9 พ.ย. 2023 เวลา 04:32 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุปงานสัมมนา 3 องค์กรตลาดทุน

“โอกาสหุ้นไทย ภายใต้เศรษฐกิจโลกผันผวน” เมื่อ SET ดิ่งแรงสุดในภูมิภาคอาเซียน
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดสัมมนาให้ข้อมูลและมุมมองสถานการณ์เศรษฐกิจการลงทุน “โอกาสหุ้นไทย ภายใต้เศรษฐกิจโลกผันผวน”
โดย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ร่วมอัปเดตภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมมุมมองเจาะลึกจากนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ถึงโอกาสการลงทุนในตลาดทุนไทย
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 76.87 ปรับลง 31.5% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 76.87 ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันและกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”
โดย หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG) ขณะที่หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) ด้านปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส
ด้านดัชนีหุ้นไทยยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ทั่วโลกจากความกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ยังคงตึงเครียดและจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 5%
ทั้งนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2566 หลุดกรอบ 1,400 จุดมาปิดที่ 1,381.83 ปรับตัวลดลง 6.1% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ 47,213 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องกว่า 15,649 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวมกว่า 171,021 ล้านบาท
ขณะที่นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในปีนี้มีความท้าทายเป็นอย่างมาก ซึ่งดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2566 ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากฐานของดัชนีที่สูงในปีก่อนหน้าและ 2 เหตุการณ์อย่าง MORE กับ STARK ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
แต่อย่างไรก็ดี การปรับตัวในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการปรับตัวลดลงทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยยังมีบางอุตสาหกรรมที่เคลื่อนไหวได้ดีกว่าตลาด อาทิ หุ้นเทคโนโลยี หุ้นธนาคาร และมีบางอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัว อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตร และกลุ่มการบริโภคในประเทศ
โดยกลุ่มที่คาดการณ์ว่าจะสามารถฟื้นตัวหรือปรับตัวขึ้นในดีในอนาคต หากดูจากข้อมูล P/E เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ก็พบว่ายังมีทุกอุตสาหกรรมยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จึงยังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นมาได้อย่างมีนัยสำคัญ เพียงแต่ระดับของการฟื้นตัวจะไม่เท่ากัน
นอกจากนี้ ยังมองว่ามีกลุ่มหุ้นที่เป็นจุดแข็งของประเทศและมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้น อย่างกลุ่มอาหาร (ที่เกี่ยวกับอาหารจากพืช, อาหารรักษาโรค, อาหารชีวภาพ) กลุ่มท่องเที่ยว (ที่เกี่ยวกับผู้เร่ร่อนดิจิทัล, รักษาและดูแลสุขภาพ, พักอาศัยระยะยาว, อุตสาหกรรม Soft power) กลุ่มความยั่งยืน (ที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทน, คาร์บอนต่ำ, พลาสติกชีวภาพ, ยานยนต์ไฟฟ้า) กลุ่มเศรษฐกิจใหม่ (ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล, เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ และอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต)
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยว่า ตามข้อมูลทางสถิติความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นทั่วโลกจะปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนที่จะปรับตัวลดลงในครึ่งปีหลัง แต่สำหรับตลาดหุ้นไทยในปีนี้สถานการณ์ค่อนข้างแตกต่างจากตลาดหุ้นอื่นๆ
โดยตลาดหุ้นไทยในปี 2566 ถูกกดดันทั้งในช่วงครึ่งปีแรก ที่นักลงทุนมีความกังวลและขาดความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนจากเหตุการณ์ของ MORE กับ STARK และในช่วงครึ่งปีหลังเหตุการณ์การเมืองในประเทศที่รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนของนโยบายที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงเม็ดเงินลงทุนระยะยาวที่จะเข้ามาลงทุน
แต่อย่างไรก็ดี ทิศทางการลงทุนจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการทำงานของรัฐบาลในปัจจุบันเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบายใหม่ รวมถึงการปรับนโยบายให้มีความยืดหยุ่น ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างดึงความมั่นใจของนักลงทุนให้กลับมาได้มากขึ้น
ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการดึงเม็ดเงินระยะยาวเข้าตลาดหุ้นไทย ทาง FETCO และ IAA เตรียมเข้าพบรมว.คลังในช่วงกลางเดือนพ.ย. เพื่อต่ออายุกองทุน SSF ที่จะหมดอายุและจะมีการเสนอให้ทบทวนถึงกฎเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อจูงนักลงทุนมากขึ้น รวมไปถึงการออกกองทุนใหม่ที่จะดึงดูดนักลงทุนได้
เฟ้นหาโอกาสลงทุนในหุ้นไทย
นายเกษม พันธ์รัตนมาลา CFA อุปนายก สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กรรมการและผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ให้มุมมองว่า จากต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยเกือบ 5,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นตัวฉุดให้ตลาดหุ้นไทยไหลลงมาพอสมควร
โดยต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องแม้การจัดตั้งรัฐบาลจะชัดเจน เนื่องจากมองว่าแม้จะมีการประกาศนโยบายต่างๆ ออกมาจำนวนมาก แต่ผ่านการดำเนินงานยังไม่ชัดเจน อีกทั้งหลายนโยบายยังกระทบต่อบริษัทจดทะเบียน ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลและขายหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบออกมาค่อนข้างหนัก
ขณะเดียวกันตลาดหุ้นไทยมีหุ้นพลังงานเป็นกลุ่มใหญ่ เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้เป็นอีกปัจจัยที่ฉุดตลาดหุ้นไทยลง ดังนั้นจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยสาหัสกว่าตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ หากดูหุ้นกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือกลุ่มพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ศึกษาอยู่ประมาณ 80 กว่าบริษัท อาจติดลบในปี 2566 ประมาณ 7% ซึ่งค่อนข้างสาหัสเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่ไม่มีวิกฤต แต่หากตัดกลุ่มพลังงานและกลุ่มปิโตรเคมีออกไป กำไรกลุ่มอื่นๆ รวมกันยังบวก 13% แต่หากมองภาพรวมแนวโน้มอาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในปี 2567 น่าจะไม่ได้ปรับตัวลงไปมากกว่านี้แล้ว ทำให้คาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนน่าจะเติบโตประมาณ 13% ซึ่งเป็นระดับที่ดัชนีน่าจะรีบาวน์พอสมควร จากปัจจุบันที่ปรับตัวลงไปแล้ว 15% มองโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะรีบาวน์มีค่อนข้างมาก หากดู Forward P/E ของ SET Index ตกลงมาต่ำกว่าระดับ 14 เท่า ดัชนีอยู่ที่ระดับราว 1,400 จุด ซึ่งโดยปกติ P/E ที่ระดับนี้ถือเป็นโซนรีบาวน์แล้ว
ดังนั้นหลังจากนี้จึงมองว่า Downside น้อย ประกอบกับจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามทำเริ่มเข้ามาสนับสนุน ตรงนี้อาจทำให้ตลาดหุ้นไทยรีบาวน์ได้
สำหรับธีมการลงทุนในปี 2567 ต้องดูว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ โดยภาคการท่องเที่ยวน่าจะขยายตัว คาดจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 35 ล้านคน จากปี 2566 ที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 26-27 ล้านคน และมีแนวโน้มจะโตต่อเนื่อง ซึ่งส่วนนี้จะช่วยซัพพอร์ต GDP ได้ราว 1-2% หนุนให้เศรษฐกิจปี 2567 ขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ ส่วนภาคการขนส่งคาดจะโตได้ราว 2% จากปีนี้ที่คาดจะติดลบ หนุนให้เกิดการจ้างงานและการบริโภคภาคเอกชนมากขึ้น
ส่วนการลงทุนภาครัฐ คาดงบประมาณอาจล่าช้าไปจนถึงครึ่งหลังปีหน้า ทำให้ครึ่งแรกของปี 2567 ค่อนข้างลำบาก ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีการชะลอตัวเช่นเดียวกัน เพื่อรอดูนโยบายที่ชัดเจนและงบประมาณจากภาครัฐอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ปีหน้าโครงการลงทุนของภาครัฐน่าจะชัดเจนมากขึ้น ช่วยหนุนให้ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น
ด้านนายกรภัทร วรเชษฐ์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่า ปัจจุบันระดับดัชนีที่ 1,400 จุด เป็นระดับที่ถูกมากแล้ว มองเป็น Value โซน
โดยหากย้อนกลับไปในอดีตเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่วงจรดอกเบี้ยสูง ดอกเบี้ยต่ำ และการใช้ QE ฯลฯ ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลงราว -1.5 ถึง -2 SD ของ Price to Book Value ซึ่งเป็นโซนที่ถูก แม้ไม่ใช่จุดต่ำสุดแต่ตลาดซึมซับเรื่องร้ายมามากแล้ว ดังนั้นหากเข้าลงทุนหุ้นไทยที่ระดับนี้ และถือลงทุนต่อเนื่อง มักให้ผลตอบแทนเป็นบวกเสมอ และเป็นผลตอบแทนในระดับสูงมาก 3 เดือน 6-7% 6- 1 ปี สูงถึง 20-30%
“ยิ่งตลาดหุ้นไทยลงมาลึกยิ่งสร้างโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงมากเท่านั้น ตอนนี้ตลาดหุ้นอยู่ใน Value โซนจริงๆ แต่การปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก ทำให้มีความเปราะบางด้านความเชื่อมั่นที่น้อยลงไปด้วย ดังนั้นหากมีความเสี่ยงใหม่ที่เราไม่คาดคิดเข้ามา อาจเขย่าดัชนีลงไปได้ แต่มองว่าเป็นขาปลายแล้ว” นายกรภัทร กล่าว
นอกจากนี้ยังมองว่าหุ้นที่ outperform อยู่ มีโอกาสที่จะปรับขึ้นต่อค่อนข้างน้อย ดังนั้นนักลงทุนควรปรับพอร์ตลงทุนไปยังหุ้นที่มีโอกาสฟื้นตัวสูง เนื่องจากรับรู้เรื่องร้ายไปมากแล้ว เช่น ปิโตรเคมี แพคเกจจิ้ง ธนาคารพาณิชย์ โรงไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีก
ส่วนไอซีที โรงพยาบาล และรีท ซึ่งเป็นที่พักเงินระยะสั้นในช่วงที่ตลาดผันผวน และปัจจุบันกำลัง outperform หากนักลงทุนอยากถือต่อ ต้องวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และคัดเลือกลงทุนเป็นตัว
สำหรับปัจจัยภายนอกอย่างนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มองว่าอัตราดอกเบี้ยผ่านจุดพีคไปแล้ว และคาดว่าจะเห็นแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาส 1/67 หรือในเดือนพ.ค. 67 บนเงื่อนไขว่าจะไม่เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง
โดยประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายกลุ่มยังพอไปต่อได้ เช่น อัตราการว่างงาน ยอดขายรีเทลและโฮลเซล เป็นต้น ทำให้คาดว่าในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า สหรัฐฯ น่าจะยังไม่เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ส่วนปัจจัยภายในประเทศยังต้องรอติดตามนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ โดยคาดว่าวันที่ 10 พ.ย. นี้จะเห็นความชัดเจนของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เราคาดว่ารัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงถึง 5 แสนล้านบาท หากเลือกเงื่อนได้ตรงจุด และทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากระบุแหล่งที่มาของเงิน ขอบเขตนโยบาย และเป้าหมายได้ชัดเจน เชื่อว่าตลาดจะเข้าใจ
ขณะที่คำแนะนำการลงทุน ธีมใหญ่ที่นักลงทุนควรต้องมี คือ Peaking Yield ธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง เช่น KCE GULF, หุ้นกลุ่มบริโภคที่จะฟื้นตัว เช่น ERW CPALL, หุ้นที่แนวโน้มไตรมาส 4/66 เติบโตสูง MAJOR, หุ้นนิคมอุตสาหกรรม เช่น WHA AMATA และ หุ้นธีม China Plays เช่น IVL PTTGC
นอกจากนี้ยังธีมการลงทุนตามนโยบายของภาครัฐ ได้แก่ 1. แลนด์บริดจ์ เช่น หุ้นกลุ่มขนส่งอย่าง WICE LEO SJWD หุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม WHA AMATA และหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง STEC CK, 2. นโยบายสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ เช่น PLANB MAJOR WORK CPN SPA RS BE8 เป็นต้น
โฆษณา