Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MONEY LAB
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
9 พ.ย. 2023 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
3 สัญญาณ JKN ก่อนยื่นฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลาย
ข่าวดังที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์วันนี้ คือเรื่องที่ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย
ส่งผลให้ราคาหุ้น JKN ร่วงลงมา -30%
หลังจากเมื่อ 2 เดือนก่อน JKN ได้รายงานว่ามีปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว จ่ายเงินกู้ยืมหุ้นกู้ ราว 600 ล้านบาท ไม่ไหว
เราเคยสงสัยบ้างไหมว่า ทำไมบริษัทอย่าง JKN ที่ทำธุรกิจมีรายได้และกำไร เติบโตมาโดยตลอด
ถึงได้เดินมาถึงจุดที่บริษัทยื่นฟื้นฟูกิจการได้ ?
ซึ่งความจริงแล้ว ถ้าเราไปไล่เรียงจากในงบการเงิน ก็จะพบว่า มีถึง 3 สัญญาณ ที่บอกเราเป็นนัย ๆ ได้ว่า บริษัทคงจะไปไม่รอด
แล้วสัญญาณเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
JKN มี 3 สัญญาณที่เราสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ
จากในงบการเงิน
1. สภาพคล่องของบริษัทลดน้อยลงเรื่อย ๆ
ในการจะวัดสภาพคล่องระยะสั้นของบริษัท สามารถทำได้ด้วยการใช้อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน
หรือ Current Ratio
คำนวณหาได้จาก
สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน
โดย Current Ratio จะบอกเราว่า ในระยะสั้นคือเวลา 1 ปี บริษัทจะมีสภาพคล่องเพียงพอหรือไม่
หาก Current Ratio มากกว่า 1 เท่า แปลว่า บริษัทมีทรัพย์สินเพียงพอที่จะแปลงให้เป็นเงินสด แล้วนำไปชำระหนี้สินระยะสั้นได้ ทำให้บริษัทไม่มีปัญหาสภาพคล่อง
แต่ถ้า Current Ratio น้อยกว่า 1 เท่า หมายความว่า บริษัทมีความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่อง และมีโอกาสล้มละลายได้
แล้ว Current Ratio ของ JKN เป็นอย่างไร ?
ในปี 2559 ก่อนที่ JKN จะเข้าตลาดหลักทรัพย์
JKN มี Current Ratio อยู่ที่ 0.56 เท่า ซึ่งถือว่ามีสภาพคล่องที่ไม่ค่อยจะดี
แต่พอบริษัทได้เข้าตลาด และได้รับเงินจากการเพิ่มทุน ก็ทำให้ JKN มี Current Ratio ที่ดีขึ้น มีค่ามากกว่า 1 เท่า มาตลอด
จนกระทั่ง ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา
Current Ratio ของบริษัท ก็น้อยลงมาเรื่อย ๆ
และในปี 2565 บริษัทก็มี Current Ratio
เหลือแค่ 0.75 เท่า
ล่าสุดในงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2566
Current Ratio ก็ลดลงมาอีก เหลือแค่ 0.67 เท่า เท่านั้น
นั่นก็แปลว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป JKN จะไม่มีเงินเพียงพอ ที่จะจ่ายหนี้ระยะสั้น ภายในเวลา 1 ปีต่อจากนี้ได้
2. บริษัทมีหนี้สินเพิ่มขึ้นทุกปี
ในการจะวิเคราะห์สัดส่วนหนี้สินของบริษัท เราจะใช้ 2 อัตราส่วนยอดฮิต คือ
- อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ D/E Ratio
คำนวณหาได้จาก
หนี้สินรวม / ส่วนของผู้ถือหุ้น
- อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ IBD/E Ratio
คำนวณหาได้จาก
หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย / ส่วนของผู้ถือหุ้น
ในปี 2559 ก่อนจะเข้าตลาดหุ้น เราพบว่า JKN มี
D/E Ratio อยู่ที่ 2 เท่า และ IBD/E Ratio อยู่ที่ 1.45 เท่า
แต่พอหลังจากบริษัทเข้าตลาดแล้ว อัตราส่วนทั้ง 2 ตัวนี้ของบริษัท ก็ดีขึ้น คือน้อยกว่า 1 เท่า มาตลอด
พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า พอบริษัทเพิ่มทุน สัดส่วนหนี้สินที่มี ก็น้อยกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นนั่นเอง
แต่พอตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา JKN ก็กลับมามีทั้ง D/E Ratio และ IBD/E Ratio มากกว่า 1 เท่าอีกครั้ง
กลายเป็นว่า บริษัทกลับมามีหนี้สินมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นอีกแล้ว
หากเราไปย้อนดูตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2565 เราจะพบว่า JKN มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นทุกปี
หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย คือหนี้สินที่รวมเฉพาะแค่ เงินเบิกเกินบัญชี เงินกู้ยืมธนาคาร และหุ้นกู้
- ปี 2559 มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 794 ล้านบาท
- ปี 2562 มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 1,588 ล้านบาท
- ปี 2564 มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 3,697 ล้านบาท
- ปี 2565 มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 5,298 ล้านบาท
ยิ่งมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยมากขึ้น รายได้และกำไรจากการทำธุรกิจ ก็ต้องเสียไปกับดอกเบี้ยมากขึ้น และก็ทำให้สภาพคล่องลดลงไปเรื่อย ๆ นั่นเอง
3. กระแสเงินสดอิสระของบริษัท ติดลบมาอย่างยาวนาน
กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะใช้ เพื่อช่วยตรวจสอบว่า บริษัทมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงหรือไม่
โดยกระแสเงินสดอิสระ คำนวณหาได้จาก
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน ลบด้วย ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนทำธุรกิจ
สำหรับ JKN มีกระแสเงินสดอิสระ ติดลบมาตั้งแต่ปี 2559
ปี 2559 กระแสเงินสดอิสระ -375 ล้านบาท
ปี 2561 กระแสเงินสดอิสระ -690 ล้านบาท
ปี 2563 กระแสเงินสดอิสระ -582 ล้านบาท
ปี 2565 กระแสเงินสดอิสระ -1,095 ล้านบาท
และล่าสุดคือ ไตรมาสที่ 2 ปี 2566
JKN มีกระแสเงินสดอิสระ -593 ล้านบาท
พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เมื่อเราดูกระแสเงินสดอิสระ ก็พบว่า JKN ได้รับผลตอบแทนกลับมาเป็นเงินสด ไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่บริษัทใช้ไปเลย
หลายคนอาจจะสงสัยว่า เมื่อกระแสเงินสดอิสระของบริษัท ติดลบหลักร้อยล้านพันล้านบาท มาอย่างต่อเนื่องแบบนี้
แล้วบริษัทเอาเงินจากไหน มาหมุนเวียนทำธุรกิจ ?
คำตอบก็คือ การกู้เงินจากธนาคาร และการออกหุ้นกู้
หรือก็คือ JKN อยู่ได้ เพราะเงินกู้นั่นเอง..
จากบทความนี้ เราคงได้เห็นแล้วว่า สัญญาณตั้งแต่ข้อที่ 1 มาจนถึงข้อที่ 3 ที่ MONEY LAB ได้วิเคราะห์ไป ทุกข้อมีความเชื่อมโยงถึงกันหมด
JKN ทำธุรกิจแล้วได้เงินมาก็จริง แต่ก็จ่ายออกไปกับการลงทุนมหาศาล จึงต้องกู้เงินและออกหุ้นกู้
โดย JKN ก็ทำอย่างนี้มาโดยตลอด แต่สุดท้ายเมื่อหนี้สินมากขึ้น ๆ ประกอบกับบริษัทไม่สามารถกู้เงินเพิ่มขึ้นได้แล้ว
จึงส่งผลให้บริษัทเกิดปัญหาสภาพคล่องระยะสั้นขึ้น
แน่นอนว่า บริษัทสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการออกหุ้นใหม่เพื่อเพิ่มทุน
แต่เมื่อเงินเพิ่มทุน ไม่เพียงพอต่อการจ่ายหนี้
ก็ทำให้ JKN ไปไม่รอด จนเกิดปัญหาการจ่ายหนี้หุ้นกู้ และสุดท้ายในวันนี้ JKN ก็ต้องยื่นฟื้นฟูกิจการ..
References
- หนังสือ The Five Rules for Successful Stock Investing: Morningstar's Guide to Building Wealth and Winning in the Market (2004) โดย Pat Dorsey
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- งบการเงินของบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2559 ถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2566
jkn
7 บันทึก
20
1
7
7
20
1
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย