Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนแมน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
25 พ.ย. 2023 เวลา 02:30 • ธุรกิจ
“Klook” แอปจองตั๋วสวนสนุก 30,000 ล้าน
ปัจจุบันการจองที่พักหรือตั๋วเครื่องบิน ก็สามารถดำเนินการได้ง่าย ๆ ผ่านเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มตัวกลาง อย่างเช่น
Trip.com
หรือ Agoda
แต่รู้หรือไม่ว่า กิจกรรมดำน้ำ ตกปลา ปีนเขา หรือแม้แต่นั่งรถบัส ก็สามารถจองล่วงหน้าได้ ผ่านแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า Klook สตาร์ตอัปจากเกาะฮ่องกง
ซึ่ง Klook ให้บริการครอบคลุมทั่วเอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงไทยด้วย
Klook มีจุดเริ่มต้นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ Klook มาจากประสบการณ์ตรง ของผู้ก่อตั้งบริษัททั้งสองคน คือคุณ Eric Gnock Fah และคุณ Ethan Lin ที่ได้ไปเที่ยวประเทศเนปาลแล้วพบว่า นอกจากตั๋วเครื่องบิน และโรงแรมแล้ว
การเดินทาง รวมถึงบริการอื่นในทริปของพวกเขา อย่างเช่น โดดร่ม Paragliding ไม่รับบัตรเครดิต และต้องจ่ายด้วยเงินสดเท่านั้น
ทำให้ทั้งคู่ ต้องพกเงินสดติดตัวไปเป็นจำนวนมาก และหากเงินสดที่เตรียมไว้หมดขึ้นมา ก็ต้องคอยหาที่แลกเงิน หรือตู้กดเงิน
พอเห็นแบบนี้แล้ว ทั้งสองคนจึงมีความคิดที่จะก่อตั้งแพลตฟอร์มการชำระเงินในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขึ้นมา
ทั้งคู่เคยทำงานอยู่ในธุรกิจการเงินมาก่อน แต่สิ่งที่ยังขาดในการสร้างแพลตฟอร์มคือ ทักษะด้านซอฟต์แวร์
ทำให้หลังจากจบทริปแล้ว ทั้งสองคนก็เริ่มต้นหาวิศวกรซอฟต์แวร์ ผ่าน LinkedIn และก็ได้คุณ Bernie Xiaokang Xiong เข้ามาร่วมงาน
จากนั้นในปี 2014
Klook ก็ถูกก่อตั้งขึ้นมา
Klook บางคนอ่านว่า คลุก
หลายต่อหลายคนอ่านว่า เค-ลุก
แต่จริง ๆ แล้ว มันเป็นคำย่อมาจาก “Keep Looking”
แล้วบริการของ Klook คืออะไร ?
จริง ๆ แล้ว บริการของ Klook ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะฟังก์ชันการใช้งานที่มีก็ไม่ต่างจาก ดีลเลอร์จองตั๋วเครื่องบิน หรือโรงแรมที่เราใช้กันอยู่
แต่สิ่งที่แตกต่างคือ บริการที่ Klook นำมาให้จับจอง ผ่านแพลตฟอร์มของพวกเขา จะโฟกัสไปที่บริการในระดับท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ ซึ่งแต่เดิมเราจะต้องติดต่อจองเอง หรือบางแห่งต้องชำระค่าบริการด้วยเงินสดเท่านั้น
อย่างเช่น
- บัตรเข้าชมสถานที่ เช่น ดิสนีย์แลนด์ หรือปางช้างที่เชียงใหม่
- ตั๋วเดินทาง ที่มีตั้งแต่ตั๋วรถไฟหัวกระสุน ไปจนถึงตั๋วรถบัสระหว่างเมืองในญี่ปุ่น
- กิจกรรมปีนเขา รวมถึง Paragliding ในเนปาล กิจกรรมที่เป็นทั้งปัญหาและจุดเริ่มต้น ในการก่อตั้งบริษัทอีกด้วย
ซึ่งบริการที่มีใน Klook จะโชว์ค่าบริการเป็นสกุลเงินของประเทศผู้ใช้งาน และส่วนใหญ่เป็นบริการที่ Klook ติดต่อโดยตรงกับผู้ให้บริการ ทำให้มีดีลพิเศษจำนวนมากมานำเสนอ
ด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่าย รองรับหลายภาษา และมีสำนักงานอยู่ในหลายประเทศ จึงมีทีมงานคอยสรรหาดีลท้องถิ่นต่าง ๆ เข้ามาเปิดให้จองบนแพลตฟอร์มด้วยตัวเอง
ทำให้ Klook มีหลากหลายกิจกรรมให้เลือกจอง ซึ่งหาไม่ได้ในแพลตฟอร์มอื่น
ปัจจุบัน Klook เติบโตอย่างมาก โดยมีสินค้าและบริการในแพลตฟอร์มกว่า 530,000 รายการ และมีสำนักงานกว่า 20 แห่ง โดยส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย รวมถึงตลาดใหม่ในยุโรปและอเมริกา
โดยที่ผ่านมา Klook ได้ระดมทุนมาแล้วกว่า 25,300 ล้านบาท มีนักลงทุนรายใหญ่ร่วมทุนมากมาย รวมถึงกองทุน Vision Fund ของ SoftBank เช่นกัน
และได้รับการประเมินมูลค่า จากการระดมทุนรอบล่าสุดในปี 2021 ไว้ที่ 35,000 ล้านบาท ถือเป็นยูนิคอร์นอีกรายในวงการสตาร์ตอัป
จะเห็นว่าจริง ๆ แล้ว Klook ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นที่พิเศษอะไร เพราะปัญหาการจ่ายเงินที่ผู้ก่อตั้งทั้งสองเจอ
ก็เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวจำนวนมาก ต่างก็พบเจอกันอยู่แล้วเมื่อไปใช้บริการ หรือซื้อสินค้าท้องถิ่น
แต่ความต่างคือ มุมมองต่อปัญหาที่พบเจอ..
คนทั่วไปมองว่าเป็นปัญหา ที่ต้องรับมือด้วยการเตรียมเงินสดไปจำนวนมาก เพื่อจะได้ไม่ต้องปวดหัวกับการท่องเที่ยว
ในขณะที่ผู้ก่อตั้ง Klook มองว่าปัญหานี้ คือโอกาสทางธุรกิจ จนนำไปสู่การก่อตั้งแพลตฟอร์มจองตั๋ว สำหรับบริการท้องถิ่น ที่วันนี้ กลายเป็นยูนิคอร์น 35,000 ล้านบาท ไปแล้ว นั่นเอง..
References
-
https://www.forbes.com/sites/ranawehbe/2019/07/15/klooks-nomadic-cofounder-turns-wanderlust-into-a-1-billion-enterprise/?sh=5962284364ea
-
https://medium.com/whub/startup-interview-klook-part1-2017-822ab5e1dc3a
-
https://www.crunchbase.com/organization/klook
-
https://www.klookcareers.com/about-klook
ธุรกิจ
12 บันทึก
22
5
12
22
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย