15 พ.ย. 2023 เวลา 15:35 • หนังสือ

อ ยู่ กั บ ก๋ ง

“ก๋งรักเมืองไทยมาก​หรือ.....” ฉันอดถามออกไปไม่ได้​ ใบหน้าของก๋งมีรอยยิ้มปรากฏขึ้น แววตาเป็นประกายเรืองขึ้นวาบหนึ่ง....เมื่อตอบฉันอย่างแผ่วเบา
“ก๋งขอตายที่นี่.....” (น.๙๖)
..........
..........
หนังสืออ่านนอกเวลาเรื่องหนึ่งที่พวกเราต่างก็ประทับใจตั้งแต่วัยเด็ก และยังคงหยิบมาอ่านได้อยู่เสมอ ๆ ก็คือ “อยู่กับก๋ง” ของ หยก บูรพา หรือ เฉลิม รงคผลินเรื่องนี้มีคุณค่าทั้งด้านประวัติศาสตร์สังคมไทย วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชุมชนคนไทยและจีนในต่างจังหวัด และปรัชญาชีวิตของชาวจีนในไทยเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว
.
ผู้เขียนได้ถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ชีวิตจริงในวัยเด็กที่เล่าเรื่องของ‘ก๋ง’ ผ่านมุมมองของ ‘หยก’ หลานชายวัยเพียงสิบสามปี นวนิยาย เรื่องนี้ได้รับรางวัลนวนิยายดีเด่นประจำปี พ.ศ.๒๕๑๙ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี ๒๕๒๐ และยังเป็นเล่มหนึ่งใน "๑๐๑ หนังสือในดวงใจนักอ่านและนักเขียน" อีกด้วย
.
ก๋ง หรือ อากง (คุณปู่) วัยย่าง ๗๐ ปี ของหยกเป็นคนเชื้อชาติจีนโดยกำเนิด แต่อพยพเข้ามาอาศัยในเมืองไทยตั้งแต่อายุเพียง ๑๘ ปี ก๋งผ่านชีวิตมามากและมีนิสัยที่ขยันขันแข็งอย่างชาวจีนโพ้นทะเลที่มาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย หยกอยู่กับก๋งในห้องแถวย่านตลาดเก่าในชนบท และเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาล ก๋งมีอาชีพหลักคือรับทำงานจักสาน ซึ่งเป็นทักษะที่ติดตัวมาจากเมืองจีน
.
.
ในเรื่อง “อยู่กับก๋ง” เราจะได้รับฟังเรื่องของก๋งและสภาพความเป็นไปในชุมชน ครูและเพื่อนในโรงเรียน เพื่อนบ้าน รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละวัน ผ่านความนึกคิดของหยก เราจะสัมผัสได้ว่าทำไมหยกจึงรักเคารพและยึดถือคำสอนของก๋งเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต
.
ก๋งยังคงธรรมเนียมจีนคือดื่มน้ำชา แต่ก๋งก็รักเมืองไทยและก็ได้ปรับตัวใช้ชีวิตอย่างคนไทยในสมัยก่อนด้วยเช่นกินหมาก ความสุขอย่างหนึ่งของก๋งคือการได้กินหมากสด เช่นที่หยกบรรยายว่า “...ฉันอยากให้ก๋งได้ประเดิมหมากคำแรกของวันนี้ด้วยหมากสดหน้าสวย ๆ ให้อร่อยปาก ความสุขของก๋งเป็นความสุขของฉันด้วย” (น.๑๙)
.
ก๋งไม่เพียงเป็นที่รักของหลานวัยเยาว์เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้อาวุโสที่คนในชุมชนให้ความเคารพ นับถือ และมาขอคำแนะนำปรึกษาด้วยเสมอ
.
“อยู่กับก๋ง” เป็นนวนิยายที่สอดแทรกข้อคิดในทุกบททุกตอน ทั้งข้อคิดที่ได้จากก๋ง และความคิดของหยกเองที่ได้เรียนรู้จากก๋ง ผู้ที่สอนหยกจากการกระทำและความคิดอยู่เสมอ เช่น ที่ก๋งสอนให้หยกยอมรับความจริงในชีวิต และหัดเป็นคนเข้มแข็งเพื่อความอยู่รอด ทำให้หยกรู้จักคิดว่า
“เด็กห้องแถวกลางตลาดอย่างฉัน ก็ต้องหัดทำงานได้สารพัดอย่าง ไม่ว่างานหนักหรืองานเบา มันเป็นความจำเป็นโดยมีความจนเป็นนายคอยชี้นิ้วบัญชา ความดิ้นรนเป็นมือที่คอยผลักดัน ความเพียรเป็นพี่เลี้ยงคอยพยุงมิให้ระทดท้อ... คนที่ร่ำรวยแล้วยังไม่ยอมหยุดนิ่งละเว้นการสะสม แล้วคนจน ๆ อย่างเราจะอยู่เฉย ๆ ได้อย่างไร...” (น.๑๑)
.
หยกจดจำที่ก๋งสอนไม่ให้ฝังใจเรื่องพรหมลิขิต แต่ให้เชื่อมั่นในตนเองและขยันว่า “ไม่ใช่ว่าดวงดีแล้วจะร่ำรวยได้ ก่อนจะสร้างตัวได้สำเร็จเขาจะต้องผ่านการทำงาน อย่างหนักมาแล้วด้วย รู้จักหาเงิน รู้จักเก็บงำ รู้จักคิดหาช่องทางต่อทุน .... ฐานะของเขาจึงเป็นปึกแผ่นขึ้นมาได้...ไม่มีใครโชคดีถึงกับนอนขี้เกียจอยู่ข้างถนนแล้วเทวดาจะโยนถุงเงินลงมาให้ถัง หน้าตัก...จำไว้” (น. ๑๒)
.
เขาช่างจดจำคำสอนต่าง ๆ ของก๋งและถ่ายทอดให้ผู้อ่านฟังอย่างไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดเลย คำสอนที่เป็นปรัชญาชีวิตในนวนิยายเรื่องนี้ยังคงทันสมัยและนำมาปรับใช้ได้จริงกับชีวิตของผู้อ่านทุกยุคทุกสมัย
.
อีกสิ่งหนึ่งที่เด่นชัดในเรื่อง “อยู่กับก๋ง” คือเรื่องของความกตัญญู ทั้งต่อตนเองและผู้มีบุญคุณ และที่สำคัญคือความกตัญญูต่อแผ่นดินที่ได้พักอาศัย ก๋งสอนหยกว่าคนจีนจำนวนหนึ่งหนีร้อนมาพึ่งเย็น คือหนีความอดอยากแร้นแค้นและภัยพิบัติทางธรรมชาตที่จีนมาสู่ความอุดมสมบูรณ์และร่มเย็นของเมืองไทย โดยเฉพาะความอารีมีน้ำใจของคนไทย จึงควรมีสำนึกต่อบุญคุณของแผ่นดินไทย
.
นอกจากปรัชญาชีวิตแล้ว ผู้เขียนยังเล่าเรื่องความแตกต่างของคนไทยและคนจีนในกิจวัตรในชีวิตประจำวันให้ฟังเช่นเรื่องการตากผ้า คนไทยนิยมตากผ้าพาดไว้กับราวลวดแล้วใช้ไม้หนีบผ้า ส่วนคนจีนจะใช้ไม้ไผ่ลำยาวเรียวและถูให้สะอาด สอดปลายเข้ากับแขนเสื้อกางเกงร้อยเรียงกันทีละตัวจนเต็มไม้...แต่ที่เหมือนกันและเคร่งครัดมากคือ ทั้งคนจีนและไทยจะตากผ้านุ่งหรือกางเกงของผู้หญิงไว้ต่ำกว่าเสื้อผ้าของผู้ชาย
.
หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มโปรดเล่มหนึ่งของแอดมินด้วยค่ะ เพราะเราก็เป็นลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล มีอากงมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ตอนเด็กฉากหนึ่งที่หยกบรรยายแล้วแอดชอบใจมากจนลองทำบ้างคือ การกินก๋วยเตี๋ยวแล้วผสมข้าวลงไปเพื่อให้อิ่มท้อง...หรือฉากที่หยกเล่าถึง “น้ำแข็งกด” ในโรงเรียนโดยการอัดน้ำแข็งลงในถ้วยจนแน่นแล้วเอาไม่ไผ่ซี่เรียว ๆ เสียบลงไปตรงกลาง อัดจนแน่นแล้วดึงออกมา ราดน้ำหวานลงไป ... ผู้อ่านท่านใดเคยกินบ้างไหม
 
.
แม้นักเรียนมัธยมจะไม่ได้มีหนังสืออ่านนอกเวลามากเท่าแต่ก่อน แต่ก็ขอแนะนำหนังสือเรื่องนี้หากใครยังไม่เคยอ่านก็ควรอ่านสักครั้งค่ะ
.
หยก บูรพา เป็นหนึ่งในนามปากกาของ เฉลิม รงคผลิน (หรือชื่อเดิม เฉลิมศักดิ์ ศิลาพร) ผู้เขียนใช้นามปากกา “หยก บูรพา” ในการเขียนเรื่องชีวิตชาวจีนเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ.๒๕๑๙ คือเรื่อง “อยู่กับก๋ง” ในนิตยสาร “ฟ้าเมืองทอง” รายเดือน
.
ผู้เขียนเป็นชาวอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาและสอบเทียบ ม.๘ จากโรงเรียนปทุมคงคา และเข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนมีผลงานเขียนอีกเรื่องคือ "กตัญญูพิศวาส" ซึ่งก็ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยายในปี พ.ศ.๒๕๒๑ และเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาชั้นมัธยมด้วย
ผู้อ่านที่สนใจหนังสือเรื่อง​"อยู่กับก๋ง" คลิกไปดูรายละเอียดที่นี่ได้ค่ะ
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #อยู่กับก๋ง #หยกบูรพา #สำนักพิมพ์บรรณกิจ #นวนิยายครอบครัว
โฆษณา