13 พ.ย. 2023 เวลา 19:37 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

ร่องรอยบางอย่างที่เกิดขึ้นกับปรากฏการณ์ความสำเร็จของสองภาพยนตร์ไทยในเดือนที่ผ่านมา

ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาอาจจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่วงการภาพยนตร์ไทยมีความคึกคักมากที่สุดตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิดเลยทีเดียว เพราะมีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายมากถึง 6 เรื่องในเดือนดังกล่าว (ไม่นับภาพยนตร์ตามอาร์ทเฮาส์ต่างๆ) ซึ่งเอาเข้าจริงจำนวนเรื่องคงไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดใจจนต้องมีบทความขึ้นมาแต่อย่างใด หากว่าความสำเร็จของ “สัปเหร่อ” และ “ธี่หยด” ต่างหากที่ทำให้เราพอจะมองเห็นร่องรอยอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้น
ต้องบอกว่ากระแสความคึกคักของภาพยนตร์ไทยระลอกนี้เริ่มปรากฏเค้าลางมาตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง “ของแขก” ที่เข้าฉายช่วงปลายเดือนกันยายน แม้คำวิจารณ์จะไม่สวยหรูนัก แต่ฝั่งรายได้ก็ต้องบอกว่า ไม่ขี้เหร่เลย เพราะสามารถทำรายได้เกิน 50 ล้านบาททั่วประเทศ (คาดว่าน่าจะปิดที่ตัวเลขประมาณนี้) ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับสัปเหร่อที่เข้าฉายต่อเนื่องในสัปดาห์ถัดมา และกลายเป็นม้ามืดประจำปีไปแบบเหนือความคาดหมาย
เมื่อพิจารณาดูแล้วอาจจะบอกได้ว่าปัจจัยความสำเร็จของทั้งของแขกและสัปเหร่อนั้นมาจากการบอกต่อแบบปากต่อปากจริงๆ ในรายของของแขกนั้นลำพังแค่การเป็น “หนังผีมุสลิม” ก็เรียกแขกได้มากพอดูอยู่แล้ว ยิ่งเกิดการรีวิวหรือการบอกต่อจากนักรีวิวและคนดู ก็ส่งผลให้ตัวหนังยิ่งมีความคึกคักมากไปอีก ยังไม่รวมแฟนคลับของนักแสดงนำทั้งสองอย่าง ทับทิม-อัญรินทร์ ธีราธนันพัฒน์ และ โม-อมีนา พินิจ ที่ก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน
ถ้ากระแสของของแขกจะยังไม่ทำให้เห็นภาพของการบอกต่อได้ชัดเจน ทีนี้ลองมาดูที่สัปเหร่อกันบ้าง จากคำสัมภาษณ์จากผู้กำกับ ต้องเต-ธิติ ศรีนวล บอกว่าหนังของเขาแทบไม่ได้ใช้งบในการโปรโมทเลย แม้แต่โปสเตอร์หนังก็แทบจะไม่มี ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ หนำซ้ำตัวหนังก็ยังไม่ได้มีนักแสดงที่เราจะเรียกได้ว่าเป็นนักแสดงระดับแม่เหล็ก(ระดับประเทศ)ไว้ดึงดูดแฟนคลับเข้ามาดูจนมีผลทางรายได้
จุดแข็งเพียงอย่างเดียวของสัปเหร่อเห็นทีจะเป็นความเชื่อมโยงจากจักรวาลไทบ้านที่อาจจะพอเรียกให้แฟนๆ เข้ามาดูได้บ้าง จึงเท่ากับว่าความสำเร็จของสัปเหร่อมาจากการบอกต่อแบบแทบจะร้อยเปอร์เซนต์
และอีกครั้งที่ต้องยกบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับต้องเตมาอ้างอิง เขาบอกว่าตัวเขาเองก็ไม่คิดว่าตัวหนังจะประสบความสำเร็จขนาดนี้ เขายังคิดอยู่เลยว่าถ้าหนังขาดทุนจะหาเงินที่ไหนไปใช้หนี้นายทุน และเสริมต่อว่า คนแรกที่เขานึกถึงคือ ก้อง ห้วยไร่ (เป็นการสัมภาษณ์แบบติดตลก) แต่ปรากฏการณ์ของผู้คนที่แห่แหนกันไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้กันอย่างเนืองแน่น
โดยมีจุดเริ่มต้นทางภาคอีสานขยายต่อมาจนถึงเมืองหลวงและกลายเป็นทั่วประเทศในที่สุด เป็นผลที่เกิดจากการบอกต่อที่ชัดเจนมาก และส่งผลให้รายได้ของสัปเหร่อจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน ทำตัวเลขทั่วประเทศอยู่ที่ 656 ล้านบาท (อ้างอิงจาก Thailand Box Office)
แน่นอนว่าความสำเร็จของสัปเหร่อคงจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด หากเป็นเพราะว่าตัวหนังเองก็มีคุณภาพสมกับคำร่ำลือ ในมุมกลับกันต่อให้ทุ่มงบในการโปรโมทมากขนาดไหน แต่คุณภาพหนังไม่สมราคา ก็คงคาดเดาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ยากและพาลจะทำให้คนดูเสียความเชื่อมั่นไปด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีสูตรสำเร็จหรือมาตรฐานที่จะบอกได้ว่า ควรโปรโมทเท่าไหร่ถึงจะดี หรือหนังที่ดีไม่ต้องโปรโมทเลยรึเปล่าเดี๋ยวคนก็พูดถึงก็มาดูเอง เพชรอยู่ที่ไหนก็ย่อมเป็นเพชร
ซึ่งถ้าเป็นอย่างที่ว่ามาจริงๆ ภาพยนตร์ที่ดีไม่ต้องพึ่งพาการโปรโมท(ที่ดี)เลย เราคงไม่ได้เห็นภาพยนตร์ที่ฉายในเดือนเดียวกันอย่าง “14 อีกครั้ง” ของผู้กำกับ เป้-นฤบดี เวชกรรม ที่เคยมีผลงานก่อนหน้าอย่าง สุขสันต์วันโสด (2020) หรือ “นักรบมนตรา” อนิเมชั่นไทยสุดทะเยอทะยาน กลายเป็นภาพยนตร์ที่ล้มเหลวทางรายได้อย่างสิ้นเชิงหากเทียบกับคุณภาพของตัวภาพยนตร์เอง และถูกถอดออกจากโรงภาพยนตร์ตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์หลังจากเข้าฉาย
และอีกเรื่องอย่าง “อยากตาย อย่าตาย” ที่แอบเข้าฉายมาเงียบๆ และจากไปอย่างเงียบๆ หลังเข้าฉายได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ (อาจจะไม่แปลกใจหากได้เห็นคุณภาพของเนื้อเรื่องที่เข้าขั้นวิกฤตของหนัง)
ในส่วนของภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจาก GDH อย่าง “เพื่อน(ไม่)สนิท” ของผู้กำกับหน้าใหม่ อัตตา เหมวดี ที่ทำรายได้อยู่ในระดับที่น่าใจหายเช่นกัน หากใครได้รับชมมาแล้วจะพบว่า นี่ก็เป็นอีกงานที่มีคุณภาพไม่ได้ลดลงเลยสำหรับ GDH ถึงขั้นเป็นตัวแทนประเทศเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 96 ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ มีการวิเคราะห์ประเด็นนี้ บ้างก็บอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องอยู่ในเซฟโซนจนเกินไป เป็นแนววัยรุ่นที่ไม่ได้แปลกใหม่อะไร หรือบ้างก็ว่าเป็นเพราะมาฉายชนกับสัปเหร่อและธี่หยดทำให้ถูกแย่งคนดูไปจนหมด
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ว่าอยู่ในเซฟโซน ไม่แปลกใหม่ หรือฉายชนกระแสหนังเรื่องอื่นก็สุดแล้วแต่ แต่ภาพยนตร์เรื่องที่ตกอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกันอย่างธี่หยด ภาพยนตร์สยองขวัญจากกระทู้ในตำนานบนเว็บไซต์ Pantip ที่เข้าฉายในวันเดียวกัน (26 ตุลาคม 2566) กลับทำรายได้กระฉูดแตกจนมุ่งเข้าสู่หลัก 400 ล้านบาทแล้ว (นับถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน) หากมองลึกลงไปความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับหนังผีแอคชั่นเรื่องนี้ คงนี้ไม่พ้นว่าการโปรโมทคือหัวใจสำคัญ
ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะเข้าฉาย คำว่า “ธี่หยด” ได้เป็นกระแสขึ้นมา เนื่องจากเจ้าของกระทู้ต้นฉบับและนิยายในชื่อเดียวกันอย่าง คุณกิต-กิตติศักดิ์ กิตติวิรยานนท์ ได้นำเรื่องนี้ไปเล่าในรายการ The Ghost Radio ซึ่งเป็นรายการผีที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก (ก่อนหน้าวันเข้าฉายราว 3 เดือน)
ทำให้คำที่ชวนให้ตั้งคำถามว่ามันหมายถึงอะไรนี้กลายเป็นที่สนใจขึ้นมาทันที ผู้คนต่างให้ความสนใจทั้งกระทู้ต้นฉบับ ทั้งตัวนิยายที่ตีพิมพ์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว และคลิปวิดีโอในรายการ The Ghost Radio เองก็มีผู้เข้าชมมากกว่า 10 ล้านครั้งเข้าไปแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ที่อยู่ๆ คุณกิตก็นำเรื่องนี้ไปเล่าก่อนหน้าที่ภาพยนตร์จะฉายได้ไม่นาน แต่สิ่งที่เราสังเกตได้ชัดเจนเลย คือ หลังจากนั้น คำว่าธี่หยดก็กลายเป็นกระแสวนเวียนอยู่ในโลกออนไลน์ไม่ว่าจะช่องทางต่างๆ ต่อเนื่องไปจนวันที่เข้าฉายเลย ผลที่ได้คือ ธี่หยดทำรายได้ในวันเปิดตัววันแรกไปถึง 39 ล้านบาททั่วประเทศ เป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้เปิดตัวสูงสุดของปี พ.ศ. 2566
4
ก่อนจะทำรายได้ถึงหลัก 100 ล้านบาท ภายในเวลาเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น และหลังจากเข้าฉายเพียง 5 วันก็ทำรายได้ผ่านหลัก 300 ล้านบาท กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้ผ่านหลัก 300 ล้านบาทได้เร็วที่สุด (เร็วกว่าสัปเหร่อ) และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่เข้าฉายในระบบ IMAX อีกด้วย
ความสำเร็จของทั้งสัปเหร่อและธี่หยดปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้กระแสบอกกันแบบปากต่อปากและการโปรโมทที่ถูกทางมีผลอย่างมาก ยิ่งในรายของธี่หยดแม้ตัวภาพยนตร์จะไม่ได้ยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ แต่ก็ตอบโจทย์ความบันเทิงได้เป็นอย่างดี (เรียกว่าคุ้มค่าตั๋ว) และอาจจะมีพลังดาราของณเดชน์ที่ช่วยดึงคนให้ลุกออกไปตีตั๋วเข้าโรงได้บ้าง
หากถามว่าการรับบทนำของเขานั้นส่งผลต่อรายได้หนังจนมีนัยยะสำคัญหรือไม่ อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้แน่ๆ คือ มีหลายเสียงเหมือนกันที่บอกว่าเขา(ณเดชน์)และนักแสดงคนอื่นๆ ดูไม่เหมาะสมกับบทของตัวละครในเรื่อง
ในทางกลับกันก็มีภาพยนตร์อีกหลายๆ เรื่องที่ไม่ประสบความสำเร็จด้วยเหตุผลที่ต่างกันออกไป แต่ก็มีอีกสิ่งที่เราได้รู้จากกรณีนี้ คือ วงการภาพยนตร์ไทยยังมีศักยภาพมากพอที่จะขับเคลื่อนไปได้ เพียงแต่ต้องมีการร่วมมือกัน(ของทุกฝ่าย)ที่มากขึ้นกว่านี้ เพื่อที่จะทำให้ภาพยนตร์อย่าง 14 อีกครั้ง หรือนักรบมนตรา หรือกระทั่ง เพื่อน(ไม่)สนิท ก็ตามได้มีการตอบรับที่สมกับคุณภาพของตัวภาพยนตร์บ้างก็ยังดี และความน่าตลก(ร้าย)
ปิดท้ายสำหรับเรื่องนี้ คือ เมื่อไหร่ที่มีคนประสบความสำเร็จ(ด้วยตัวของพวกเขาเอง) ก็จะต้องมีคนจากหน่วยงานเข้ามาเชิดหน้าชูตาประหนึ่งเป็นผู้อำนวยการสร้าง ที่เห็นแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจและส่ายหัวในความ…ของพวกเขาจริงๆ
โฆษณา