27 พ.ย. 2023 เวลา 10:00 • ครอบครัว & เด็ก

จดทะเบียนสมรส "กู้เงินแต่งงาน" หนี้นี้จ่ายเดี่ยว หรือ จ่ายร่วม

แม้หนังรักที่เราเคยเห็นบนจอส่วนใหญ่ มักจะจบลงด้วยฉากพระเอกนางเอกแต่งงานกัน แต่ในชีวิตจริงไม่ได้หมายความว่าแต่งงานแล้วชีวิตรักจะราบรื่นเหมือนในหนังในละครที่ได้ดูกัน โดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้มีการวางแผนการเงินเอาไว้ล่วงหน้าเสียก่อน เพราะชีวิตคู่นั้นต้องใช้เงินไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งเราได้รวบรวมเรื่องการเงินต่าง ๆ ที่คนจะใช้ชีวิตคู่ควรรู้มาฝากกันด้วย จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลย
ค่าใช้จ่ายก่อนจัดงานแต่งงาน วางแผนอย่างไร?
ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการแต่งงาน จะมีหลัก ๆ อย่างแรกเลยคือ ค่าจัดงานแต่งงาน หรือค่าสถานที่ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่กระทบต่อการวางแผนงบประมาณในการจัดงานแต่งงานมาก ๆ ส่วนจะต้องวางแผนใช้เงินเท่าไหร่ดี จริง ๆ แล้วขึ้นอยู่กับความพอใจ และความสะดวกของทางญาติฝ่ายหญิง และฝ่ายชาย
ซึ่งก่อนอื่นทั้งคู่ควรจะต้องมีตัวเลือกที่ชัดเจนกันว่า คิดจะจัดงานขนาดใหญ่แค่ไหน และควรพูดคุยกับครอบครัวทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้เข้าใจตรงกัน เพราะแต่ละครอบครัวมักมีความต้องการไม่เหมือนกัน
1. การจัดงานแต่งงานขนาดเล็ก
ถ้าเป็นงานขนาดเล็ก ที่แขกในงานไม่เกิน 50 คน สามารถจัดที่หอประชุมสถานที่ราชการ หรือหอประชุมโรงเรียนต่าง ๆ ได้ ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 – 20,000 บาท หรือสามารถจัดที่บ้านฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายได้เช่นกันซึ่งจะช่วยประหยัดค่าสถานที่อีกด้วย ส่วนค่าอาหาร สามารถจ้างแม่ครัวกับพนักงานเสิร์ฟ โดยเลือกเมนูได้ตามใจ ค่าใช้จ่ายหลัก ๆ จะไปอยู่ที่วัตถุดิบ รวม ๆ แล้วประมาณ 10,000 – 30,000 บาท
2. การจัดงานแต่งงานขนาดกลาง
ถ้าเป็นงานขนาดกลาง ที่แขกในงานตั้งแต่ 50 – 200 คน มักจะจัดตามห้องบอลล์รูมของโรงแรม ซึ่งจะมีแพ็กเกจราคาให้อยู่แล้ว โดยเริ่มต้นประมาณ 50,000 บาท ไปจนถึง 200,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่จะรวมตกแต่งสถานที่ เช่น ประดับดอกไม้ ตั้งฉากถ่ายรูป หรือโต๊ะต้อนรับต่าง ๆ ให้ด้วย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละโรงแรม
หรือเราอาจจะใช้หอประชุมของสถานที่ราชการ หรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ราคาอาจเบาลงมาหน่อย ที่ประมาณ 30,000 – 70,000 บาท ส่วนอาหารสามารถเลือกใช้ร้านหรือบริษัทที่รับทำ Food Catering หรือซื้อเป็นแพ็กเกจที่รวมกับค่าสถานที่ได้ ถ้าเป็นบุฟเฟต์จะคิดเป็นรายหัว ประมาณ 500 – 1,000 บาทต่อคน หรือคิดเป็นโต๊ะ ประมาณโต๊ะละ 2,000 บาทอย่างต่ำ เป็นต้น
3. การจัดงานแต่งงานขนาดใหญ่
หากเป็นงานขนาดใหญ่ ที่มีแขกตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ส่วนใหญ่มักจัดงานที่โรงแรม หรือสถานที่จัดงานแต่งโดยค่าสถานที่ทั้งหมดจะมีตั้งแต่ 200,000 – 600,000 บาท หรือไปจนถึงหลักล้านเลยขึ้นอยู่กับจำนวนแขก และประเภทอาหารที่เลือก ถ้าเป็นงานค็อกเทลจะอยู่ที่ประมาณหัวละ 1,000 – 2,500 บาท หรือโต๊ะจีนจะอยู่ที่โต๊ะละ 10,000 บาทขึ้นไป บางโรงแรมอาจมีแพ็กเกจรวมค่าตกแต่งสถานที่มาให้อีกด้วย หากค่าใช้จ่ายถึงตามเกณฑ์เงื่อนไขที่โรงแรมกำหนด
นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นอีก เช่น ค่าชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาว ที่มีตั้งแต่เช่าที่หลักพันต้น ๆ ไปจนถึงชุดแต่งงานแบบสั่งตัด มูลค่าหลักแสนบาท ค่าแต่งหน้าทำผม ค่าถ่ายรูป Pre-Wedding ค่าช่างภาพในงาน ค่าการ์ดแต่งงาน ค่าของชำร่วย และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ ดูเหมือนเป็นค่าใช้จ่ายยิบย่อย แต่รวมแล้วก็เป็นเงินก้อนใหญ่ที่ต้องจ่ายเหมือนกัน
เงินเก็บไม่พอ ลองมองหาทางออกด้วย “สินเชื่อเพื่อแต่งงาน”
เมื่อเราพอจะรู้ค่าใช้จ่ายแบบคร่าว ๆ แล้ว ลำดับต่อมาต้องไปดูเงินเก็บว่าสัมพันธ์กันแค่ไหน ถ้าไม่ได้วางแผนเก็บเงินมาไว้มากพอ การขอสินเชื่อส่วนบุคคล แบบหมุนเวียน Krungsri iFIN สามารถช่วยตรงนี้ได้ที่ให้วงเงินสูงสุด 5 เท่าของรายได้ แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท ผ่อนได้ตั้งแต่ 12-60 เดือนเลย
โดยเราสามารถขอสินเชื่อส่วนบุคคลได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ หรือผู้ค้ำประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลแบบนี้จะยิ่งช่วยแบ่งเบาภาระด้านการเงินระหว่างช่วงวางแผนแต่งงานได้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตรงนี้เลย https://www.krungsri.com/th/promotions/personal/krungsri-ifin
เมื่องานแต่งงานจบลง โลกความจริงเริ่มต้น จะรับมือหนี้สินอย่างไรดี?
หลังงานแต่งงานผ่านพ้นไปแล้ว เข้าสู่โลกของความเป็นจริงของชีวิตคู่ กับเรื่องต่าง ๆ ซึ่งในทางกฎหมาย การแต่งงาน จะดูที่การจดทะเบียนสมรสเป็นหลัก คือต่อให้จัดงานใหญ่โต แต่ถ้าทั้งคู่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสต่อหน้านายทะเบียน จะถือว่ายังไม่ได้สมรสกันในทางกฎหมาย ซึ่งเมื่อคู่รักจดทะเบียนสมรสกันแล้ว รายได้, ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ ที่แต่ละคนได้รับหลังจากนั้น (ยกเว้นมรดก) แม้จะมาจากสินส่วนตัว จะถือเป็นสินสมรส ที่คู่สมรสมีสิทธิ์ด้วยครึ่งหนึ่ง เช่น
ถ้าฝ่ายชายมีสินส่วนตัวเป็นโรงแรม หลังจากแต่งงานแล้ว รายได้จากโรงแรมนั้นจะถือเป็นสินสมรส ที่ฝ่ายหญิงมีสิทธิ์ด้วยครึ่งหนึ่ง
แต่ถ้าเป็นเรื่องของหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินก่อนแต่งงาน หรือหนี้สินหลังแต่งงาน ในทางกฎหมายจะพยายามให้หนี้ของใคร ต้องคนนั้นเป็นผู้รับผิดชอบไว้ก่อน โดยหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนการจดทะเบียนสมรส จะถือเป็นหนี้สินก่อนแต่งงานทั้งหมด เช่น ถ้าโรงแรมของฝ่ายชายที่เป็นสินส่วนตัวมีหนี้ หนี้นั้นจะถือเป็นของฝ่ายชายเท่านั้น ซึ่งถ้าฝ่ายชายไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์จะมาทวงกับฝ่ายหญิง เต็มที่คือเรียกร้องได้จากครึ่งหนึ่งของสินสมรส
ส่วนหนี้สินที่เกิดหลังแต่งงาน ถ้าเป็นการก่อหนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยที่คู่สมรสไม่ได้ให้การยินยอม หรือรับรู้ ตัวผู้ก่อหนี้จะต้องรับผิดชอบหนี้สินนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียว เช่น ถ้าฝ่ายชายไปกู้เงินมาใช้ส่วนตัว โดยที่ตัวภรรยาไม่ได้ยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะร่วมชำระหนี้ด้วย ตัวสามีจะต้องนำสินส่วนตัวไปชำระหนี้ก่อน ถ้าไม่พอถึงจะมาเป็นสินสมรส แต่แค่ไม่เกินครึ่งหนึ่ง ที่เป็นส่วนของฝ่ายชายเท่านั้น ดังนั้น หากเจอเหตุการณ์แบบนี้อีกฝ่ายสบายใจไปได้เลย
แต่ถ้าเป็นหนี้ที่ทำเพื่อครอบครัว โดยเป็นการตัดสินใจร่วมกันของคู่สมรส แบบนี้จะต้องนำสินสมรสมาชำระหนี้ร่วมกัน
1. หนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว เช่น ค่าเทอมลูก หรือค่าดูแล รักษาพยาบาล บิดา มารดา หรือคนในครอบครัว
2. หนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับสินสมรส เช่น การยื่นขอสินเชื่อมาซ่อมแซมตกแต่งบ้าน ซึ่งเป็นสินสมรส
3. หนี้ของธุรกิจที่สามีภรรยาทำร่วมกัน
4. หนี้ส่วนตัวที่อีกฝ่ายให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าจะรับผิดชอบร่วมกัน
เป็นหนี้หลังจดทะเบียนสมรส จัดการหนี้อย่างไรให้อยู่หมัด
อันที่จริง วิธีจัดการหนี้ที่ดีที่สุด คือไม่เป็นหนี้ตั้งแต่แรก แต่ถ้าหากว่าเป็นไปแล้ว และเป็นหนี้ที่ทำเพื่อครอบครัว เรามีวิธีจัดการหนี้ให้อยู่หมัดร่วมกัน โดยไม่เป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตคู่ ดังนี้
1. นำหนี้ทั้งหมดมารวมบัญชีกัน
โดยเขียนรายการแต่ละเดือนว่าทั้งคู่มีหนี้ที่ต้องชำระเท่าไหร่? ถ้าหนี้ทั้งหมดไม่ได้สูงเกินครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งสองคนรวมกัน ถือว่ายังมีสภาพคล่องที่พอรับได้ แต่ถ้ามากกว่านั้นจะเริ่มขาดสภาพคล่องแล้ว ควรรีบหาทางเคลียร์หนี้เก่า และห้ามก่อหนี้ใหม่เด็ดขาด
2. เรียงลำดับหนี้ทั้งหมดตามดอกเบี้ย จากมากไปหาน้อย
โดยพยายามเคลียร์หนี้ที่ดอกเบี้ยสูงที่สุดให้หมดก่อน หรือเรียงลำดับตามความจำเป็น เช่น หนี้บ้าน หรือหนี้รถ อาจจะต้องให้ความสำคัญสูงกว่าหนี้อื่น ๆ เพราะถ้าผิดนัดชำระจนถูกยึดทรัพย์สิน อาจทำให้ชีวิตลำบากขึ้น
3. สร้างเงินกองกลางสำหรับจ่ายหนี้
โดยแต่ละคนตกลงกันว่า จะหักรายได้มาใส่กองกลางเดือนละกี่เปอร์เซ็นต์ โดยรวมกันแล้วจะต้องเท่ากับหนี้ที่ต้องจ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ รับรองมีเงินเก็บเพียบเลยล่ะ
4. แบ่งสัดส่วนหนี้ของแต่ละคน
ถ้าหากไม่สะดวกรวมเงินกองกลาง อาจจะใช้วิธีแบ่งหนี้กันรับผิดชอบ เช่น ถ้าฝ่ายสามีมีเงินเดือนสูงกว่าภรรยามาก อาจจะให้รับผิดชอบก้อนที่ต้องจ่ายแพงสุดอย่างหนี้บ้านไป ส่วนภรรยารับหนี้รถ หรือหนี้อื่น ๆ ที่จ่ายน้อยลงมาหน่อย แบ่งทีมกันเคลียร์ไม่นานหนี้ก้อนใหญ่หมดไวเหมือนกัน
5. ถ้ามีหนี้นอกระบบ ต้องพยายามย้ายมาเป็นหนี้ในระบบให้ได้ก่อน
แปลงหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงให้เป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยต่ำ เช่น การรีไฟแนนซ์ และไม่ก่อหนี้นอกระบบเพิ่ม สามารถปรึกษาธนาคารเพื่อขอขอกู้เงินในระบบเพื่อนำไปชำระหนี้นอกระบบ โดยสามารถขอได้ในรูปแบบสินเชื่อส่วนบุคคล
6. สำรวจสินทรัพย์ที่ไม่ได้ช่วยสร้างรายได้
นำรายการสินทรัพย์ที่มีทั้งหมดมาสำรวจว่าสินทรัพย์ไหนที่ไม่ได้ช่วยสร้างรายได้ แถมยังเป็นภาระค่าใช้จ่าย ควรขายออกไปก่อน อย่าเสียดาย ถ้าในอนาคตที่หนี้เริ่มเบาลงแล้ว เดี๋ยวค่อยกลับมาซื้อใหม่ได้ ส่วนสินทรัพย์ไหนที่สามารถสร้างรายได้ได้ จะต้องพยายามรักษาไว้ให้มากที่สุด
7. พยายามหารายได้ทางที่สองเพิ่ม
ถ้าจะให้ดีควรเป็นคนละอย่างกับรายได้ทางที่หนึ่ง เช่น ถ้าเราเป็นมนุษย์เงินเดือน ที่ต้องเสียเวลาวันละ 8-10 ชั่วโมงที่ออฟฟิศอยู่แล้ว ถ้าหลังเลิกงานยังต้องไปขายของข้างนอกอีก อาจจะเหนื่อยเกินไป ถ้าเปลี่ยนมาเป็นขายออนไลน์ได้จะดีกว่า แต่จะดีที่สุดคือการพยายามสร้างรายได้ที่เป็น Passive Income เช่น สร้างรายได้จากค่าเช่า รายได้การลงทุนในหุ้นปันผล เป็นต้น
เรื่องหนี้สินอาจจะเป็นอะไรที่น่ากลัวจริง แต่ถ้าเรารู้วิธีรับมือกับมัน และบริหารหนี้ให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ไม่มีอะไรต้องกลัวอีกต่อไป ดังนั้น เมื่อแน่ใจว่าจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้ว ควรจะต้องเริ่มคิดเรื่องการเงินอย่างจริงจังไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้ไม่มีเรื่องให้มากังวลโดยเฉพาะเรื่องการเงิน เพื่อชีวิตรักจะได้ราบรื่นตลอดไป
โฆษณา