25 พ.ย. 2023 เวลา 12:29 • ธุรกิจ
สุราษฎร์ธานี

ไขข้อสงสัย “Soft Power”

คำว่า Soft Power นี้ คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ยังมิได้บัญญัติคำแปลในภาษาไทยอย่างเป็นทางการ แต่มีนักวิชาการบางท่านใช้คำแปลว่า “อำนาจละมุน”
### โค้ชเอ็กซ์ ภูมิพัฒน์ ธารายศ ประธานที่ปรึกษาธุรกิจอุตสาหกรรม ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ ผู้ก่อตั้ง บริษัท มาคับโค้ช (ไทยแลนด์) จำกัด นำเสนอนิยามไว้ ดังนี้
🔵 Soft Power (ซอฟต์พาวเวอร์) คือ พลังอำนาจชี้นำ ผู้คนหมู่มาก (Macro Population) ที่เกิดจากการสร้างชุดข้อมูล ข่าวสาร จากวัตถุประสงค์หนึ่งหรือหลายวัตถุประสงค์ในรูปแบบยุทธศาสตร์ (Politics and governance of the country Strategy) ผ่านการสื่อสารอย่างมีระบบ (Organizing brand Communication)
โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการรับรู้ สู่การมีส่วนร่วม ทำตาม เกิดเป็นความเชื่อ ความศรัทธา ความต้องการเป็นเจ้าของ (Loyalty) นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม ความคิด องค์ความรู้ และ กิจวัตร โดยปราศจากการถูกบังคับ ข่มขู่ และ ว่าจ้าง (Behavioral changes are routine without being forced, intimidated, and hired) อย่างไม่มีเงื่อนไขและข้อกังขา จากการบังคับให้จำยอมหรือการให้ผลตอบแทน
🔵 Soft Power (ซอฟต์พาวเวอร์) ภายใต้แนวทางของรัฐบาลไทย กับแนวคิด “OFOSP (One Family One Soft Power) 1 ครอบครัว 1 พลังอำนาจชี้นำ” อาจวางแนวทางการสร้างพลังชี้นำที่ต้องการ ให้เกิดผลการทบคาดหวังผ่านแนวคิดการสร้างแรงกระเพื่อม (Water ripple concept) โดยแบ่งผลกระทบของพลังอำนาจชี้น้ำในระดับตามกลุ่มประชากร (Population Structure Level) ได้ดังนี้
1.ระดับครอบครัว (Family ripple Level)
2.ระดับชุมชน (Community ripple Level)
3. ระดับประเทศ (National ripple Level)
4. ระดับระหว่างประเทศ (International ripple Level)
ซึ่งทั้ง 4 ระดับ มีตัวชี้วัดพลังอำนาจชี้นำ ผ่านการดำเนินงาน หวังผลให้เกิดผลกระทบใหญ่หรือเล็ก ซึ่งสามารถเริ่มต้นการสร้างกระแส (Trend) จนเป็นกระแสยั่งยืน (Mega Trends) และ ส่งต่อเป็นอำนาจชี้นำ (Soft Power) ในมิติต่างๆ ตามเป้าประสงค์ของผู้สร้าง Soft Power ประเด็นนั้น ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่กำหนด
.
### Wikipedia, the free encyclopedia
=======================
ซอฟต์พาวเวอร์ (อังกฤษ: soft power) หรือ มานานุภาพ หรือ พลังเย็น ในวิชาการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หมายถึง ความสามารถในการดึงดูดและสร้างการมีส่วนร่วม โดยไม่ต้องบังคับหรือให้เงิน ในปัจจุบันใช้ในกรณีของการเปลี่ยนแปลงและสร้างอิทธิพลต่อความคิดของสังคมและประชาชนในประเทศอื่น โดยอาศัยทรัพยากรพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ
ได้รับการอธิบายไว้เป็นครั้งแรกโดยโจเซฟ เนย์ (Joseph Nye) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
.
### กองทุนพัฒนาสื่อ ปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ
========================
“Soft Power” หมายถึง การใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม การกิน การดื่ม วิถีชีวิต หรือความเชื่อ นำเสนอผ่านสื่อ หรือผลงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อโน้มน้าวใจ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด หรือพฤติกรรมความชอบให้หันมาสนใจสิ่งเหล่านี้กันมากขึ้น
.
### สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร สำนักวิชาการ
======================
Soft Power แปลว่า “อำนาจละมุน”
.
### สว.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ
======================
มีการเสนอให้ใช้คำว่า “ภูมิพลังวัฒนธรรม” ในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังไม่มีการระบุคำที่ใช้แทนอย่างแน่ชัด ส่วนใหญ่จึงนิยมใช้คำทับศัพท์ว่า “ซอฟต์พาวเวอร์”
.
### Joseph S. Nye Jr.
======================
@Joseph S. Nye Jr. อดีตคณบดีของสถาบัน Kennedy School of Government แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่สร้างนิยามของคำว่า "Soft Power" เป็นคนแรก โดยเขาได้เขียนบทความที่มีชื่อเรียบง่ายว่า "Soft Power" เผยแพร่ในวารสาร Foreign Policy ในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) หากคุณผู้อ่านมีความสนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือที่ชื่อว่า "Soft Power and American Foreign Policy"
โดยนิยาม ของ Nye ได้ระบุเอาไว้ว่า "Soft Power คือ พลังที่สามารถส่งผลกระทบต่อความต้องการทรัพยากรที่ไม่สามารถจับต้องได้ เช่น วัฒนธรรม, อุดมการณ์ หรือความเชื่อที่มีต่อสถาบันต่าง ๆ" "โดยรัฐสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ด้วยการออกนโยบายส่งเสริมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้รัฐ หรือประเทศอื่นยอมรับในความต้องการนั้นได้"
========================
🔴🔴
ที่มาของ soft power
🔴🔴
========================
Nye (2004) ระบุว่า แหล่งทรัพยากรสำคัญที่เป็นที่มาของ soft power นั้นประกอบไปด้วย 3 แหล่ง ได้แก่
1. วัฒนธรรม (culture) ถ้าวัฒนธรรมของประเทศหนึ่งมีความสอดคล้องกับผลประโยชน์และค่านิยมของประเทศอื่นๆ โอกาสที่วัฒนธรรมดังกล่าวจะกลายเป็น soft power ของประเทศนั้นก็จะมีมากขึ้น ช่องทางที่ทำให้วัฒนธรรมของประเทศหนึ่งเป็นที่รู้จักในประเทศอื่นๆนั้นมีมากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการค้า การเยี่ยมเยือน การติดต่อสื่อสาร และการแลกเปลี่ยน
2. ค่านิยมทางการเมือง (political values) ถ้าประเทศดังกล่าวมีค่านิยมทางการเมืองที่สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ soft power ของประเทศนั้นจะเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันถ้าค่านิยมของประเทศดังกล่าวขัดกับค่านิยมของประเทศอื่นๆอย่างชัดเจน soft power ของประเทศนั้นก็จะลดลง ตัวอย่างเช่น การที่สหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1950 ยังคงมีการแบ่งแยกสีผิว (racial segregation) ทำให้ soft power ของสหรัฐอเมริกาในทวีปแอฟริกานั้นมีน้อย เป็นต้น
3. นโยบายต่างประเทศ (foreign policies) ถ้าประเทศหนึ่งดำเนินนโยบายที่หน้าไหว้หลังหลอก (hypocritical) ก้าวร้าว และไม่แยแสต่อท่าทีของประเทศอื่นๆ โอกาสที่จะสร้าง soft power จะมีน้อย ดังเช่นกรณีของสหรัฐอเมริกาที่บุกยึดอิรักใน ค.ศ. 2003 โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของประเทศอื่นๆ เป็นต้น แต่ถ้าประเทศดังกล่าวมีแนวนโยบายต่างประเทศที่รักสันติภาพและเคารพในสิทธิมนุษยชน โอกาสที่จะสร้าง soft power ให้เกิดขึ้นจะมีมาก
@Nye (2004) ได้เสนอว่า เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ soft power บรรลุผลในทางปฏิบัติก็คือสิ่งที่เรียกว่า การทูตสาธารณะ (public diplomacy) ซึ่งหมายถึงปฏิสัมพันธ์ที่มิได้พุ่งเป้าไปที่รัฐบาลของต่างประเทศ หากแต่พุ่งเป้าหมายหลักไปยังปัจเจกบุคคลและองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งนอกจากจะเป็นไปเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศของตนเองแล้ว ยังมุ่งหวังที่จะสร้างบรรยากาศอันดีในระยะยาวเพื่อรองรับนโยบายต่างประเทศที่จะตามมาในอนาคตอีกด้วย โดยการทูตสาธารณะสามารถแบ่งออกเป็น 3 มิติ ได้แก่
1. การสื่อสารประจำวัน (daily communications) ใช้เพื่ออธิบายการตัดสินใจด้านนโยบาย เช่น การแถลงข่าวหรือนโยบายของรัฐบาลต่อสื่อสารมวลชนทั้งในและต่างประเทศ (press conference) หรือการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อการแถลงจุดยืนหรือท่าทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือวิกฤตการณ์ เป็นต้น
2. การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ (strategic communications) ซึ่งออกมาในรูปของการรณรงค์ (campaign) เชิงสัญลักษณ์ โดยมีการกำหนดแนวเรื่อง (theme) ของการรณรงค์ดังกล่าว ดังเช่นในทศวรรษ 1990 ที่บริติช เคาน์ซิล (The British Council) ได้พยายามส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศอังกฤษว่าเป็นดินแดนที่มีความทันสมัย สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และยอมรับการดำรงอยู่ของสังคมแบบพหุชาติพันธุ์ เป็นต้น
3. การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนผ่านบุคคลสำคัญ (the development of lasting relationships with key individuals) โดยอาศัยช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนการศึกษา การแลกเปลี่ยนบุคลากร การฝึกงาน การสัมมนา การประชุม การพบกันระหว่างสื่อมวลชน การฝึกซ้อมทางทหารร่วมกัน การให้ความช่วยเหลือทางทหารในยามสันติ ฯลฯ
.
@Melissen (2005) ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารและข้อมูลข่าวสารนั้นพัฒนาไปมากจนทำลายเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสิ่งที่เรียกว่าการทูตสาธารณะ (public diplomacy) ซึ่งเน้นกลุ่มผู้รับสารภายนอกประเทศ กับ กิจการสาธารณะ (public affairs) ซึ่งเน้นกลุ่มผู้รับสารภายในประเทศ ด้วยเหตุที่โลกของเรามีลักษณะเชื่อมโยงกัน (interconnected)
เช่นนี้ทำให้บางครั้งการดำเนินการทูตสาธารณะสามารถกระทำผ่านกลุ่มผู้รับสารภายในประเทศได้ ดังเช่นที่กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษในปัจจุบันมักจะชี้แจงนโยบายต่างประเทศของตนที่มีต่อภูมิภาคตะวันออกกลางผ่านองค์กรมุสลิมสายกลางในอังกฤษ เป็นต้น
@Melissen (2005) ได้เปรียบเทียบการทูตสาธารณะ และแนวคิดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง (public diplomacy) กับแนวคิดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
1. การโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) แม้ว่าการโฆษณาชวนเชื่อจะมีจุดประสงค์เดียวกับการทูตสาธารณะ นั่นคือการชักจูงให้ผู้รับสารคิดเห็นไปในทางเดียวกับผู้ส่งสาร
หากแต่ความแตกต่างที่สำคัญอยู่ตรงที่ว่า การโฆษณาชวนเชื่อนั้นมักจะออกมาในรูปของการสื่อสารทางเดียว (one-way messaging) คือจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร และพยายามทำให้ผู้รับสาร “เชื่อ” โดยไม่ต้องไตร่ตรองอย่างมีอิสระ หากแต่การทูตสาธารณะนั้นจะเป็นการสื่อสารสองทาง (two-way street) ที่จะมีการสื่อสารไปมาระหว่างผู้ส่งสารกับสาธารณชนในต่างประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ผู้รับสารได้ “คิด” อย่างมีอิสระมากกว่า
2. การสร้างตราแห่งชาติ (nation-branding) แม้ว่าการสร้างตราแห่งชาติจะมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศเช่นเดียวกันกับการดำเนินการทูตสาธารณะ
หากแต่สองสิ่งนี้มีจุดเน้นที่ต่างกัน การทูตสาธารณะจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่จำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะบางประเด็น เนื่องด้วยผู้ดำเนินการทูตดังกล่าวตะหนักดีว่า ในปัจจุบันการสื่อสารระหว่างประเทศมีผู้แสดงและระดับชั้นที่มากมายหลากหลาย โดยที่รัฐไม่สามารถผูกขาดการสื่อสารระหว่างประเทศได้อีกต่อไป ในขณะที่การสร้างตราแห่งชาติมุ่งเน้นการส่งเสริมภาพลักษณ์แบบองค์รวม (holistic approach) เพื่อปรับเปลี่ยนการรับรู้ (perception) เกี่ยวกับประเทศนั้นๆในทุกด้าน
อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าการสร้างตราแห่งชาติกับการทูตสาธารณะนั้นมีลักษณะที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน (complementary) อยู่มากพอสมควร
3. ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ (foreign cultural relations) ปัจจุบันขอบเขตของความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศและการทูตสาธารณะนั้นมีความเหลื่อมซ้อนกันอยู่มาก เนื่องจากความหมายของคำว่า “ ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ” มิได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องของศิลปะวัฒนธรรม (art and culture) อีกต่อไป
หากแต่ยังขยายมาครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนความคิด การวิจัย การสื่อสารมวลชน และวิวาทะแห่งชาติ (national debate) อีกด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเอาชนะใจ (winning hearts and minds) และสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาของนานาประเทศในระยะยาว ซึ่งการทูตสาธารณะก็มีจุดประสงค์ที่ไม่ต่างกัน
🔵🔵 เขียนและเรียบเรียงโดย 🔵🔵
ภูมิพัฒน์ ธารายศ (โค้ชเอ็กซ์) ประธานที่ปรึกษาธุรกิจอุตสาหกรรม ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ ผู้ก่อตั้ง บริษัท มาคับโค้ช (ไทยแลนด์) จำกัด ### เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.30 น.
โฆษณา