26 พ.ย. 2023 เวลา 12:00 • ข่าวรอบโลก

ทีวีสตรีมมิ่งกวาดยอดผู้ชมไปกว่า 40%

สังเกตตัวเองไหมว่าทุกวันนี้เราแทบไม่ได้ดูรายการในช่องดิจิทัลทีวีอีกต่อไปแล้ว แต่หันไปดูคอนเทนต์ซีรีส์ ภาพยนตร์ และรายการต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งอย่าง HBO, Netflix, Disney+, Prime Video และอื่นๆ อีกมากมายแทน
.
ในสหรัฐอเมริกาได้มีการเก็บตัวเลขสัดส่วนบัญชีสตรีมมิ่ง คิดเป็นเกือบ 40% ของการรับชมทั่วประเทศ ทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจยุค Platform Economy กำลังเติบโต เริ่มจากความสำเร็จของการสตรีมคอนเทนต์แบบ all-you-can ของ Netflix ทำให้การบริโภคทีวีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้สัดส่วนของผู้ใช้บริการแบบวิดีโอสตรีมมิ่งสูงกว่าการรับชมตามเวลาออกอากาศแบบเดิม เพราะผู้ชมสามารถเลือกรับชมเฉพาะคอนเทนต์ที่ตัวเองสนใจได้ในเวลาที่ต้องการ
.
จากข้อมูลของ Nielsen's The Gauge รายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูทีวีในสหรัฐอเมริกา พบว่ายอดบริการสตรีมมิ่งแซงหน้าเคเบิลทีวีเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2022 โดยคิดเป็นร้อยละ 34.8 ของการบริโภคทีวีรายวัน นับแต่นั้นมาส่วนแบ่งการรับชมทีวีแบบสตรีมมิ่งก็เพิ่มขึ้นไม่หยุด โดยในเดือนกรกฎาคม 2023 สูงสุดที่ร้อยละ 38.7 (ลดลงเล็กน้อยเป็นร้อยละ 37.5 ในเดือนกันยายน เพราะเป็นช่วงเปิดฤดูกาลอเมริกันฟุตบอล NFL)
.
เมื่อแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเติบโตเข้ามาชิงพื้นที่ตลาดส่วนใหญ่ บริษัทผลิตสื่อและคอนเทนต์ทีวีเดิมก็ต้องปรับเปลี่ยนตามวงการสตรีมมิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้บริโภคมีแพลตฟอร์ม OTT ให้เลือกเพิ่มมากมายเช่นกัน
ไม่ว่าจะสายเสพคอนเทนต์ภาพยนตร์และซีรีส์ ก็จะมี Netflix ที่ยังยืนหนึ่ง, Disney+ และ hulu ซึ่งเป็นช่องลงคอนเทนต์อีกด้านของดิสนีย์ (ที่ค่อนข้างไม่เหมาะกับเยาวชน), Prime Video, HBO MAX, Apple TV+ ฟากเอเชียมี VIU, WETV, IQIYI, YOUKU หรือตัว YOUTUBE premium เองก็ตาม และ GagaOOLala แหล่งรวมคอนเทนต์วายและเควียร์จากทั่วโลก
.
ด้านสารคดีมี Discovery+, CuriosityStream, WaterBear, และแม้แต่ NASA ยังมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเองชื่อ NASA+ ให้บริการคอนเทนต์สารคดีและถ่ายทอดสดการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ แบบฟรีไม่มีโฆษณา ด้านกีฬามี ESPN+, และ DAZN ช่องชมรายการอเมริกันฟุตบอลซึ่งเหลือเพียงการแข่งขันกีฬาแบบชมสดเรียลไทม์เท่านั้นที่ยังได้ส่วนแบ่งการรับชมบนเคเบิลทีวีอยู่
.
สำหรับประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยก็หันมานิยมรับชมคอนเทนต์บนสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มมากขึ้นเช่นกัน โดยเริ่มมีบริการสตรีมมิ่งของไทยเกิดขึ้น อาทิ AIS PLAY, TrueID และช่องดิจิทัลทีวีเดิมที่เพิ่มบริการวิดีโอสตรีมมิ่งด้วยอย่าง ช่อง 3Plus, OneD, VIPA เป็นต้น โดยในหลายปีที่ผ่านมามีคนไทยกว่า 26 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากร ได้รับชมคอนเทนต์ทางแพลตฟอร์ม OTT โดยแต่ละคนใช้เวลารับชมกันประมาณ 1-3 ชั่วโมงต่อวัน และมีจำนวนกว่า 92% ที่รับชมมากกว่า 1 แพลตฟอร์ม
.
จากการวิเคราะห์ตลาด OTT Streaming Platform ในประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่ามีการรับชมบนสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มเติบโตขึ้น โดยคาดว่าภายในปี 2566 จะมียอดคนไทยดูสตรีมมิ่งเพิ่มขึ้น 2.10 ล้านราย คิดเป็น 3.04% ของประชากรไทยทั้งหมด และทั่วโลกดู Streaming 968.32 ล้านราย คิดเป็น 12.10% ของประชากรทั้งโลก
.
และจากผลสำรวจโดยบริษัท มาร์เก็ตเมทริกซ์ เอเชีย จำกัด พบว่ามี 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดดบน Streaming Platform มากที่สุด โดยเป็นการสร้างสรรค์คอนเทนต์ในกลุ่มดังนี้
1. กลุ่มบันเทิง : ภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ เพลง รายการวาไรตี้
2. กลุ่มนันทนาการ : การแข่งขันกีฬา รายการกีฬา รายการท่องเที่ยว รายการไลฟ์สไตล์ เกม e-Sport
3. กลุ่มสาระ : ข่าว การศึกษาและความรู้ทั่วไป รายการที่เกี่ยวกับการฝึกอบรมและการพัฒนาตัวเอง รายการทำอาหาร รายการสอนด้านธุรกิจ
.
จึงนับได้ว่าถึงเวลาของการเปลี่ยนผ่านวิถีการบริโภคคอนเทนต์จากทีวีไปสู่ดิจิทัลออนไลน์อย่างเต็มตัวแล้ว ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย จึงจำเป็นต้องศึกษาโอกาสสำหรับการสร้างคอนเทนต์บน Streaming Platform เพื่อให้ตอบโจทย์เป้าหมายเชิงเศรษฐกิจได้ต่อไปอีกด้วย
.
.
#Humanitas #TVBG #StreamingPlatform #ContentonDemand #OTT
โฆษณา