดก็คือ วิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 และวิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์ (Subprime Crisis) ในปี พ.ศ. 2551 หลังจากนั้นวิกฤติเงินเฟ้อของทั่วโลกก็พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเงินโลกค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องด้วยเทคโนโลยีทำให้ภาคการผลิตสามารถลดต้นทุนของสินค้า เพิ่มกำลังการผลิตด้วยหุ่นยนต์ และลดราคาเชื้อเพลิงที่จำเป็นต่อการขนส่งลงมาได้ รวมถึงการเข้ามาของ E-Commerce ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าในราคาที่ถูกกว่าเดิม
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือน สิงหาคม 2566 ประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ ซึ่งเมื่อเทียบกับลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย 7 ประเทศอาเซียนที่ได้มีการประกาศตัวเลขออกมา ประเทศไทยถือว่ามีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุด และอัตราเงินเฟ้อจากหลายประเทศทั่วโลกก็มีแนวโน้มชะลอตัวเช่นเดียวกัน หรือพูดอย่างง่ายๆ ว่าสภาวะเงินเฟ้อยังมีอยู่ ราคาข้าวของก็ยังแพงอยู่ แต่อยู่ในระดับที่ต่ำลงนั้นเอง
แม้ว่าสภาวะเงินเฟ้อจะดูเหมือนจะฟื้นตัว แต่ประชาชนก็ยังคงต้องแบกรับค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมากๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร รวมถึงค่าน้ำมันและค่าเดินทางในแต่ละวันด้วย  ยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์ปัจจุบันของน้ำมันดิบ หรือเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังคงผันผวนอยู่มาก ทำให้มีการปรับราคาน้ำมันขึ้นบ่อยครั้ง
ซึ่งถ้ามองจากตรงนี้ ก็จะพบว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่งอกเงยขึ้นมาแบบไม่ทันตั้งตัวของคนทำงานรุ่นใหม่ทั้งนั้น กล่าวคือพวกเขาจะประหยัดมากก็ไม่ได้ หรือบางครั้งประหยัดที่สุดแล้วก็ยังเป็นส่วนที่จะไม่จ่ายก็ไม่ได้อยู่ดี
ค่าแรงที่สวนทางกับค่าบ้าน ทำให้ความหวังยิ่งเลือนรางขึ้นไปอีก
อีกสิ่งที่ทำลายความหวังของคนรุ่นใหม่ก็คือ ‘ค่าแรง’ ที่ขยับขึ้นมาเพียงหลักสิบบาทเท่านั้นในรอบสิบปี ในขณะที่ราคาบ้าน คอนโดมิเนียมหรืออสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ สูงขึ้นทุกปี รวมถึงอัตราดอกเบี้ยบ้านก็สูงมากด้วยเช่นกัน ซึ่งดอกเบี้ยบ้านก็มาจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราเงินเฟ้อ และนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยนั่นเอง
หากอ้างอิงข้อมูลจากวันที่ 27 กันยายน 2566 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี ดังนั้นถ้าเรากู้เงินเพื่อซื้อบ้านเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท ดอกเบี้ย 3 ปีแรกจะคงที่อยู่ที่ 3.5% ซึ่งจะมียอดชำระอยู่ที่ 7,085 บาทต่องวด
แต่เมื่อเข้าปีที่ 4 ดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้านจะเพิ่มขึ้นเป็น 8% แปลว่าเราต้องจ่ายค่าผ่อนบ้านเพิ่มขึ้นเป็น 7,460 บาทต่องวดเป็นเวลาประมาณ 20 ปี หรือถ้าอยากผ่อนด้วยค่างวด 7,085 บาทเท่าเดิม ก็ต้องขยายระยะเวลาผ่อนออกไป 22-23 ปี แม้ว่าจะมีเงินดาวน์วางไว้แล้ว แต่สำหรับคนรุ่นใหม่วัยทำงานแล้ว การหาเงินก้อนเพื่อโปะดอกเบี้ยบ้านไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแม้แต่นิดเดียว ในทางกลับกันแล้วสำหรับคนกลุ่มนี้ บ้านยังถือว่าเป็นภาระทางการเงินก้อนใหญ่ในแต่ละเดือนอีกด้วย
1
นั่นหมายถึงถ้าคนรุ่นใหม่จะสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการซื้อบ้านเป็นของตัวเองสักหนึ่งหลัง ก็จะต้องผ่อนชำระดอกเบี้ยบ้านด้วยเงินจำนวนที่อาจจะมากถึง 10,000 บาทเป็นระยะเวลา 20-23 ปี และต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างอื่นไปพร้อมๆ กับสถานะทางการเงินที่เฟ้อขึ้นทุกปี ทำให้ข้าวของแพงขึ้นทุกปีด้วย
เมื่อค่าใช้จ่ายประดังประเดเข้ามาจนแทบต้องใช้แบบเดือนชนเดือน เงินออมก็ไม่มี มีแต่หนี้สิน ในขณะที่ค่าแรงเองไม่ขยับขึ้นมาหลายปีแล้ว การสร้างเนื้อสร้างตัวหรือสร้างความหวังในยุคนี้จึงดูเป็นไปได้ยาก และด้วยเหตุผลนี้เองจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคนยุคนี้ถึงเลือกเช่าบ้านหรือคอนโดฯ มากกว่าเก็บเงินซื้อขาดแบบรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเรา
ความผันผวนที่ชวนให้คนรุ่นใหม่เหนื่อยล้า
คนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน พวกเขาพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ทั้งที่ส่งผลกระทบในด้านบวกและด้านลบ เช่น ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของนวัตกรรมและเทคโนโลยี สภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ภาวะโลกร้อนไปจนถึงภาวะโลกรวน โรคระบาด รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่หยุดนิ่ง
ในแง่หนึ่ง นวัตกรรมและเทคโนโลยีก็สร้างประโยชน์ให้กับชีวิตประจำวันและภาคธุรกิจไม่น้อยเลย แต่ในอีกด้านก็ทำให้เกิด Disruption กับแรงงานคนได้ เมื่อบริษัทหรือองค์ลงทุนกับเทคโนโลยีไปแล้ว การจ่ายค่าแรงคนที่สามารถแทนที่ด้วย AI หรือเครื่องจักรได้ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป แล้วคนที่เพิ่งจบใหม่หรือเริ่มทำงานได้ไม่กี่ปีจะต้องปรับตัวอย่างไรกับ Disruption จากเทคโนโลยี?
ยังไม่นับความกดดันและความคาดหวังของสังคมที่เปิดโอกาสให้เด็กจบใหม่ แต่ต้องมีประสบการณ์พร้อม มีการการันตีความสามารถด้านต่างๆ ในระดับสูง เมื่อเข้าทำงานแล้วก็คาดหวังมากขึ้นไปอีก แม้การได้แสดงศักยภาพจะเป็นหนึ่งในความต้องการของคนรุ่นใหม่ แต่ความคาดหวังและการกดดันที่ทับอยู่บนบ่าก็ทำให้เหนื่อยล้ากับแต่ละวันได้ไม่น้อยเลย
ความผันผวนเปลี่ยนแปลงในระดับวินาทีบวกกับโลกที่เชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดนเช่นนี้ ทำให้คนรุ่นใหม่ใช้พลังงานไปกับการรับรู้เรื่องราวต่างๆ นับร้อยพันเรื่องราวตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีโทรศัพท์มือถือติดตัวอยู่ด้วยตลอดเวลา ก็ยิ่งทำให้สมองของเราถูกกระตุ้นให้ออนไลน์ไปพร้อมกับโลกตลอดด้วยเช่นกัน
2
คนยุคใหม่ยกให้ ‘สุขภาพร่างกายและจิตใจ’ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
เมื่อคนรุ่นใหม่ถูกโลกบีบให้ต้องวิ่งตลอดเวลา เราเรียนรู้ ปรับตัว ใช้ชีวิต แล้วก็มีสิ่งใหม่เข้ามาให้เราเรียนรู้ ปรับตัว และใช้ชีวิต ไม่ทันไรก็มีอีกสิ่งใหม่ที่ทำให้เราต้องเรียนรู้ ปรับตัว แล้วใช้ชีวิตวนลูปแบบนี้มาเรื่อยๆ ไม่แปลกที่เราจะเหนื่อยล้าและรู้สึกหมดไฟกับชีวิตตั้งแต่อายุเท่านี้
โดยเฉพาะกลุ่มเจน Z ซึ่งเพิ่งเรียนจบและเป็น First Jobber เป็นกลุ่มที่ผ่านการเรียนแบบ Online มา 2-3 ปี ส่วนกลุ่มเจน Y ก็เจอกับสถานการณ์โควิดในช่วงแรกของการหางาน ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่มากพอจะเรียนรู้และคุ้นชินกับ Remote Working หรือปรับตัวกับการทำงานแบบ Work from Anywhere ได้ดีกว่าคนยุคก่อนๆ
คนยุคใหม่อาจจะมีความต้องการบางอย่างที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่า เช่น การขอลาหยุดช่วงประจำเดือน การขอชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่นและจัดการเวลาเองได้ และมักจะเห็นคนรุ่นใหม่ Job Hopping หรือเปลี่ยนงานบ่อยแทบจะทุกๆ ปี ส่วนหนึ่งก็เพราะเริ่มรู้สึกจำเจกับงานที่ทำอยู่ จนต้องมองหางานใหม่ในสังคมใหม่ หรือบางทีคนกลุ่มนี้อาจจะคาดหวังและอีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขายังไม่เจอองค์กรที่จะทำงานได้อย่างมีความสุข การเซฟใจด้วยใบลาออกจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในยุคนี้
คนรุ่นเก่าหรือพ่อแม่บางคนไม่เข้าใจว่าทำไมลูกถึงไม่มีการงานที่มั่นคง แม้ว่าจะเรียนจบมาหลายปีแล้วก็ตาม ไม่แน่ว่าคนเจน Y ที่ยังสร้างเนื้อสร้างตัวไม่ได้สักที รวมถึงเจน Z ที่มองไปก็ไม่เห็นความหวังอาจเป็นเพราะพวกเขาต้องดิ้นรนท่ามกลางโลกอันผันผวนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องกินข้าวในราคาแพงกว่าสมัยที่พ่อจีบแม่เกือบหลายเท่า ต้องจ่ายค่าน้ำมันและค่ารถที่เพิ่มขึ้นทุกปี แม้จะรอถึงวันที่ราคาน้ำมันลงแล้วก็ตาม
ในขณะที่ค่าแรงสวนทางกับทุกค่าใช้จ่าย ขาดต้นทุนทางการเงินของตัวเอง การเก็บออมเงินและสะสมความมั่งคั่งเป็นไปได้ยากในปัจจุบัน แล้วยังต้องประคับประคองสุขภาพร่างกายและจิตใจของตัวเองต่อไปในวันข้างหน้า
บางทีคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้ไร้ฝันไปเสียทีเดียว เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะประกอบร่างความหวังให้เป็นจริงได้อย่างไรในยุคนี้
อ้างอิง
- Millennials and Gen Zers do want to buy homes—they just can’t afford it, even as adults : Tom Huddleston Jr., CNBC - https://cnb.cx/3rWqsBL
- Why Is Gen Z So Unhappy at Work? : Taylor Haynes, indeed - https://indeedhi.re/45GtmIL
- ​ไขปริศนาเงินเฟ้อโลกในยุคก่อนและหลังโควิด-19 : สุพริศร์ สุวรรณิก, ธนาคารแห่งประเทศไทย - https://bit.ly/3tLocxw
- หากดอกเบี้ยบ้านปรับขึ้น 1% คุณต้องจ่ายค่าผ่อนบ้านเพิ่มเท่าไหร่? : DDproperty Editorial Team - https://bit.ly/3QpFLw6
#society
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา