17 พ.ย. 2023 เวลา 02:14 • ไลฟ์สไตล์

คนเหนือคนใต้

เมืองไทยเรา  ถ้าดูตามภูมิศาสตร์ก็แบ่งได้เป็นหกภาค  ได้แก่ภาคเหนือ ภาคกลาง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคตะวันออก  ภาคตะวันตกและภาคใต้โดยบางครั้งเรียกกันว่าปักษ์ใต้ ผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคใด ก็อาจจะใช้คำว่าคนภาคนั้นๆ  แต่ถ้าเอาคำว่าภาคออก  บางทีก็อาจทำให้คนฟังเข้าใจคลาดเคลื่อนได้เช่นคำว่า คนเหนือคนใต้
ประมาณปีพ.ศ 2540 ผู้เขียนได้รู้จักกับผู้ชายคนหนึ่งซึ่งมีพื้นเพอยู่ที่ปักษ์ใต้  ก็เลยพูดว่า “ คนใต้เหรอคะนี่ “
คนถูกทักมองอย่างเพ่งจ้องร้องถาม “ใช่  แล้วยังไงหรือครับ ”
ผู้เขียนตอบตามที่เคยได้ยินมา “ มีคนบอกว่า คนทางนั้นค่อนข้างจะดุดันน "
พี่ผู้ชายสีหน้าเอาผิดเอาถูก “ ได้ยินมาจากไหนเหรอ  บอกให้เลย ถ้าคนพูดเป็นคนภาคเหนือ คนสมุทรปราการเช่นคุณก็ถือว่า เป็นคนใต้เช่นกัน  เพราะทางนั้นเรียกผู้คนนับจากนครสวรรค์ลงมาว่าคนใต้หมด ”
ผู้เขียนคิดดูแล้ว  ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น  เพราะถ้าเราอาศัยอยู่ตอนเหนือ 
เราคงนึกถึงว่าบรรดาหัวเมืองที่อยู่ด้านล่างคือเมืองใต้ 
จึงได้บอกเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนที่มาจากภาคเหนือฟัง  เพื่อนพยักหน้าบอกว่า พวกผู้ใหญ่มองว่านับจากมืองนครสวรรค์ลงไป คนที่นั่นถือว่าเป็นคนเมืองใต้
ผู้เขียนก็พยักหน้าตาม เออเนะในขณะที่เรามองออกไปนอกตัว เช่น เห็นคนภาคใต้เป็นคนใต้น่ะ  ตัวเราเองก็อาจถูกมองว่าเป็นคนใต้ได้เช่นกันจากหัวเมืองด้านบนที่อยู่ไกลกัน เเต่ถ้าเราเรียกคนที่อยู่จังหวัดชุมพรลงไปถึงดินเเดนใต้สุดของเมืองไทยว่า คนปักษ์ใต้ ก็จะเข้าใจได้ตรงกันทั้งประเทศ
แต่ในปัจจุบัน  คนย้ายถิ่นมีมากมาย แถมคนต่างด้าวก็มีไม่น้อยเลย ทำให้คนไทยมากมายรู้สึกไม่ชัดเจนว่าตนเป็นคนภาคไหน  เช่นเกิดภาคกลางแต่ย้ายบ้านไปอยู่ภาคอิสานตั้งแต่ยังเด็ก  พอโตขึ้นก็ไปใช้ชีวิตยาวนานที่ภาคเหนือ  เลยสับสนว่า แท้จริงแล้วตนเป็นคนภาคไหนแน่  และแต่ละท้องที่มีทั้งคนพื้นที่และคนย้ายถิ่นประสมประสานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน ต้องปรับตัวเข้าหากัน อีกทั้งคนเรายังมีนิสัยติดตัวไม่เหมือนกัน การที่เราจะบอกว่าคนทางนั้นทางนี้เป็นเช่นไร ย่อมเป็นเรื่องตอบยากแล้ว
โฆษณา