22 พ.ย. 2023 เวลา 03:33 • ประวัติศาสตร์

นโปเลียน - มหาบุรุษตลอดกาล (part 1)

"ข้าพบมงกุฏแห่งฝรั่งเศสตกอยู่บนพื้นดิน และหยิบมันมาด้วยดาบของข้า ข้าทำความสะอาดมัน และบัดนี้ข้าจะสวมมันลงบนเศียรของข้าเอง"
นโปเลียน โบนาปาร์ต
ประโยคนี้ปรากฎในโฆษณาโปรโมทภาพยนต์เกี่ยวกับนโปเลียนซึ่งหลายท่านคงอาจเห็นผ่านตากันมาบ้างแล้ว ทว่านี่เป็นคำพูดจริงๆของนโปเลียนที่ได้กล่าวต่อพี่ชายของเขาในงานวันราชาภิเษกเพราะต้องการจะสวมมงกุฏเอง ไม่ให้พระสันตะปาปาซึ่งตามธรรมเนียมแล้วมีหน้าที่สวมให้เป็นผู้สวม ประโยคนี้แสดงให้เราเห็นชีวิตและแนวคิดของนโปเลียนได้ดี จากชายที่มีชาติตระกูลในระดับปานกลาง ไต่เต้าจนขึ้นสู่จุดสูงสุดของอำนาจ และพิชิตดินแดนยุโรปได้ด้วยฝีมือ-ความสามารถของตนเอง
และในช่วงนี้เองที่เรื่องราวเกี่ยวกับนโปเลียนได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จึงถือโอกาสสำรวจ-เรียบเรียงที่มาที่ไป ความสำเร็จ และความล้มเหลวของนโปเลียน: มหาบุรุษ แม่ทัพ และจักรพรรดิที่ทรงอำนาจที่สุดของยุโรปนับแต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมตะวันตกมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน โดยจะแบ่งเป็น Part ย่อยๆเอาไว้เพื่อความละเอียด เริ่มตั้งแต่ชีวิตวัยเยาว์จนกระทั่งจุดจบของอำนาจหลังถูกเนรเทศไปยังเกาะเซนต์เฮเลนาอันห่างไกล
ห้องที่นโปเลียนถือกำเนิด ภายในคฤหาสน์ประจำตระกูลบนเกาะคอร์ซิกา
นโปเลียน โบนาปาร์ต เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปี 1769 ที่เมืองอาฌักซีโย แคว้นคอร์ซิกา(เกาะทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ตั้งอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) เป็นบุตรของนายชาล์ส-มารี โบนาปาร์ต กับนางมาเรีย-เลทิเซีย โบนาปาร์ต ครอบครัวของนโปเลียนโดยดั้งเดิมเป็นชาวอิตาลี บรรพบุรุษฝั่งบิดา(ตระกูลโบนาปาร์ต)เป็นตระกูลผู้ดีจากแคว้นทอสคานาในอิตาลีและได้ต่อมาอพยพมายังเกาะคอร์ซิกาของฝรั่งเศส ส่วนบรรพบุรุษฝั่งมารดา(ตระกูลราโมลิโน)เป็นตระกูลผู้ดีจากสาธารณรัฐเจนัว(รัฐอิสระทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิตาลี)
(รูปที่ 1)มาเรีย เลทิเซีย โบนาปาร์ต: มารดาของนโปเลียน, (รูปที่ 2) ชาล์ส มารี โบนาปาร์ต: บิดาของนโปเลียน
บิดา-มารดาของนโปเลียนอาศัยที่"คาซา โบนาปาร์ต"บ้านประจำตระกูลโบนาปาร์ตซึ่งอยู่บนเกาะคอร์ซิกา นโปเลียนเองก็ถือกำเนิดที่บ้านหลังนั้นโดยเป็นลูกคนที่ 4 จาก 8 คน และเป็นลูกชายคนที่ 3 ของครอบครัว ภายหลังนโปเลียนได้รับศีลจุ่มและเข้าสู่ศาสนจักรโรมันคาทอลิกในชื่อ "นาโปลีโอเน บัวนาปาร์เต" ตามสำเนียงภาษาอิตาลี
มารดาของนโปเลียนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในช่วงวัยเด็กของเขา มาเรียมักจะเข้มงวดในระเบียบวินัยเสมอ นโปเลียนเคยถึงกับกล่าวเองเลยว่า "ชะตากรรมและอนาคตของลูก ย่อมเป็นงานของแม่เสมอ"
จะเห็นว่าภูมิหลังของครอบครัวนโปเลียนถือได้ว่าดีทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวฝั่งแม่ของเขา ยายของนโปเลียนสมรสครั้งที่สองกับตระกูลขุนนาง"เฟช"ในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งสืบสายมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และลุงของนโปเลียน พระคาร์ดินัลโยเซฟ เฟช ได้รับบทบาทเป็นผู้พิทักษ์ตระกูลโบนาปาร์ตมาหลายปี ภูมิหลังเช่นนี้จึงทำให้นโปเลียนได้มีโอกาสรับการศึกษาที่ดียิ่งกว่าชาวคอร์ซิกาโดยทั่วไปในสมัยนั้น
เมื่ออายุได้ 9 ขวบ นโปเลียนย้ายจากเกาะคอร์ซิกาขึ้นมายังแผ่นดินฝรั่งเศสภาคพื้นทวีป ในเดือนมกราคม ปี 1779 นโปเลียนเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนศาสนาในเมืองโอเติง แคว้นบูร์กอญ พฤษภาคมปีเดียวกันนโปเลียนได้รับทุนการศึกษาให้เข้าเรียนที่โรงเรียนทหารในปราสาทบรีแอนน์-เลอ-ชาโต นโปเลียนในวัยเด็กแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าตนเป็นนักชาตินิยมคอร์ซิกันและสนับสนุนให้รัฐคอร์ซิกามีเอกราชจากฝรั่งเศส และเฉกเช่นกับชาวคอร์ซิกันคนอื่น นโปเลียนสามารถพูดและอ่านภาษาคอร์ซิกัน(เป็นภาษาแม่)และภาษาอิตาเลียน(ภาษาทางการของรัฐคอร์ซิกัน)
โรงเรียนทหาร ปราสาทบรีแอนน์-เลอ-ชาโตว์
นโปเลียนเริ่มศึกษาภาษาฝรั่งเศษในโรงเรียนเมื่ออายุราวสิบปี ถึงกระนั้นแม้ว่านโปเลียนจะสามารถพูดฝรั่งเศษอย่างคล่องแคล่วในเวลาต่อมา แต่ก็ติดการใช้สำเนียงแบบชาวคอร์ซิกันและนโปเลียนก็ไม่เคยเรียนการสะกดคำในภาษาฝรั่งเศสด้วย เหตุนี้จึงทำให้เขามักถูกคนรอบข้างล้อเลียนเป็นประจำถึงสำเนียง บ้านเกิด รูปร่าง พฤติกรรม และความไม่ถนัดในภาษาฝรั่งเศส
นโปเลียนกลายเป็นคนเก็บตัวและสนใจแต่การอ่านหนังสือตำราต่างๆ หนึ่งในอาจารย์ของนโปเลียนได้ตั้งข้อสังเกตว่า "เขามีความโดดเด่นในวิชาคณิตศาสตร์มาโดยตลอด เช่นเดียวกับวิชาประวัติศาสตร์และวิชาภูมิศาสตร์ที่เขาคุ้นเคยและก็ทำได้ดี เด็กคนนี้จะกลายเป็นกลาสีที่ยอดเยี่ยมแน่นอน"
หนึ่งในเรื่องเล่าเกี่ยวกับนโปเลียนในสมัยเรียนคือ ครั้งหนึ่งนโปเลียนเคยได้เป็นคนนำนักเรียนรุ่นน้องชนะรุ่นพี่ในการแข่งขันขว้างลูกบอลหิมะซึ่งแสดงถึงความสามารถและภาวะผู้นำของเขาตั้งแต่ยังเด็ก ในช่วงวัยผู้ใหญ่ต้นๆ นโปเลียนตั้งใจอยากจะเป็นกวี เขาแต่งตำราประวัติศาสตร์คอร์ซิกันและนวนิยายโรแมนติก
นโปเลียนในวัย 15 ปี ขณะศึกษาที่บรีแอนน์-เลอ-ชาโตว์
เมื่อนโปเลียนสำเร็จการศึกษาที่บรีแอนน์-เลอ-ชาโตว์ในปี 1784 นโปเลียนสมัครเข้าโรงเรียนเตรียมทหารในกรุงปารีส เขาได้รับการฝึกฝนจนกลายเป็นนายทหารฝ่ายทหารปืนใหญ่ และเมื่อการถึงแก่กรรมของบิดาของเขาทำให้รายได้ของครอบครัวลดลง นโปเลียนจึงถูกบังคับให้สำเร็จการศึกษาสองปีภายในปีเดียว อาจารย์ผู้ทำการทดสอบนโปเลียนเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง ปิแอร์-ซิมง ลาปลาซ นโปเลียนสอบผ่านและกลายเป็นชาวคอร์ซิกันคนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารกรุงปารีส
หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารในเดือนกันยายนปี 1785 นโปเลียนได้รับแต่งตั้งยศเป็นร้อยตรี ประจำการในกรมปืนใหญ่ที่ 1 ของกองทัพหลวงฝรั่งเศส นโปเลียนปฏิบัติงานในเมืองวาลองซ์และเมืองโอคซอนจนกระทั่งการปะทุขึ้นของการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789
นโปเลียนในช่วงนี้ยังคงเป็นชาตินิยมคอร์ซิกันอย่างกระตือรือร้น เขายื่นขอลาออกจากกองทัพเพื่อไปเข้าร่วมกับปาสกวาเล เปาลี นักชาตินิยมคอร์ซิกันผู้เป็นที่ปรึกษาของเขาหลังจากที่ปาสกวาเลได้รับอนุญาตจากสมัชชาแห่งชาติให้เดินทางกลับมายังเกาะคอร์ซิกาได้ อย่างไรก็ตามปาสกวาเลกลับไม่ได้ชื่นชอบหรือเห็นใจนโปเลียนเลยเนื่องจากปาสกวาเลมองว่าบิดาของนโปเลียนเป็นคนทรยศที่ละทิ้งเจตน์จำนงการประกาศเอกราชของชาวคอร์ซิกัน
นโปเลียนใช้เวลาในช่วงต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เกาะคอร์ซิกา เขาร่วมการต่อสู้ที่สลับซับซ้อนระหว่างกลุ่ม Royalist ชาตินิยมคอร์ซิกัน และกลุ่มนักปฏิวัติฝรั่งเศส ภายหลังนโปเลียนยอมรับอุดมการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสและกลายเป็นผู้สนับสนุนสโมสรฌากอแบง(ขบวนการทางการเมืองฝ่ายสาธารณรัฐที่ทรงอิทธิพลที่สุดในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส)
เขาเข้าร่วมกับกลุ่มผู้นิยมสาธารณรัฐชาวคอร์ซิกัน โปร-ฝรั่งเศส ซึ่งต่อต้านนโยบายการแยกตัวออกจากฝรั่งเศสของปาสกวาเล ต่อมานโปเลียนได้บังคับบัญชากองพันทหารอาสาและได้รับเลื่อนขั้นเป็นร้อยเอกในปี 1792 แม้ว่าเขามักจะลางานเกินกำหนดและเป็นแกนนำก่อจลาจลต่อกองทัพฝรั่งเศสก็ตาม
การที่คอร์ซิกาประกาศแยกตัวจากฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการและร้องขอการอารักขาจากรัฐบาลอังกฤษ ทำให้นโปเลียนมีปัญหาความขัดแย้งกับปาสกวาเลผู้ซึ่งตัดสินใจบ่อนทำลายการมีส่วนรวมของคอร์ซิกาในแผนปฏิบัติการเคลื่อนทัพไปยังซาร์ดิเนียของฝรั่งเศสโดยการขัดขวางการโจมตีของฝรั่งเศสบนเกาะลา มัดดาเลนา ความขัดแย้งกับปาสกวาเลส่งผลให้ในเดือนมิถุนายน ปี 1793นโปเลียนและครอบครัวถูกส่งไปประจำการยังเมืองตูลงบนแผ่นดินใหญ่ฝรั่งเศสซึ่งต่อมาได้ถูกส่งมอบให้สหราชอาณาจักรปกครอง
นโปเลียนในวัย 23 ปี ขณะดำรงตำแหน่งพันโทแห่งกองพันทหารอาสาคอร์ซิกันฝ่ายสาธารณรัฐ
แม้ว่าชื่อโดยกำเนิดของเขาจะเป็น นาโปลีโอเน บัวนาปาร์เต แต่ภายหลังเขาเริ่มเรียกชื่อตนเองว่า นโปเลียน โบนาปาร์ต ครอบครัวของเขายังคงใช้นามสกุล บัวนาปาร์เตเรื่อยมาจนกระทั่งปี 1796 หลักฐานชิ้นแรกแสดงให้เห็นว่านโปเลียนลงชื่อของตนเองด้วยคำว่า โบนาปาร์ต เมื่อเขาอายุได้ 27 ปี ในปี 1796
นโปเลียนในยุทธการยึดเมืองตูลง
มิถุนายน ปี 1793 นโปเลียนเผยแพร่แผ่นพับโฆษณาโปร-รีพับลิกัน "เลอ ซูเปร์ เดอ โบแคร์(อาหารค่ำของโบแคร์)" ทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากออกุสแตง รอแบสปิแยร์ น้องชายของแกนนำปฏิวัติฝรั่งเศสคนสำคัญอย่างมักซิมิลีญง รอแบสปิแยร์ และด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนชาวคอร์ซิกันของเขา อันโตอิเน คริสโตเฟ ซาลิเซตี นโปเลียนจึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการอาวุโสหน่วยพลปืนและปืนใหญ่แห่งกองกำลังฝ่ายสาธารณรัฐซึ่งได้เข้าไปยังเมืองตูลงในวันที่ 8 กันยายน 1793
นโปเลียนเสนอแผนการยึดเนินเขาสำคัญที่จะทำให้ฝ่ายสาธารณรัฐสามารถยึดครองท่าเรือของเมืองและบีบบังคับให้พวกอังกฤษถอนทัพออกไปได้ การโจมตีจากจุดยุทธศาสตร์ดังกล่าวช่วยให้กองกำลังฝ่ายสาธารณรัฐยึดเมืองได้สำเร็จ นโปเลียนได้รับบาดเจ็บที่ต้นขาในระหว่างการโจมตีครั้งนั้น
ผลงานของนโปเลียนเป็นที่ประทับใจและสนใจแก่คณะกรรมาธิการความปลอดภัยสาธารณะ(องค์กรของฝ่ายสาธารณรัฐในช่วงการปฏิวัติ มีหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบการปกป้องระบอบสาธารณรัฐ) จึงได้มีคำสั่งตั้งให้นโปเลียนบัญชาการทหารปืนใหญ่ของกองทัพแห่งอิตาลี(กองทัพสนามของฝ่ายฝรั่งเศส ประจำการที่ชายแดนอิตาลีเพื่อการปฏิบัติการทางทหารในอิตาลีโดยเฉพาะ) และวันที่ 22 ธันวาคมในระหว่างเดินทางไปประจำการที่ด่านใหม่ในเมืองนีซ นโปเลียนได้รับการเสนอเลื่อนยศจากพันเอกเป็นนายพล(พลจัตวา)ด้วยอายุเพียง 24 ปี
นโปเลียนวางแผนการโจมตีราชอาณาจักรซาดิเนียร์ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของฝรั่งเศสในการต่อต้านแนวร่วมที่หนึ่ง โดยกองทัพฝรั่งเศสดำเนินการตามแผนนโปเลียนในยุทธการที่ซาออร์จิโนเมื่อเดือนเมษายน ปี 1794 จากนั้นจึงเคลื่อนทัพเข้ายึดเมืองออร์มีอาซึ่งอยู่ในหุบเขาทางตอนเหนือของอิตาลี และจากออร์มีอา กองทัพนโปเลียนมุ่งหน้าไปยังทางตะวันตกเพื่อขนาบกองทัพออสเตรีย-ซาดิเนียร์รอบ ๆ เมืองซาออร์จ
ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจและได้รับชัยชนะ ออกุสแตง รอแบสปิแยร์ได้ส่งนโปเลียนไปยังสาธารณรัฐเจนัวเพื่อทำภารกิจสำคัญในการเข้ากำหนดควบคุมทิศทางเจตนารมณ์ทางการเมืองของเจนัวที่มีต่อฝรั่งเศส
...................................................................................
ใน Part ถัดไปจะเริ่มเรื่องตั้งแต่วีรกรรมการปราบจราจลวันที่ 13 เดือนวองเดมีแยร์ การพิชิตคาบสมุทรอิตาลี การพิชิตอียิปต์ และการขึ้นสู่อำนาจการปกครองของนโปเลียนครับ
โฆษณา