9 พ.ย. 2023 เวลา 04:00 • ธุรกิจ

ธุรกิจอวกาศ อาจมีมูลค่ามากถึง 36 ล้านล้านบาท ในปี 2040

ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โลกของเรามีการปฏิวัติการเดินทางทางอากาศ ด้วยการประดิษฐ์เครื่องบินลำแรกของโลก โดย 2 พี่น้องตระกูลไรต์
นับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา อุตสาหกรรมการบิน ก็เติบโตจนมีมูลค่าประมาณ 12 ล้านล้านบาท
และโลกของเราก็ได้พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมา แต่รอบนี้เป็นการปฏิวัติการเดินทางนอกโลกเลยทีเดียว
เรากำลังพูดถึง “อุตสาหกรรมอวกาศ” ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากการแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา ในช่วงสงครามเย็น
เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง แต่อุตสาหกรรมอวกาศก็ยังคงเดินหน้าต่อ และถูกพัฒนาโดยทั้งภาคเอกชน และภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
จากวันนั้นถึงวันนี้ อุตสาหกรรมอวกาศ มีโอกาสการลงทุนอะไรซ่อนอยู่บ้าง ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
อุตสาหกรรมอวกาศ หมายถึง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ ตั้งแต่สถานีรับส่งสัญญาณภาคพื้นดิน ดาวเทียม ไปจนถึงยานอวกาศ
เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมอวกาศแล้ว ก็ต้องแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา ตามการพัฒนาอุตสาหกรรม
ในช่วงปี 1947-1991 ซึ่งเป็นยุคสงครามเย็น เป็นช่วงที่รัฐบาลค่อนข้างมีบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ มากกว่าภาคเอกชน
ตัวอย่างเช่น องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ NASA ในช่วงเวลานั้นก็เป็นผู้วางเป้าหมายในการสำรวจอวกาศ และวางแผนปล่อยดาวเทียมสำรวจขึ้นไปโคจรรอบโลก
ในขณะที่ภาคเอกชนแทบจะไม่มีบทบาทในการเป็นผู้นำในการสำรวจอวกาศเลย ส่วนมากแล้วบริษัทเอกชนจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ใช้ในยานอวกาศ และอุปกรณ์อื่น ๆ เสียมากกว่า
แต่เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง ภาคเอกชนก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจดาวเทียม และการท่องเที่ยวในวงโคจรใกล้โลก
1
แต่รัฐบาลก็ยังมีบทบาทสำคัญในการสำรวจอวกาศ รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อเป็นสถานที่ทดลองด้านอวกาศร่วมกัน
Morgan Stanley สถาบันการเงินระดับโลก ออกมาคาดการณ์ว่า ภายในปี 2040 อุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลก จะมีมูลค่ารวมประมาณ 36 ล้านล้านบาท จากปี 2016 ที่มีมูลค่าเพียง 13 ล้านล้านบาท
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมอวกาศเติบโตมากขึ้น คือ เทคโนโลยีการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ซึ่งตอนนี้มีภาคเอกชนเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจนี้อยู่หลายเจ้า เช่น Starlink, Amazon รวมถึง Eutelsat OneWeb
1
Morgan Stanley คาดการณ์ว่า ธุรกิจอินเทอร์เน็ตดาวเทียม จะมีมูลค่ามากถึง 14.9 ล้านล้านบาท ในปี 2040 คิดเป็นสัดส่วน 39% ของมูลค่าอุตสาหกรรมอวกาศรวมเลยทีเดียว
สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างมากก็คือ ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือที่มากขึ้น แต่การสร้างสถานีฐานก็มีข้อจำกัดบางอย่าง
ทำให้การใช้ดาวเทียม กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียม ยังสามารถครอบคลุมไปถึงพื้นที่ห่างไกลได้ดีอีกด้วย ตั้งแต่ในป่าลึก ยอดเขา ไปจนถึงกลางทะเล
แล้วรู้ไหมว่า ประเทศไทยเองก็มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดาวเทียมอยู่ 2 บริษัท คือ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดาวเทียม
และบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม
ก็เป็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่า หากอุตสาหกรรมอวกาศ โดยเฉพาะธุรกิจด้านอินเทอร์เน็ตดาวเทียมเติบโตตามที่ Morgan Stanley คาดการณ์ไว้จริง
ธุรกิจเหล่านี้ในไทยจะได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน..
โฆษณา