Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
18 พ.ย. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
‘จิ้มก้อง’ เครื่องมือทางการทูตในสมัยโบราณ
จากละครพรหมลิขิต ฉากที่ขุนหลวงท้ายสระตรัสถามหมื่นริดว่ารู้จัก ‘จิ้มก้อง’ ฤาไม่ และให้อธิบายให้แจ้ง ก็คาดว่าคนไทยหลายคนคงรู้จักคำนี้หรือพอคุ้น ๆ หูจากการศึกษาประวัติศาสตร์มาไม่มากก็น้อย วันนี้จึงจะมาพูดเรื่องถึงจิ้มก้องกันว่าคืออะไร แล้วไทยเราเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง
📌จิ้มก้องคืออะไร?
จิ้มก้อง หรือ จิ้นก้ง หมายถึงการถวายเครื่องราชบรรณาการให้แด่จักรพรรดิจีนเพื่อยอมรับในฐานะเป็นโอรสแห่งสวรรค์มาเพื่อเป็นผู้ปกครองมนุษย์ทุกคนบนโลก โดยแนวคิดนี้เปรียบเสมือนระเบียบโลกที่จีนตั้งขึ้นมา
หากใครอยากเจริญสัมพันธไมตรี ติดต่อค้าขายก็ต้องจิ้มก้องจีนถึงจะคบค้าสมาคมด้วย อย่างไรก็ตามในมุมของจีนนั้น มองว่าไม่ใช่เรื่องของการเจริญสัมพันธไมตรี แต่เป็นการยอมสวามิภักดิ์เป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้จีนต่างหาก
📌แล้วไทยเรา ‘จิ้มก้อง’ ตั้งแต่เมื่อไหร่?
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เรามีการจิ้มก้องมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย (หรืออาจจะก่อนหน้านั้น) เป็นเวลายาวนานกว่าหลายร้อยปี โดยการจิ้มก้องครั้งแรกในสมัยสุโขทัยเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 1835 มีการส่งราชทูตไทยไปถวายเครื่องราชบรรณาการแด่จักรพรรดิจีน (ขณะนั้นคือราชวงศ์หยวน) ถัดมาอีก 30 ปี สุโขทัยจึงยุติการจิ้มก้องไป เหตุเพราะจีนกำลังอ่อนแอในขณะนั้น
ในขณะที่การจิ้มก้องของอยุธยานั้น มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าสุโขทัยเพราะพื้นที่ของอยุธยาที่ติดกับทะเลจึงเอื้อให้มีการค้าขายทางน้ำมากกว่า โดยการจิ้มก้องจีนก็เพื่อให้ได้สินค้ามาเพื่อใช้และนำไปขายต่อให้กับชาติตะวันตก ทำให้อยุธยามีเงินในคลังแน่นสะพัด
การจิ้มก้องจีนจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอยุธยาอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่า การจิ้มก้องจึงเปรียบเสมือน ‘เครื่องมือทางการทูต’ ที่ยอมให้จีนค้าขายกับสยามขณะนั้น โดยในปี พ.ศ. 1914 มีการส่งราชทูตไปจิ้มก้องที่จีนเป็นครั้งแรกสมัยขุนหลวงพ่องั่ว
เมื่อเข้าสู่สมัยพระเจ้าปราสาททอง ไทยได้เริ่มส่งข้าวเข้าไปขายในจีนเพราะจีนกำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก และในสมัยขุนหลวงท้ายสระ ซึ่งเป็นยุคสมัยในละครพรหมลิขิต ไทยก็ส่งออกข้าวไปยังจีนปริมาณมากขึ้นจนถือเป็นสินค้าสำคัญในระบบจิ้มก้องเลยทีเดียว
📌แล้วไทย ‘ยกเลิก’ การจิ้มก้องตั้งแต่เมื่อไหร่?
สยามยกเลิกการจิ้มก้องจีนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เหตุผลนั้นมีหลายประการแต่มองว่าสยามถูกเอาเปรียบจากจีน ประจวบกับบริบททางการค้าเปลี่ยนไปด้วยยานพาหนะขนส่งสินค้าจากแต่เดิมเป็น ‘เรือสำเภา’ และแทนที่ด้วย ‘เรือกำปั่นและเรือกลไฟ’ จากตะวันตก
ทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนลดลง ประจวบกับสยามมีการทำสนธิสัญญากับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา จึงหันไปให้ความสำคัญกับชาติตะวันตกมากขึ้น
ผู้เขียน : ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Source:
https://ir.swu.ac.th/jspui/bitstream/123456789/24808/3/His-Wutdichai-M-2558.pdf
ความรู้รอบตัว
ประวัติศาสตร์
เรื่องเล่า
1 บันทึก
11
4
1
11
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย