17 พ.ย. 2023 เวลา 06:50 • ประวัติศาสตร์

วิพากษ์สาเหตุ : วาระสุดท้ายของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในอีกด้านที่คุณอาจยังไม่เคยรู้!

จากบทบาทในละครเรื่อง พรหมลิขิต ที่เป็นภาคต่อของละครอย่างบุพเพสันนิวาส ที่เหมือนพาเราและผู้ชมได้ย้อนกลับไปสู่ยุคกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง นอกจากตัวเนื้อเรื่องของละครที่มีความน่าสนใจและน่าติดตามแล้ว ก็ยังมีตัวละครตัวหนึ่งที่มีตัวตนอยู่จริง และถือว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย
นั่นคือ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (พระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าเพชร) หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ พระเจ้าภูมินทราชา หรือ พระเจ้าบรรยงก์รัตนาสน์ นั่นเอง ซึ่งชื่อของพระองค์นั้นก็มีที่มามาจากนามของ “พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์” ซึ่งพระองค์ใช้เป็นประทับประจำพระองค์ อันอยู่ข้างสระน้ำท้ายพระราชวัง จึงเป็นที่มาของพระนาม “พระเจ้าท้ายสระ” นั่นเอง (บางครั้งชาวบ้านกรุงเก่าก็เรียกพระองค์ว่า ขุนหลวงหาปลา ก็มีอยู่) เป็นเพราะท่านชอบล่าสัตว์ ยิงนก ตกปลาเป็นที่ยิ่งเพื่อความสำเริญสำราญใจเป็นอันมากของท่าน
สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้นพอพระทัยทําปาณาติบาต ฆ่ามัจฉาชาติปลาน้อยใหญ่ต่าง ๆ เป็นอันมาก ด้วยตกเบ็ดทอดแหแทงฉมวก ทำลี่กันเฝือก [ทำที่กันเฝือก] ดักลอบ ดักไชย กระทำการต่าง ๆ ฆ่าสัตว์ต่าง ๆ ประพาสป่าฆ่าเนื้อนกเล่นสนุกด้วยดักแร้ว ดักบ่วง ไล่ช้าง ล้อมช้าง ได้ช้างเถื่อนเป็นอันมาก เป็นหลายวัน แล้วกลับคืนมายังพระนคร
พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม
ขุนหลวงท้ายสระ หรือ เจ้าฟ้าเพชร นั้น เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สามแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2251 - พ.ศ. 2275
พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ หลวงสรศักดิ์) กับพระอัครมเหสีสมเด็จพระพันวษา มีพระอนุชาและพระกนิษฐาร่วมพระมารดา 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2) และเจ้าฟ้าหญิงไม่ทราบพระนาม
พระองค์ประสูติตั้งแต่พระราชบิดา (พระเจ้าเสือ) เป็นขุนนางในตำแหน่งออกหลวงสรศักดิ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หลังจากพระอัยกา (พระเพทราชา) ทรงครองราชย์ และแต่งตั้งพระเจ้าเสือเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ทำให้สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระได้เป็นเชื้อพระวงศ์ และออกพระนามว่า สุรินทกุมาร ซึ่งที่มาของชื่อ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ มาจากนามพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ที่ได้กล่าวไปตามข้างต้น ซึ่งพระองค์ใช้เป็นประทับอันอยู่ข้างสระน้ำท้ายพระราชวัง
พระองค์โปรดเสวยปลาตะเพียน โดยออกพระราชกำหนดห้ามราษฎรจับหรือรับประทานปลาตะเพียน หากผู้ใดฝ่าฝืน มีบทลงโทษคือปรับเป็นเงิน 5 ตำลึง หรือ 20 บาท
ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระประพฤติเหตุในอโนดัปปธรรม แล้วเสด็จเที่ยวประพาสทรงเบ็ดเหมือนสมเด็จพระราชบิดา แล้วพระองค์พอพระทัยเสวยปลาตะเพียน ครั้งนั้นตั้งพระราชกำหนดห้ามมิให้คนทั้งปวงรับพระราชทานปลาตะเพียนเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดเอาปลาตะเพียนมาบริโภค ก็ให้มีสินไหมแก่ผู้นั้นเป็นเงินตรา ๕ ตำลึง
พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม
ภาพวาดผู้ป่วยโรค Noma จาก MEISTERWERK der PLASTISCHEN CHIRURGIE - ATLAS der GESICHTSCHIRURGIE ของ Victor von Bruns ศัลยแพทย์ชาวเยอรมัน ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) แสดงภาพการทำลายเนื้อเยื่อบริเวณช่องปากและใบหน้าของผู้ป่วยโรค Noma (ยกเว้นแถวล่างสุดเป็นรูปของผู้ป่วยเนื้องอกที่ใบหน้า)
ซึ่งเรื่องที่จะนำมาเล่าในวันนี้จะเป็นช่วงวาระสุดท้ายของพระเจ้าท้ายสระ ที่จริงแล้วตอนแรกเราไม่ได้สงสัยในเรื่องการสวรรคตมากนักในตอนแรกที่อ่านเรื่องราวผ่าน ๆ เหมือนที่ใครหลาย ๆ คนคงทราบเรื่อง สงครามชิงราชสมบัติของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ - เจ้าฟ้าอภัย มันก็อาจเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตามปกติเหมือนที่เราคงทราบกันดีว่ายุคกรุงศรีประวัติศาสตร์ดุเด็ดสักแค่ไหน
แต่ด้วยลักษณะและสาเหตุของการประชวรแล้ว ในฐานะที่เรากำลังเรียนทันตแพทย์ จึงเริ่มเกิดความสงสัยและตั้งสันนิษฐานรวมถึงสาเหตุของการสวรรคตของท่าน ว่าคลับคล้ายคลับคลาว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็งช่องปาก (Oral cancer) ได้หรือไม่ จึงเริ่มที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ
1
จึงพบข้อมูลว่าเดิมทีพระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคในช่องพระโอษฐ์ (ช่องปาก) อยู่หลายปี ก่อนที่พระองค์จะสวรรคต โดยมีการปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ว่ามีการเริ่มแสดงอาการประชวรที่พระชิวหา (ลิ้น) ตั้งแต่ พ.ศ. 2270 โดยมีการสันนิษฐานว่าพระองค์อาจเป็นมะเร็งช่องปาก (Oral cancer) อุ๊บ๊ะ อ่านมาถึงตรงนี้เราก็คงคิดว่านี่มันตรงกับที่คิดไว้เลยนี่ แต่เดี๋ยวก่อน แล้วเรามีหลักฐานหรือลักษณะอาการอย่างไรของพระองค์ เราถึงสรุปได้ว่าพระองค์เป็นโรคมะเร็งช่องปากจริง ๆ หรือว่าเป็นเพราะสาเหตุอื่นกันแน่นะ
แต่การประชวรที่พระชิวหาของพระองค์ในครั้งนี้ก็ไม่มีการบันทึกหรือรายละเอียดที่ชัดเจนว่าพระองค์นั้นรักษาหายหรือไม่ แต่เราก็คงพอสันนิษฐานได้ว่านี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้พระองค์สวรรคตในเวลาต่อมาได้
จากจดหมายของ ปีเตอร์ ไซเอ็น (Peter Sijen) หัวหน้าสถานีการค้า (opperhoofd) ของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Vereenigde Oostindische Compagnie; VOC) ประจำสยาม ได้ส่งไปยังผู้สำเร็จราชการและสภาเมืองปัตตาเวีย ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1732 (พ.ศ. 2275) รายงานว่า ตั้งแต่ปลาย ค.ศ. 1731 (พ.ศ. 2274)
1
ความว่า สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงพระประชวรเป็นเนื้องอกในพระโอษฐ์ลุกลามไปถึงพระพักตร์ ทำให้ทรงเจ็บปวดมาก หมอหลวงเชื้อสายฝรั่งเศสสองพี่น้อง คือ เยเรเมียส (Jeremias) และ ฟีเลมง (Filemon) ทายาทรุ่นที่สามของตระกูลโบรเชอบอร์ด (Brochebroude) ซึ่งรับราชการเป็นศัลยแพทย์หลวงมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ไม่สามารถรักษาพระโรคนี้ได้ จึงได้รับพระราชโองการให้ไปติดต่อสำนักงานของ VOC ในสยามเพื่อขอศัลยแพทย์ของบริษัทมาถวายการรักษา
ในตอนแรก ศัลยแพทย์ดัตช์ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าโดยตรง พวกเขาจึงต้องทำหุ่นขี้ผึ้งแทนพระวรกายและพระโอษฐ์ของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระพร้อมกับแสดงตำแหน่งเนื้องอกเพื่อให้ศัลยแพทย์ดัตช์ทำการประเมินและถวายการรักษาได้ แต่ศัลยแพทย์ดัตช์ไม่สามารถวินิจฉัยได้และแจ้งว่าต้องเข้าเฝ้าโดยตรง หลังจากมีการปรึกษาหารือสั้น ๆ กันแล้วนั้น จึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ถวายการตรวจเฉพาะภายนอกพระโอษฐ์ได้ ศัลยแพทย์ดัตช์วินิจฉัยว่าสมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงพระประชวรด้วยโรค
“waterkanker” ซึ่งจะตรงกับภาษาอังกฤษคือ “water cancer” แปลตรงตัวว่า “มะเร็งน้ำ” แต่จริง ๆ แล้วโรคนี้ไม่ใช่มะเร็ง เอ๋า มันไม่ใช่โรคมะเร็ง อาการมาขนาดนี้แล้วยังมีโรคอื่นที่ทำให้อาการร้ายแรงแบบโรคมะเร็งอีกหรอ
ใช่ และมีจริง ๆ นั่นก็คือโรค “Noma” แล้วโรคนี้มันคืออะไร ทำไมมันดูไม่คุ้นหูเลยในประเทศของเรา เราไม่เคยได้ยินในข่าวว่ามีคนเสียชีวิตด้วยโรคนี้สักหน่อย
แต่โรคนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “Face of poverty” ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าเป็นหนึ่งในโรคที่ระบาดในแอฟริกาหรือประเทศโลกที่สามมานานแล้วนั่นเอง ในขณะที่ประเทศไทยเรากำลังกังวลกับโรคอ้วนและปัญหาจากโรค NCDs โรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังจากการบริโภคอาหารที่มากจนเกินไป ในขณะเดียวกันที่อีกหลายที่บนโลกใบนี้ ที่มีผู้คนกว่าแสนคนกำลังทุกข์ทน อดอยากหิวโหยและเสียชีวิตลงจากโรคที่เกิดจาการขาดสารอาหาร (Malnutrition)
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายท่านคงสงสัยว่าพระองค์เป็นถึงกษัตริย์ แต่ทำไมถึงเป็นโรคดังที่ว่าได้เหมือนกับคนที่ขาดสารอาหารในแอฟริกา มันดูไม่สมเหตุสมผล ถ้ากษัตริย์ป่วยด้วยโรคนี้ ประชาชนคงไม่มีแม้แต่ข้าวสารสักเม็ดที่จะกรอกหม้อแล้ว มันไม่แปลกเกินไปหน่อยหรอ แต่นี่คือยุคของปี 2023 นะ เมื่อเราเอาทัศนะในการเรียนประวัติศาสตร์ลงไปมองอดีตยิ่งเป็นไปไม่ได้แล้วใหญ่ ที่อยุธยาอุดมสมบูรณ์มากมายเพียงนั้น มีแม่น้ำไหลผ่านเกาะเมืองต่าง ๆ อีก คนจะอดอยากหรอยิ่งดูฟังไม่เข้าท่า
ซึ่งในฐานะคนยุคโลกศตวรรษที่ 21 แล้ว เราจะขยายความโรคนี้กันอีกสักนิด ชื่อในปัจจุบันของโรคนี้มีหลายชื่อ เช่น Noma, Cancrum oris หรือ Gangrenous stomatitis คือภาวะเนื้อตายเน่าที่ทำลายเนื้อเยื่อของปากและใบหน้าอย่างรวดเร็ว Noma มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก voun แปลว่า “กลืนกิน” (to devour)
โดยอาการแสดงของ Noma เริ่มต้นจากมีการอักเสบของเหงือกหรือเนื้อเยื่อในช่องปาก แล้วจึงพัฒนากลายเป็นแผลและเนื้อตายเน่า ทำลายเนื้อเยื่อและกระดูกใบหน้าและขากรรไกรอย่างรวดเร็ว จนสามารถทำให้ใบหน้าทะลุหรือผิดรูปไปได้
สาเหตุ :
เกิดจากการติดเชื้อฉวยโอกาสโดยพบในคนไข้ที่มีความยากจนมาก ขาดสารอาหาร สุขภาพช่องปากไม่ดี มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคอื่นๆ เช่น มาลาเรีย โรคหัด มะเร็ง หรือผู้ติดเชื้อ HIV (การมีอาการป่วยจากโรคอื่น หรือกามโรค อาจทำให้ภูมิคุ้มกันของคนคนนั้นต่ำลง ทำให้เชื้อฉวยโอกาสสามารถทำร้ายร่างกายเราได้ ตามปกติแล้วในร่างกายมนุษย์ มีเชื้อที่ดีและไม่ดี ในอัตราส่วน 80:20 แต่หากวันใดที่ร่างกายอ่อนแอ เชื้อนั้นก็สามารถกลับมาทำร้ายเราได้เช่นกัน)
โรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 90 หากไม่ได้รับการรักษา โดยสาเหตุการเสียชีวิตมาจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) ภาวะขาดน้ำ (dehydration) และภาวะขาดสารอาหาร (malnutrition) อย่างรุนแรง เพราะรับประทานอาหารได้ลำบาก
โรคนี้ปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เคยมีอุบัติการณ์ในหลายประเทศทั่วโลก ในปัจจุบันมักพบในประเทศโลกที่สามที่มีความยากจน มีความชุกมากในทวีปแอฟริกาเขตตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) แต่เมื่อพิจารณาจากบันทึกที่ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงมีเนื้องอก ซึ่งไม่ตรงกับอาการของ Noma เสียทีเดียว จึงเป็นไปได้ที่จะทรงประชวรเป็นมะเร็งในพระโอษฐ์ร่วมด้วย โดยอาจมีอาการต่อเนื่องจากการประชวรที่พระชิวหา และบางที่อาจทรงเป็นอยู่ก่อนแล้ว
ศัลยแพทย์ชาวดัตช์นั้นกราบทูลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระว่าเขาเคยรักษา ผู้ป่วยโรคนี้หลายคนในฮอลแลนด์ แล้วเขาจึงจัดยาที่ไม่ทราบชื่อถวาย ก่อนเดินทางกลับไป แต่ยานั้นก็ไม่ได้ช่วยให้พระอาการดีขึ้นแต่อย่างใด…
ปีเตอร์ ไซเอ็น รายงานว่า สมเด็จพระเจ้าท้ายสระไม่ทรงหายประชวรเพราะไม่ทรงยอมอดทนใช้ยาของดัตช์ แต่ยังทรงรักษากับหมอไทย หมอญวน และหมอจีนที่เขาเห็นว่าเป็น “พวกลวงโลก”
อันนี้ฉันเคยเห็นในบันทึกของลาลูแบร์เกี่ยวกับหมอลวงโลกเหล่านี้ วิธีการรักษาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่สิ่งที่นับได้ว่ามีความสามารถของคนเหล่านี้คือริมฝีปาก วิธีพูดจาสื่อสารให้คนเชื่อถือตนได้มากกว่า จนได้เงินดีเป็นกอบเป็นกำ
จนในพระนครมีทั้งหมอจริงที่หลอก (โดยการนวด-ยืดเส้น เป็นการรักษาทางการแพทย์โบราณของไทยมาตั้งแต่อดีต ตอนปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกวิธีนี้ก็ดีอยู่ แต่หากอาการไม่ใช่แบบนั้นจะให้ใครมานวดก็คงไม่หายหรอก อาจทำให้อาการเลวลงไปกว่าเดิมด้วยซ้ำ) หมอเก๊ที่หลอก (ไม่มีความรู้วิชาการแพทย์ แต่อ้างตนทำทีว่าเป็นหมอเพื่อจะได้เงินค่ารักษา) และอีกมากมาย
ในกรุงสยามนั้นถ้าใครป่วยไข้ลง ก็จะเริ่มทำให้เส้นสายยืดโดยให้ผู้มีความชำนาญในทางนี้ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้ แล้วใช้เท้าเหยียบ ๆ
ลา ลูแบร์
รวมถึงการรักษาแบบไทยนั้นมักไม่มีการปรับเปลี่ยนสูตรใด ๆ ส่งต่อมาแบบใดใช้แบบนั้น ไม่สนอายุ เพศ หรือสภาวะอาการของผู้ป่วย โดยทุกผู้ต้องกินยาขนานเดียวกันหมด บางครั้งยาขนานเดียวกันอาจถูกโรคหรืออาจไม่ถูกโรคกับคนนั้นก็ได้ หรืออาจอ่อนไปหรือมากเกินไปสำหรับบางบุคคลก็ได้ นี่จึงเป็นปัญหาว่าคนที่ตายด้วยโรคนั้นมีมาก แต่การตายจากการรักษาอาจมากยิ่งกว่า ยิ่งวิธีการรักษาแล้ว ด้วยมุมมองในสายตาแพทย์ยุคปัจจุบันคงน่าอิดหนาระอาใจพอสมควร
“ระบบการรักษาคนไข้นั้นต่างกว่าที่กระทำกันในยุโรป เขาให้คนไข้ได้กินข้าวต้มน้ำใส ๆ กับปลาแห้งสักหน่อยเดียวเท่านั้น เขาให้คนไข้อาบน้ำหรือลูบตัววันละ 3-4 หน ผู้พยาบาลอมน้ำยาผสมรากไม้พ่นไปบนตัวคนไข้อย่างแรงเป็นฟูฝอย พ่นอยู่ดังนี้ตั้งเสี้ยวชั่วโมง
ข้อจำเป็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ การนวด ผู้ชำนาญการนวดจะบีบเฟ้นร่างกายทุกส่วนของคนไข้โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แขน หน้าท้อง และต้นขา บางทีหมอก็จะขึ้นไปเหยียบอยู่บนเข่าของคนไข้ แล้วก็ไปตามร่างกายอ้างว่าเพื่อให้เส้นสายกลับคืนเข้าที่”
บาทหลวง ปาลเลกัวซ์
กล่าวโดยสรุปจากหนังสือบันทึกของลาลูแบร์ โรคฮิตฮิตในสมัยนั้น ได้ให้ภาพของโรคภัยไข้เจ็บ และวิธีการรักษาในสมัยนั้นไว้ว่า "เรื่องโรคาพาธของชาวสยามในกรุงศรีอยุธยา มีตั้งแต่โรคป่วง โรคบิด ไข้ กำเดา ไข้หวัด ไข้จับสั่น โรคพิษบาดทะยัก โรคจับลม โรคอัมพาต โรคคุดทะราด เข้าข้อฝีต่างๆ เป็นปรวดพิษ แผลเปื่อยพัง โรคโลหิตไหลทางเหงือกไม่ค่อยพบ หรือการเป็นโรคในช่องปากและลำคอ จากการเคี้ยวหมากก็มีอยู่มาก
โรคขี้เรื้อนกุดถังไม่ค่อยเห็น แต่คนเสียจริตมีชุมการถูกกระทำยำเยียเชิงกฤติคุณ ความประพฤติลามก พาให้เกิดกามโรคในกรุงสยามก็ดกไม่หยอก อนึ่งในกรุงสยามก็มีโรคติดต่อกัน แต่หาใช่ห่ากาฬโรคอย่างทวีปยุโรปไม่ตัวโรคห่าของกรุงสยามก็คือ ไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค..." โรคทางกามในสยามมีเยอะอยู่ใช่หยอก จากการขุดค้นพบจากโครงกระดูก ก็ทำให้ทราบได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตจากกามโรคพวกนี้ จากการส่องเสพเสเพลเที่ยวโรงชำเลาบุรุษกัน
มองสิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส เข้ามาในกรุงสยามระหว่าง
พ.ศ. 2230 - 2231 ระหว่างนั้นลาลูแบร์ ได้เขียน จดหมายเหตุพระราชพงศาวดารสยามครั้งกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตอนหนึ่งได้กล่าววิจารณ์การแพทย์แผนไทยในสมัยอยุธยาว่า
โอสถจะทรงคุณสมนามว่าเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ในกรุงสยามแพทย์หลวง ตัวเองของพระมหากษัตริย์สยามก็เป็นจีนแสเจ็กมากกว่าหมอสยามและหมอมอญ ชาวพะโค
บาทหลวง ปาลเลกัวซ์
และในสองหรือสามปีมานี้ พระองค์ได้โปรดครูสอนศาสนาคริสตัง ฝรั่งเศสฝ่ายคฤหัสถ์ผู้หนึ่ง ชื่อมองสิเออร์ปูมาต์ ให้เข้ารับราชการฉลองพระเดช พระคุณในกรมหมอหลวง ด้วยทรงไว้วางพระราชหฤทัยหมอ
ฝรั่งผู้นี้มากกว่าหมอหลวงทั้งปวงหมด หมอหลวงอื่นๆ ต้องรายงานพระอาการพระพุทธเจ้าอยู่หัวยามทรงพระประชวรทุกเวลาต่อหมอฝรั่งผู้นั้น และต้องรับพระโอสถที่หมอฝรั่งนั้นได้ปรุงขึ้นสำหรับถวายนั้นจากมือหมอฝรั่ง ไปตั้งถวาย
บาทหลวง ปาลเลกัวซ์
"ข้อเขลาสำคัญของหมอสยามนั้นก็ไม่รู้ว่าเครื่องในร่างกายตัวมนุษย์นั้นมี อะไร เป็นอย่างไร สำหรับอะไรบ้าง จำเป็นต้องพึ่งฝรั่ง ไม่ใช่แต่บอกยา ทั้งบอก สมุฏฐานภูตรูปให้ด้วย บรรดาความยากลำบากที่จะตัดผ่าเครื่องในกายตัวคนไข้ ทั้งปวง แม้แต่การง่ายๆ จะห้ามเลือดก็ไม่ถนัด วิชาผ่าตัดนั้นหมอสยาม ไม่หือเสียเลยทีเดียว“
"หมอสยามมียาแต่ตามตำรา หมอสยามไม่พึงพยายาม ทราบยาอย่างไหนบำบัดโรคได้ หลับตาถือแต่ตำรับที่ได้เรียนมาจากบิดา
มารดา และครูบาอาจารย์ และในตำรานั้น หมอชั้นใหม่ก็คงดื้อใช้ไม่แก้ไขอย่างใด หมอสยามไม่พะวักพะวงตรวจสมุห์ฐานโรคว่าอะไรเป็นตัวสำคัญที่ส่อให้เกิดโรค วางยา ไปตามตำราตามบุญตามกรรม แม้กระนั้นก็ยังไม่วายที่จะรักษาให้หายได้มาก หมอสยามเว้นที่จะโทษว่าเป็นเพราะถูกคุณกระทำยำเยียหรือฤทธิ์ผีสาง"
จนผ่านไปหลายเดือนพระอาการก็ไม่ดีขึ้น ศัลยแพทย์ดัตช์ต้องกลับมาถวายการรักษาอีกครั้ง ซึ่งก็พบว่าพระอาการรุนแรงถึงพระชนม์ชีพแล้ว จดหมายของบาทหลวงฝรั่งเศสชื่อออมงต์ (M.Aumont) ส่งถึงบาทหลวง เดอ โลลีแยร์ (M.de Lolière) ลงวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1732 ก่อนสมเด็จพระเจ้าท้ายสระสวรรคต 1 เดือน ระบุว่าพระอาการประชวรของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระรุนแรงจนเพดานพระโอษฐ์เน่า (le palais de la bouche lui ayant pourri) กล่าวกันว่าแพทย์มากกว่า 20 คนถูกประหารชีวิตเนื่องจากไม่สามารถถวายการรักษาได้
ในที่สุดพระองค์ต้องขอให้สังฆราชแตสซีเอร์ เดอ เกราเล (Jean- Jacques Tessier de Quéralay) ผู้เป็นประมุขมิสซังสยามจัดหาแพทย์มาถวายแก่พระองค์ สังฆราชจึงส่งผู้ช่วยบาทหลวงชื่อ ฌวง ดา กอสตา (Joan da Costa) ไปถวายการรักษา ซึ่งสามารถรักษาพระอาการได้ดี ทำให้สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงเสนอจะพระราชทานความช่วยเหลือต่างๆ แก่สังฆราชเพื่อแสดงความขอบพระราชหฤทัย
..แต่การรักษาครั้งนั้นไม่ได้ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด เพราะในท้ายที่สุดสมเด็จพระเจ้าท้ายสระเสด็จสวรรคตในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1733 (พ.ศ. 2276) สิริพระชนมายุ 54 พรรษา ซึ่งในทัศนะของฉัน พระองค์คงทุกข์ทรมานอย่างน่าเวทนากว่าจะถึงการสวรรคต ทั้งอับอายและเป็นที่ไม่น่าดูน่าชมนัก
ผู้ชำระพระราชพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์วิจารณ์สมเด็จพระเ จ้าท้ายสระทิ้งท้ายไว้ว่า “ผู้ใดมีเมตตาไม่ฆ่าสัตว์อายุยืน ไม่มีเมตตาฆ่าสัตว์อายุสั้น” เพราะพระองค์ทรงพอพระทัยกระทำปาณาติบาต เสด็จประพาสทรงเบ็ดทอดแหจับปลาจำนวนมากเป็นประจำ บางคนอาจจะมองว่าเป็นกฎแห่งกรรมก็ว่าได้ เพราะสมเด็จพระเจ้าท้ายสระประชวรสวรรคตด้วยพระโรคในช่องพระโอษฐ์ ใกล้เคียงเหมือนกับปลาที่ถูกตะขอเบ็ดเกี่ยวปากอยู่เหมือนกัน เหตุนี้ก็น่าคิดนัก
ระหว่างที่เจ้าฟ้าอภัยฝ่ายวังหลวงคิดแย่งชิงราชสมบัติกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พร้อมที่จะพุ่งรบแล้วนั้น ทั้ง 2 พระองค์ต่างก็รอเวลาที่สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเสด็จสวรรคต ไม่นานนักอาการพระประชวรแย่ลงจนแพทย์หลวงไม่สามารถวายการรักษาได้ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระจึงเสด็จสวรรคตลงในปีจุลศักราช 1094 (พ.ศ. 2276)
ลุศักราชได้ ๑๐๙๔ ปีชวด จัตวาศก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระประชวรหนักลง ก็ถึงแก่ทิวงคตในเดือนยี่ข้างแรมไปโดยยถากรรมแห่งพระองค์นั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาบังเกิดในปีมะแม อายุได้ ๒๘ ปี ได้เสวยราชสมบัติอยู่ ๒๖ ปีเศษ พระชนมายุได้ ๕๔ ปีเศษ กระทำกาลกิริยา ผู้ใดมีเมตตาไม่ฆ่าสัตว์ อายุยืน ไม่มีเมตตาฆ่าสัตว์ อายุสั้น
พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม
จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบาทหลวงเอเดรียง โลเน ได้รวบรวมพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2463 และอรุณ อมาตยกุล เป็นผู้แปล ระบุว่า สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระประชวรมีฝีในพระโอษฐ์หรือพระศอ ขณะที่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) บันทึกไว้ว่าพระองค์ประชวรที่พระชิวหา (ลิ้น) จึงสันนิษฐานว่าพระองค์อาจเป็นมะเร็งช่องปาก พระองค์ประชวรด้วยพระโรคนี้เป็นเวลานานจนเสด็จสวรรคต
1
ทรงพระประชวรเป็นคล้ายพระยอดขึ้นที่พระโอษฐ์ ได้ทรงพระประชวรอยู่เกือบปีหนึ่งจึงได้เสร็จสวรรคตเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้
จดหมายมองซิเออร์ เลอแบร์ (ว่าด้วยพระเจ้าท้ายสระสวรรคต)
หลังจากนั้นเจ้าฟ้าอภัยพระราชโอรสซึ่งอ้างสิทธิในราชสมบัติและเจ้าฟ้าปรเมศร์ได้สู้รบกับเจ้าฟ้าพรพระอนุชาของพระเจ้าท้ายสระและวังหน้าและพระเจ้าอาของเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์กลายเป็นสงครามกลางเมือง
หลังจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระอนุชาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงโทมนัสแค้นพระทัยในสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระด้วยเหตุทรงยกราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรส ดำรัสว่าจะไม่เผาพระบรมศพให้แต่จะนำไปทิ้งน้ำ.. (แหม่ ตอนแรกบอกจะยกให้เขา ไป ๆ มา ๆ ว่าจะยกให้ลูกคนนั้นที คนนี้ที ทีนี้ก็ว้าวุ่นกันเลยทีเดียว เจ้าฟ้านเรนทรรอดมาได้เพราะออกผนวชอยู่ครองเพศบรรพชิตตลอดมา)
พระยาราชนายกว่าที่กลาโหมกราบทูลเล้าโลมพระองค์หลายครั้งจนพระองค์ทรงตัดสินพระทัยจัดการพระบรมศพตามราชประเพณีแต่ทรงลดขนาดพระเมรุลงเป็นพระเมรุน้อย ขื่อ 5 วา 2 ศอก มีพระสงฆ์สดับปกรณ์ 5,000 องค์ (จากเดิม 10,000 องค์) ใช้เวลาทำ 10 เดือนจึงแล้วเสร็จ แล้วเชิญพระบรมศพถวายพระเพลิงเมื่อเดือน 4 ปีฉลู พ.ศ. 2276 ทรงดำรัสว่าทำบุญน้อยนักไม่สบายพระทัยแล้วทรงนิมนต์พระสงฆ์สดับปกรณ์เพิ่มเป็น 6,000 องค์ ให้สดับปกรณ์ 3 วันแล้วถวายพระเพลิงเสร็จแล้วนำพระบรมอัฐิใส่พระโกศน้อยแห่เข้ามาบรรจุไว้ท้ายจระนำ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์
1
จึ่งทรงพระกรุณาดำรัสสั่งให้ตั้งพระเมรุมาศขนาดน้อย ขื่อ ๕ วา ๒ ศอก ชักพระบรมศพออกถวายพระเพลิงตามราชประเพณี
พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม
การลดพระเมรุเป็นพระเมรุน้อยทำให้การพระบรมศพสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระมีความสมพระเกียรติยศแตกต่างกับรัชกาลก่อนนัก
1
ในท้ายนี้ไม่ว่าผู้ใดในโลกนี้ยามเกิดมา เขาผู้นั้นย่อมเลือกชาติกำเนิดไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยฐานะตำแหน่งทางสังคมของครอบครัวก็เลือกไม่ได้ ความไม่เท่าเทียมทางกายภาพเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่ง มีเพียงความจริงเดียวเท่านั้นที่ทุกคนต้องประสบพบเจอไม่วันใดก็วันหนึ่งนั่นคือ ความตาย ไม่ว่ายิ่งยิ่งใหญ่เพียงไหนก็ล้วนต้องตายเสมอเหมือนกันหมด เมื่อเขาเหล่านั้นตายลง คนตายพูดไม่ได้ อำนาจก็หามีไม่ อำนาจย่อมตกอยู่กับคนเป็นผู้ที่อยากเป็นใหญ่ ไม่มีใครหลีกเลี่ยงความจริงอันนี้ไปได้ ชีวิตนี้สั้นนัก แต่ก็ยาวนานพอที่จะทำสิ่งที่ดีต่อไป
ท้ายที่สุดคนทุกคนหากไม่ได้เป็นคนที่ยิ่งใหญ่ในทางดีหรือทางชั่วจนสุดทางแล้ว เราและท่าน ๆ ก็ต่างล้วนเป็นผู้ที่ถูกลืมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้จดจำและรักหรือชังเรามากแค่ไหน เขาเหล่านั้นก็ย่อมต้องตายเหมือนกับเรา เมื่อเราตายลง คนเหล่านั้นตายลงเพียงไม่กี่ชั่วอายุคนเรานั้นก็จะถูกลืมและไม่มีตัวตนแก่การพูดถึงอีกต่อไป
1
แต่นี่แหละที่สำคัญว่าเราจะเอาแต่ห่วงลาภ ยศ สมบัติ เงินทองมากไปถึงเพียงไหน ในจุดสุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรที่แน่นอนได้อยู่ดี นำเอาของที่ไม่แนนอนอยากให้มันแน่นอน คนเดี๋ยวนี้จึงทุกกันเป็นอย่างมากด้วยสิ่งเหล่านี้ กด บีบอัด ยัดเยียดให้สิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เป็นได้ กลับต้องได้ ต้องมี ต้องทำได้ ความทุกข์นั้นจึงมีมากด้วยความอยากได้ แต่มันไม่เป็นดังใจที่คิดอยากได้มัน
ท้ายที่สุดทุกคนจะต้องเป็นผู้ที่ถูกลืม แต่ในช่วงเวลาที่มีชีวิต จงทำความดีให้เราเป็นผู้ที่ได้จดจำมากที่สุดก็พอ
IndigoP
Thank you for reading. And may goodness protect and bless you all. ✨🤍
โฆษณา