Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
12 พ.ย. 2023 เวลา 14:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เก็บตกสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจากการประชุม World Bank - IMF
สวัสดีผู้อ่านทุกท่านค่ะ ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์น่าเศร้าที่เกิดขึ้นในหลายมุมของโลก ในช่วงเดือนตุลาคมที่เขียนแบงก์ชาติชวนคุยฉบับนี้ ดิฉันได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมงานประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-15 ต.ค. 2566 ณ กรุงมาราเกซ ประเทศโมร็อกโก ซึ่งเป็นอีกแห่งที่เผชิญกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา
แม้จะเกิดภัยธรรมชาติครั้งยิ่งใหญ่ แต่ภารกิจ ความตั้งใจ และการเตรียมความพร้อมของเจ้าภาพ ทำให้การประชุมด้านการเงินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนี้ ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี ในโอกาสนี้ ดิฉันจึงมีเรื่องเล่าจากโมร็อกโกมาฝากกันค่ะ
การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ จัดขึ้นทุกปีที่รัฐวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และทุก ๆ 3 ปี จะจัดนอกสถานที่ โดยประเทศโมร็อกโกได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ในปี 2564 แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด 19 จึงเลื่อนออกมาเป็นปี 2566 ที่สำคัญ การประชุมฯ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีที่จัดขึ้นในทวีปแอฟริกา
ซึ่งนอกจากประโยชน์ที่ได้จากการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นและนโยบายกันแล้ว ยังนับเป็นโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศไปพร้อมกับการดึงดูดนักเดินทางจากหลายสายอาชีพหลากเชื้อชาติกว่าหมื่นคนที่มาประชุมครั้งนี้ และไม่แน่ว่าจะมีหลายคนที่อยากกลับมาเที่ยวอีกด้วย
สำหรับปี 2566 นี้ ไอเอ็มเอฟประเมินว่าเศรษฐกิจโลกยังคงมี resilience หรือ “ความทนทาน หรือยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง” โดยเงินเฟ้อในภาพรวมปรับลดลงต่อเนื่อง ด้านตลาดการเงินยังมีเสถียรภาพจากการที่ทางการในหลายประเทศจัดการปัญหาภาคธนาคารช่วงต้นปีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งดูเหมือนว่าเศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะ “พ้นภัย” แล้ว แต่พบว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปแบบ “ค่อยเป็นค่อยไปและไม่เท่าเทียม (slow and uneven)”
1
อย่างการเติบโตของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ กลับไปโตสูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว แต่ก็ยังมีกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market) และประเทศรายได้น้อย ที่ยังมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่ำกว่าระดับก่อนโควิดประมาณ 5-6% ให้การฟื้นตัวและพัฒนาให้ไปทัดเทียมประเทศเศรษฐกิจหลักต้องล่าช้าออกไป ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ที่สำคัญ ไอเอ็มเอฟยังคาดว่า เศรษฐกิจโลกในระยะปานกลางจะเติบโตที่เพียง 3.0% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี ท่ามกลางปัญหาการแบ่งขั้วทางภูมิรัฐศาสตร์ หนี้ที่อยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่อาจอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน
ด้วยเหตุนี้ ไอเอ็มเอฟจึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ให้ความสำคัญกับ 4 เรื่อง ได้แก่
(1) การทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายและอยู่ในเป้าหมายอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินนโยบายการเงินที่อาจยังต้องเข้มงวดแต่ต้องเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และควรสื่อสารการตัดสินนโยบายให้ชัดเจน
(2) การเร่งเสริมกันชนด้านการคลัง ด้วยการลดระดับหนี้สาธารณะและถอนมาตรการสนับสนุนแบบหว่านแห เพื่อให้นโยบายการคลังสามารถไปสนับสนุนการลงทุนได้มากขึ้น และที่สำคัญ ต้องเพียงพอรองรับความเสี่ยงในอนาคต รวมถึงช่วยสนับสนุนนโยบายการเงินในการรับมือกับเงินเฟ้อ
(3) การใช้เครื่องมือที่หลากหลายในการดูแลความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ และการติดตามความเสี่ยงของภาคอสังหาริมทรัพย์และ non-bank อย่างใกล้ชิด
(4) การยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจระยะปานกลาง โดยเฉพาะการผลักดันกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ลดการพึ่งพิงอุตสาหกรรมที่สร้างก๊าซคาร์บอน และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
นอกจากประเด็นที่ไอเอ็มเอฟให้ความสนใจแล้ว ผู้ร่วมประชุมยังพูดคุยกันมากถึงอีก 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน สืบเนื่องมาจากจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก และน่าจะขยายตัวได้ช้ากว่าที่เคยคาดกันไว้มาก
ซึ่งทางการจีนชี้แจงว่า ปัจจุบันจีนจะเน้นให้การเติบโตของเศรษฐกิจมีคุณภาพมากขึ้น เน้นการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต มากกว่าการตั้งเป้าให้เศรษฐกิจเติบโตไป
สูง ๆ ด้วยมาตรการต่าง ๆ เหมือนในอดีต จึงทำให้ที่ผ่านมา ไม่มีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่จีนยังให้ความมั่นใจว่า ทางการยังมีเครื่องมือที่สามารถดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจเพียงพอ ทั้งในภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์
ประเด็นที่สอง คือผลกระทบจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ จากข้อมูลของไอเอ็มเอฟที่พบว่า ทั่วโลกมีการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2562 ตามข้อมูลดังกล่าว หากเกิดการถอนการผลิตกลับไปยังประเทศต้นทาง (reshoring) จนโครงสร้างสายพานการผลิตโลกกลับไปสู่ช่วงก่อนกระแสโลกาภิวัฒน์ จะทำให้จีดีพีของโลกในระยะยาวอาจลดลงไปถึง 4.5%
นอกจากการประชุมที่เข้มข้นถึงหนึ่งสัปดาห์เต็มแล้ว การไปร่วมงานในครั้งนี้ประเทศไทยยังไปรับไม้ต่อในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมประจำปีฯ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และดิฉันได้ร่วมลงนามใน MOU การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในปี 2569 ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อทั้งในและต่างประเทศ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งนะคะว่าพวกเราจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดี ต้อนรับแขกที่เข้ามาประชุมและผู้เกี่ยวข้องได้อย่างน่าประทับใจเหมือนที่ชาวโมร็อกโกทำสำเร็จในปีนี้
ในฉบับหน้า ดิฉันจะมาเล่าให้ฟังกันต่อค่ะ เพราะไม่เพียงแต่ความเข้มข้นในการประชุม แต่การจัดงานหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ก็เคร่งเครียดไม่แพ้กัน และชาวโมร็อกโกเปลี่ยนแผนแก้ปัญหากันอย่างไรให้งานนี้ออกมาได้สมบูรณ์แบบ
ผู้เขียน : ดร. ชญาวดี ชัยอนันต์
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ช่องทางติดตามอื่นๆ
Facebook:
https://www.facebook.com/bankofthailandofficial
X:
https://twitter.com/bankofthailand
YouTube:
https://www.youtube.com/bankofthailandofficial
Instagram:
https://www.instagram.com/bankofthailand.official/
Line: @bankofthailand
เศรษฐกิจ
การลงทุน
การเงิน
1 บันทึก
5
3
1
5
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย