Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bigmama ชวนอ่าน
•
ติดตาม
16 พ.ย. 2023 เวลา 12:21 • สิ่งแวดล้อม
วิจัยพบ เมฆบนท้องฟ้าในบางพื้นที่ปัจจุบันเกิดจาก “ไมโครพลาสติก”
นักวิจัยพบ เมฆในหลายพื้นที่ในปัจจุบันเกิดจากไอน้ำทำปฏิริกิริยากับ “ไมโครพลาสติก” ในอากาศ เตรียมศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม
จากกรณีที่เมื่อปลายเดือน ก.ย. มีรายงานว่า ทีมวิจัยจากญี่ปุ่นตรวจพบ “ไมโครพลาสติก” ในก้อนเมฆบนท้องฟ้า จนเกิดความกังวลว่าจะเกิดอันตรายที่คาดเดาไม่ได้
ล่าสุดมีการตรวจพบไมโครพลาสติกในตัวอย่างเมฆจากยอดเขาในประเทศจีนเช่นกัน ซึ่งบ่งชี้ว่า การพบไมโครพลาสติกในอากาศอาจกำลังกลายเป็นเรื่องปกติขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ งานวิจัยล่าสุดยังพบด้วยว่า “ไมโครพลาสติกอาจมีอิทธิพลต่อสภาพอากาศและการก่อตัวของเมฆ”
ไมโครพลาสติกเป็นอนุภาคพลาสติกเล็ก ๆ ที่มีขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร ซึ่งมีขนาดประมาณเมล็ดงาเมล็ดเดียว มักเกิดขึ้นเมื่อพลาสติกขนาดใหญ่สลายตัว ไม่ว่าจะโดยการย่อยสลายทางเคมีหรือการสึกหรอทางกายภาพเป็นชิ้นเล็กลง
ยิ่งไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กเท่าไร ก็ยิ่งสามารถเคลื่อนที่ผ่านวัฏจักรของสิ่งแวดล้อม เช่น วัฏจักรของน้ำ ได้ง่ายขึ้นเท่านั้น และสุดท้ายจะไปจบลงที่ร่างกายมนุษย์ ซึ่งมีผลกระทบที่น่ากังวลแต่ยังไม่ชัดเจน
ส่วนในงานวิจัยล่าสุดนั้น พบว่าไมโครพลาสติกส่งผลต่อการก่อตัวของเมฆ และเมฆมีความสำคัญอย่างมากต่อสภาพอากาศโลก
เมฆก่อให้เกิดฝน หิมะ ลูกเห็บ นอกจากนี้ยังบังแสงและการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ ส่งผลให้อุณหภูมิเย็นลง
เพื่อให้เมฆก่อตัว ไอน้ำซึ่งเป็นก๊าซจะควบแน่นเป็นหยดน้ำ จากนั้นหยดน้ำจำนวนมากจะรวมตัวกันจนกลายเป็นเมฆ หยดน้ำเกิดขึ้นเมื่อไอน้ำทำปฏิกิริยากับอนุภาคของแข็งเล็ก ๆ ในชั้นบรรยากาศ เช่น ฝุ่น เถ้า หรือเกลือจากมหาสมุทร จากการศึกษาพบว่า ไมโครพลาสติกสามารถเป็นหนึ่งในนั้นได้แล้วเช่นกัน
อนุภาคเหล่านี้มีคุณสมบัติชอบน้ำ ซึ่งหมายความว่าพวกมันถูกดึงดูดเข้าสู่น้ำ เมื่อหยดน้ำหยดแรกเกาะติดกับไมโครพลาสติกและอนุภาคขนาดเล็กอื่น ๆ หยดน้ำจะถูกดึงเข้าหากันมากขึ้นและก่อตัวเป็นเมฆ
กระบวนการนี้คล้ายกับการที่ประกายไฟเพียงจุดเดียวสามารถจุดไฟทั่วทั้งทุ่งได้ในที่สุด อนุภาคเล็ก ๆ หนึ่งอนุภาคในชั้นบรรยากาศสามารถทำให้เกิดการเคลื่อนไหวจนกลายเป็นกระบวนการที่ใหญ่กว่ามากได้
ทีมวิจัยระบุว่า การวิจัยเพิ่มเติมจะต้องเสร็จสิ้นเพื่อทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงขอบเขตที่ไมโครพลาสติกมีอิทธิพลต่อการก่อตัวของเมฆ
ไมโครพลาสติกที่มีความเข้มข้นมากขึ้นอาจนำไปสู่เมฆมากขึ้นได้หรือไม่? การเพิ่มขึ้นของเมฆจะนำไปสู่การตกตะกอนมากขึ้นหรือมีสภาพอากาศที่เย็นลงมากขึ้นหรือไม่? คำถามเหล่านี้ยังคงไม่ได้รับคำตอบ
ไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กและเบาพอที่จะถูกลมพัดพาและลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
ผู้เขียนรายงานการศึกษาพบตัวอย่างไมโครพลาสติกในอากาศเหนือภูเขาไท่ซานในประเทศจีน และพัฒนาแบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อจำลองเส้นทางของอนุภาคเหล่านั้น
แบบจำลองดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การไหลเวียนของอากาศจากเมืองต่าง ๆ ในจีนที่มีประชากรหนาแน่นในบริเวณใกล้เคียงเป็นแหล่งสำคัญของไมโครพลาสติก
สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า ไมโครพลาสติกที่ควรจะอยู่ในระดับพื้นดิน อาจถูกลมพัดลอยขึ้นและขนส่งเป็นระยะทางไกลจนไปรวมตัวกับหยดน้ำในอากาศและกลายเป็นเมฆในที่สุด
ยังไม่ชัดเจนว่า เมฆที่เกิดขึ้นจากไมโครพลาสติกนั้น เมื่อตกลงมาเป็นฝนหรือหิมะแล้ว จะมีไมโครพลาสติกปะปนมาด้วยหรือไม่ หากมีปะปนมาจริง ก็อาจนำไปสู่ผลกระทบที่ใหญ่และน่ากลัวกว่าเดิม
เรียบเรียงจาก CNN
ภาพจาก Saeed KHAN / AFP
โดย PPTV Online
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/210492
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย