1 ธ.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

เราเรียนประวัติศาสตร์กันไปเพื่ออะไร!?

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ณ กระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการ 4 กระทรวง ประกอบด้วยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ ถึงเรื่องของ “การสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ”
วัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้คุณภาพของคน ไม่ใช่เพียงมีความรู้ความสามารถ มีงานทำ มีรายได้เท่านั้น แต่ต้องมีคุณภาพครบวงจร คือมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีสุขภาพจิตที่ดี มีจริยธรรม มีจิตสำนึกรักชาติ มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันสำคัญของชาติ ด้วยการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนให้มี “วิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย” “วิชาหน้าที่พลเมือง” และ “วิชาศีลธรรม” แยกออกมาเป็นเอกเทศ เป็นวิชาชื่อหลักโดยตรง
อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบนโยบายกระทรวงศึกษาธิการและเป็นประธานประชุม “การสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ” (ภาพ: มติชนสุดสัปดาห์)
จากเหตุการณ์ข้างต้น ทำให้แอดมินต้องกลับมาทบทวนความคิด รวมถึงประสบการณ์ของตนเองในช่วงเวลาที่ผ่านมา “อย่างหนัก” ถึง “กระแสตอบรับ” รวมถึง “จุดประสงค์ที่แท้จริง” ของการเรียนในแต่ละวิชาว่า เรียนกันไปเพื่ออะไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคม ณ ปัจจุบัน “วิชาประวัติศาสตร์” ซึ่งเป็นวิชาที่มีการตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นมากที่สุด จึงทำให้บทบาทของประวัติศาสตร์ค่อนข้างที่จะลดน้อยถอยลง จนถูกมองว่า น่าเบื่อ….
แอดมินจึงถือโอกาสใช้พื้นที่ตรงนี้ในการแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องของการที่เราทั้งนั้น เรียนประวัติศาสตร์กันไปเพื่ออะไร?
ก่อนอื่นใดก็ต้องมาทำความเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “ประวัติศาสตร์” กันก่อนว่าคืออะไร ถ้าจะหาความหมายของประวัติศาสตร์ที่ “แท้จริง” ว่าคืออะไรนั้น ก็คงจะเป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก เพราะต่างคนต่างมีความคิด ความเข้าใจที่แตกต่างกัน สิ่งที่ท่านพอจะทำได้คือ การทำความเข้าใจและสรุปออกมาในความคิดของตนเอง ซึ่งก็ได้มีนักคิด นักประวัติศาสตร์ให้ความหมายไว้หลากหลายแนวทางด้วยกัน
อย่างเฮโรเดตัส ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์โลกได้ให้ความหมายของประวัติศาสตร์ว่า เป็นการค้นคว้า หรือการสอบสวนถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนอย่างเป็นระบบ
รูปปั้นของเฮโรเดตัส ที่อาคารรัฐสภาออสเตรีย (ภาพ: Wikipedia)
หรือจะเป็นทูซีดีดีส ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักประวัติศาสตร์เชิงวิจารณ์คนแรกของโลก แม้เขาจะไม่ได้กล่าวถึงความหมายโดยตรง แต่จากชีวประวัติได้ระบุถึงวิธีการศึกษาว่า เขาได้นำวิทยาศาสตร์มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการค้นคว้าและนำเสนอเรื่องราวของความจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ จึงสามารสันนิษฐานได้ว่า ประวัติศาสตร์ คือ การศึกษาถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปแล้วด้วยวิธีการที่มีระเบียบแบบแผนและแนวคิดที่มีความเป็นเหตุเป็นผล
รูปปั้นของทูซีดีดีส ที่อาคารรัฐสภาออสเตรีย (ภาพ: Wikipedia)
ในทางฟากฝั่งของไทยเอง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ที่ได้รับพระสมัญญาเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย” แม้จะไม่เคยประทานความหมายของประวัติศาสตร์ออกมาตรง ๆ แต่ก็ได้ทรงพระนิพนธ์ถึงหลักการของประวัติศาสตร์ไว้ว่า มีข้อที่ต้องถือเป็นหลัก 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 เกิดเหตุการณ์อย่างไร
ส่วนที่ 2 ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์อย่างนั้น
ส่วนที่ 3 เหตุการณ์ที่เกิดนั้นได้ผลอย่างไร
อันเป็นหลักของประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยตัวอย่าง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ภาพ: ศิลปวัฒนธรรม)
จากพระนิพนธ์ดังกล่าว สามารถสันนิษฐานได้ว่า ประวัติศาสตร์ คือ การศึกษาถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เคยเกิดขึ้น โดยศึกษาถึงสาระของเรื่องราวว่า มีสาเหตุอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดเรื่องราวนั้น ๆ ขึ้น รวมไปถึงผลสุดท้ายของเรื่องราวเป็นเช่นไร แล้วส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง
นอกจากนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ นักกิจกรรม นักคิด และนักประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์คนสำคัญ ได้ให้ความหมายของประวัติศาสตร์ว่า เป็นหัวใจแห่งการศึกษาความเป็นมาของสังคม เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่การปฏิบัติอันถูกต้อง
จิตร ภูมิศักดิ์ (ภาพ: The Momentum)
หรือแม้แต่นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ให้ความหมายของประวัติศาสตร์ไว้ว่า เป็นการศึกษาความเปลี่ยนแปลงในเวลาของสังคมมนุษย์ ซึ่งในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงในเวลานี้เองก็มีความทับซ้อนกันอยู่ คือไม่ได้เพียงเหตุผลเดียว ปัจจัยเดียวที่จะทำให้เกิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา แต่อาจจะมีหลาย ๆ เหตุผลหรือหลาย ๆ ปัจจัยต่างประกอบสร้างขึ้นมาให้เกิดเป็นเรื่องราวนั้น ๆ ขึ้น
ในขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์ก็ถูกมองว่า เป็นการศึกษาที่ต้องขึ้นอยู่กับหลักฐาน บางครั้งติดกับหลักฐานมากเกินไป จึงทำให้เข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะสิ่งนั้นสิ่งนี้อย่างเดียว หากแต่วิธีการศึกษาต่างหาก คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ภาพ: ศิลปวัฒนธรรม)
นี่แค่ส่วนหนึ่งของคำว่า “ประวัติศาสตร์” ซึ่งพอที่จะสรุปได้ว่า เป็นศาสตร์การศึกษาว่าด้วยเรื่องราวความเป็นไปของมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลาที่ต้องมีการอาศัยวิธีการศึกษารูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดเป็นความเข้าใจในเรื่องราวอย่างมีเหตุมีผล
เมื่อเข้าใจถึงความหมายของประวัติศาสตร์แล้ว ทุกท่านก็สามารถเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการศึกษาทางประวัติศาสตร์ได้แล้วว่า มีไปเพื่ออะไร หลัก ๆ เลยคือ เพื่อทำความเข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น หรือก็คือ “สาระ” ในแต่ละช่วงเวลาทางสังคม สอบหาถึงสาเหตุ แล้วผลที่เกิดขึ้นตามมาจากเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้น ซึ่งไม่เฉพาะแต่สังคมที่ร่วมเหตุการณ์ เผลอ ๆ แล้ว อาจจะส่งผลมาสู่สังคมยุคปัจจุบันด้วยก็ได้
ต่อมาก็เพื่อเข้าใจถึงวิธีการศึกษาว่า มีวิธีการอย่างไรบ้างกว่าจะได้มาซึ่งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สักเรื่องหนึ่งที่ได้เผยแพร่สู่สาธารณชน จากประสบการณ์ของแต่ละท่านเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนก็จะมีการสอนเรื่อง “วิธีการทางประวัติศาสตร์” ซึ่งมีอยู่ 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1. กำหนดหัวข้อที่จะศึกษา
2. รวบรวมข้อมูลและหลักฐาน
3. ประเมินคุณค่าทางหลักฐาน
4. วิเคราะห์ สังเคราะห์ แยกแยะและจัดหมวดหมู่ของหลักฐาน
5. นำเสนอเรื่องราวที่ศึกษา
แล้วก็จะออกมาในรูปแบบของ “กำ รวบ เมิน เคราะห์ นำ” ที่เป็นพื้นฐานในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ แต่พอเป็นการศึกษาระดับสูงขึ้นไป วิธีการก็จะมากขึ้น มีรายละเอียดที่ลึกซึ้งมากว่านี้อีก แต่ยังคงคอนเซ็ปต์ 5 ข้อดังกล่าวไว้อยู่ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการต่อยอดองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ และส่วนส่งเสริมให้เกิดเป็นการคิดวิเคราะห์แก่ผู้ที่ได้มีโอกาสศึกษาต่อไป
เพราะเรื่องราว ๆ หนึ่งอาจจะมี “ความจริง” อยู่หลายความจริงซ่อนอยู่ แน่นอนว่ามีหลายคนก็ต้องมีหลายความคิดเป็นธรรมดา ประกอบกับ “คติ” หรือ “อคติ” ส่วนตัวของแต่ละบุคคลเป็นไป
จึงทำให้ชุดความจริงอาจจะมีหลายชุดรวมกัน ซึ่งต่างจากสิ่งที่ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ชอบป่าวประกาศทุกครั้งก่อนเข้ารายการว่า “เพราะความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น” แตรดแตแดแด่แดแต่แดแด่...
จากที่ได้มีการนำเสนอไปดูเหมือนว่า ประวัติศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งที่มีคุณค่าต่อการศึกษาในบ้านเราอย่างไทยแลนด์แดนสำราญอย่างมาก แต่ว่าช้าก่อน! ความจริงแล้วกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เพราะจากช่วงเวลาที่ผ่านมา การศึกษาด้านประวัติศาสตร์เป็นเพียงการสอนให้ผู้เรียน “ท่องจำ” เสมือนว่าเป็นนกแก้วนกขุนทองไปวัน ๆ สำหรับใช้ในการสอบเท่านั้น
ซึ่งโดยความคิดเห็นส่วนตัวของแอดมินแล้ว ก็เห็นด้วยกับที่ทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์ แต่หากมองลึกลงไปถึงวัตถุประสงค์ของการให้ความสำคัญดังกล่าวแล้ว พบว่า เพราะต้องการสร้าง “แบบแผน” ทางสังคมที่เปี่ยมไปด้วยจริยธรรม มีจิตสำนึกรักชาติ มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันสำคัญของชาติ ซึ่งในเรื่องนี้ แอดมิน ย่อม “ไม่เห็นด้วย”
ขณะเดียวกัน ทำให้แอดมินนึกถึงความคิดเห็นของผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งที่ได้โพสต์เชิง “วิงวอน” จากหัวใจเปี่ยมด้วยความหวัง ฝากมายังทางหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ต้องการให้มีการ “ปลูกฝัง 3 วิชา” ที่ช่วยสร้างเยาวชนเพื่อมาเป็นอนาคตคุณภาพของชาติ ได้แก่ “วิชาประวัติศาสตร์รักชาติรักสถาบัน” “วิชาจริยธรรมความเป็นคนดี” และ “วิชาความฉลาดทางการเงิน” ซึ่งเมื่อแอดมินได้ไปศึกษาผ่านโพสต์ดังกล่าวแล้ว พบว่า รายละเอียดในนั้น กับสิ่งที่ทางรัฐบาลจะดำเนินการต่อไป มีความใกล้เคียงกัน เผลอ ๆ แล้ว อาจจะสอดคล้องต้องกันด้วยซ้ำไป
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://www.facebook.com/montaneejo/posts/pfbid02aGZhphFnB4XJpo1s7TGLD5kvT96aQcDimpaD8TywbkTyFJLU4BCYW5RZjWUqYMyul)
ดังจะเห็นได้จากเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสินนั้น ได้มีการเสนอแนวคิดการจัดการศึกษาของโรงเรียนมีชัยพัฒนา ตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการปลูกฝังเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยบูรณาการกับนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ บนพื้นฐานของความพร้อมและความสมัครใจ จากโรงเรียน เด็ก ครู ผู้บริหาร และผู้นำชุมชน
เพราะเล็งเห็นว่า เป็นแนวทางที่ “ดี” และ “สอดคล้อง” กับนโยบายโรงเรียนคุณภาพของทางกระทรวงที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความรู้ กล้าคิดกล้าจินตนาการ ทั้งยังส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ความกตัญญู และสร้างวิชาชีพให้กับเด็กตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน ต่อยอดสู่การลดปัญหาความยากจนในครัวเรือนและชุมชน
โรงเรียนมีชัยพัฒนา ตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ (ภาพ: Dek-D.com)
ซึ่งจุดนี้เองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แอดมินตั้งคำถามกับตัวเองว่า สรุปแล้ว การศึกษาในประเทศนี้ทำเพื่อใคร หรือที่สุดแล้ว ใครคือผู้เรียนที่ “แท้จริง” กันแน่...
ซึ่งความพยายามนี้ได้มีมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาแล้ว ในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ผ่านนโยบายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 8+1 ที่อ้างว่า เป็นการบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจ รักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอดและนำมาปรับประยุกต์ในปัจจุบัน โดยที่ไม่มีการสอนให้ผู้เรียนได้รู้จักถึงการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เห็นถึงมุมมองต่าง ๆ ที่อาจจะมีความน่าสนใจ แต่อย่างใดเลย
นอกจากนั้น เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สอนกันในประเทศไทยส่วนใหญ่ มักมีการถ่ายทอดเนื้อหาที่ยึดโยง เอนเอียงไปทางกลุ่มชนชั้นนำ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเดชานุภาพและความปรีชาสามารถที่นำพาบ้านเมืองให้ผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ มาได้ ประหนึ่งว่าจะเป็นการนำวิชาประวัติศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมืองทางการเมืองอย่างหนึ่งอย่างไรอย่างนั้น โดยไม่ได้มีการวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียอย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่กลับส่งเสริมให้เห็นแต่ข้อดีอย่างเดียว
การวิพากษ์วิจารณ์ หรือการค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อถกเถียงนั้น คือ รูปแบบหนึ่งของการ “ก่อกบฏ” ทางสังคม ทั้ง ๆ ที่ทุกคนต่างก็มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เพราะอย่างไรก็ตาม ทุกคนต่างเป็น “มนุษย์” เสมอกัน ไม่มีใครสูงกว่าใคร ต่อให้มียศถาบรรดาศักดิ์ที่สูงละลิ่วปลิวไสวดังชายธงอย่างไรก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังเดินดิน กิน นอนและหายใจได้ ทุกคนก็คือมนุษย์เหมือนกันหมดอยู่ดี
การทำอย่างนั้น มันก็ไม่ต่างอะไรกับการขัดต่อสิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่เขาชอบสั่งสอน บอกกล่าวกันสืบต่อมาอยู่ประการหนึ่งที่ว่า “เหรียญมีสองด้านเสมอ อย่ามองแค่ด้านเดียว”
กลายเป็นว่าประวัติศาสตร์ คือ “การศึกษาเพื่อเฟ้นหาแต่พระเอก นางเอก ตัวร้าย” ในสังคมไทย ส่งผลให้ผู้เรียนไม่มีความกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้รู้ถึงข้อดีข้อเสียที่ปรากฏ จึงเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมผู้เรียนยุคต่อ ๆ มาถึงไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ แล้วกลับมองเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ ไม่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต พลอยพาให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในประเทศไทย เช่น พิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ ได้รับความสนใจเพียงแค่กลุ่มคน “บางกลุ่ม” เท่านั้น
ซึ่งในข้อนี้ก็เหมือนกับ “ผีซ้ำด้ำพลอย” เพราะทางด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน กล่าวออกมาจากปากเองเลยว่า “...หากไม่ศึกษาเรียนรู้ (ประวัติศาสตร์) นั่นคือการไม่รักชาติ ไม่รักวัฒนธรรม ไม่รักความเป็นคนไทย”
เป็นสิ่งที่น่าสลดใจยิ่งนัก เพราะประวัติศาสตร์ คือ สิ่งที่ทำให้ทุกคนได้รู้จักที่มาของตนเอง ยังเป็นความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นประชาชนของประเทศ และเป็นบทเรียนสำคัญที่จะนำมาใช้กับปัจจุบัน เพื่อหาหนทางในอนาคตข้างหน้าต่อไปด้วย ดังที่ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ ได้กล่าวไว้ว่า
…การเรียนประวัติศาสตร์ในทัศนะของผม จึงไม่ใช่การเรียนเพื่อท่องจำ หากแต่เป็นการเรียนเพื่อให้รู้จักที่มาของตัวตนเราเอง ตำแหน่งที่ยืนอยู่ในปัจจุบัน และทิศทางที่จะเดินต่อไปในอนาคต…
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ (ภาพ: ประชาชาติธุรกิจ)
จึงต้องย้อนถามกลับไปทางรัฐบาลว่า คำว่า “ชาติ” ของพวกท่านนั้น หมายถึงอะไร
เพราะถ้าเป็นความหมายไปในทางแนวคิด “ชาตินิยม” แบบไร้เหตุผล เช่นที่รัฐบาลกำลังดำเนินอยู่นั้น ถือเป็นสิ่งที่ “อันตราย” อย่างมาก เพราะมันจะเป็นการทำให้สังคมมีความ “ล่าหลัง” ถอยลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ประกอบกับจะเป็นการสร้างความแตกแยกทางความคิด ให้เกิดความร้าวฉานมากกว่าที่เป็นอยู่มากขึ้นไปอีก
จึงไม่สมควรอย่างยิ่ง หากทางภาครัฐจะมาให้ความสำคัญกับความเป็น “ประวัติศาสตร์” หรือ “วิชาประวัติศาสตร์” เพียงเพื่อต้องการ “สร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ” ซึ่งมันช่างไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลยจริง ๆ ณ จุด ๆ นี้
ประวัติศาสตร์ มีไว้เพื่อ “รู้” แต่ไม่มีไว้เพื่อ “รัก” (ใคร)
แล้วทุกท่านคิดว่า เราเรียนประวัติศาสตร์ไปเพื่ออะไรกันแน่?...
อ้างอิง:
  • ‘ตรีนุช’ จ่อออกประกาศ ศธ.แยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์คิดหน่วยกิตเฉพาะ โดย มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/education/news_3689630)
  • “ชาดา” ยันเด็กจำเป็นต้องเรียนประวัติศาสตร์ ถ้าไม่เรียนรู้เท่ากับไม่รักชาติ โดย 3Plus News (https://ch3plus.com/news/political/morning/374965)
  • ถกกระทรวงศึกษาธิการดันรูปแบบโรงเรียนมีชัยพัฒนา โดย ไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/news/local/2740728)
  • ธงทอง จันทรางศุ | เรียนประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพื่อ ‘รัก’ แต่ ‘รู้-เข้าใจ’ ชาติ โดย มติชนสุดสัปดาห์ (https://www.matichonweekly.com/column/article_458358)
  • บันทึกห้องเรียนประวัติศาสตร์ 101: ประวัติศาสตร์คืออะไร โดย ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (https://www.tcijthai.com/news/2021/7/article/11799)
  • รอง นรม. อนุทิน ชาญวีรกูล มอบนโยบายกระทรวงศึกษาธิการและเป็นประธานประชุม "การสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทยและยึดมั่นสถาบัน โดย รัฐบาลไทย (https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/74930?fbclid=IwAR3pYX2pQ3ykj3l-iR4J5_OIsxM3qHV0VLAjxIPYGD6ACxAUIinhz0nGZl8)
  • หนังสือวิชา ประวัติศาสตร์นิพนธ์ (Historiography) โดย รศ.มาตยา อิงคนารถ, อ.วนิดา ตรงยางกูร ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#ประวัติศาสตร์
โฆษณา