26 พ.ย. 2023 เวลา 00:01 • ธุรกิจ

ถ้าพูดคำว่า “หน้างอ คอหัก” คงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจาก “ปลาทูแม่กลอง”

ปลาทูที่ว่ากันว่าอร่อยที่สุดในประเทศ เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 4 ของ จ.สมุทรสงคราม ต่อจากส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม, ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม, และพริกบางช้าง
ปลาทูแม่กลอง มีชื่อภาษาอังกฤษ คือ (Mae Klong Mackerel), (Pla To Mae Klong) และชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ (Rastrelliger brachysoma), (Rastrelliger Neglectus) มีลักษณะโดดเด่น คือ เป็นพันธุ์ปลาทูตัวแบนสั้น ลำตัวกว้าง มีแถบสีน้ำเงินแกมเขียวหรือแถบสีเหลืองอยู่ข้างลำตัว ครีบหางสีเหลืองทอง
อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลและอยู่ติดบริเวณปากน้ำแม่กลอง เป็นระบบนิเวศน้ำกร่อย มีการทับถมของตะกอนแม่น้ำและตะกอนน้ำทะเล มีความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารค่อนข้างมาก จึงทำให้ปลาทูแม่กลองมีรสชาติอร่อย เนื้อแน่น นุ่ม และมันมาก
โดยเฉพาะในช่วงปลายต.ค - ม.ค เนื้อจะมัน กินอร่อยมากเป็นพิเศษ เนื่องจากได้รับอิทธิพลความเย็นจากลมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีน ทําให้อุณหภูมิน้ำลดลง ปลาทูจึงต้องปรับตัวด้วยการสร้างไขมันขึ้นมาเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น
ส่วนที่มาของคำว่า “หน้างอ คอหัก” ปลาทูแม่กลองนั้น มาจากวิธีการทำปลาทูนึ่ง โดยก่อนนำไปต้มหรือนึ่ง จะหักคอปลาทูลงให้โค้งรับกับส่วนท้อง เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ท้องปลาแตก และใส่ได้พอดีกับขนาดเข่ง ซึ่งก่อนนำไปต้มหรือนึ่งจะมีการนำมาแช่น้ำเกลือเข้มข้นก่อน เพื่อช่วยรักษาผิวปลาทูให้ตึง ไม่ยุ่ย และท้องไม่แตกอีกด้วย
ว่ากันว่ารสชาติความอร่อยของปลาทูแม่กลองนั้น ไม่ได้เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในสมัยนี้ แต่เป็นที่นิยมกันมานานแล้ว โดยในบันทึกของหมอบรัดเลย์ แพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในกรุงรัตนโกสินทร์ได้กล่าวไว้ว่า คนไทยเริ่มรู้จักปลาทูอย่างแพร่หลายตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยร่ำลือว่าาเป็นสุดยอดแห่งปลาในอ่าวไทยตอนบน
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้มีการว่าจ้างนักชีววิทยาชาวอเมริกันมาเป็นที่ปรึกษากรมรักษาสัตว์น้ำ (กรมประมงในปัจจุบัน) เพื่อสํารวจพันธุ์ปลาต่างๆ ในไทย โดยมีหลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันทน์) เป็นผู้ช่วยและวาดภาพปลา ภาพวาดปลาทูภาพแรกในไทยจึงถือกำเนิดขึ้น
ด้วยชื่อเสียงโด่งดังด้านรสชาติและเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครของปลาทูแม่กลอง จึงมีการนำมาจัดเป็นงานประจำปีของจังหวัด “เทศกาลกินปลาทูที่แม่กลอง” โดยจัดมาแล้วถึง 24 ครั้ง ทำให้นอกจากชื่อเสียงปลาทูแม่กลองจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น ยังเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดให้เติบโตขึ้นอีกทางด้วย
เรียบเรียงข้อมูลจาก : กรมทรัพย์สินทางปัญญา
#ปลาทูแม่กลอง #สินค้าGI #ThaiGIProduct #sme #smethailand #เพื่อนคู่คิดธุรกิจเอสเอ็มอี #เรื่องธุรกิจต้องSMETHAILAND
โฆษณา