11 พ.ย. 2023 เวลา 07:37 • ศิลปะ & ออกแบบ

ซิ่นตีนเกาะโบราณ ของชาวลาวภูครัง จ.อุทัยธานี (แชร์ได้ครับ)

ซิ่นตีนเกาะ หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปในกลุ่มช่างทอผ้าชาวลาวภูครังที่อาศัยอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทยว่า "ซิ่นตีนจก" ซึ่งเป็นคำเรียกชื่อผ้าซิ่นที่เลียนแบบซิ่นตีนจกของชางล้านนา โดยสาเหตุที่ว่ามีความคล้ายคลึงกันในด้าน "รูปแบบ" และ "โครงสร้าง" กล่าวคือ มีโครงสร้างหัว ตัว และตีนซิ่น โดยเฉพาะส่วนของตีนซิ่นมีการทอตกแต่งเป็นลวดลายและสีสันที่หลากลายซึ่งจะทอลวดลายอยู่บนพื้นผ้าสีแดงคล้ายกับตีนจกของชาวล้านนา
แต่ข้อแตกต่างของตีนซิ่นลาวภูครังนั้น คือ จะทอเป็นลวดลายตามแนวกว้างของหน้าผ้าด้วยวิธีเพิ่มเส้นพุ่งพิเศษแบบไม่ต่อเนื่อง วิธีนี้วัฒนธรรมการทอผ้าของไทลาวนิยมเรียก "เกาะ" ลวดลายที่เกิดขึ้นจะเรียก "ลายเกาะ" หรือ "เกาะดอก" (บางพื้นที่เรียก "เก็บ")
วิธีเกาะ หรือเกาะดอกนี้ จะทอลวดลายโดยใช้อุปกรณ์ทอผ้าที่สำคัญอยู่ 2 ชนิด คือ ในอดีตนั้นจะใช้เพียงแค่ "ไม้หลาบ" หรือ "ไม้ดาบ" ในการคัดและยกเส้นยืนขึ้นตามลวดลายที่ต้องการ แล้วจึงสอดเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วง ๆ ด้วยนิ้วมือที่ใช้ในการเกาะเกี่ยวเส้นพุ่งพิเศษ จึงเรียกว่า "เกาะ" แต่ในปัจจุบันนั้นพบว่านิยมใช้ "ตะกอ" ที่เป็นตะกอปกติและตะกอพิเศษในการยกเส้นยืนขึ้น แล้วจึงใช้นิ้วเกาะเส้นพุ่งพิเศษให้สอดไปตามลวดลายที่ต้องการ
ลวดลายตีนเกาะ ที่พบมากในวัฒนธรรมการทอผ้าชาวลาวภูครังแถบจังหวัดอุทัยธานี คือ จะนิยมทอลายสัตว์ โดยเฉพาะลวดลายที่มีลักษณะคล้ายกับสุนัข ซึ่งชาวพื้นถิ่นเรียก "ลายหมาน้อย" โดยจะจัดวางลวดลายเป็นแถวยาวตามหน้าผ้าในตำแหน่ง "เครื่องป้อง" ที่อยู่ในโครงสร้างลายประกอบ ซึ่งจะทอขนาบข้างกับ "แม่ใหญ่" ที่เป็นลายหลัก
ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของซิ่นในวัฒนธรรมลาวภูครังคือ นิยมทอตัวซิ่นด้วยเส้นไหมที่ตกแต่งลวดลายด้วยวิธีมัดหมี่ และ "แจะหมี่" คือ จะนิยมมัดหมี่เป็นลายข้อเล็กๆ (ละเอียดมาก) เพื่อนำไปย้อมสีแดงเพียงแค่สีเดียวเท่านั้น ส่วนสีประกอบอื่นๆ เช่นสีเขียว สีเหลือง หรือสีบานเย็นนั้น เกิดขึ้นโดยวิธีการ "แจะหมี่" ซึ่งเป็นวิธีการป้ายหรือแต้มสีด้วยไม้หรือนิ้วมือลงบนลำหมี่ในตำแหน่งลวดลายที่ต้องการโดยตรงหลังจากการย้อมมัดหมี่แล้วเสร็จ
ลวดลายที่เกิดจากการมัดหมี่ และแจะหมี่ บนเส้นไหมแท้
ปล. ซิ่นตีนเกาะ ซิ่นตีนแดง หรือซิ่นตีนจก ในวัฒนธรรมลาวภูครัง จ.อุทัยธานี อายุ 80-100 ปี
ข้อมูล รูปภาพ และถ่ายภาพ: อรรถพงษ์ ประดิษฐพงษ์
สามารถแชร์ข้อมูลและรูปภาพได้
แต่ขอสงวนสิทธิ์ในการคัดลอกข้อมูล และรูปภาพเพื่อไปใช้ในงานส่วนตัว ก่อนการได้รับอนุญาตทุกกรณีครับ
.
อ้างถึงสิทธิในลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันที นับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาโดยไม่ต้องจดทะเบียน หรือผ่านพิธีการใดๆ
โฆษณา