Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
CPD Academy
•
ติดตาม
28 พ.ย. 2023 เวลา 02:00 • ธุรกิจ
ค่าใช้จ่ายคืออะไร ต่างกับสินทรัพย์ยังไงบ้าง?
ในการทำงาน นักบัญชีมักเจอปัญหาเรื่องความเข้าใจผิดเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย และสินทรัพย์อยู่เสมอ เพราะสองรายการนี้มีความคล้ายกันตรงที่กิจการจ่ายเงินออกไป บางครั้งนักบัญชีอาจคิดว่าเป็นค่าใช้จ่ายทั้งๆ ที่เป็นสินทรัพย์ค่ะ
วันนี้เราจะมาเรียนรู้กันว่าค่าใช้จ่ายนั้น ต่างกับสินทรัพย์ยังไง และเมื่อไรเป็นค่าใช้จ่าย เมื่อไรเป็นสินทรัพย์นะ
ค่าใช้จ่ายคืออะไร?
ค่าใช้จ่ายคือ ต้นทุนที่เกิดขึ้นตามปกติธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ เราจะรับรู้ในงบกำไรขาดทุนในงวดที่เกิดรายการ เพราะค่าใช้จ่ายถือเป็นการบริโภคทันที เพื่อให้เกิดประโยชน์กับกิจการในทันที
ตามมาตฐานรายงานทางการเงินของไทยได้ให้นิยามค่าใช้จ่ายทางบัญชีไว้ดังนี้
ค่าใช้จ่าย หมายถึง การลดลงของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในรอบระยะเวลารายงาน หรือการลดค่าของสินทรัพย์หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้สิน ซึ่งส่งผลให้ส่วนของเจ้าของลดลง โดยที่ไม่รวมถึงการแบ่งปันให้กับเจ้าของ กิจการควรรับรู้ค่าใช้จ่ายเมื่อกิจการคาดว่าจะเสียประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต อันเนื่องมาจากการลดลงของสินทรัพย์หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้สิน และกิจการสามารถวัดมูลค่าของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างน่าเชื่อถือ (มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (ปรับปรุง 2565)
📌 ดังนั้น การเกิดขึ้นของค่าใช้จ่าย จะเกิดก็ต่อเมื่อ 1) สินทรัพย์ลดลง 2) หนี้สินเพิ่มขึ้น
ยกตัวอย่าง เช่น
บริษัทแห่งหนึ่งมีค่าเช่าพื้นที่ร้านค้า ในเดือนนั้นก็ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่หน้าร้านไปแล้ว ต้นทุนที่จ่ายไปสำหรับเดือนนี้จึงถือเป็นค่าใช้จ่าย ถูกบันทึกไว้ในงบกำไรขาดทุนในช่วงเวลาเดือนนั้นๆ ซึ่งการเกิดค่าใช้จ่ายประเภทค่าเช่าอาจเกิดจาก 2 รูปแบบ ดังนี้
เช่าพื้นที่ร้านค้าและจ่ายเป็นเงินสด
Dr. ค่าเช่า xx
Cr. เงินสด (สินทรัพย์ลด) xx
เช่าพื้นที่ร้านค้าแล้วติดหนี้ไว้ก่อน
Dr. ค่าเช่า xx
Cr. เจ้าหนี้ค่าเช่า (หนี้สินเพิ่ม) xx
📌 ค่าใช้จ่ายต่างกับสินทรัพย์ยังไง?
ก่อนหน้านี้เราเข้าใจกันแล้วว่าค่าใช้จ่ายคืออะไร มีความหมายยังไงบ้าง ต่อมาเราลองมาดูว่าแล้วสินทรัพย์ คืออะไร? กันแน่ ต่างกับค่าใช้จ่ายยังไง
สินทรัพย์ คือ ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการ ทรัพยากรดังกล่าวเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต
ยกตัวอย่าง เช่น
บริษัทที่ลงทุนในอาคารใหม่ ต้นทุนของอาคารถือเป็นสินทรัพย์เนื่องจากจะให้ผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตผ่านการใช้งานเป็นระยะเวลานาน ต้นทุนนี้จะรวมอยู่ในงบแสดงฐานะการเงินและคิดค่าเสื่อมราคาตลอดอายุการใช้งานของอาคาร
ดังนั้น จุดที่แตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างค่าใช้จ่ายกับสินทรัพย์ก็คือ การใช้ประโยชน์ เมื่อมีการใช้ประโยชน์ไปแล้วในงวดบัญชีนั้นๆ เราจะบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์ (เก็บไว้ใช้ในอนาคต) เรายังถือว่าเป็นสินทรัพย์ของธุรกิจ จะต้อง capitalize รายการเหล่านี้เข้าไปในบัญชีสินทรัพย์เสียก่อน
ตัวอย่างค่าใช้จ่ายและสินทรัพย์ที่มักเข้าใจผิด
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำบัญชีค่าใช้จ่ายและสินทรัพย์ก็คือ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า “ถ้าจ่ายเงินออกไป ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายแล้ว” แต่ในความเป็นจริง แม้ว่าจ่ายเงินแล้วแต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้น ก็ยังไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายทันทีนะ ต้องมาพักไว้เป็นสินทรัพย์ก่อน
ผลลัพธ์ของความเข้าใจผิดแบบนี้บ่อยๆ ทำให้เราบิดเบือนข้อเท็จจริงในงบการเงินได้เลยนะ เพราะว่าบริษัทจะแสดงสินทรัพย์ในงบแสดงฐานะการเงินต่ำไป มีค่าใช้จ่ายสูงไป และกำไรต่ำไปในงบกำไรขาดทุน
1.ต้นทุนการผลิตสินค้า
บริษัทได้จ่ายชำระค่าเช่าโรงงานผลิตสินค้าไปแล้วจำนวน 1 ล้านบาท ในระหว่างปีได้มีการดำเนินการผลิตตามปกติ ได้สินค้าคงเหลือจำนวนหนึ่ง แต่สินค้าเหล่านี้ยังขายไม่ออกจนกระทั่งปลายปี
คำถาม คือ : ณ สิ้นปีค่าเช่าโรงงานจำนวน 1 ล้านบาท ควรจะแสดงเป็นค่าใช้จ่ายหรือสินค้าคงเหลือ (สินทรัพย์) ในงบการเงินกันแน่?
คำตอบ : หากทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิยามของต้นทุนสินค้าทางบัญชีกันสักนิด ทุกคนก็จะอ๋อขึ้นมาทันที ตามหลักการบัญชีแล้ว “ต้นทุนของสินค้าคงเหลือ” นั้นประกอบด้วย
• ต้นทุนทั้งหมดในการซื้อ
• ต้นทุนแปลงสภาพ
• และต้นทุนอื่นๆ
เกิดขึ้นเพื่อให้สินค้าคงเหลือนั้นอยู่ในสถานที่และอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันสำนักงาน
2. ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กู้เงินจากธนาคารมา 100 ล้านบาท มีดอกเบี้ยปีละ 5 ล้านบาท เพื่อมาพัฒนาก่อสร้างบ้านจัดสรรขาย ในระหว่างปี 25×1 บริษัท ยังพัฒนาบ้านจัดสรรยังไม่เสร็จ
คำถาม คือ : ต้นทุนค่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมนั้น ควรจะรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายหรือสินทรัพย์ ในงบการเงินดี?
คำตอบ : ถ้าเราทำความเข้าใจตาม TFRS for NPAEs มาตรฐานระบุไว้ว่า
กิจการต้องรวมต้นทุนการกู้ยืมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้มา การก่อสร้าง หรือการผลิตสินทรัพย์ที่เข้าเงื่อนไขเป็นส่วนหนึ่งของราคาทุนของสินทรัพย์นั้น
ต้นทุนการกู้ยืมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้มา การก่อสร้าง หรือการผลิตสินทรัพย์ที่เข้าเงื่อนไขจะรวมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์นั้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ว่าต้นทุนการกู้ยืมดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแก่กิจการในอนาคต และกิจการสามารถประมาณจำนวนต้นทุนการกู้ยืมได้อย่างน่าเชื่อถือ
ถ้าลองวิเคราะห์ดูดีๆ แล้ว ต้นทุนการกู้ยืมที่มีวัตถุประสงค์โดยเฉพาะสำหรับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายโครงการนี้ ควรรับรู้เป็นราคาทุนของสินทรัพย์ ในระหว่างที่ก่อสร้าง แต่เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วต้นทุนการกู้ยืมที่เกิดขึ้นหลังจากนี้จะรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายทันทีค่ะ
สรุป
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างความแตกต่างระหว่างสินทรัพย์กับค่าใช้จ่าย สิ่งที่อยากฝากไว้สำหรับเพื่อนๆ นักบัญชีให้ลองพิจารณาก็คือ
• เวลาการให้ประโยชน์ เมื่อให้ประโยชน์แล้วจะถือเป็นค่าใช้จ่าย แต่ถ้ายังไม่ให้ประโยชน์ก็ยังเป็นสินทรัพย์ของกิจการอยู่นะ
• ผลกระทบต่องบการเงิน การรับรูค่าใช้จ่ายและสินทรัพย์ผิดพลาด ทำให้งบการเงินอาจมีรายจ่ายสูงในปีแรกๆ และสินทรัพย์ต่ำไป ดังนั้น ผู้ใช้งบก็อาจตัดสินใจผิดได้ค่ะ
ทำความเข้าใจเรื่องบัญชีเพิ่มอบรม CPD ออนไลน์ 24 ชั่วโมงแบบง่ายๆ ที่บ้าน ดูเพิ่มเติมที่นี่
www.cpdacademy.co
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย