9 ธ.ค. 2023 เวลา 23:10 • ประวัติศาสตร์

‎بِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَـٰنِ الرَّحِيمِ

วันพุธ ที่ 17 เดือนเซาวาล ฮ.ศ. 1443 : อ้างอิงวันที่โพสต์จากเพจประวัติศาสตร์อิสลาม
ท่านบะรอกะฮ์ข่าน สุลต่านแห่งอาณาจักรอิสลามโกลเด้นฮอร์ด
ท่านอาบุล มะอาลี นาซิรุดดีน บะรอกะฮ์ ข่าน บิน โจชิ บิน เจงกิส ข่าน : أبو المعالي ناصر الدين بركة خان بن جوجي بن جنكيز خان : หรือที่เรียกกันว่า บะรอกะฮ์ ข่าน :
‎بركة خان
ท่านบะรอกะฮ์ข่าน เกิดใกล้กับภูเขาบูร์คันคัลดุน (برخان خلدون : ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศมองโกเลีย) เมื่อปี ฮ.ศ. 606 เป็นบุตรชายคนที่ 4 ในจำนวน 7 คนของท่านโจชิข่าน ซึ่งเป็นผู้ปกครองอาณาจักรทางแถบภาคเหนือของจักรวรรดิมองโกลภายใต้อำนาจของจักรพรรดิเจงกิสข่านในขณะนั้น
: ผู้ร่วมก่อตั้งอาณาจักรโกลเด้นฮอร์ด :
ในปี ฮ.ศ. 634 บาตูข่าน และท่านบะรอกะฮ์ข่านได้รับคำสั่งจากโอเกดิข่าน จักรพรรดิมองโกลให้จัดเตรียมกองทัพจำนวน 150,000 คนเพื่อบุกพิชิตดินแดนไซบีเรียและดินแดนทางตอนเหนือของคอเคซัสจนนำไปสู่การก่อตั้งอาณาจักรโกลเด้นฮอร์ดขึ้นมาโดยมีผู้นำคนแรกคือ บาตูข่าน พี่ชายของท่านบะรอกะฮ์ข่านนั้นเอง
: จากเบอร์ก ข่าน สู่ บะรอกะฮ์ ข่าน :
เดิมทีชาวมองโกลส่วนใหญ่ของพวกเขานั้นเป็นชนเผ่าที่ไม่ได้นับถือศาสนา และมีเพียงการบูชาภูตผีปีศาจ
ในปี ฮ.ศ. 650 ท่านบะรอกะฮ์ข่าน ได้พบกับพ่อค้ามุสลิมท่านนึงที่มาพร้อมกับกองคาราวานค้าขายจากเมืองบุคอรอ (อยู่ในประเทศอุซเบกิสถาน) และได้สนทนาเกี่ยวกับหลักศรัทธาและหลักยึดมั่นของศาสนาอิสลาม จนทำให้ท่านเลื่อมใสศรัทธาและประกาศเข้ารับอิสลาม และได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า “บะรอกะฮ์” อันมีความหมายว่า “การเพิ่มพูน,ความดีงาม” ซึ่งกลับกันกับชื่อเดิมของท่านคือ เบอร์ก ที่แปลว่า “ความยากลำบาก”
: สุลต่าน แห่งอาณาจักรโกลเด้นฮอร์ด :
บาตูข่าน เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 650 และบุตรชายของท่านคือ หิรตูกข่าน (حرتق) ได้ขึ้นมาปกครองได้ไม่นานก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา
และในปี ฮ.ศ. 653 อำนาจการปกครองดินแดนโกลเด้นฮอร์ดก็ได้ถูกส่งมอบให้กับ “ท่านบะรอกะฮ์ข่าน”
ซึ่งท่านบะรอกะฮ์ข่าน ได้นำชะรีอะฮ์อิสลามมาใช้ในการปกครองอาณาจักรแห่งนี้ และนับเป็นดินแดนแห่งแรกของชาวมองโกลที่ปกครองตามรูปแบบอิสลาม และได้ก่อตั้งเมืองซาราย (سراي : ปัจจุบันคือเมืองซาราตอฟในรัสเซียบนฝั่งแม่น้ำวอลกา) ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรและได้เชื้อเชิญนักวิชาการและนักกฎหมายมาสู่เมืองนี้ จนกระทั่งกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น
: จากผู้ต่อต้าน สู่การเป็นผู้ช่วยเหลือและเชิดชูเกียรติแห่งอิสลาม :
ในช่วงศตวรรษที่ 6 -7 ของฮิจเราะห์ศักราช เป็นช่วงที่ชาวมองโกลได้แผ่ แสนยานุภาพกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆเกินกว่าครึ่งโลก
ใครจะคาดคิดว่าชนเผ่าเร่ร่อนทางตอนเหนือของจีนจะมีความกล้าหาญและสามารถพิชิตอาณาจักรต่างๆเรื่อยมาตั้งแต่ จีน เกาหลี รัสเซีย อินเดีย เปอร์เซีย เอเชียกลาง และบางส่วนของอาหรับ
การแผ่ขยายอิทธิพลของชาวมองโกลสร้างความครั่นคร้ามให้กับโลกอย่างมากมาย เพราะนอกจากกองทัพมองโกลจะไร้ซึ่งความปรานีแล้ว พวกเขายังมีความเก่งกาจทางการรบบนหลังม้าเป็นอย่างมาก ว่ากันว่า
“หากพวกเขาคิดจะครองโลก ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีทางที่เป็นไปไม่ได้”
แต่แล้วความเกรี้ยวกราดของกองทัพมองโกลก็หยุดอยู่เพียงชายฝั่ง เมดิเตอร์เรเนียนในศึกอัยน์ญาลูต ปี ฮ.ศ. 658 เพราะต้องเจอกับกองทัพมุสลิมแห่งอาณาจักรมัมลูคที่สามารถพิชิตศึกและหยุดหายนะครั้งนี้ไว้ได้
ในสมรภูมิอัยน์ญาลูตนั้น มีท่านบะรอกะฮ์ข่านผู้มีบทบาทอย่างมากในการที่คอยช่วยสนับสนุนในด้านส่งทหารและเสบียงไปช่วยรบและยังได้แนะนำยุทธวิธีการรบแบบที่รู้ไส้รู้พุงกองทัพมองโกลเพื่อให้กองทัพมัมลูคสามารถพิชิตศึกครั้งนี้ได้โดยไม่เสียเปรียบ
แต่การที่ท่านบะรอกะฮ์ข่าน ได้เข้าไปช่วยเหลือกองทัพมัมลูคแห่งอียิปต์นั้น นำไปสู่ความขัดแย้งต่อฮูลากูข่าน ผู้ปกครองแห่งอาณาจักรอิลข่าน ที่ขึ้นมาเป็นจักรพรรดิมองโกลในปี ฮ.ศ. 646 และมีสิทธิเหนือดินแดนโกลเด้นฮอร์ดอีกด้วย
แต่ฮูลากูข่าน จักรพรรดิแห่งมองโกลไม่สามารถหาข้าอ้างที่เพียงพอในการทำศึกกับท่านบะรอกะฮ์ข่านได้
และในปี ฮ.ศ. 660 ท่านบะรอกะฮ์ข่านได้จัดเตรียมกองทัพไปทำศึกกับฮูลากูข่าน เนื่องจากฮูลากูข่านได้สังหารผู้ส่งสารของท่านบะรอกะฮ์ข่านที่ถูกส่งมาเรียกร้องสินทรัพย์สงครามที่ได้ยึดครองมาตามกฎระเบียบที่ได้ตั้งกันมาในยุคสมัยเจงกิสข่าน ผลของสงครามคือ กองทัพของท่านบะรอกะฮ์มีชัยเหนือกองทัพฮูลากูข่าน
แต่ต่อมา ฮูลากูข่านได้จัดกองทัพที่ใหญ่กว่ามากโดยมีแม่ทัพชื่อ นูไก (نوغاي) และครั้งนี้กองทัพฮูลากูข่านเป็นฝ่ายมีชัย
ในปี ฮ.ศ. 661 ฮูลากูข่านต้องการให้ท่านบะรอกะฮ์ข่านพ่ายแพ้อย่างไม่มีทางกลับมาสู้ได้อีก จึงได้จัดกองทัพขนาดใหญ่โดยมีบุตรชายของฮูลากูข่านชื่อ อบากาข่าน (‎أباقا خان)
ซึ่งในครั้งนี้ ท่านบะรอกะฮ์ข่านได้นำกองทัพไปสู้รบด้วยตัวของท่านเอง
ศึกนี้เกิดขึ้นแถวบริเวณภูมิภาคคอเคซัสและผลของสงครามคือ กองทัพของฮูลากูข่านกลับต้องถูกฉีกเป็นชิ้นๆเหลือเพียงทหารไม่กี่คนเท่านั้นที่รอดชีวิต
เมื่อข่าวความพ่ายแพ้ต่อท่านบะรอกะฮ์ข่านได้มาถึงฮูลากูข่าน เขาได้ประสบกับโรคหลอดเลือดสมอง และเป็นลมบ้าหมูจนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 663
ดังนั้น ท่านบะรอกะฮ์ข่านเสมือนได้ล้างแค้นให้อิสลามและมุสลิมจากอาชญากรทรราชผู้ทำลายอาณาจักรอับบาซิยะห์และได้หลั่งเลือดมุสลิมเป็นจำนวนมากกว่าล้านคน
ในเดือนรอบีอุ้ลอาเคร ปี ฮ.ศ. 665 ท่านบะรอกะฮ์ข่านได้เสียชีวิตในวัย 59 ปีตามฮิจเราะห์ศักราช
ในขณะที่ท่านกำลังจัดเตรียมกองทัพไปสู้รบกับอบากาข่านที่มีความแค้นต่อท่านบะรอกะฮ์ข่านที่เมืองทบิลิซี (เมืองทบิลิซี ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของประเทศจอร์เจีย)
ขอยกอัลกุรอานมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ความว่า :
وَلَقَدۡ أَرۡسَلۡنَا مِن قَبۡلِكَ رُسُلًا إِلَىٰ قَوۡمِهِمۡ فَجَآءُوهُم بِٱلۡبَيِّنَٰتِ فَٱنتَقَمۡنَا مِنَ ٱلَّذِينَ أَجۡرَمُواْۖ وَكَانَ حَقًّا عَلَيۡنَا نَصۡرُ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ
และโดยแน่นอน เราได้ส่งบรรดาร่อซูลก่อนหน้าเจ้าไปยังหมู่ชนของพวกเขา และเขาเหล่านั้นได้นำหลักฐานต่าง ๆ มาให้พวกเขาแล้ว
ดังนั้นเราได้ตอบแทนบรรดาผู้กระทำความผิดอย่างสาสม และหน้าที่ของเราคือการช่วยเหลือบรรดาผู้ศรัทธา
ซูเราะห์อัรรูม อายะห์ที่ 47
โฆษณา