Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนแมน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
11 พ.ย. 2023 เวลา 02:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ถนนนิมมานเหมินท์
“นิมมานฯ” ถนนเศรษฐกิจสำคัญ ในเชียงใหม่
ภาพจำของถนนนิมมานฯ ที่เชียงใหม่ เต็มไปด้วย คาเฟ ร้านอาหาร ร้านนั่งชิล ไปจนถึงมุมถ่ายรูปที่ไม่เหมือนใคร
แต่รู้หรือไม่ว่า ความจริงแล้วก่อนหน้านี้ พื้นที่ย่านนิมมานฯ เป็นเพียงพื้นที่โล่ง ที่แทบไม่มีสิ่งก่อสร้างอะไรเลย
ปัจจุบัน ถนนนิมมานฯ กลายมาเป็นถนนเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่ โดยมีราคาประเมินล่าสุด อยู่ราว 200,000 บาทต่อตารางวา
แล้วถนนนิมมานฯ กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญได้อย่างไร ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ถนนนิมมานเหมินท์ หรือถนนนิมมานฯ เป็นถนนที่มีความยาวเพียง 1.3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินราว 15 นาที
ถนนนิมมานฯ เหมือนกับถนนทั่วไป ที่ฝั่งหนึ่งจะเป็นซอยเลขคี่ ส่วนอีกฝั่งจะเป็นเลขคู่ โดยจำนวนซอยทั้งหมดมีอยู่ 17 ซอยด้วยกัน
ทางฝั่งซอยเลขคู่ บางซอยจะสามารถทะลุไปยังถนนคันคลอง ซึ่งเป็นถนนที่ติดกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ส่วนฝั่งเลขคี่ บางซอยจะสามารถทะลุไปยังถนนศิริมังคลาจารย์ได้
ซึ่งความจริงแล้ว ถนนศิริมังคลาจารย์ ถือเป็นถนนอีกสายหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ สถานที่ท่องเที่ยว และกลิ่นอายคล้ายคลึงกับถนนนิมมานฯ เหมือนกัน
ทีนี้เราลองมาย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของ ถนนนิมมานฯ กัน
ย้อนไปเมื่อประมาณ 60 ปีก่อน ตัวเมืองเชียงใหม่นั้นยังคงกระจุกตัวอยู่ที่ กรอบสี่เหลี่ยมของเขตคูเมือง และบริเวณโดยรอบที่ใกล้เคียงเท่านั้น
แต่ในเวลาต่อมา หลังจากที่เชียงใหม่เริ่มมีสถานที่สำคัญมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสนามบินเชียงใหม่, โรงพยาบาล
ทำให้เชียงใหม่มีความเจริญมากขึ้น จำนวนประชากรก็เริ่มเพิ่มขึ้นตามมา
ซึ่งเป็นช่วงประมาณปี 2500 เป็นต้นมา ตัวเมืองก็ได้เริ่มขยายออกไปรอบ ๆ คูเมืองมากขึ้น
โดยหนึ่งในทิศทางที่ขยายออกมามากที่สุด คือทางทิศตะวันตก
หรือหากเราเปิดดูใน Google Maps มันคือทางซ้ายมือ เยื้องมาทางด้านบน หากนับจากเขตคูเมือง
ซึ่งทิศทางนี้ เป็นทิศเดียวกับที่ถนนนิมมานฯ ตั้งอยู่นั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้ ตัวเมืองขยายมาในทิศนี้ หลัก ๆ แล้วเป็นเพราะว่า “การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่”
โดยหลังจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มเปิดให้มีการเรียนการสอนครั้งแรกในปี 2507 ความเป็นเมืองก็ค่อย ๆ ขยายตามมามากขึ้น
ซึ่งความจริงแล้ว พื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รวมถึงพื้นที่ถนนนิมมานฯ ในตอนนี้ เคยเป็นพื้นที่ของตระกูลนิมมานเหมินท์ มาก่อน
จนกระทั่งในช่วงปี 2484 ตระกูลนิมมานเหมินท์ ได้ทำการบริจาคพื้นที่บางส่วน เพื่อก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รวมถึงบริจาคพื้นที่ในการสร้างถนน เชื่อมระหว่างถนน 2 สายหลักอย่าง ถนนห้วยแก้ว และถนนสุเทพ เพื่อการคมนาคมที่สะดวกขึ้น
ซึ่งถนนสายที่กำลังพูดถึงนี้
ก็คือ ถนนนิมมานฯ นั่นเอง
กลับมาที่ทำเลของถนนนิมมานฯ ถนนสายนี้เรียกได้ว่าอยู่ในจุดกึ่งกลาง ระหว่าง 3 พื้นที่สำคัญ นั่นก็คือ
- เขตคูเมืองซึ่งเป็นเมืองเก่า
- สนามบินเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นอกจากนี้ ย่านนิมมานฯ ยังใกล้กับดอยสุเทพ ทำให้มีอากาศที่เย็นสบายกว่าจุดอื่น
รวมถึงยังช่วยในเรื่องวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม เหมาะสำหรับการทำธุรกิจในเมืองท่องเที่ยว อย่างเช่น ธุรกิจโรงแรม
ด้วยสาเหตุเหล่านี้เอง ทำให้ถนนนิมมานฯ
เริ่มกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
ร้านค้า สถานบันเทิง รวมถึงนายทุนรายใหญ่ จึงเริ่มเข้ามาลงทุนกันมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น “ห้างเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว” ที่เข้ามาเปิดในปี 2535 ที่ถนนห้วยแก้ว ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างเขตคูเมือง มายังถนนนิมมานฯ ซึ่งก็เพิ่งปิดให้บริการไปเมื่อปีที่ผ่านมา
ความนิยมของถนนนิมมานฯ สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในช่วงปี 2562 ที่ดินในเขตนิมมานฯ กลายเป็นที่ดินที่มีราคาสูงเป็นอันดับ 2 ของเชียงใหม่
ซึ่งตอนนั้นมีราคาสูงถึง 180,000 บาทต่อตารางวา เลยทีเดียว
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ถนนนิมมานฯ ได้กลายมาเป็น ถนนเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่ มีสถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ ที่มีชื่อเสียงมากมาย
วันนี้ เราลองมาดู สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง ในย่านนี้กัน
เริ่มมาจาก ตรงข้ามถนนนิมมานฯ ซอย 17 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Warmup Cafe ผับชื่อดังของเชียงใหม่ ที่เปิดให้บริการมาแล้ว 24 ปี
โดย Warmup Cafe ดำเนินธุรกิจภายใต้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เชียงใหม่ ระกา (1999)
ในปี 2565 บริษัทมี
รายได้ 24.5 ล้านบาท กำไร 1 ล้านบาท
ขยับไกลออกจากนิมมานฯ มาหน่อย
มาที่ถนนศิริมังคลาจารย์ ซอย 7
ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน ชีวิต ชีวา สาขาแรก
โดยร้านชีวิต ชีวา เป็นร้านคาเฟ ขนมหวาน ที่หลายคนน่าจะคุ้นชื่อกันมาบ้างแล้ว
ในปี 2565 บริษัทมี
รายได้รวมทุกสาขา 30 ล้านบาท กำไร 1.8 ล้านบาท
สุดท้ายคือ ห้างสรรพสินค้า ตั้งอยู่ที่หัวมุมสี่แยกรินคำ สี่แยกก่อนเข้ามาสู่ถนนนิมมานฯ ชื่อว่า “ห้าง MAYA”
โดยห้าง MAYA หรือ เมญ่า เป็นห้างที่มีจุดเด่นในเรื่องของทำเลที่เห็นได้ชัด ใกล้กับทางไปมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทำให้กลุ่มลูกค้าหลัก ๆ คือ นักท่องเที่ยวและกลุ่มนักศึกษา
สำหรับเจ้าของห้างแห่งนี้ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน
แต่คือ ตระกูลทองร่มโพธิ์ เจ้าของโรงภาพยนตร์ SF
โดยห้าง MAYA ดำเนินธุรกิจภายใต้
บริษัท มายา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
ในปีที่ผ่านมา บริษัทแห่งนี้
มีรายได้ 263 ล้านบาท กำไร 2 ล้านบาท
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นเหมือนกับ แลนด์มาร์กสำคัญของนิมมานฯ ในตอนนี้
คงหนีไม่พ้นโครงการ One Nimman และโครงการ Think Park ซึ่งตั้งอยู่ตรงหัวมุมสี่แยกรินคำ ตรงข้ามห้าง MAYA
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ทั้ง Think Park และ One Nimman มีเจ้าของคนเดียวกัน
ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ คุณตัน ภาสกรนที
หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ คุณตัน อิชิตัน นั่นเอง..
References
-
https://theurbanis.com/insight/20/01/2022/5783
-
https://becommon.co/culture/nimmanhaemin-road-history/
-
https://www.blockdit.com/posts/629049d246027676d4b1b7d3
-
https://www.blockdit.com/posts/6077cfd44bbb3e0c2ed10394
-
https://th.wikipedia.org/wiki/
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เชียงใหม่
9 บันทึก
30
8
9
30
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย