15 พ.ย. 2023 เวลา 04:23 • ท่องเที่ยว

อัฟกานิสถาน EP 06 – กำแพงเมืองโบราณยุคกรีก – แบกเตรีย และหออะษานแห่งแรกในอัฟกานิสถานยุคเซลจุกเติร์ก

จากมัสยิดเก้าโดมและมัสยิดเขียวในเมืองเก่าบัลค์ เราเดินทางต่อเพื่อชมซากเมืองโบราณ เข้าใจว่าเป็นกำแพงเมืองชั้นนอกยุคอาณาจักรกรีก - แบกเตรีย สภาพถนนในเมืองดี นั่งรถไม่นานนักก็ถึงย่านตลาดของบัลค์ รถเข็นสารพัดผัก ผลไม้และสินค้าอื่นเรียงรายริมถนน ร้านรวงเล็กๆสองข้างทางขายสินค้านานาชนิด คึกคักจอแจแบบชุมชนเมืองรองในต่างจังหวัด
รถเลี้ยวขวาผ่านร้านค้าแค่อึดใจเดียว ก็เข้าสู่ถนนดินขรุขระ ขึ้น-ลงเนินดินสูง (มาเอะใจภายหลังว่า เนินดินสูงนี้ชะรอยจะเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองโบราณกระมัง) รถวิ่งลงไปจอดในที่ราบแห้งผากขนาดใหญ่ มองรอบๆเห็นแต่ความว่างเปล่า เดินตามไกด์ขึ้นเนินดินอย่างงวยงง จนไปยืนบนคันดินสูงขนาดใหญ่ที่ยาวมาก น่าจะสูงราว 5 - 6 เมตร แต่แรกคิดว่าเป็นคันดิน เพราะนึกไม่ถึงว่าเป็นแนวกำแพงเมืองชั้นนอกของอาณาจักรที่เคยเกรียงไกรในอดีต
ซากกำแพงเมืองโบราณแบกตรา หรือ แบกตรา-ซาเรียสปา (Bactra / Bactra - Zariaspa) ราชธานีของอาณาจักรกรีก-แบกเตรีย สร้างจากอิฐดินเผา ทรุดโทรม เสื่อมสภาพเพราะกาลเวลา ศึกสงครามและการรุกล้ำของคนรุ่นต่อๆมา แนวกำแพงเมืองยาว 11 ก.ม. มีการขุดค้นพบระบบท่อน้ำในกำแพงเมือง
ห่างจากจุดที่เรายืนออกไปราวๆ 100 ม.เห็นสิ่งปลูกสร้างทรงสี่เหลี่ยมสูงจากแนวกำแพงขึ้นไป อาจจะเป็นป้อมสังเกตการณ์ ไม่ได้เดินไปดูเพราะเกรงจะตกกำแพง ตรงกลางเหมือนเป็นบ้านเรือน อีกฝั่งหนึ่ง เห็นชิ้นส่วนกำแพงเมืองหรือสิ่งปลูกสร้างยุคโบราณพังลงกองระเกะระกะกับพื้นในสภาพก้อนดินขนาดใหญ่
ระหว่างพวกเราเก็บภาพบนแนวกำแพง ตาลีบันสองนายที่ติดตามมาก็เพลิดเพลินกับการนั่งชิงช้าที่ลานด้านล่าง แต่รีบเดินตามชายอัฟกันที่จูงม้าขึ้นเนินมาหาพวกเราทันที พี่แป้นผู้เอื้ออารีใช้บริการขี่ม้า ช่วยกระจายรายได้ ถ้าการท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้น คนท้องถิ่นคงมีช่องทางรายได้เลี้ยงชีพมากขึ้น
ทั้งหมดคือ ข้อมูลและสภาพกำแพงเมืองโบราณแบกตราเท่าที่ได้รับฟัง (แบบไม่ค่อยติดตามฟังจนครบถ้วนเพราะพะวงกับการถ่ายรูป) เท่าที่ได้เห็น และค้นข้อมูลมาได้ No more, no less.
ความสำคัญของแบกเตรียในยุคโบราณ
    แบกเตรียเป็นแหล่งอารยธรรมอิหร่านโบราณในภูมิภาคเอเชียกลาง (ครอบคลุมทางเหนือของอัฟกานิสถาน บางส่วนของอุซเบกิสถานและทาจิกิสถานปัจจุบัน) เมืองหลวงคือ แบกตรา(Bactra) หรือบัลค์ในปัจจุบัน ทิศเหนือแม่น้ำอ็อกซุส (แม่น้ำอามู ดารยาในปัจจุบัน) ไหลผ่าน ทิศใต้จรดเทือกเขาฮินดูกูช ทิศตะวันตกติดทะเลทรายคาร์เมเนียน
เป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ มีโอเอซิสเรียงรายหลายแห่งรับน้ำจากแม่น้ำอามูดารยาและแม่น้ำตอนในอีก 6-7 สาย ภูมิอากาศดี เพาะปลูกพืชพันธุ์ต่างๆได้ผลดีจึงเปรียบเสมือนแหล่งเสบียงชั้นดีที่อาณาจักรต่างๆต้องการครอบครอง
แบกเตรียมีบทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณในอดีตของเอเชียกลาง บ้างว่าศาสดาของศาสนาโซโรแอสเตอร์เกิดในแคว้นนี้ เป็นศูนย์ กลางของโซโรแอสเตอร์ยุคแรกๆ และได้สาวกกลุ่มแรกที่นี่ มีการค้นพบแท่นบูชาไฟขนาดใหญ่และแหล่งโบราณสถานหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับโซโรแอส เตอร์ในบัลค์
ราว 500 ปีก่อนคริสตกาล แบกเตรียอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิอะเคมีนิด เป็นเมืองสำคัญระดับที่มกุฎราชกุมารต้องมาครองเมือง
ในหลายยุคหลายสมัย ชาวกรีกจำนวนมากถูกจักรวรรดิอะเคมีนิดเนรเทศจากหลายเมืองในกรีก บางครั้งถูกกวาดต้อนทั้งเมืองมายังแบกเตรียเพื่อลงโทษที่ไม่ยอมส่งตัวมือสังหารให้แก่ทางการ จึงมีชุมชนชาวกรีกและการใช้ภาษากรีกในแบกเตรียนานนับร้อยๆปีก่อนที่กองทัพมาซิโดเนียจะพิชิตและยึดครองได้ ในอดีตที่นี่จึงมีกลิ่นอายของศิลปะวัฒนธรรมกรีกเด่นชัดกว่าดินแดน อื่นๆซึ่งอยู่ใกล้กับกรีกมากกว่า แคว้นนี้ยังมีประชากรชายชาวกรีกมากพอที่จักรวรรดิเปอร์เซียจะเกณฑ์เข้ากองทัพได้
เมื่ออะเคมีนิดพ่ายแพ้กองทัพมาซิโดเนีย แบกเตรียกลายเป็นศูนย์กลางต่อต้านการรุกรานของมาซิโดเนีย แต่เมืองส่วนใหญ่พ่ายแพ้ ในการพิชิตดินแดนต่างๆ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ใช้ทั้งกำลังทหารและการทูต เมื่อได้ชัยชนะเหนือดินแดนส่วนใหญ่แล้ว อเล็กซานเดอร์อภิเสกสมรสกับร็อกซานา ธิดาของเจ้าเมืองหนึ่งในแคว้นแบกเตรียเพื่อผูกมิตรต่อกัน
หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ในปี 323 ก่อนคริสตกาล (ก.ศ.) ดินแดนที่กองทัพมาซิโดเนียยึดครองไว้ถูกแบ่งแยกเป็นอาณาจักรหรือจักรวรรดิรวม 5 แห่ง ปกครองโดยแม่ทัพนายกองที่ดูแลแต่ละภูมิภาค แบกเตรียถูกผนวกไว้ในจักรวรรดิเซอลิวซิดของจักรพรรดิเซอลิวซิดที่ 1 นิเคเตอร์ ครอบคลุมอิหร่าน อิรัก ซีเรีย เลบานอน กับบางส่วนของตุรเคีย อาร์เมเนีย เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถานและอัฟกานิสถานในปัจจุบัน
ในภาพมีกระถางบูชาไฟของศาสนาโซโรแอสเตอร์
ปี 245 ก.ศ. จักรวรรดิเซอลิวซิดพัวพันในสงครามกับอาณาจักรทอเลมีแห่งอียิปต์ ดิโอโดตุสที่ 1 แม่ทัพกรีกที่ปกครองแบกเตรียถือโอกาสแยกตัวเป็นอิสระ ก่อตั้งอาณาจักรกรีก – แบกเตรีย / เกรโค - แบกเตรีย (Greco - Bactria Kingdom) ขึ้น ด้วยพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นชุมทางการค้า จึงพัฒนาเป็นอาณาจักรที่มีอำนาจ รุ่งเรือง มั่งคั่งจนดินแดนใกล้เคียงยอมศิโรราบ อาณาจักรกรีก-แบกเตรียใช้ภาษากรีกเป็นภาษาราชการ(เช่นเดียวกับจักรวรรดิเซอลิวซิด) ส่วนภาษาแบกเตรียใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปโดยมีการยืมคำและตัวเขียนกรีกไปใช้
ราวปี 230 ก่อนคริสตกาล กษัตริย์กรีก - แบกเตรีย คือยูธีเดมุสที่ 1 และพระโอรสเดเมตรีอุสที่ 1 (Euthydemus I / Demetrius I) ขยายดินแดนไปทางตะวันออก ยกทัพข้ามเทือกเขาฮินดูกูชสู่อนุทวีปอินเดีย และพิชิตที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุไว้ได้ ต่อมากลายเป็นอาณาจักรใหม่ คือ อาณาจักรอินโด-กรีก หรือ อาณาจักรยวนะ
ต่อมาราวปี 172 ก.ศ. เกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้นในแบกเตรีย แม่ทัพยูเครทิดีส (Eucratides) สถาปนาตนเป็นกษัตริย์ ความขัดแย้งแย่งชิงบัลลังก์ทำให้อาณาจักรกรีก - แบกเตรียเสื่อมอำนาจอย่างรวดเร็ว ส่วนอาณาจักรอินโด-กรีก ก่อตั้งราวปี 200 ก่อนคริสตกาลปกครองจนถึง ค.ศ. 10 กษัตริย์สำคัญของอาณาจักรนี้ คือ พระเจ้าเมนันเดอร์ที่ 1 หรือพระเจ้ามิลินทะ ที่หันมานับถือศาสนาพุทธ
อาณาจักรอินโด - กรีก
ประมาณปี 145 ก่อนคริสตกาลอาณาจักรกรีก - แบกเตรียถูกชนเผ่าเร่ร่อนเยว่จื่อ (Yuezhi) โจมตี กษัตริย์องค์สุดท้ายชื่อฮีลิโอคลีส (Heliocles) ย้ายราชธานีไปยังคาบูลและปกครองที่นั่นถึงปี 130 ก่อนคริสตกาล จากนั้นอาณาจักรกรีก – แบกเตรียจึงหมดอำนาจอย่างสิ้นเชิง จางเชียน (Zhang Qian) ทูตจากราชวงศ์ฮั่นตะวันตกซึ่งเดินทางสำรวจดินแดนทางตะวันตก (ของจีนปัจจุบัน)ตามบัญชาของจักรพรรดิหวู่ตี้ระหว่างปี 138 - 126 ก่อนคริสตกาลได้เยือนแบกเตรียและบันทึกถึงอาณาจักรที่ถูกทำลายลง
ด้วยจุดเด่นของภูมิภาคด้านความอุดมสมบูรณ์ และการเป็นชุมทางการค้า แม้ว่าอาณาจักรหนึ่งล่มสลายลง แต่เกิดอาณาจักรหรือจักรวรรดิใหม่ขึ้นมาแทนที่ ได้แก่จักรวรรดิกุษาณะ อาณาจักรกุษาโณ – ซัสซาเนียนในอาณัติของจักรวรรดิซัสซาเนียนตามลำดับ จนกระทั่งคริสตวรรษที่ 7 ราชวงศ์มุสลิมอาหรับปกครองดินแดนนี้ และเผยแผ่ศาสนาอิสลามเข้ามา
การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการอิหร่าน (Iranian Renaissance)ในคริสตวรรษ 8 - 9 แบกเตรียหรือบัลค์ในปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของกระแสดังกล่าว ภาษาเปอร์เซียถูกนำมาใช้งานอย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเชียกลาง
เมื่อมีการพบสุสานของฮัซรัต อาลี อิบน์ อะบี ฏอลิบ ซึ่งเป็นทั้งญาติ เพื่อนและบุตรเขยของพระศาสดาโมฮัมหมัดในคริสตวรรษที่ 12 สุลต่านอาห์เหม็ด สัญจาร์แห่งจักรวรรดิเซลจุกโปรดให้สร้างสุสานและพัฒนาพื้นที่โดยรอบขึ้น และกลายเป็นเมืองมาซารีชารีฟในเวลาต่อมา แบกตราหรือบัลค์จึงลดความสำคัญลงไป
ในปี ค.ศ. 1849 (พ.ศ. 2392 ตรงกับ ร. 3) ผลจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและโรคระบาดในบัลค์ มีการย้ายเมืองเอกของแบกเตรียจากบัลค์มายังมาซารีชารีฟ บัลค์จึงหมดบทบาทลง ปัจจุบันบัลค์กลายเป็นเพียงชุมชนขนาดเล็ก แม้จะมีโบราณสถานจำนวนไม่น้อย แต่ปัญหาด้านความมั่นคงภายในและสภาพเศรษฐกิจคงเป็นปัจจัยที่ชะลอการพัฒนาเมืองและการบูรณะฟื้นฟูโบราณสถานเหล่านี้
Zadian Minaret หออะษานแห่งแรกในอัฟกานิสถาน
    จากซากกำแพงเมืองโบราณกรีก - แบกเตรีย เราเดินทางต่อ ไปยังหมู่บ้านซาเดี้ยน อ.เดาลาตาบัด ทางเหนือของเมืองบัลค์ ระยะทางราว 40 ก.ม. เดินทางเกือบชั่วโมงครึ่ง ถนนช่วงแรกลาดยาง จากนั้นเป็นถนนดิน ขรุขระ ฝุ่นตลบตลอดทาง แดดเปรี้ยง อากาศร้อนระอุ สองข้างทางดูแห้งแล้ง แต่ก็ยังมีแปลงเพาะปลูกพืชที่ทนแล้งทนร้อนได้ดี ที่เห็นก็มีต้นฝ้าย นอกจากใช้ในประเทศ ผลผลิตฝ้ายส่วนใหญ่ส่งขายปากีสถาน รถขับผ่านหมู่บ้านชาวเติร์กที่มีกำแพงสูงล้อมบริเวณบ้าน จากนั้นไม่นาน ก็ถึงที่หมาย
การเดินทางทรหดพอควร การท่องเที่ยวอัฟกานิสถานในทศวรรษนี้ต้องทนแดดยามกลางวัน และทนการกระแทกกระทั้นระหว่างการเดินทาง แต่ยังนับว่าโชคดีที่ได้นั่งสบายพอควร ไม่ต้องเบียดหรือนั่งซ้อนกัน เพราะตามถนนระหว่างเมืองใหญ่ บ่อยครั้งจะเจอรถเก๋งหลายคันน่าจะนั่งเป็นสิบคน และให้อีก 5-6 คนนั่งเบียดกันในกระโปรงท้ายที่เปิดค้างไว้ตลอดทาง
คนขับรถของเราเป็นชาวฮาซารา (บ้างว่าเป็นเลือดผสมมองโกล เติร์ก และเปอร์เซียหรือทาจิก แต่บ้างว่าไม่รู้ที่มาของชาติพันธุ์นี้) พูดอังกฤษได้เล็กน้อย พูดเยอรมันได้ดีพอที่จะรับงานไกด์ให้นักท่องเที่ยวเยอรมันเป็นครั้งคราวเพราะเคยอพยพไปอยู่เยอรมนีช่วงที่ตาลีบันเข้ามาปกครองประเทศครั้งแรก
สิ่งที่ได้ฟังจากคนท้องถิ่นหลายๆคนคือ ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆในอัฟกานิสถานอยู่ในระดับสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเผ่าปัชทูน/ปาทานกับฮาซารา ที่มาของการกดขี่ ปราบปรามและสังหารหมู่เผ่าฮาซาราน่าจะเด่นชัดในสมัยอามีร์ อับดูร รอห์มานระหว่าง ค.ศ. 1888 - 1893 (พ.ศ. 2431 - 2436 ตรงกับสมัย ร. 5) ที่ต้องการผนวกภูมิภาคฮาซาราจัตให้อยู่ใต้การปกครองของตนตามแผนการก้าวขึ้นสู่อำนาจ ประเด็นนี้ยาว และซับซ้อน คงได้เล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป
เดิมในบริเวณที่หอขาน/หออะษานตั้งอยู่ เคยมีอาคารมัสยิด ปัจจุบันเหลือเพียงหอแห่งนี้กับอาคารชั้นเดียวมีหลังคาโดม(โดมแบบเบ้าขนมครก) บ้างว่าอาคารนี้เป็นสุสานของฮัซรัต ซาเลฮ์ (Hazrat Saleh) พระศาสดาองค์ก่อนหน้าพระศาสดาโมฮัมหมัด (บ้างว่าสุสานท่านอยู่ประเทศอื่นในตะวันออก กลาง?!?) รั้วกำแพงล้อมรอบมีทางเข้าออกกว้างสองจุด ริมกำแพงด้านหนึ่งมีอาคารชั้นเดียว น่าจะเป็นโรงเรียนเพราะเด็กๆอ่านหนังสือเสียงเซ็งแซ่
ไม่มีหลักฐานว่าหอหรือสถานที่นี้เดิมชื่ออะไร จึงเรียกตามชื่อหมู่บ้านหรือชื่อเมืองว่า หออะษานซาเดี้ยน / หออะษานเดาลาตาบัด ผู้รู้สันนิษฐานว่าสร้างราว ค.ศ. 1108 - 09 สมัยเซลจุกเติร์ก บ้างว่าสร้างปี ค.ศ. 760 บ้างเชื่อว่าสร้างในสมัยจักรวรรดิซามานิดและกาซนาวิดราวคริสตวรรษที่ 9 – 10 กองทัพเจงกิสข่านมาไม่ถึงที่นี่
ในหนังสือ Balkh Tourist Attractions แต่งโดย ซาเลห์ โมฮัมหมัด คาลิก พูดถึงเรื่องราวที่มาห์มูด กาซนาวี่แห่งราชวงศ์กาซนาวิดโปรดให้สร้างโรงอาบน้ำ และคาราวานซารายไว้ริมแม่น้ำอามู ดารยาเพื่อรองรับกองคาราวานจากบัลค์ บุคฮารา และนักเดินทาง และสร้างหออะษานนี้ขึ้นโดยจุดไฟไว้ด้านบนเพื่อนำทางแก่กองคาราวาน จึงเป็นที่มาของข้อสันนิษฐานว่า สร้างในสมัยกาซนาวิด
แอริก ชโรเดอร์ นักวิจัยชาวตะวันตกบันทึกเกี่ยวกับหออะษานนี้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1938 (พ.ศ. 2481) แต่เพิ่งมีการสำรวจเมื่อ ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495)
ผู้รู้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นหออะษานที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่ถึงวันนี้ สร้างอย่างปราณีต มีแบบแผน ใช้อิฐดินเผา ตกแต่งผนังด้านนอกด้วยการเรียงอิฐเหมือนลายสานขัดแตะ(คล้ายลายสานของหออะษานยุคกาซนาวิด) ยังประดิษฐ์ลายต่างๆโดยแบ่งพื้นที่จากระดับพื้นดินขึ้นไปเป็นแถบ แต่ละแถบแต่งลายสานบ้าง ลายเรขาคณิตบ้าง ลายพรรณพฤกษาบ้าง
มีแถบอักษรคูฟิก/กูฟีย์ (Kufic) เขียนข้อความจากพระคัมภีร์อัลกุรอาน 2 แถบอยู่ช่วงกลางและช่วงบนสุดของหอขาน สันนิษฐานว่าถัดขึ้นไปน่าจะมีแถบลายปูนปั้นอีก และของเดิมน่าจะสูงกว่านี้ ปัจจุบันสูงเพียง 25 ม.
อักษรคูฟิกน่าจะเป็นอักษรวิจิตรอาหรับ (arabic calligraphy) รุ่นแรก เขียนเป็นเส้นตรงยาวๆทั้งแนวดิ่งและแนวนอน มีลักษณะเหลี่ยมหรือปม ลายเส้นไม่โค้งมนหรือพริ้วเหมือนอักษรวิจิตรอาหรับรุ่นหลัง นิยมใช้อย่างกว้างขวางในช่วงต้นๆของศาสนาอิสลาม ใช้ประดิษฐ์ข้อความเพื่อตกแต่งโครงสร้างสถาปัตยกรรม หรือข้อความในพระคัมภีร์ ต่อมาหันไปใช้อักษรวิจิตรแบบอื่นๆที่พัฒนาใหม่มากขึ้น อักษรวิจิตรอาหรับได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติเมื่อปี พ.ศ. 2564
ช่องว่างระหว่างลายต่างๆเติมเต็มด้วยลายขนาดเล็กอีก ละเอียดและเริ่ด มาก บ้างว่าการเรียงอิฐแบบลายขัดแตะมีลักษณะเหมือนหอขานยุคกาซนาวิด เราต้องพิสูจน์เรื่องนี้ตอนไปชมหออะษานแฝดที่เมืองกาซนี่อาทิตย์ถัดไป นักสำรวจพบชื่อสถาปนิกผู้รับผิดชอบงานสลักไว้ในลายอักษรคูฟิกแถบบน แต่เรามองไม่เห็นเพราะสูงมาก ด้านในมีบันไดเวียน 64 ขั้น ปีนขึ้นไปถึงด้านบนสุด เท่าที่จำได้คุณอ่อน คุณแอน คุณหมูพร้อมตาลีบัน 1 นายเป็นตัวแทนพวกเราขึ้นไปชมวิวมุมสูง ฟังว่าเด็กท้องถิ่นชอบปีนขึ้นด้านบนและพลัดตกลงมาเสียชีวิตกันบ่อย
ตอนที่พวกเราชมหออะษาน มีผู้อาวุโส 2 คนมาดูและโอภาปราศรัยกับแขกผู้มาเยือนแม้จะสื่อภาษากันไม่ได้ก็ตาม ไม่ไกลกันมีหญิงและในชุมชนนั่งจับกลุ่มคุยกันใต้ร่มไม้
ความที่ที่นี่อยู่ห่างไกล น่าจะไม่มีรถสาธารณะ การเดินทางคงทุลักทุเลพอควร จึงคิดเองว่าคงจะอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีผู้มาเยือนนัก จึงเหนือความคาดหมายเมื่อรู้ว่า ชาวอัฟกันจำนวนไม่น้อยแวะมาชมหออะษานนี้เพราะมาสักการะสุสานฮัซรัต ซาเลฮ์
ไม่ไกลจากหออะษานซาเดี้ยน มีแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีเนื่องในศาสนาพุทธ พบสถูปโบราณ 40 องค์และพระอารามพุทธ 3 แห่ง
จักรวรรดิเซลจุกอันยิ่งใหญ่
ในคริสตวรรษที่ 10 เผ่าเร่ร่อนกลุ่มย่อยของเผ่าเติร์กโอกุสจากเอเชียกลางและตะวันออกเฉียงใต้ของรัสเซียอพยพลงมาตั้งถิ่นฐานทางใต้ของแม่น้ำซีร์ดารยา (ทางเหนือของอุซเบกิสถานปัจจุบัน) โดยอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรคาราคานิดแห่งทรานโซเซียนา ได้เข้าไปมีบทบาทในกองกำลังป้องกันชายแดนของอาณาจักรคาราคานิดและกองกำลังของอาณาจักรกาซนาวิดในเวลาต่อมา
ชื่อเผ่าเซลจุกเติร์กมาจากชื่อของ”เซลจุก”หัวหน้าเผ่า เดิมเผ่านี้มีความเชื่อแบบถือผี (Shamanism) หลังจากเข้ามาตั้งถิ่นฐานแถบนี้ ได้หันมานับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่/ซุนนีแต่ยังคงธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างของลัทธิถือผีไว้ อาหรับเรียกคนเผ่านี้ว่า เติร์กโกมาน (Turkoman)
เมื่ออาณาจักรคาราคานิดเสื่อมอำนาจลงในคริสตวรรษที่ 11 ผู้นำสองพี่ น้องรุ่นที่ 3 ของเผ่าเซลจุกเติร์ก (คือ ชากรี เบก และ ตูกริล เบก) ตั้งตนเป็นอิสระ ขยายดินแดนตั้งแต่อนาโตเลียจรดเอเชียกลาง จากเทือกเขาคอเคซัสจรดอินเดีย ด้วยขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลจึงเรียกขานว่า Great Seljuk State ชากรี เบกปกครองโฆราซานครอบคลุมอิหร่านตะวันออก อัฟกานิ สถานและเอเชียกลางบางส่วน มีราชธานีที่เมืองอิสฟาฮาน
ส่วนตูกริล เบก ปกครองอิหร่านตะวันตกและพื้นที่ราวสองในสามของดินแดนคริสเตียนโบราณ (ซีเรีย อียิปต์ ปาเลสไตน์ และอนาโตเลีย) ได้กรุงแบกแดดเป็นรัฐในอารักขาตามคำร้องขอของกาหลิบแห่งแบกแดด และได้รับแต่งตั้งจากราชวงศ์อับบาสิดให้เป็นสุลต่าน การขยายตัวของมุสลิมเซลจุกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดกรุงเยรูซาเล็มและเข้าปกครองอนาโตเลียสร้างความหวั่นวิตกให้กับชาวคริสต์ในรัฐต่างๆของยุโรป และเป็นที่มาของการทำสงครามครูเสดเพื่อช่วงชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ทางตะวันออกของเมดิเตอร์เร เนียนกลับคืนมาจากมุสลิม
เซลจุกเติร์กเป็นชนเผ่าเร่ร่อน ไม่มีวัฒนธรรมประเพณีที่ซับซ้อน เมื่อเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนที่ได้รับอิทธิพลเปอร์เซียด้านภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรมหรือวิทยาการอย่างแพร่หลาย (Persianate society) จึงซึมซับอิทธิพลเหล่านี้ไว้และกลายเป็นอีกราชวงศ์หนึ่งที่เผยแพร่วัฒนธรรมเหล่านี้ การใช้ภาษาฟาร์ซีของครูสอนศาสนาชาวเปอร์เซียในการเรียนการสอนอย่างแพร่หลายทั่วดินแดนในปกครอง มีผลให้ภาษาอาหรับที่ใช้ในชีวิตประจำวันค่อยๆหายไป คงเหลือเฉพาะที่ใช้ในแวดวงเทววิทยา วิทยาศาสตร์และกฎหมายเท่านั้น
ผลงานสำคัญจากจักรวรรดิเซลจุกเติร์กซึ่งกลายเป็นมรดกตกทอดในโลกมุสลิม นอกจากด้านสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่แล้ว (ที่มีชื่อเสียงมากคือมัสยิดวันศุกร์ Jami Mosque ในอิสฟาฮาน) ยังมีการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนสอนศาสนา (Madrassa) ซึ่งวางมาตรฐานการเรียนการสอนที่ผลิต บุคคลากรด้านการบริหารและนักการศาสนา มีการกำหนดบทบาทของกองทัพ การจัดเก็บภาษี ระบบยุติธรรม การศึกษา การคลังและโครงสร้างอำนาจของอาณาจักร งานกระเบื้องเซรามิก เซลจุกเติร์กหมดอำนาจในต้นคริสตวรรษที่ 14
โบราณสถานทั้ง 4 แห่งในบัลค์ที่เราแวะชมวันนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆของความรุ่งเรืองหลายพันปีในอดีตที่ยังไม่ขุดแต่งหรือค้นพบ ในบัลค์มีการค้นพบซากอาคารพุทธและชิ้นส่วนโบราณวัตถุยุคกรีกจำนวนมาก รวมทั้งเมืองยุคอะเคมีนิดขนาด 3 ตร.ก.ม.ห่างออกไปทางใต้ของเมืองไม่ไกลนัก ยังมีแหล่งขุดค้นโบราณคดีไม่ไกลจากบัลค์ซึ่งนักสำรวจเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีแต่งงานระหว่างพระเจ้าอเล็กซานเดอร์กับร็อกซานาอีกด้วย
หมายเหตุ
1. ขอบคุณรูปถ่ายจากกล้องของสมาชิกทุกคนในทริป
2. ได้แก้ไขตัวสะกดชื่อไทย Bactria เป็น แบกเตรีย Alexander เป็น อเล็กซานเดอร์ และ Achaemenid Empire เป็นจักรวรรดิอะเคมีนิด (แต่ในคำบรรยายภาพแก้ไม่ได้แล้ว)
โฆษณา