Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เศรษฐศาสตร์และการพัฒนาประเทศ
•
ติดตาม
20 พ.ย. 2023 เวลา 08:38 • การเมือง
ข้อวิพากษ์ต่อข้อเสนอของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เรื่องการใช้เงิน 5 แสนล้านบาท แทน ดิจิทัลวอลเล็ท
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2566 คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เสนอทางเลือกการใช้เงิน 500,000 ล้านบาท สรุปได้ดังนี้ (ที่มา ไทยโพสต์)
1. ด้านสาธารณสุข คุณธนาธรเสนอสร้างระบบแพทย์ทางไกลทั่วประเทศ ซึ่งหากจะทำโครงการนี้ให้เกิดขึ้นจริง ต้องใช้งบประมาณ 66,000 ล้านบาท เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ Telemedicine 4,900 ล้านบาท ทุกหมู่บ้าน โดยซื้ออุปกรณ์จาก start up ไทยเพื่อทำให้เกิดเทคโนโลยีในประเทศมากขึ้น และเป็นการสร้างอาชีพให้กับกลุ่ม อสม. เป็นผู้ให้บริการ หากดำเนินการสำเร็จ จะช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล และจะได้การจ้างงานเพิ่ม 70,000 ตำแหน่ง มีข้อมูลสาธารณสุขขนาดใหญ่
2. ด้านการคมนาคม คุณธนาธรเสนอทำระบบขนส่งสาธารณะและชักจูงให้ประชาชนหันมาใช้ โดยงบประมาณในการลงทุนระบบขนส่งสาธารณะ แบ่งเป็น 1.งบลงทุนรถเมล์ไฟฟ้า EV 62,300 ล้านบาท 2.งบลงทุนจุดจอดรถและป้ายรถเมล์ 4,450 ล้านบาท 3.งบดำเนินการสนับสนุนค่าโดยสารและบำรุงรักษา 21,000 ล้านบาท รวมเป็น 88,000 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมรถเมล์ไฟฟ้ามีห่วงโซ่อุปทานที่ยาวมาก หากเราสามารถทำได้จะทำให้เกิดการสร้างงานได้เป็นจำนวนมาก
3. โครงการน้ำประปาดื่มได้ ใช้งบประมาณ 66,755 ล้านบาท โดยพัฒนาแหล่งน้ำ 1,050 แห่ง ใช้งบแห่งละ 15.6 ล้านบาท คิดเป็น 16,380 ล้านบาท ใช้เป็นงบประมาณในการจัดการระบบผลิตน้ำ 3,250 แห่ง แห่งละ 15 ล้านบาท คิดเป็น 48,750 ล้านบาท หรือใช้ปรับปรุงระบบผลิตน้ำ
4. ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดการขยะอย่างถูกสุขลักษณะทั่วประเทศ จำนวน 120,000 ล้านบาท โดยเชิญชวนต่างประเทศที่มีความรู้ในเรื่องนี้เข้ามาร่วมลงทุน ทั้งการสร้าง บริหาร และจัดการ
5. ด้านการศึกษา มีข้อเสนอเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้ยกระดับการศึกษาดังนี้ ระดับอาชีวะ จำนวน 430 แห่ง ใช้แห่งละ 20 ล้านบาท คิดเป็น 8,600 ล้านบาท ระดับโรงเรียนพื้นฐาน จำนวน 33,281 โรง โรงละ 3 ล้านบาท คิดเป็น 99,843 ล้านบาท และโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 15,874 โรง โรงละ 0.5 ล้านบาท คิดเป็น 7,937 ล้านบาท และเงินสำหรับสนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา 4,500 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 120,880 ล้านบาท
เมื่อรวมทั้ง 5 โครงการ จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 456,000 ล้านบาท โดยคุณธนาธรให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า การนำเสนอในวันนี้ต้องการให้สังคมแลกเปลี่ยนถกเถียงกันว่าภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด จะเอาไปใช้ทำอะไร จึงเสนอทางเลือกเป็นอาหารสมองให้กับสังคม หวังว่าสิ่งที่พูดจะนำไปแลกเปลี่ยนถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง และนี่จะเป็นผลดีต่อประชาธิปไตย
โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยว่า ถ้านำ 5 แสนล้านไปใช้ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเปลี่ยนลาให้เป็นม้า หรือ renovate ม้าเก่าให้เป็นม้าใหม่ โดยสามารถหาโครงการที่ทำให้เกิดการพัฒนาแทนการบริโภคได้ด้วยระยะเวลาอันสั้น (ย้ำว่า ระยะสั้น เพราะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ทเป็นการกระตุ้นระยะสั้น จึงต้องเปรียบเทียบระยะสั้นกับระยะสั้นด้วยกัน) จะได้ประโยชน์กว่าการยื่นให้ประชาชนบริโภคคนละ 10,000 แต่ผมไม่เห็นด้วยในสิ่งที่คุณธนาธรเสนอ และเห็นว่าเป็นการเสนอแบบจับแพะชนแกะ โดยมีเหตุผลสำคัญคือ
1
1. นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต มีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านมือประชาชน ในขณะที่มาตรการที่คุณธนาธรนำเสนอเป็นโครงการระยะยาว (ซึ่งคุณธนาธรบอกเองว่าต้องใช้เวลาประมาณ 8 ปี) แต่รัฐบาลเองก็ดูเหมือนจะเมาหมัด เพราะในความเป็นจริงจะพูดถึงนโยบายนี้เดี่ยว ๆ ไม่ได้ เนื่องจากต้องทำเป็น package พร้อมๆ ไปกับนโยบายระยะกลางและยาวอื่นๆ ที่รัฐบาลประกาศว่าจะทำและได้เริ่มลงมือทำเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เช่น
เพิ่ม FDI การลงทุนจากต่างประเทศ (โดย sale man เศรษฐา) การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเช่นโครงการแลนด์บริดจ์ และการเพิ่มศักยภาพรากหญ้าโดยนโยบาย soft power เป็นต้น (ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า นโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ของรัฐบาล ดีที่สุดแล้ว)
2. นโยบายดิจิทัลวอลเล็ท ตั้งเป้าเพิ่มการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ (แต่จะได้กี่รอบ สำเร็จมากน้อยแค่ไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่สิ่งที่คุณธนาธรเสนอเป็นไปเพื่อการเพิ่มสวัสดิการ (คุณภาพชีวิต) ของประชาชน ซึ่งนอกจากเงินลงทุนในปีแรกแล้ว ต้องมีการเพิ่มงบประจำเพื่อสวัสดิการดังกล่าวในระยะยาว ซึ่งคุณธนาธรเอาไปไว้รวมกันและพูดถึงเฉพาะปีแรกสำหรับงบประจำที่เพิ่มขึ้น ทั้งที่ควรต้องแยกออกมาให้เห็นชัด และต้องแสดงให้เห็นถึงงบประจำระยะยาวที่เพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่เงินดิจิทัลวอลเล็ท จ่ายเพียงครั้งเดียว
3. ไม่เห็นว่าแนวทางที่คุณธนาธรเสนอจะส่งผลให้เกิดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด ทำนองเดียวกันกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ท ซึ่งไม่ใช่นโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแต่เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
จริงอยู่ที่หลายนโยบายด้านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งเป็นนโยบายระยะกลางและยาว ต้องได้รับการ debate อย่างเข้มข้นเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่นำไปสู่การตัดสินใจว่าควรทำหรือไม่ คุ้มหรือไม่ เช่น แลนด์บริดจ์ หรือจะทำอย่างไร เช่น soft power หรือต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร เช่น FDI แต่ก็เป็นนโยบายที่กล่าวได้ว่า หากได้ข้อสรุปที่ดีและดำเนินการอย่างรอบคอบแล้ว น่าจะเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศได้
แต่เมื่อหันมามองโครงการที่คุณธนาธรเสนอเป็นทางเลือก นอกจากจะเป็นโครงการระยะยาวไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และไม่ใช่โครงการเพื่อการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจแล้ว ผมยังมีคำถามหลายคำถามเพิ่มเติมจากประเด็นที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นคือ
1. โครงการด้านสาธารณสุข ต้องใช้งบประจำเพิ่มขึ้นเท่าไร สำหรับ
1.1. เงินค่าจ้าง อสม. ที่เพิ่มขึ้น เพราะการให้ อสม. มาทำหน้าที่ตรวจวัดค่าทางการแพทย์ต่างๆ และส่งเข้าระบบ อสม. ต้องทำงานเต็มเวลา ซึ่งหมายความว่าจะต้องรับเงินเดือนประจำ สมมุติว่าต้องให้เป็นเงินเดือนละ 12,000 บาท (ประมาณค่าจ้างรายวันขั้นต่ำ ทำงานเดือนละ 26 วัน บวกกับค่าน้ำมันสำหรับการเดินทาง) ก็เท่ากับว่าต้องเพิ่มเงินให้ อสม. อีกคนละ 10,000 บาท จากเดิม 2,000 บาท มี 70,000 คน ก็ต้องตั้งงบประมาณเพิ่มเติมเดือนละ 700,000,000 บาท หรือปีละ 8,400 ล้านบาท ทุกปีต่อจากนี้ไป
1.2. งบซ่อมบำรุงระบบและอุปกรณ์ ปีละเท่าไร
1.3. งบดำเนินงานระบบ ซึ่งต้องจ้างเจ้าหน้าที่ดูแลระบบเพิ่มเติม ปีละเท่าไร
คุณธนาธรอาจจะแย้งว่า นโยบายนี้ทำให้เกิดการพัฒนาผู้ผลิตเทคโนโยโลยีด้าน telemedicine ถือว่าเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อันนี้ผมขอแย้งกลับว่า แม้จะดี แต่การส่งเสริมเพียงสาขาย่อยสาขาเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศได้ นอกจากนี้ ผมไม่แน่ใจว่า ต้นทุนการผลิตจะสู้กับคู่แข่งจากต่างประเทศได้ แต่เห็นด้วยว่าถ้าทำได้ก็ดีครับ
2. งบด้านคมนาคม เดิมที่ฟังข้อเสนอนี้ ผมมีคำถามเกิดขึ้นมาทันทีว่า ถ้าดีจริง ทำไมเอกชนไม่ทำ แต่พอคุณธนาธรบอกว่า จะต้องตั้งงบประจำเพิ่มขึ้นปีละ 21,000 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนค่าโดยสารและค่าบำรุงรักษา ผมจึงเข้าใจ แต่อันนี้ผมยังงงนิดนึงว่า ทำไมต้องสนับสนุนค่าบำรุงรักษาด้วย เพราะโดยปกติ ค่าโดยสารจะต้องครอบคลุมค่าบำรุงรักษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนทั้งหมดไปแล้ว
ทำนองเดียวกัน คุณธนาธรอาจจะแย้งว่า นโยบายนี้ทำให้เกิดการพัฒนาผู้ผลิตเทคโนโยโลยีด้าน EV ภายในประเทศ อันนี้ผมเห็นว่า การส่งเสริมการผลิตรถ EV เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีผลแตกต่าง เว้นแต่ว่า คุณธนาธรจะบอกว่า ต้องกำหนดให้ซื้อแต่รถแบรนด์ไทย
แต่อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะสร้างปัญหาทางการค้าระหว่างประเทศหรือป่าว และหากให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานตามที่คุณธนาธรเสนอเป็นทางเลือกทิ้งท้ายไว้ ก็ไม่แน่ใจว่าเอกชนจะเลือกรถแบรนด์ไทยหรือไม่ และอีกอย่าง ประเทศที่เคยส่งเสริมการทำแบรนด์เองอย่างมาเลเซีย หรือแม้แต่เวียดนามในปัจจุบัน ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่อันนี้คุณธนาธรอาจจะมีแนวทางที่ดีกว่าที่ผมเข้าใจ เนื่องจากคุณธนาธรเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้เอง
3. โครงการน้ำประปาดื่มได้ ผมมีข้อสงสัยว่า ถ้าโครงการทำแล้วดีจริง ทำไม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อื่นที่ไม่ใช่ 4 แห่งที่คุณธนาธรและคณะก้าวหน้าไปสนับสนุน ไม่เอาไปทำตามเอง แต่ต้องรองบประมาณของรัฐไปทำให้
เท่าที่ลองคิดดู คำตอบน่าจะอยู่ที่โครงการนี้สร้างรายได้ไม่พอรายจ่าย เพราะถ้าพอ ก็จะต้องมีกำไรเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า จ่ายค่าน้ำประปากินได้แล้วไม่ต้องไปซื้อน้ำดื่มกิน อปท. ก็สามารถกำหนดค่าน้ำที่ประชาชนดูแล้วคุ้มและยินดีจ่าย และเป็นค่าน้ำที่ทำให้ อปท. ได้กำไรมา finance การลงทุนได้โดยไม่ต้องรองบประมาณของรัฐ และเงินส่วนที่เหลือยังเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติมให้กับ อปท. ไปทำอย่างอื่นเพิ่มเติมได้อีก
1
แต่หากไม่มี อปท. อื่นนอกเหนือจาก 4 แห่ง ยินดีทำแบบนี้ แสดงว่า โครงการนี้ไม่คุ้มที่จะทำ ซึ่งหมายถึงว่า แม้รัฐจะออกเงินลงทุนให้ แต่ก็จะไปขาดทุนตอนดำเนินงาน จึงไม่มี อปท. ไหนต้องการทำ แต่หากรัฐจะให้ทำ รัฐจะต้องตั้งงบประมาณอุดหนุนเพิ่มเติมให้ทุกปี คุณธนาธรและพรรคก้าวไกลก็ต้องคำนวนออกมาให้เห็นว่า ปีละเท่าไร
อันนี้ก็เช่นกัน คุณธนาธรอาจจะกล่าวเช่นเดียวกันว่า นโยบายนี้ทำให้เกิดการพัฒนาผู้ผลิตเทคโนโยโลยีด้าน smart meter ถือว่าเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อันนี้ผมขอแย้งกลับว่า แม้จะดี แต่การส่งเสริมเฉพาะทางไปเพียงสาขาย่อยอีกสาขาเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศได้ นอกจากนี้ หากนโยบายนี้สำเร็จ และทำให้คนหันมาดื่มน้ำประปามากขึ้น ก็จะทำให้การจ้างงานของผู้ผลิตน้ำดื่มลดลง เพราะขายน้ำดื่มได้น้อยลง การจ้างงานโดยรวมจึงอาจไม่เพิ่มขึ้นตามที่คุณธนาธรคิดไว้
4. ด้านขยะ ส่วนตัวผมมองว่า ไม่ต้องใช้เงินลงทุนจากรัฐซักบาทเดียวครับ ถ้าเคลียร์เรื่องผลประโยชน์ได้ ถ้าเคลียร์ไม่ได้ ใส่เงินเข้าไปเท่าไรก็ไม่สำเร็จครับ ทิ้งเงินไปเปล่าๆ
นอกจากนี้ ปัจจัยของความสำเร็จอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากคือ ภาวะผู้นำของนายก อปท. ซึ่งเคสที่คุณธนาธรยกเป็นตัวอย่าง ผู้นำเป็นคนเก่ง แต่ใน 8,000 อปท. ของประเทศจะมีคนเก่งแบบนั้นซักกี่คน เมื่อบวกกับปัจจัยด้านผลประโยชน์และเรื่องอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ถูกแก้ โครงการนี้จึงยังมีความเป็นไปได้ยากในปัจจุบัน และแม้จะเริ่มเลยในวันนี้ ก็น่าจะใช้เวลามากกว่า 8 ปีแน่นอน เพราะต้องแก้ปัญหาต่างๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิค
5. ด้านการศึกษา คุณธนาธรบอกว่าอยากให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสได้เรียนโรงเรียนดีๆ เหมือนที่ลูกคุณธนาธรได้รับ แต่เงินที่คุณธนาธรบอกว่ารัฐควรใส่เข้าไปยังน้อยกว่าที่คุณธนาธรเสียค่าเทอมลูกมากเลยครับ และที่สำคัญ คุณธนาธรพูดถึงเฉพาะงบลงทุน ไม่ได้พูดถึงงบดำเนินงาน ตัวอย่างโรงเรียนขนาดเล็ก ได้ 500,000 บาทต่อโรง อันนี้เข้าใจว่าเป็นงบลงทุน ซึ่งผมมั่นใจว่ายังน้อยกว่าเงินลงทุนของโรงเรียนลูกคุณธนาธรอยู่มาก
และหากมองเพิ่มเข้าไปที่งบดำเนินงาน ผมไม่แน่ใจว่าคุณธนาธรจ่ายเงินให้ลูกเทอมละเท่าไร แต่สมมุติว่าจ่ายให้เทอมละ 500,000 บาทต่อคน (เดาจากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของคุณธนาธร) นั่นก็หมายความว่า หากจะทำให้เด็กทุกคนได้รับคุณภาพการศึกษาใกล้เคียงกับลูกคุณธนาธร รัฐก็ต้องจ่ายให้ใกล้เคียงกัน อันนี้คุณธนาธรไม่ได้พูดถึง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เป็นไปไม่ได้ และเงิน 500,000 บาทที่ใส่เข้าไปก็กลายเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สูญเปล่า
ครับ ที่แสดงความเห็นมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพื่อการต่อต้านคุณธนาธร คณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล เพียงแต่เป็นการแสดงความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนถกเถียงให้สังคมได้เห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น และนำไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะของพรรคการเมืองที่แข่งขันกันนำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น
การเมือง
ความคิดเห็น
บันทึก
1
4
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย