13 พ.ย. 2023 เวลา 07:15 • ธุรกิจ

“Toshiba” จากวันรุ่งเรือง สู่วันร่วงโรย

แบรนด์สร้างชาติของญี่ปุ่นที่รอวันโลกลืมเลือน
บทเรียนของธุรกิจใหญ่ ที่ก้าวพลาดแล้วพลาดเล่า
ในบ้านเรารู้จักแบรนด์ “Toshiba" พร้อมสโลแกนคุ้นหู “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” ในฐานะผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายชนิด แต่เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกิดข่าวใหญ่กับโตชิบา เมื่อบริษัทกองทุน เจแปน อินดัสเทรียล พาร์ทเนอร์ส หรือ JIP (Japan Industrial Partners) ได้บรรลุข้อตกลงในการซื้อหุ้นของ Toshiba Corporation จำนวนกว่า 78% หรือกว่า 2 ใน 3 ของหุ้นทั้งหมด ด้วยมูลค่า 14,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 500,000 ล้านบาท และอีกไม่นาน เร็วที่สุดคือภายในสิ้นปีนี้ โตชิบาจะถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์ในญี่ปุ่น
ข่าวนี้ย่อมไม่ใช่ข่าวดีทางธุรกิจ เพราะแสดงความเสื่อมถอยของแบรนด์นี้ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2492 ซึ่งในเวลานั้น Toshiba คือหนึ่งในสัญลักษณ์การกลับมาทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น ด้วยศักยภาพด้านเทคโนโลยีชั้นสูงในอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และด้วยทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงรากฐานการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นทุกวันนี้ Toshiba คือส่วนสำคัญคู่กับญี่ปุ่นมานานร่วม 150 ปี
บริษัทดั้งเดิมของ Toshiba ก่อตั้งเมื่อปี 2482 จากการควบรวมกันระหว่างบริษัท ชิบาอุระ เอนจิเนียริง เวิร์กส์ (Shibaura Engineering Works) กับ โตเกียว อีเลคทริก และใช้ชื่อว่า โตเกียว ชิบาอุระ เดนกิ (Tokyo Shibaura Denki)
ซึ่งถือเป็นการรวมกันของบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมของญี่ปุ่น เนื่องจาก ฮิซาชิเกะ ทานากะ (Hisashige Tanaka) ผู้ก่อตั้งชิบาอุระ เอนจิเนียริง เวิร์กส์ กับ อิชิสุเกะ ฟูจิโอกะ (Ichisuke Fujioka) ผู้ก่อตั้งโตเกียว อิเล็กทริก ต่างเป็นที่รู้จักกันมาก่อนหน้านั้นแล้ว ในฐานะผู้นำสิ่งดีๆ สู่วิถีชีวิตชาวปลาดิบด้วยนวัตกรรมล้ำยุคของทั้งสองคน
ฮิซาชิเกะก่อตั้งบริษัท ทานากะ เอนจิเนียริง เวิร์กส์ ของเขาเมื่อปี 2418 ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ทานากะ ชิบาอุระ เอนจิเนียริง เวิร์กส์ ในปี 2447 มีธุรกิจสำคัญคือผลิตเครื่องยนต์และอุปกรณ์สำหรับเครื่องจักรไอน้ำเรือเดินทะเล จนกลายเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านนี้ของญี่ปุ่นเมื่อต้นศตวรรษก่อน
1
นอกจากนั้นเขายังมีชื่อเสียงในฐานะนักประดิษฐ์ระดับอัจฉริยะ เพราะรู้จักสร้างเครื่องทอผ้ากิโมโนมาตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี สร้างตุ๊กตาไขลานเพื่อความบันเทิงที่มีความซับซ้อนในสมัยปลายเอโดะ ออกแบบและสร้างนาฬิกามากมายหลายแบบ เปลี่ยนกลางคืนของญี่ปุ่นด้วยตะเกียงน้ำมันที่ให้ความสว่างและจุดติดได้นาน ศึกษาปืนของฮอลแลนด์จนดัดแปลงกลายเป็นปืนใหญ่ญี่ปุ่น รวมทั้งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์และวางระบบโทรเลข ฯลฯ คือตัวอย่างความล้ำที่ฮิซาชิเกะคิดค้นและทำออกมา
ด้วยความสามารถในการประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ขนาดนี้ จึงมีผู้คนให้ฉายาฮิซาชิเกะว่าเป็น “เอดิสันแห่งญี่ปุ่น” แต่ อิชิสุเกะ ฟูจิโอกะ แห่งโตเกียว อิเล็กทริก ดูจะเกี่ยวข้องกับเอดิสันมากกว่า เพราะเขาคือคนที่ทำให้ญี่ปุ่นได้รู้จักความสว่างจากหลอดไฟฟ้าโดยได้รับทั้งแรงบันดาลใจและความช่วยเหลือจากโทมัส อัลวา เอดิสันโดยตรง
อิชิสุเกะเป็นบุตรชายคนโตในตระกูลซามูไร มีโอกาสได้เรียนรู้ด้านโทรเลขและไฟฟ้าจากอาจารย์ชาวตะวันตก กระทั่งในปี 2427 รัฐบาลก็ส่งเขาไปอเมริกาเพื่อศึกษาด้านไฟฟ้าในฟิลาเดลเฟีย และจากการเดินทางครั้งนั้นก็ทำให้อิชิสุเกะได้ไปเยี่ยมบริษัท เจเนอรัล อีเล็กทริก หรือ GE (General Electric) ซึ่งในเวลานั้นใช้ชื่อเอดิสัน อีเลกทริก ไลท์ ในนิวยอร์ก
และเมื่อได้เห็นนวัตกรรมทั้งหลายของเอดิสัน เขาก็เกิดความตื่นเต้นจนทำให้ต้องเขียนจดหมายถึงเอดิสัน เพื่อขอให้ยอดนักประดิษฐ์จัดส่งหลอดไฟและโทรศัพท์มายังญี่ปุ่น เพื่ออิชิสุเกะจะใช้โชว์กับผู้มีอำนาจในรัฐบาล ซึ่งเอดิสันก็ทำตาม
และจากจุดนั้นทำให้ในเวลาต่อมา แม้จะไม่มีใครเรียกว่าเอดิสัน 2 หรือเอดิสันแห่งญี่ปุ่นเหมือนฮิซาชิเกะ แต่อิชิสุเกะก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งหลอดไฟของญี่ปุ่น เขาเปิดบริษัท ฮากุเนะซึฉะ (Hakunetsusha) ขึ้นในปี 2433 และเปลี่ยนเป็นโตเกียว อีเล็กทริกในอีก 9 ปีต่อมา เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับไฟฟ้าส่องสว่าง จนถึงปี 2450 GE ก็เข้ามาร่วมมือเพื่อช่วยให้บริษัทผลิตหลอดไฟในแบบอุตสาหกรรมออกวางจำหน่ายในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก
แต่ความช่วยเหลือในการชี้แนะและให้ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีจาก GE ยังเกิดขึ้นด้วยกับบริษัทของฮิซาชิเกะ เมื่อสองบริษัทมารวมกัน GE จึงเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญของบริษัท และจากชื่อแรก โตเกียว ชิบาอุระ เดนกิ ไม่นานใครต่างก็เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่าโตชิบา จนต่อมาในปี 2521 จึงเปลี่ยนเป็น โตชิบา คอร์โปเรชัน แบบในปัจจุบัน
3
ในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา Toshiba เป็นผู้นำในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในญี่ปุ่น ด้วยอุปกรณ์ประเภท “แรกมี” ของทั้งญี่ปุ่นหรือโลกหลายรายการ เช่น ระบบเรดาร์ (2485) คอมพิวเตอร์ TAC ดิจิทัล (2497) โทรทัศน์ระบบทรานซิสเตอร์และเตาไมโครเวฟ (2502) โทรศัพท์วิดีโอจอสี (2514) โปรเซสเซอร์แปลงภาษาญี่ปุ่น (2521) ระบบ MRI (2525) คอมพิวเตอร์แล็ปท็อปโตชิบา T1100 (2528) เครื่องเล่นดีวีดี (2538) และดีวีดีเอชดี (2548) ฯลฯ เป็นตัวอย่าง
3
แต่ในเวลาต่อมา นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 เซมิคอนดักเตอร์คือธุรกิจที่ทำให้ Toshiba มีบทบาทสำคัญกับวงการอุตสาหกรรมโลก เคยเป็น 1 ใน 2 ของผู้นำด้านนี้คู่กับ NEC รวมทั้งเป็นรองแค่ Intel กับ Samsung จากการสำรวจในปี 2550
1
นอกจากนั้นยังขยายธุรกิจด้วยการซื้อกิจการและแตกเป็นบริษัทในเครืออีกหลายแห่ง รวมทั้งการเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์ ด้วยการซื้อบริษัทเวสติงเฮาส์ ในอเมริกาเมื่อปี 2549
1
อย่างไรก็ตามการตัดสินใจครั้งนั้นถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ เมื่อสถานการณ์ของ Toshiba เปลี่ยนแปลงไป
1
วิกฤติเริ่มมาเยือน Toshiba มาตั้งแต่ปี 2558 เมื่อผู้บริหารต้องออกมาโค้งคำนับขออภัยกันเป็นแถว เพราะถูกจับได้ว่าในช่วงระหว่างปี 2551-2558 มีการตกแต่งตัวเลขรายได้เกินกว่าความจริงถึงกว่า 1,200 ล้านเหรียญ ทำให้ต้องจ่ายค่าปรับ 60 ล้านเหรียญ และผลจากการโกหกยังทำให้เงินจากผู้ถือหุ้นที่สะสมมาเป็น 100 ปี ใช้เวลาเพียง 2 ปีก็สูญไปหมดราว 300,000 ล้านบาท
2
และต่อมาด้วยสถานการณ์ของตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เคยทำรายได้ให้ Toshiba เพราะเป็นผู้นำของเครื่องแล็ปท็อป กลับสู้คู่แข่งที่มีมากขึ้นไม่ได้ ยอดขายลดลงจนในปี 2551
Toshiba ต้องขายหุ้นจำนวนกว่า 80% ให้กับ SHARP แต่ด้วยผลจากการทุ่มไปกับโรงงานพลังนิวเคลียร์ คือหายนะครั้งใหญ่ เพราะเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะเมื่อปี 2554 ทำให้แหล่งพลังงานจากนิวเคลียร์ได้รับความนิยมลดลงทันที แต่ต้นทุนการสร้างเตาปฏิกรณ์กลับถีบขึ้นไป 50-100% เพราะต้องลงทุนกับระบบรักษาความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และทำให้การก่อสร้างล่าช้าออกไป
2
สุดท้ายจึงขาดทุนกว่า 6,000 ล้านเหรียญ หรือกว่า 200,000 ล้านบาท เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย Toshiba เลยจำต้องขายธุรกิจด้านเซมิคอนดักเตอร์ แหล่งรายได้สำคัญเพื่อเพิ่มทุน แต่สถานการณ์ยังไม่กระเตื้อง แค่เพียงไตรมาสแรกของปีนี้ก็ขาดทุนมโหฬาร จนเป็นที่มาของการขายหุ้นเกือบทั้งหมด และกำลังจะถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นดังกล่าว
แต่สำหรับในบ้านเรา ภายหลังข่าวนี้แพร่ไป ทาง Toshiba ประเทศไทยซึ่งเกิดจากการร่วมทุนกันระหว่างห้างหุ้นส่วนซุปเปอร์ไลท์ กับ Toshiba จากญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2512 ก็ออกมาประกาศถึงการคงอยู่ของแบรนด์ แถมยังทำกำไรเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา จากเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าว และอื่นๆ ภายใต้แบรนด์ Toshiba ที่ผลิตจาก 2 โรงงานในบ้านเรา รวมทั้งส่งออกไปยังประเทศแถบเอเชีย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงไม่มีผลกระทบกับการมอบสิ่งที่ดีสู่ชีวิตเหมือนในสโลแกนติดหู
1
แต่จะดีแค่ไหนคงต้องให้ชีวิตที่เหลือเฝ้าดูต่อไปสำหรับอนาคตของโตชิบา
โฆษณา