21 พ.ย. 2023 เวลา 07:36 • กีฬา

จากทฤษฎีและประสบการณ์จริง : เหตุใด "จตุรมิตรสามัคคี" ถึงเดือดทั้งในและนอกสนาม ? | Main Stand

ทุกเดือนพฤศจิกายนแบบปีเว้นปี แฟนฟุตบอลไทยสายลึกที่ติดตามถึงระดับเยาวชนต่างรู้กันดีว่า ถึงเวลาของฟุตบอลขาสั้น หรือระดับมัธยมศึกษารายการใหญ่ "จตุรมิตรสามัคคี"
แม้มีโรงเรียนเข้าร่วมเพียง 4 สถาบัน แต่แฟนบอลรู้ดีว่า "จตุรมิตรนั้น เป็นมิตรแค่ชื่อ" เพราะเจอกันทีไรใส่ยับทุกเกม ไม่เพียงเท่านั้น ความเดือดยังลามถึงนอกสนามอีกด้วย เพราะกิจกรรมเชียร์และแปรอักษร อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของงานนี้ ทั้ง 4 สถาบันก็ดุเดือดไม่แพ้กัน
ทำไมฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีถึงเดือดทั้งในและนอกสนาม ? Main Stand ขอนำเสนอจากทฤษฎีและประสบการณ์จริง
เดิมพันด้วยศักดิ์ศรี
การแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี มีการชิงชัยมาแล้ว 29 ครั้ง ตลอดช่วงเวลานานกว่า 59 ปี โดยการแข่งขันครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2507 จากแนวคิดของอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กับกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยได้ขอความร่วมมืออาจารย์ใหญ่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และอัสสัมชัญ มาร่วมกันจัดแข่งฟุตบอลกระชับความสามัคคีระหว่างสี่โรงเรียน
แม้เป้าหมายคือความสามัคคีและสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสี่สถาบัน แต่เมื่อพิจารณาว่าสวนกุหลาบวิทยาลัยกับเทพศิรินทร์เป็นสองโรงเรียนรัฐบาลที่มีประวัติศาสตร์และชื่อเสียงโด่งดังของไทย เช่นเดียวกับกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยและอัสสัมชัญที่เป็นสองโรงเรียนเอกชนที่มีประวัติศาสตร์และชื่อเสียงยาวนาน นี่จึงเป็นหนึ่งในทัวร์นาเมนต์ที่มีเดิมพันด้วยศักดิ์ศรีของทั้งนักเรียน อาจารย์ และศิษย์เก่าแต่ละสถาบัน
การขับเคี่ยวกันระหว่างทีมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานสามารถพบได้โดยทั่วไปในวงการฟุตบอลอาชีพ อาทิ ลิเวอร์พูล กับ เอฟเวอร์ตัน, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ โรม่า กับ ลาซิโอ ทีมเหล่านี้แชร์บางสิ่งที่เหมือนกัน แต่ก็ยังมีรายละเอียดความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงซ่อนอยู่ข้างใน ทำให้แต่ละฝ่ายต่างแพ้ไม่ได้เมื่อโคจรมาเจอกัน
สำหรับฟุตบอลจตุรมิตร ภาพของศิษย์เก่ารุ่นต่าง ๆ กับนักเรียนปัจจุบันที่ร่วมกันเชียร์บนอัฒจันทร์ ร้องเพลงเชียร์เพลงเดียวกัน สวมใส่เสื้อฟุตบอลของโรงเรียนนั้น ๆ ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงการแชร์อัตลักษณ์เดียวกันของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง คล้ายกับบรรยากาศการเชียร์ของแฟนฟุตบอลสโมสรต่าง ๆ ที่ร่วมกันสวมใส่เสื้อทีมรักและตะโกนแซ่ซ้องบทเพลงตลอดทั้งการแข่งขัน
เรื่องดังกล่าว แม้แต่ โค้ชโจ - ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น เฮดโค้ชของ นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี อดีตนักเตะโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ยังยอมรับว่า จตุรมิตรนั้นมีความพิเศษกว่าฟุตบอลมัธยมรายการอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด
"ผมย้ายมาเรียนที่กรุงเทพคริสเตียนตอนมัธยมปลายด้วยโควตานักฟุตบอลและมีโอกาสได้ลงเล่นจตุรมิตรครั้งแรกตอน ม.5 ซึ่งผมรู้สึกได้เลยว่าที่ผมเคยผ่านบอลกรมพลศึกษามา ผ่านบอลกองทัพอากาศมา ผ่านบอล กทม. หรือบอลรายการหลัก ๆ ของประเทศในเวลานั้นมาก่อน เมื่อเทียบกับจตุรมิตรแล้ว โอ้โห มันคนละเรื่องเลย"
"แม้จะมีแค่ 4 โรงเรียน แต่ว่าความสำคัญ ความขลัง หรือความตื่นตัวของคนในโรงเรียน ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน มันตื่นตัวมาก เราจึงได้รับรู้ถึงความสำคัญของฟุตบอลจตุรมิตรตั้งแต่นั้นมา ทุกคนจึงอยากได้แชมป์ มันเป็นเกียรติประวัติและเป็นที่สุดของฟุตบอลนักเรียนของกรุงเทพคริสเตียนแล้ว"
"แต่ถึงในสนามเราจะเล่นกันเอาเป็นเอาตายจริง ๆ ด้วยความเป็นนักฟุตบอล มันก็ไม่ได้เกลียดหรืออะไรกันนะ บอลจบก็คือจบ"
บนสแตนด์ดุเดือดไม่แพ้กัน
ไฮไลต์สำคัญอีกอย่างของศึกจตุรมิตรที่ถูกพูดถึงไม่น้อยกว่าการแข่งขันในสนามก็คือการเชียร์และแปรอักษรของทั้ง 4 สถาบัน ที่เรียกได้ว่าไม่มีใครยอมใคร
ภาพที่ปรากฏบนอัฒจันทร์ทุกภาพ ทุกข้อความให้กำลังใจ หรือแม้แต่เพลงเชียร์ทุกเพลง ต่างถูกวางแผนมาแล้วเป็นอย่างดี ซึ่งไม่เพียงแค่โชว์ความสวยงามเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการบลัฟและตอบโต้จิกกัดกันระหว่างโรงเรียน โดยมีเด็ก ๆ ที่แปรอักษรบนสแตนด์เป็นตัวแทนในการสื่อสารคำพูดออกไป
"จตุรมิตรมันเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดของทั้ง 4 โรงเรียน มันไม่ได้แข่งกันแค่ฟุตบอลแต่แข่งกันทุกส่วน ยิ่งบนสแตนด์นี่มีการแข่งขันกันตลอดเวลา บลัฟกันตลอดเวลา" ลี้ - จิระวัชร์ แซ่ลี้ อดีตประธานชุมนุมเชียร์และแปรอักษรโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ผู้นำสแตนด์เชียร์ชมพู-ฟ้า ในจตุรมิตรครั้งที่ 23 เกริ่นนำ
"เราต้องขึ้นสแตนด์ให้ครบเป็นโรงเรียนแรกนะ ต้องแปรอักษรให้เด็ดกว่าโรงเรียนอื่น เราก็จะแอบเหล่โรงเรียนอื่นว่ามีอะไรพิเศษหรือเปล่า โรงเรียนอื่นก็เหล่เรา เหล่กันไปเหล่กันมา"
"อย่างโค้ด 1:1 ที่ต้องแปรอักษรเรียลไทม์เป็นคำให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นวินาทีนั้น เราก็ต้องคิดคำเตรียมไว้หมด ถ้าโดนทำฟาวล์จะเล่นคำไหน ถ้ายิงเข้า ถ้าเสียประตู กรรมการลำเอียงจะเล่นคำไหน หรือตอนที่โรงเรียนอื่นแปรอักษรล้อเลียนเรา เราก็ต้องตอบโต้กลับให้ทันอย่างรวดเร็ว"
"เรื่องแพ้ชนะมันใช้ความรู้สึกเป็นตัววัดเลย เช่น เวลาตอบโต้กันด้วยคำ เราเร็วกว่า กวนตีนกว่า มันได้ใจกว่า หรือตอนแปรอักษร ภาพเราสวยกว่า ภาพเราเหมือนกว่าอะไรแบบนี้"
มากการการแข่งขัน
แม้ฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี จะเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดทั้งในและนอกสนาม แต่ขณะเดียวกันกลับมีสิ่งที่เรียกว่า "มิตรภาพ" ซ่อนอยู่
เพราะแม้ทั้ง 4 สถาบันจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีจุดเชื่อมโยงคล้ายกัน เช่น เป็นโรงเรียนชายล้วน ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากคู่อริในฟุตบอลอาชีพ อย่างกรณีของ ลิเวอร์พูล และ เอฟเวอร์ตัน สนามของทั้งสองอยู่ห่างกันเพียงแค่หนึ่งสวนสาธารณะคั่น และหลายครอบครัวก็มีสมาชิกที่สนับสนุนทั้งสองทีมนี้อยู่ในบ้านเดียวกัน
ไม่เพียงเท่านั้น นักเรียนจาก 4 โรงเรียนนี้ยังต้องผ่าน "ประสบการณ์ร่วมกัน" ในบทบาทใดบทบาทหนึ่ง บางคนอาจเป็นนักฟุตบอล บางคนอาจอยู่ชุมนุมเชียร์และแปรอักษร และคนที่เหลือต่างต้องเคยขึ้นสแตนด์แปรอักษร ร้องเพลงเชียร์ อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในฟุตบอลจตุรมิตร
ไม่เพียงเท่านั้น ในฐานะ "คนทำงาน" ไม่ว่าจะนักฟุตบอลหรือชุมนุมเชียร์ จตุรมิตรสามัคคี ยังทำให้พวกเขาต้องทำงานร่วมกัน นักเตะมีการเก็บตัวร่วมกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน ส่วนชุมนุมเชียร์ก็ต้องมีการประชุมร่วมเพื่อรันคิวกำหนดการต่าง ๆ รวมถึงการวางแผนแปรอักษรที่เป็นโค้ดร่วมกันของทั้ง 4 สถาบัน
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดอัตลักษณ์ความเป็นพวกเดียวกัน โดยมีฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีเป็นหมุดหมายหนึ่งในชีวิตร่วมกัน และก่อให้เกิดสายสัมพันธ์ขึ้นมาแบบไม่รู้ตัว
สุดท้ายคือเพื่อนกัน
แม้ผลงานในสนามจะเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมกันได้ จากทั้งความภูมิใจต่อสถาบัน หรือศักดิ์ศรีที่ว่า "แพ้ใครแพ้ได้ ไม่แพ้…" แต่สิ่งหนึ่งที่มักเกิดขึ้นหลังจากผ่านพ้นวัยเรียนไป นั่นคือเหล่าศิษย์เก่าจากโรงเรียนที่ลงฟาดแข้งรายการจตุรมิตร จะมีความสนิทสนมและเปิดรับระหว่างพวกเดียวกันเองมากเป็นพิเศษ
"นักบอลในจตุรมิตรหลังเรียนจบก็ยังสนิทกันมาตลอด อย่างผมจะสนิทกับ สันติ ไชยเผือก อัสสัมชัญ, เค ลังกาวงศ์ เทพศิรินทร์ และ บำรุง บุญพรหม สวนกุหลาบ เจอกันตลอดในบอลอาชีพในบอลทีมชาติ บางคนย้ายมาเล่นที่สโมสรกสิกรไทยกับผมก็มี ในวงการฟุตบอลก็เรียกว่าเป็นเพื่อนรักได้เลย" โค้ชโจ เปิดใจถึงมิตรภาพจากเพื่อนในเครือจตุรมิตร
ขณะที่ ลี้ เผยว่า "พอเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนที่คุยรู้เรื่องที่สุดกลับเป็นไอ้ 4 โรงเรียนนี้แหละ มันเหมือนสไตล์เดียวกัน ชายล้วนเหมือนกัน มันมีจุดเชื่อมทำให้คลิกกันได้เร็วขึ้น เราไปคุยกับโรงเรียนอื่นบางทีจริตมันไม่ตรงกัน พอถึงเวลาที่มีอะไรที่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องโรงเรียนก็จะเชียร์อัพกันเป็นพิเศษ จะแซวกันนู่นนี่นั่น คนอื่นบางทีก็งง คุยอะไรกันวะ เป็นอะไรกันมากป่าวพวกนี้ ทุกวันนี้ก็ยังคุยกันอยู่ ยิ่งเพื่อนจากเทพศิรินทร์กับอัสสัมชัญนี่ยิ่งสนิท"
โค้ชโจ ทิ้งท้ายว่า "สำหรับผม คนที่ผ่านจตุรมิตรมามันเหมือนมีคอนเน็กชั่นจตุรมิตรอยู่ พอเราพูดถึง 4 โรงเรียนมันแยกกันไม่ออก มันเป็นความรักที่เป็นกลุ่มเป็นก้อนจริง ๆ มันเหมือนเราคุยภาษาเดียวกัน สมมติว่าเราไม่เคยรู้จักสนิทสนมกัน แต่พอรู้ว่ามาจาก 4 โรงเรียนนี้ สิ่งแรกที่เราจะคุยกันคือเรื่องบอลจตุรมิตร มันมีเรื่องที่ผูกพันและรักเหมือนกัน พอคุยกันแต่ละคนจะเห็นภาพขึ้นทันทีเลยว่าเล่าถึงเรื่องอะไร แต่เราไปบอกแบบนั้นกับโรงเรียนอื่นเขาก็อาจไม่เข้าใจ"
หากกล่าวโดยสรุป การแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายก่อนกลายเป็นเพื่อนซี้เป็นผลลัพธ์จากวัฒนธรรมร่วมของจตุรมิตร ทั้งที่มาและกิจกรรมที่นักเรียนต้องเคยพบเจอนั่นเอง สมกับเนื้อเพลงช่วงแรกของเพลง จตุรมิตรสามัคคี จากการประพันธ์ของ สำเร็จ โชติมงคล ศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์อย่างแท้จริง
"จตุรมิตรสามัคคีดีเด่น
จตุรมิตรนั้นเป็นสายใย
ยึดดวงใจให้
เราสี่พี่น้องต่างปองรักกัน"
โฆษณา