Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เหลาจนคม
•
ติดตาม
21 พ.ย. 2023 เวลา 17:00 • ประวัติศาสตร์
วัดพุทไธศวรรย์ หมุดหมายแรกของกรุงศรีอยุธยา
ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองจะทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีได้อย่างยิ่งใหญ่และแสนจะอลังการกว่า 400 ปีนั้น พระองค์เคยใช้สถานที่แห่งหนึ่งเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับเพื่อหาทำเลในการสร้างกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา
สถานที่นั้นก็คือ "วัดพุทไธศวรรย์" ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ใน ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเคยเป็นคลองที่ดึงน้ำจากแม่น้ำลพบุรีหรือคลองคูเมืองตอนเหนือ โดยมีแนวคลองผ่านด้านหลังของพระราชวังโบราณ แล้วมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณหน้าวัดพอดี วัดนี้ในสมัยอยุธยานั้นมีชุมชนหลากหลายเชื้อชาติศาสนาอยู่โดยรอบ ทั้งชุมชนชาวจีน มุสลิม โปรตุเกสและอินโดจีน ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา “วัดพุทไธศวรรย์” เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งมีฐานะเป็นพระอารามหลวง ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว 3 ปี โดยเลือกภูมิสถานบริเวณที่เรียกกันว่า “ตำบลเวียงเหล็ก”
โดยเรื่องราวของการสร้างวัด ยังปรากฎอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า “ศักราช ๗๑๕ ปีมะเส็ง เบญจศก (พ.ศ. ๑๘๙๖) วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑ ค่ำ เพลา ๒ นาฬิกา ๕ บาท ทรงพระกรุณาตรัสว่า ที่พระตำหนักเวียงเหล็กนั้นให้สถาปนาพระวิหารและพระมหาธาตุเป็นอารามแล้ว ให้นามชื่อ วัดพุทไธศวรรย์”
วัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำทางด้านใต้ ฝั่งตรงข้ามกับเกาะเมืองในบริเวณตําหนักที่ประทับเดิมของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งเรียกว่าตําหนักเวียงเหล็ก หรือเวียงเล็ก เมื่อพระองค์ทรงสร้างพระราชวังใหม่ที่ตําบลหนองโสน (บึงพระราม) และสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีในปี พ.ศ. 1893 วัดริมแม่น้ำในตำบลเวียงเหล็กนั้น ก็ได้รับการสถาปนาเป็นวัดพุทไธศวรรย์
โดยมีบันทึกเกี่ยวกับวัดพุทไธศวรรย์ในหลายช่วงตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้บอกเล่าว่าที่แห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ หรือแม้แต่เป็นสถานที่ตั้งค่าย อย่างในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ วัดพุทไธศวรรย์ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ตั้งทัพของพม่าในคราวที่ยกทัพมาล้อมกรุง เพื่อทำการรบกับกรุงศรีอยุธยา
ส่วนในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ราวๆ พ.ศ. 2243 สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ และสมเด็จกรมหลวงโยธาทิพ สมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวาของพระองค์ ได้ทูลลาสมเด็จพระเจ้าเสือออกจากพระราชวัง พร้อมด้วยเจ้าตรัสน้อยราชบุตร ไปตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้วัดพุทไธศวรรย์
ช่วงตอนปลายสมัยอยุธยา วัดพุทไธศวรรย์ก็ยังได้เป็นสถานที่ประกอบการเมรุสำคัญถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ปี พ.ศ. 2258 กรมหลวงโยธาทิพทิวงคต ณ ตำหนักริม วัดพุทไธศวรรย์ ก็ได้มีการสร้างพระเมรุทองขึ้นตามราชประเพณีที่วัดแห่งนี้ ครั้งที่ 2 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพทิวงคต ณ ตำหนักริม วัดพุทไธศวรรย์ เช่นกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้สร้างพระเมรุมาศขึ้นที่วัดแห่งนี้ตามโบราณราชประเพณี
นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2293 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงมีพระบรมราชโองการให้นำคณะฑูตชาวสิงหลไปนมัสการและประกอบศาสนกิจที่วัด ซึ่งในหนังสือ “เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” ของสมเด็จพรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่คณะราชทูตลังกา ได้เข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ โดยระบุว่าในจดหมายเหตุราชทูตลังกา มีการเขียนบันทึกพรรณนาถึงสภาพของวัดพุทไธศวรรย์ไว้อย่างละเอียด นับเป็นข้อมูลสำคัญแสดงให้เห็นถึงสิ่งก่อสร้างภายในวัดพุทไธศวรรย์ ในช่วงอยุธยาตอนปลาย
ทั้งนี้วัดพุทไธศวรรย์ เป็นวัดอีกหนึ่งแห่งที่รอดพ้นจากการถูกเผาทำลายในช่วงการเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่นอกเมือง จึงทำให้ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุมีความสมบูรณ์หลงเหลือให้เห็น แม้ว่ามีบางส่วนพังทลายลงไปบ้างตามกาลเวลา
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว ไม่มีหลักฐานทางด้านเอกสารใดกล่าวถึงวัดพุทไธศวรรย์อีก จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ
พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเทพพลภักดิ์ ซึ่งบัญชาการกรมพระคชบาล เสด็จออกไปชมเพนียดที่พระนครศรีอยุธยา ทรงพบว่าที่ด้านมุขของปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์ มีเทวรูปพระเจ้าอู่ทองตั้งอยู่ จึงโปรดให้อัญเชิญเทวรูปนั้นลงมากรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2327 แล้วโปรดให้หล่อดัดแปลงใหม่เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง หุ้มเงินทั้งองค์ และโปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ หอพระเทพบิดร (ปราสาทพระเทพบิดร) ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปัจจุบัน
นอกจากนี้ในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 วัดพุทไธศวรรย์ เป็นหนึ่งในวัดของกรุงศรีอยุธยาที่พระองค์เสด็จมาพระราชทานพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
อย่างไรก็ตาม ในสมัยโบราณมีคำกล่าวขานที่เรียกว่า วัดพุทไธศวรรย์เป็นดินแดนอันมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับด้านอยู่ยงคงกระพัน เป็นที่ลือเลื่องจากอดีตตราบเท่าปัจจุบัน นั่นคือ
วัดพุทไธศวรรย์เป็นสถานที่ฝึกอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหาร ก่อนออกศึกสงคราม โดยเฉพาะเมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระสังฆราชฝ่ายซ้ายคู่กับสมเด็จพระวันรัตน์ (พนรัตน์) วัดป่าแก้ว (วัดเจ้าพระยาไทหรือวัดใหญ่ชัยมงคล) พระสังฆราชฝ่ายขวา ได้ทำพิธีอาบน้ำว่านให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีของพม่า ในเช้าของวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2135
จุดที่น่าสนใจก็คือ พระปรางค์ประธานองค์ใหญ่เป็นแบบฝักข้าวโพดในรูปแบบศิลปะแบบขอม เชื่อกันว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น อันสอดคล้องกับตำนานเรื่องวังเวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทอง แต่ก็มีข้อโต้แย้งจากนักวิชาการอีกแนวทางหนึ่งว่าองค์ปรางค์ของวัดนี้น่าจะเป็นศิลปะสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หรือสมัยอยุธยาตอนปลายมากกว่า ซึ่งองค์ประธานนี้จะตั้งอยู่กึ่งกลางอาณาเขตพุทธาวาสบนฐานไพทีซึ่งมีลักษณะย่อเหลี่ยมมีบันไดขึ้น 2 ทาง คือ ทางทิศตะวันออก และทางทิศตะวันตก ส่วนทิศเหนือทิศใต้มีมณฑปสองหลังภายในพระมณฑปมีพระประธาน
รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง แล้วนำมาประดิษฐานไว้ตรงมุขด้านข้างของปรางค์ประธานเป็นการทดแทนเทวรูปพระเจ้าอู่ทอง บนฐานเดียวกับปรางค์ประธานมีมณฑปขนาบซ้ายขวา ภายในมณฑปมีพระพุทธรูป ด้านท้ายเขตพุทธาวาสมีพระอุโบสถขนาดใหญ่ ปรางค์องค์ที่สมบูรณ์อยู่ในปัจจุบันนี้นั้นได้รับการซ่อมแซมครั้งใหญ่โดยชาวบ้านอยุธยา
เมื่อปี พ.ศ. 2441 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่พระองค์จะเสด็จประพาสยังวัดนี้ และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2499 และยังใช้ประกอบกิจของสงฆ์มาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ประจำอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำหนักนี้เป็นอาคาร 2 ชั้น ฐานอาคารมีลักษณะโค้งแบบท้องเรือสำเภา อันเป็นศิลปะที่นิยมกันในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ชั้นบนเป็นจิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพที่เล่าเรื่องของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เมื่อคราวที่ไปนมัสการพระพุทธบาทที่ลังกาทวีป นอกจากนี้ยังมีภาพเกี่ยวกับเรื่องหมู่นักพรต เทวดา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาพค่อนข้างทรุดโทรมและเลอะเลือนเต็มที ซึ่งอาคารนี้ได้รับการลอกแบบไปสร้างเป็นส่วนหนึ่งของร้านขายผ้าไหมที่มีชื่อเสียงของ จิม ทอมป์สัน ที่กรุงเทพฯ อีกด้วย
ด้านทิศใต้ในเขตพุทธาวาส มีวิหารพระพุทธไสยาสน์ (วิหารพระนอน) ลักษณะของพระวิหารมีลักษณะแอ่นท้องสำเภาเล็กน้อย เจาะช่องหน้าต่างสี่เหลี่ยมทางด้านยาวด้านละ 3 ช่อง มีช่องประตูทางเข้า 1 ช่อง เครื่องบนหลังคาหักพังหมดแล้ว เหลือแต่เพียงผนังและกรอบหน้าต่างบางส่วน โดยองค์พระพุทธไสยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตกตรงกับช่องประตูทางเข้าพอดี
องค์พระพุทธไสยาสน์ ก่อด้วยอิฐถือปูน มีพุทธลักษณะพิเศษ คือ เป็นหนึ่งในพระพุทธไสยาสน์ของอยุธยาเพียงไม่กี่องค์ที่แสดงลักษณะ การวางพระบาทเหลื่อม อันเป็นลักษณะเบื้องต้นของการคลี่คลายพุทธลักษณะให้คล้ายคนธรรมดา นอกจากนั้นพระพาหาและพระกรที่พับวางราบด้านหน้า ในลักษณะหงายพระหัตถ์เพื่อรองรับพระเศียรนั้น เป็นรูปแบบที่นิยมมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ลพบุรี อู่ทอง แตกต่างจากพระนอนในอิทธิพลศิลปะสุโขทัยที่พบในเขตเกาะเมืองอยุธยา
จึงนับเป็นตัวอย่างในการศึกษาพุทธศิลป์ในสมัยอยุธยาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง หากใครได้มาสักการะถือว่าจะได้เรื่องเมตตามหานิยม ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ในบริเวณวัดยังมีเทวรูปจตุคามรามเทพ คือ เทพรักษาพระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช สถิตอยู่ที่บานประตูทางขึ้นพระบรมธาตุ ในปี พ.ศ. 2530 เมื่อมีการตั้งดวงเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นใหม่ จึงมีการอัญเชิญจตุคามรามเทพไปสถิต ณ ที่นั้นเป็นต้นมา
ในปัจจุบันวัดพุทไธศวรรย์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ซึ่งมีผู้คนหลั่งไหลแวะมาเยี่ยมชมกันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้บริเวณวัดพุทไธศวรรย์ช่วงวันหยุดนั้นจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนจำนวนมากเลยทีเดียว
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
https://www.posttoday.com/lifestyle/309081
https://www.komchadluek.net/amulet/93493
https://travel.kapook.com/view259580.html
https://mgronline.com/travel/detail/9660000062996
ประวัติศาสตร์ไทย
วัด
กรุงศรีอยุธยา
บันทึก
3
1
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย