17 พ.ย. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เรื่องภาษีที่ควรรู้ จะได้ไม่โดน เรียกเก็บย้อนหลัง

หนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากในโลกโซเชียลตอนนี้ คงหนีไม่พ้น เรื่องที่มีคนถูกเก็บภาษีย้อนหลัง 2.6 ล้านบาท ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะอ้างว่า ได้จ่ายภาษีปกติทุกปี
เราอาจจะเคยได้เห็นเรื่องทำนองนี้บ่อย ๆ เช่น เป็นพนักงานฟรีแลนซ์ หรือขายของออนไลน์ แล้วไม่ได้ยื่นภาษี หรือยื่นภาษีแล้ว แต่ยื่นผิดประเภท
ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ ก็อาจทำให้เราโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้
เรื่อง “ภาษีย้อนหลัง” นี้ เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรากันมาก ๆ แต่หลายคนอาจจะยังไม่เคลียร์ว่า เราควรทำอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
การเก็บภาษีย้อนหลัง (Retroactive Tax) เป็นการตรวจสอบการยื่นภาษีย้อนหลัง เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางภาษีอากร
โดยมี 3 หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมสรรพากร, กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต
ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนธรรมดาอย่างเราโดยตรงก็คือ กรมสรรพากร ที่ดูแลเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีธุรกิจ
ทั้งนี้ ต้องบอกว่า ที่คนส่วนใหญ่มักโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง จะเกิดจาก 2 สาเหตุสำคัญ นั่นคือ
- ยังไม่จ่ายภาษี ซึ่งอาจเกิดจากความไม่ตั้งใจ หรือจงใจหลบเลี่ยงภาษี
- จ่ายภาษีแล้ว แต่ยังจ่ายไม่ครบ หรือไม่ถูกต้อง
โดยกรมสรรพากรจะมีวิธีการตรวจสอบ พร้อมทั้งดำเนินการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ซึ่งจะมีบทลงโทษลดหลั่นกันไปตามความผิด ซึ่งจะมีบทลงโทษตั้งแต่
1. ยื่นแบบภาษีทันกำหนด แต่เสียภาษีไม่ครบ
- เสียเบี้ยปรับ 0.5-1 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบ จนถึงวันที่จ่ายครบ
2. ไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด
- มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 2,000 บาท
- เสียเบี้ยปรับ 1-2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบ จนถึงวันที่จ่ายครบ
3. เจตนาเลี่ยงภาษี ไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด
- มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 5,000 บาท จำคุกสูงสุด 6 เดือน
- เสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบ จนถึงวันที่จ่ายครบ
4. หนีภาษี
- มีโทษปรับทางอาญาตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี
- เสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบ จนถึงวันที่จ่ายครบ
แล้วเราจะสามารถป้องกัน การโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง อย่างไรได้บ้าง ?
1. ยื่นภาษีทุกปี
โดยให้ยื่นภาษี ภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของทุกปี
และที่สำคัญ สำหรับคนที่คิดว่า ตัวเองมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ จึงไม่จำเป็นต้องยื่นภาษี
ต้องบอกว่าจริง ๆ แล้ว ไม่ว่าเราจะมีรายได้เท่าไรก็ตาม กรมสรรพากรระบุไว้ว่า ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายได้เช่นกัน
เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย เราก็ควรยื่นภาษีทุกปี
2. ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารให้ครบถ้วน ก่อนยื่นภาษี
ไม่ว่าจะเป็น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ 50 ทวิ ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงข้อมูลรายได้ของเราที่ถูกต้องตามกฎหมาย
โดยมนุษย์เงินเดือนสามารถขอเอกสารดังกล่าว ได้ที่บริษัทนายจ้างของเรา
นอกจากนี้ เราควรตรวจสอบสิทธิ์ลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น เงินบริจาค การออมและการลงทุน รวมทั้งเบี้ยประกัน เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิ์ได้ครบถ้วน ซึ่งจะเป็นอีกทางที่ช่วยให้เราประหยัดภาษี
3. ติดตามข้อมูลข่าวสาร กฎระเบียบด้านภาษีอย่างสม่ำเสมอ
ในแต่ละปีมักจะมีกฎหมาย หรือเงื่อนไขใหม่ ๆ ในด้านภาษีออกมาเสมอ ซึ่งบางอย่างถือว่าเป็นประโยชน์ต่อเรา สำหรับการนำไปลดหย่อนภาษี
ดังนั้น ในฐานะผู้ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายได้ทุกปี เราควรติดตามข้อมูลข่าวสาร และกฎระเบียบด้านภาษีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
หรือหากเรายังไม่เข้าใจกฎระเบียบด้านภาษีที่ประกาศออกมา เราก็ควรติดต่อสอบถามไปยังกรมสรรพากรโดยตรง
4. ยื่นแบบภาษีให้ถูกประเภท
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ทางภาษีมีการแบ่งเงินได้ออกเป็นทั้งหมด 8 ประเภท โดยอ้างอิงประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) ถึง (8) ได้แก่
- ม.40 (1) คือ เงินเดือน ผลประโยชน์จากสัญญาจ้างแรงงาน
- ม.40 (2) คือ เงินได้จากการรับจ้าง ค่านายหน้า ค่าบรรยาย ค่าวิทยากร
- ม.40 (3) คือ ค่าลิขสิทธิ์ กู๊ดวิลล์
- ม.40 (4) คือ เงินได้จากการลงทุน กำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์บางประเภท
- ม.40 (5) คือ เงินได้จากการให้เช่า ทั้งการเช่าอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์
- ม.40 (6) คือ วิชาชีพทำงานอิสระ ประกอบวิชาชีพเฉพาะที่กฎหมายกำหนด
- ม.40 (7) คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
- ม.40 (8) เงินได้จากการทำธุรกิจ หรือเงินได้อื่น ๆ นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7)
ซึ่งตามกฎหมายแล้ว เงินได้แต่ละประเภทจะหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากัน จึงเสียภาษีไม่เท่ากัน ดังนั้นเราก็ต้องศึกษาให้ดีว่า เงินที่เราได้มาอยู่ในประเภทไหน
เพราะถ้าเรายื่นแบบภาษีเงินได้ผิดประเภท เราก็อาจจะโดนเรียกเก็บทั้งภาษีย้อนหลัง และค่าปรับ
สุดท้ายแล้ว ต้องบอกว่าเรื่องภาษี ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สำคัญ ที่เราทุกคนควรใส่ใจ
ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกัน ไม่ให้เราต้องถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง นั่นเอง..
โฆษณา