25 พ.ย. 2023 เวลา 02:46 • การศึกษา

กระติกน้ำที่มองไม่เห็น

สังคมไทยของเราดูจะเต็มไปด้วยเรื่องเล่ามากมาย  เรื่องที่เกิดขึ้นในกาลครั้งหนึ่ง เมื่อฟังต่อๆกันไป เนื้อหาก็มักจะ ผิดเพี้ยนลงไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเรื่องราวที่เกิดระบุสถานที่แล้วมีใครนำไปเขียนไปจารก็จะเป็นตำนานขึ้นมากลายเป็นเรื่องน่าเชื่อถือ คนเชื่อก็มักไม่ใคร่ติดใจสงสัยว่า เรื่องราวนั้นๆจริงแค่ไหนและจริงตรงไหน
ใครใคร่ถ่ายทอดเรื่องราวหรือพูดจาชวนเชื่อใดๆก็มักทำกันได้อย่างเสรี  ประดิดประดอยให้สนุกสนานน่าสนใจหรือเพื่อโน้มเข้าหาผลประโยชน์ฝ่ายตนก็มักจะทำได้ เรื่องราวเกี่ยวกับไสยศาสตร์ หรือวัตถุมงคล  เรื่องเกี่ยวกับอภินิหารจึงมักจะมีคนเชื่อกันได้ทุกยุคทุกสมัย  หลายคนบอกว่า ของที่ไม่เห็น ใช่ว่าจะไม่มี
ผู้เขียนได้รับรู้เรื่องราวของนักเรียนหญิงในระดับมัธยมต้นคนหนึ่งซึ่งถูกคนอื่นเข้าใจผิดอย่างไม่น่าสมเหตุสมผลเอาเสียเลย  เรื่องเกิดขึ้นในยุคที่การคอมพิวเตอร์ยังเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดใหม่สำหรับคนไทย
ตอนนั้นทางโรงเรียนได้จัดให้มีการเข้าค่ายพักแรมเพื่อให้ลูกเสือและเนตรนารีได้ไปทำกิจกรรมนอกรั้วโรงเรียน อาจารย์ผู้บังคับบัญชาเรียกกันว่าผู้กำกับฯเน้นคำขวัญคือมองไกล  และเน้นให้เด็กมีระเบียบวินัยช่วยเหลือกันเรียนรู้กติกาของกลุ่มฯลฯ
เหล่าลูกเสือแต่งชุดสีกากี เนตรนารีแต่งชุดเขียวพากันสวมเครื่องแบบอย่างภาคภูมิใจ แต่บางจังหวะเช่น การทำกิจกรรมรอบกองไฟ การหลับนอน การทำอาหารเช้าทานกันได้กำหนดให้สวมชุดลำลอง  แต่จะสวมใส่ชุดประเภทใด  เด็กๆที่มาเข้าค่าย จะมีสิ่งหนึ่งสะพายไหลเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกาย  นั่นคือกระติกน้ำ
เหตุผลคือ ในค่ายลูกเสือไม่มีซุ้มขายน้ำและอาหาร ทางโรงเรียนจึงได้บอกให้นักเรียนเอากระติกมาด้วยเพื่อรองน้ำสะอาดจากแท้งค์เก็บไว้ดื่ม  เหล่าลูกเสือเนตรนารีก็พากันปฏิบัติตามและแขวนกระติกไว้ที่คอ
เด็กหญิงซึ่งเป็นคนเงียบๆ ไม่มีความมั่นใจในตนเอง  เคยถูกบูลลี่อย่างหนักโทษฐานเคยมีเหาอยู่บนศีรษะ  มีบุคคลิกเชื่องช้า ดื่มน้ำน้อย จึงกระติกน้ำขนาดเล็กมาแต่กลับเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสัมภาระเกะกะร่างกาย  เลยไม่หยิบออกมาใช้  คิดง่ายๆว่า รู้สึกกระหายเมื่อไรก็ไปที่ก๊อก ล้างมือบรรจบกันรองน้ำดื่มก็ย่อมทำได้นี่นา
พอเพื่อนๆและรุ่นพี่เห็นเช่นนั้นก็ทึกทักกันไปเองว่าเด็กหญิงลืมนำของใช้สำคัญมา แต่ไม่มีใครสนใจทักถาม
“ ช่างปะไร เดี๋ยววันเดินทางไกล ก็จะเห็นเองว่าฉันเอากระติกมา ” เด็กหญิงคิดไปเช่นนั้นและได้สังเกตว่าในหมู่เนตรนารีที่ตนสังกัดมีรุ่นพี่คนหนึ่งไม่ได้สะพายกระติกน้ำเช่นคนอื่น
พอตกค่ำ เหล่าลูกเสือเนตรนารีได้เดินป่ากันเล็กน้อยโดยมีผู้กำกับฯและผู้ช่วยเดินดูแลใกล้ชิดแล้วก็พามาร้องรำเล่นสนุกรอบกองไฟ  พอทำกิจกรรมนี้เสร็จ
 ทุกคนพากันกลับเต็นท์กันอย่างเหนื่อยอ่อน  หลับได้ก็พากันหลับยาวไปจนถึงเวลาเช้าตรู่
เด็กหญิงเข้านอนเป็นคนสุดท้ายเพราะรอให้ปวดปัสสาวะจะได้ถ่ายเบาก่อนหลับ
ขณะที่กำลังจะไปทำภารกิจนั้น  ได้หยิบกระติกน้ำซึ่งอยู่ก้นกระเป๋าออกมาและสังเกตเห็นรอยเปื้อน  จึงนำไปล้างและแขวนไว้ใต้กิ่งไม้พุ่มเตี้ย
เช้าวันต่อมา ลูกเสือเนตรนารีถูกกำหนดให้เดินทางไกลก่อนกลับบ้าน  เมื่อทำอาหารเช้าทานกันเสร็จแล้ว  คนในแค้มป์นั้นก็รีบรุดหน้าไปยังจุดที่แขวนชุดเครื่องแบบเพื่อนำมาสวมใส่ เด็กหญิงทำผ้าผูกคอร่วงตรงหน้าที่พัก พอเนตรนารีคนอื่นเห็นมีผ้าตกอยู่ตรงนั้น
ก็กลับนำผ้าผืนนั้นไปผูกเสาหน้าเต๊นท์โดยไม่ถามหาเจ้าของ
เสียงนกหวีดเรียกเข้าแถวเสียง “ ปิ๊ด ปี้ ปิ๊ด ”ดังขึ้น ทุกคนวิ่งไปตามทิศทางของเสียงนั้น เด็กหญิงวิ่งรั้งท้ายเพราะมัวแต่หาผ้าผูกคอหาแต่ก็หาไม่เจอก็นึกไปว่า คงมีคนเก็บไว้ให้ ก่อนจะวิ่งตามไปเข้าแถวสังเกตว่าใต้พุ่มไม้ไม่มีกระติกน้ำใบนั้นแล้วแต่ไม่มีเวลาถามใครเสียแล้ว
เหล่าลูกเสือยืนเรียงแถวเรียบร้อยปกคลุมสนามซีกหนึ่งอีกซีกหนึ่งเป็นเนตรนารียืนเรียงแบบเดียวกัน ใครแต่งตัวไม่เรียบร้อยต้องออกมายืนรับโทษหน้าแถว  เด็กหญิงถูกผู้กำกับฯสั่งให้ทำท่าวิดน้ำไปหลายทีโทษฐานแต่งเครื่องแบบไม่ครบชุด
พอเลิกแถวก็ถูกผู้ช่วยผู้กำกับฯเรียกมาว่ากล่าวเรื่องนี้  ทั้งอายทั้งงุนงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ผ้าผูกคอหายไปไหน  แล้วกระติกน้ำล่ะใครเอาไป  ครุ่นคิดตลอดทางที่เดินกลับที่พัก  หูก็ได้ยินเสียงผู้กำกับฯประกาศผ่านทางลำโพง “ ขอให้ทุกคนช่วยเหลือสามัคคีกัน ช่วยกันถือของกินของใช้ อย่าเกี่ยงงอนว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา เราทุกคนจะไปทานอาหารร่วมกันที่ปลายทางข้างหน้า  ขอให้อดทนต่อความเหนื่อยยาก ร่วมใจกันเดินทางไกล ระหว่างทางจะได้พบผู้ช่วยผู้กำกับยืนรอตรวจดูความเรียบร้อยเป็นระยะ ”
เมื่อเด็กหญิงเดินเข้าใกล้แค้มป์  เต็นท์ก็ถูกเก็บเรียบร้อยแล้ว ทุกคนเข้าแถวเตรียมเดินทางได้ทันทีในมือข้างหนึ่งถือสัมภาระไว้  หัวหน้าหมู่ส่งถุงขนมมาให้ถือพลางบ่น “ให้เธอถือของที่เบาที่สุดแล้วนะ  มัวทำอะไรชักช้าอืดอาด
” ขณะนั้น เด็กหญิงเห็นว่าที่เสาไม้เล็กๆยังคงมีผ้าผูกคอแขวนไว้ไม่มีใครเอาไป  ผ้าผืนนั้นไม่ใช่ของใครนอกจากของเด็กหญิงเองนั่นแหละจึงไปหยิบมาผูกคอ และได้พบว่าที่คอของรุ่นพี่คนหนึ่งมีกระติกน้ำของตนแขวนไว้
" อะไรกันนี่ รุ่นพี่ห้อยกระติกของเรานี่หว่า  ขณะที่รู้สึกข้องใจ  หัวหน้าหมู่ก็พูดกำชับ “ ไปเข้าแถวได้แล้ว อืดอาดยืดยาดอยู่คนเดียว
ทั้งหมู่นี่ เขารอเธอคนเดียวเท่านั้น ไม่ต้องคิดอะไรแล้ว ทุกคนได้ถือของกันทั้งนั้น ”  แล้วก็ถือไม้ง่ามเดินนำหน้าหมู่คณะ
เด็กหญิงตัดใจเข้าแถวรั้งท้ายเดินตามไป
ระยะทางเดินไปกลับ16กิโลเมตร  ทั้งไกลทั้งร้อน เดินไปก็อายไปว่าใครเห็นเราเดินโดยไม่สะพายกระติกคงพากันเข้าใจผิดอยู่อย่างนั้นว่าเราขาดความรับผิดชอบต่อตนเองแน่เลย  ถึงไม่ได้เอากระติกมาด้วย  ครั้นพอหิวน้ำก็จำใจต้องขอน้ำคนอื่น  ใครถูกร้องขอก็ส่งกระติกให้ดื่มด้วยท่าทีให้อย่างเสียไม่ได้
เด็กหญิงข้องใจว่า พวกรุ่นพี่คงจะรู้ว่ากระติกน้ำนั้นเป็นของตนแน่นอนไม่เช่นนั้นจะมีใครเอาไปวางไว้ใต้ต้นไม้ในเมื่อทุกคนยกเว้นรุ่นพี่คนนั้นสะพายกระติกกันทุกคน เเล้วทำไม ตนขอน้ำเพราะถูกพรากของใช้ไปไม่ใช่หรือ  สู้อุตส่าห์ไม่โวยวาย
แต่ทำไมถึงได้แสดงท่าทีเย็นชาขนาดนี้  ถ้าไม่กระหายน้ำจริงๆก็ไม่ขอใครหรอก
พี่คนนั้นก็เหลือเกิน เอากระติกน้ำคนอื่นไปสะพายได้อย่างไร
เเล้วนึกหวั่นใจว่า " แต่เอ๊ ถ้าเขาเกิดสวมรอยเป็นเจ้าของกระติกขึ้นมาล่ะ  เราจะยืนยันว่าเป็นของเราได้ละหรือ  ข้าวของเครื่องใช้ของใครๆก็ไม่มีการเขียนชื่อคนเป็นเจ้าของไว้อยู่แล้ว "
เด็กหญิงต้องทนทุกข์ทรมานกับความลำบากยากแค้นทางกายและความคับข้องใจอย่างมากในขณะเดินทางไกลหัวหน้าหมู่ก็หันมาเตือนให้เร่งฝีเท้าตามทุกคนให้ทัน  รู้สึกว่าเดินเท่าไรก็ไม่ถึงที่หมายสักที และทุกครั้งที่เห็นผู้ช่วยผู้กำกับฯยืนตามจุดต่างๆเพื่อตรวจดูความเรียบร้อยของเหล่าลูกเสือเนตรนารีก็ได้เเต่หวังว่าจะถูกถามหากระติกแต่ก็ไม่มีใครเอ่ยทัก
ก่อนการเดินทางไกลจะเสร็จสิ้น  หัวหน้าหมู่ทนเห็นความงุ่มง่ามของเด็กหญิงไม่ไหวเลยบอกให้เด็กหญิงหยุดเดินรั้งท้ายแล้วไปนั่งพักในรถสองแถวที่ทางผู้กำกับฯจัดไว้ให้แก่ลูกเสือเนตรนารีที่เดินต่อไปไหมไหว
เมื่อการเดินไทยไกลสิ้นสุดลง  ทุกคนเก็บของเตรียมตัวกลับ รุ่นพี่ก็ยังคงแขวนกระติกน้ำนั้นอยู่ ไม่มีทีท่าจะส่งคืนให้ตน เด็กหญิงจึงร้องขอ เลยรู้ว่าพี่คนนั้นก็ไม่รู้เช่นกันว่าสิ่งที่ตนครอบครองอยู่ แท้จริงเป็นของรุ่นน้อง เรื่องของเรื่องคือว่า
รุ่นพี่ได้เห็นกระติกน้ำติดอยู่ที่กิ่งไม้พุ่มเตี้ยก็นึกฉงนกันว่า  “ เมื่อคืนนี้ใครเอากระติกน้ำมาแขวนไว้ ”เมื่อนึกหาที่มาที่ไปไม่ได้ก็ยิ่งพากันฉงนฉงาย แล้วใครคนหนึ่งก็ลองตั้งคำถามเป็นอย่างอื่นขึ้นมา“ มันอาจจะอยู่ที่นี่ก่อนที่เราจะมาตั้งแค้มป์เสียอีก  แต่เราไม่ทันสังเกตว่ามีมันอยู่ตรงนี้ เลยเพิ่งได้เห็นกันตอนนี้เอง เป็นไปได้ไหม ”
ทั้งๆที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ  แต่ทุกคนที่ร่วมรับรู้กลับลองจินตนาการกันต่อ แล้วเห็นว่ากระติกน้ำใบน้อยนี้น่าจะเป็นของเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาที่มาพักแรมรุ่นก่อนวางแขวนไว้แล้วลืมเอากลับ
เป็นความคิดเห็นที่ใช้ไม่ได้  แต่เมื่อไม่มีใครตอบได้ว่าใครก็ไม่รู้นำมาแขวนไว้คงจะเมื่อคืนนี้   ก็เลยลองเปลี่ยนมุมมอง  และเมื่อมีเนตรนารีกลุ่มเดียวกันไม่ได้พกกระติกน้ำมาด้วย  เพื่อนๆก็ลุ้นให้หยิบสิ่งที่ทึกทักกันเองว่าเป็นของลืมไปใช้
 ซ้ำยังคิดเห็นตรงกันอีกว่า จะไม่รีบบอกเล่าเรื่องนี้ให้ใครรู้เพราะกลัวว่า
จะมีคนสวมรอย ตู่ว่าตนเป็นเจ้าของ
ใครบางคนแสดงความคิดเห็น “ไม่แพร่งพรายเรื่องนี้ดีกว่า  รุ่นน้องคนนั้นน่ะ
ไม่ได้เอากระติกน้ำมาแน่นอน แต่เขาก็ไม่เคยพูดออกมานะว่าลืมเอามา ถ้าขีนกระโตกกระตากเรื่องนี้ เขาอาจสวมรอยแสดงตัวเป็นเจ้าของ  เราก็ต้องเสียกระติกให้เขาไป  เราไม่ได้มองเขาแง่ร้ายนะ  แต่ของแบบนี้ ใครๆก็ตู่ได้  ของตกหายใครเจอก็ถือได้ว่า เป็นของสาธารณะ ไม่ถือว่าเป็นของใคร
การกระทำโดยพลการเยี่ยงนี้ เป็นเรื่องไม่ถูกไม่ควร  แต่ถ้าของนั้นเจ้าของไม่น่าจะตามหาแล้ว  คนมากมายดูจะถือเสียว่าเป็นของสาธารณะ  ใครๆก็มีสิทธิ์เอามาถือครอง ยิ่งสิ่งนั้นมีประโยชน์มากก็ถือว่าสิ่งที่เจอนั้นเป็นปรากฏการณ์เล็กๆแบบ ส้มหล่น  เสมือนได้เจอผลไม้ที่สุกจนร่วงจากต้นแล้วหยิบกินได้เลย
การสืบหาความจริงก็เป็นเรื่องไม่จำเป็น เข้าตำรา เฉยไว้แล้วจะดีเอง
เด็กหญิงที่ไม่ได้สะพายกระติกไว้ ก็ถูกเข้าใจผิดต่อไปว่าไม่ได้นำกระติกน้ำมา
ผู้ช่วยผู้กำกับฯที่ยืนคอยเหล่าลูกเสือเนตรนารีตามจุดต่างเห็นว่าเด็กหญิงไม่ได้สะพายกระติกน้ำ ก็นึกสงสารไม่อยากเอ็ดกล่าวโทษ เข้าใจว่า เจ้าตัวคงลำบากมากในเวลากระหายน้ำก็พูดเพียงว่า ถ้าใครขาดแคลนน้ำดื่ม ก็ขอให้แบ่งปันกันไปและคิดไปก่อนว่าความผิดพลาดเลินเล่อของเด็กหญิง   ย่อมจะเป็นบทเรียนสอนเจ้าตัวให้รู้จักการเตรียมพร้อมไปโดยปริยาย
ดูเหมือนว่า เมื่อมีเรื่องไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น  คนไทยไม่น้อยชอบคิดสรุปเอาเองมากกว่าแสวงหาคำตอบหรือตั้งคำถาม  นิยมเชื่อมโยงเรื่องต่างๆที่เคยได้ยินได้ฟังมาประสมปนเปปรุงแต่งเป็นเรื่องราว  พอคนฟังคล้อยตามคิดทำนอง “ เอ้อ เป็นไปได้ ” ก็มักกลายเป็นสมมุติฐานขึ้นมาง่ายๆถูกบ้างผิดบ้างตามสติปัญญาของคนมโนร่วมกับวิจารณาญาณของผู้ฟัง
แต่การตัดสินง่ายๆเช่นนี้บางครั้งผลที่เกิดขึ้นภายหลังก็ใช่ว่าจะเป็นเลวร้ายเสมอไป  ผลเป็นเช่นไรกลับแล้วแต่บริบทจะพาไป
เมื่อรุ่นพี่และเพื่อนๆได้รู้ว่ากระติกน้ำใบน้อยเป็นของเด็กหญิง ก็เกิดความสงสารเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันขึ้นมา  “ โธ่เอ๊ย เขาคงเจียมเนื้อเจียมตัวว่าไม่มีเพื่อน 
เลยไม่ปริปากโวยวายเรื่องนี้ เท่าที่เห็นมา เขาก็เป็นคนดูซื่อๆอยู่นะ ”
หลังจากนั้น เพื่อนฝูงก็เริ่มให้ความสนใจหยิบยื่นมิตรภาพให้  เด็กหญิงเกือบไม่ถูกใครบูลลี่อีก และยังมีเพื่อนบางคนแสดงทีท่าว่าพร้อมจะให้การปกป้อง
แต่ก็แน่นอน เมื่อเจอปัญหา คนเราพึงยืนหยัดรับมือกับสิ่งนี้ด้วยตนเอง ต้องรู้จักตอบโต้คนอื่น
ผู้เขียนเชื่อว่า ความรู้สึกของผู้ถูกบูลลี่นั้นย่อมจะมีความไม่พอใจต่อผู้กระทำและการกระทำอย่างรุนแรงก็มักเห็นว่า ฝ่ายตรงข้ามนั้นเลวทรามต่ำช้า ความรู้สึกไม่ดีเช่นนี้ย่อมติดอยู่ในใจเข้าตัวผู้คิดเองจนอาจกลายเป็นคนจิตตกมองโลกในแง่ร้ายขึ้นมา  ส่งผลเลวมากกว่าการถูกกลั่นแกล้งดูถูกดูแคลนเสียอีก
เด็กหญิงเริ่มมองโลกในแง่ดีแต่ก็ได้เห็นว่า หลายคนนิยมการมโนแบบคิดง่าย
ไม่เห็นกระติกน้ำก็กลับคิดว่า มันมีแต่ไม่ได้สังเกตเห็นกัน  ก็เลยไม่มองไม่เห็น แล้วก็นึกสงสัยแคลงใจว่าจะเป็นเรื่องเล่าปากต่อปากหรือข้อสรุปรวมถึงประวัติความเป็นมาที่ได้ถ่ายทอดเขียนไว้ในสิ่งพิมพ์ทั้งตำราเรียน และหนังสือต่างๆ มีความน่าเชื่อถือได้เพียงไร  เรื่องราวต่างๆ ก็มักมีหลักฐานใหม่ๆมาโต้แย้งกับอยู่เนืองๆข้อสรุปเดิมอยู่เนืองๆ
เมื่อรู้สึกฉงนสนเท่ห์ว่า แล้วในสังคมยุคข้อมูลข่าวสารนี้  คนไทยที่ชอบการมโนจะปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้มีเหตุผลมากขึ้นได้เพียงไร พฤติกรรมคนไทยจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง นึกถึงวันคืนเก่าๆแล้ว อดีตเด็กหญิงคนนั้นเลยต้องจิ้มตัวอักษรในคีบอร์ดเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของตนเองมาเล่าสู่กันฟัง
โฆษณา