15 พ.ย. 2023 เวลา 13:03 • ประวัติศาสตร์

รีวิว "ร้านแซว ริมแม่น้ำแคว" ลองลิ้มไหม? (จะแซวไหน ซอยใด)

ก๋วยเตี๋ยวมาจากไหน? (หลายท่านเดาได้ถึงต้นตอ)
หากถามแคบลงลึก “ดั้งเดิม“ ไม่เสริมแต่งเติมต่อ
คงมีข้อแย้งหักล้าง สมอ้างความเก๋าเจ้าเก่าแก่
คลาดเคลื่อนวกวน เท็จจริงระคน หรือจริงคนละวาระ
ทั้งที่เจตนาไม่มดเท็จ แต่ผ่านความคลาดเคลื่อนมามั่นคง
อาจคล้ายวัตถุดิบของนิยาย แปลบปลาบประกาย
บางเรื่องใช้ส่วนผสมเรื่องจริง มากกว่าเรื่องแต่ง
บางเรื่องใช้ส่วนผสมเรื่องแต่ง มากกว่าเรื่องจริง
เอาใหม่ลองมอง “ก๋วยเตี๋ยวเป็นภาษา“ ดูบ้าง
ระลึกว่าภาษา คือลูกผสม หมักบ่มผ่านกาลสมัย
และภาษาเขียน เกิดมาเพื่อเลียนเสียง
แซวซะอย่าง
มาถึง “ร้านแซว แม่น้ำแคว“
ตะหงิดงง คงมาจากจุดร่วมสถานะ
“สระแอ ประสมแม่เกอว” พึงออกเสียง
“แมว แจว แถว แนว แวว แพรว และแซว”
ไฉน ชื่อแม่น้ำ “แคว” จึงหักเหกระแสหลัก
อ่ะ..หลับตาลืมภาพ “วอแหวน” ถูกใช้สะกด
ครั้น “วอแหวน” แขวนสถานะ “ควบกล้ำ”
ทีนี้ลองออกเสียง ตามสถานะใหม่ “แค(ว)”
ใช่ซี นี่สุ้มเสียงแห่งแม่น้ำ “แคว” (แควน้อย/แควใหญ่)
ถ้าให้เดาโดยไม่ได้สอบทาน “แม่น้ำแคว”
อาจเริ่มมาจากภาษาถิ่น ชาวบ้านใช้จนชินชา
กระทั่งถูกชำระเป็นภาษาเขียนในสมัยหลัง กระมัง
หรือ “แคว” อาจเป็นภาษาที่ถูกหยิบยืมมาจากภาษาอื่นในยุคหนึ่ง ยกตัวอย่างกรณีภาษาของตนมีคำไม่พอใช้ ไม่มีบัญญัติรูปคำในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ กระทั่งคนต่างถิ่นเข้ามาเรียกขานคลายปม ส่งผลให้เกิดการคล้อยจำขานตาม หรือเป็นการกร่อนคำ/กลายเสียง และหรือไปตามเงื่อนไขของภาษาที่พาดผ่านเวลา(ผู้คนบนดินแดน)
หรือที่เขียนและเดามาทั้งหมดจะพร่องพลาด อันว่างานเขียนเหมือนเทียนไข พึงอ่านพอเป็นประกาย “ฟังหูไว้หู” อย่าปักใจในความรู้ แม้กระทั่งสิ่งที่ผ่านสายตาเมื่อครู่
ขอยกตัวอย่าง เพื่อง่ายเข้าใจ โดยใช้ภาพพจน์อธิบาย(ตัวอย่างไม่ใช่ข้อเท็จจริง..ย้ำ) สมมติว่า “แคว” เป็นคำยืมมาจากคำว่า “Square” โดยใช้เรียกลักษณะของลำน้ำที่ไหลมาบรรจบกัน บางลักษณะก็ใช้อธิบายลำน้ำสายเล็กไหลมารวมกับแม่น้ำสายใหญ่ คนท้องถิ่นพลางเลียนเสียงผู้มาเยือน กระทั่งกร่อนเสียงหดสั้น เหลือเพียงเสียง “แค(ว)”
ทีนี้ชื่อแม่น้ำแห่งนั้นได้กลายเป็นเสียงของคนส่วนใหญ่ และตกทอดถึงคนส่วนใหม่ ครั้นถึงคราวจะชำระเป็นภาษาเขียน จึงต้องถ่ายเสียง “วอแหวน” ไว้กล้ำ “คอควาย”
แต่ด้วยลักษณะดังกล่าว ดันไปพ้องกลุ่มเสียงชุดหนึ่ง(สระแอ/แม่เกอว) ผลพวงจากสถานะหนึ่ง จึงสร้างความสับสน กระทั่งบางคนเลิกสนใจ(พลางพึมพำในใจ ภาษาไทยก็ยังงี้)
หากท่านใดขานร้าน “แซว” ในเงื่อนไข “แม่น้ำแคว” ก็อย่าได้ติงท่านผู้นั้นเถิด เพราะท่านอาจใช้หลัก “วอแหวนแขวนควบกล้ำ” หรือท่านใดจะใคร่ขานแม่น้ำแคว ในเงื่อนแง่แม่เกอว ก็ปล่อยท่านไปเถิด
ที่ร่ายมายืดยาว ว่าจะถามแซว(สุขุมวิท49)
ถึงอีกแซว แถวปากซอยทองหล่อ
นั่นคือร้านพี่เมืองน้อง หรือชื่อพ้อง?
สถานะจะคล้าย "รุ่งเรือง" สองร้านย่านสุขุมวิท26 ไหม?
สถานะของจุดร่วม(เรื่อยมาจนชินชา) ผลิผลฉงนสับสน!!
#สถานะของจุดร่วม #แซวซะอย่าง #ของดีสุขุมวิท49 #แซวสุขุมวิท49
โฆษณา