Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
27 พ.ย. 2023 เวลา 12:42 • ท่องเที่ยว
Hindu Gods Relief Sculptures, Badami .. เพิงผาทศอวตาร ของพระวิษณุ
Hindu Gods Relief Scultire, Badami, Karnataksa. เพิงผา ทศอวตาร ของพระวิษณุ
ประติมากรรมเป็นส่วนสำคัญของอารยธรรมอินเดีย เป็นวัฒนธรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ จวบจนถึงปัจจุบัน .. ถือเป็นสิ่งสำคัญโดยพื้นฐานสำหรับผู้นับถือศาสนาฮินดูเกือบหนึ่งพันล้านคนในอินเดีย
รูปและรูปแบบของพระเจ้าที่ถวายแล้วเป็นจุดศูนย์กลางสำหรับผู้ศรัทธาในการสักการะ นั่งสมาธิ หรือสื่อสารกับเทพเจ้าและเทวดาครึ่งเทพนับไม่ถ้วนของศาสนาฮินดู
.. ชาวฮินดูจำนวนมากเชื่อว่าทุกสิ่งเป็นการสำแดงของพลังหรืออำนาจสูงสุดที่เหนือธรรมชาติเพียงอันเดียว พระพรหมผู้สร้าง พระวิษณุผู้รักษา พระศิวะผู้ทำลาย และเทพีผู้ยิ่งใหญ่ในรูปแบบต่างๆ ส่งผลต่อวัฏจักรแห่งการสร้างสรรค์ การอนุรักษ์ และการสลายอันไม่มีที่สิ้นสุดของจักรวาล
เทพเจ้าเหล่านี้ เป็นประธานในเทวาลัยและศาสนสถานที่ซับซ้อนและกว้างขวาง .. เทพเจ้าเหล่านี้ ประกอบด้วยมเหสี การจุติ เทพระดับรอง และเทพและวีรบุรุษในท้องถิ่น ไม่มีลำดับชั้นแบบคงที่ เทพต่าง ๆ ได้รับการพิจารณาว่ามีความสำคัญมากกว่าในภูมิภาคต่าง ๆ และในช่วงเวลาที่ต่างกัน สำหรับชาวฮินดูส่วนใหญ่ เทพองค์หนึ่งคือผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดและเป็นจุดสนใจหลักในการบูชาของแต่ละบุคคล
รูปเทพเจ้าถูกนำมาใช้ในสถานบูชาส่วนตัวโดยบุคคลหรือครอบครัว ในงานเทศกาลใหญ่ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมหลายล้านคน และในวัดฮินดูหลายแสนแห่งในอินเดีย ประติมากรรมของวัดฮินดูไม่ได้เป็นเพียงการตกแต่งเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญขั้นพื้นฐานต่อรูปแบบและความหมายของวัดอีกด้วย
ว่ากันว่า .. เทพเจ้ามักปรากฏตัวตามธรรมชาติ โดยโผล่ออกมาจากส่วนเว้าและห้องต่างๆ จากตัววิหารเอง ในโครงสร้างขนาดใหญ่ เทพมักจะครอบครองพื้นที่สูง โดยจัดเรียงเป็นแผงนูนและเป็นประติมากรรมอิสระ
เทวาลัยแต่ละแห่งอุทิศให้กับเทพองค์ปฐมหรือเทพประธาน ซึ่งมีรูปประดิษฐานอยู่ในห้องศักดิ์สิทธิ์ด้านในของเทวาลัย ผู้สักการะเยี่ยมชมภาพนี้เพื่อรับดาร์ชัน—รับพรจากการจ้องมองของเทพ—และนำผลไม้ ขนมหวาน ดอกไม้ หรือของขวัญอื่น ๆ ที่เป็นสัญลักษณ์แทนความสมบูรณ์แห่งธรรมชาติ
สัดส่วนของร่างกายและใบหน้าขององค์เทพ มักจะเป็นไปตามกฎเกณฑ์และมาตรฐานที่นับถือต่อๆกันมาเมื่อหลายศตวรรษก่อน .. เทพเจ้าส่วนใหญ่เชื่อว่ามีความสวยงามอย่างยิ่ง รูปปั้นที่มีรูปร่างสมส่วนและใบหน้าอันวิจิตรงดงามของทั้งหญิงและชาย สะท้อนถึงความงามนี้
รูปภาพไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบหรือสร้างความเป็นจริงขึ้นมาใหม่ หากแต่ถูกสร้างขึ้นเป็นรูปแบบในอุดมคติพร้อมสัญลักษณ์ที่เข้าใจกันดีซึ่ งบ่งบอกถึงพลังอันศักดิ์สิทธิ์อันไร้ขอบเขต
.. พระวิษณุซึ่งมีสี่กรซึ่งแสดงถึงพลังอันหลากหลายของพระองค์ มักจะทรงถืออาวุธคล้ายจานและหอยสังข์ และทรงสวมเครื่องราชอิสริยาภรณ์
.. พระอิศวรมักปรากฏกายเกือบเปลือยเปล่าและทรงพันร่างด้วยงู โดยมีผมที่พันกันเป็นก้อนอยู่บนศีรษะเหมือนนักพรต
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระวิษณุ พระศิวะ และเทวีผู้ยิ่งใหญ่ถูกแสดงในรูปแบบต่างๆ และในตอนต่างๆ ของตำนานของพวกเหล่าเทพ และเทพเจ้าอื่นๆ อีกหลายสิบองค์ก็มีรูปแบบและลักษณะเฉพาะเช่นกัน การระบุตัวตนเหล่านี้อาจมีความท้าทายพอๆ กับการระบุนักบุญทั้งหมดในยุคกลาง ของชาวคริสเตียน
ประติมากรรมฮินดูเหล่านี้จากคอลเลกชันของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ซานฟรานซิสโก ถือเป็นการแสดงความเคารพอย่างลึกซึ้งจากศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่มีชีวิต วัตถุที่จัดแสดงมีตั้งแต่รูปเทพเจ้าในศตวรรษที่ 7 และ 8 ที่แกะสลักจากหิน ไปจนถึงประติมากรรมไม้ที่แกะสลักอย่างประณีต ซึ่งสร้างขึ้นมากกว่าหนึ่งพันปีต่อมาเพื่อใช้ในขบวนแห่ทางศาสนา ทุกสิ่งสะท้อนถึงความศักดิ์สิทธิ์บนโลกนี้และทั่วทั้งจักรวาลในการสำแดงต่างๆ มากมาย
เพิงผา "ทศอวตาร" แห่งเทวาลัย "ภูตนาถ" มรดกโลก "พทามิ" (Badami) รัฐกรณาฏกะ อินเดีย
รูปแกะสลักแถวบน เรียงจากซ้ายมาขวา : วราหวตาร-พระคเนศ-พระพรหม-พระศิวะ-พระวิษณุ-มหิสาสุมรรทินี-นรสิงหวตาร และศิวลึงค์
แถวล่างแกะสลักเป็นรูป "ทศอวตาร" แห่งองค์พระวิษณุ
ปางที่ 1 มัตสยาวตาร
พระวิษณุมหาเทพทรงทราบดีว่าในเวลาที่พระพรหมทรงบรรทมอยู่นั้นเป็นการเริ่มต้นของ “พรหมราตรี” เป็นราตรีที่ยาวนานเป็นช่วงที่โลกทั้งหลาย ถึงกาลอวสาน น้ำจะท่วมโลกสรรพชีวิตทั้งหลายไม่อาจอยู่รอดได้ โลกจะตกอยู่ในความมืดมิดปราศจากแสงสว่างทั้งจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
พรหมราตรีนี้มีระยะเวลานานกับ ๔,๓๒๐ ล้านปีมนุษย์หรือเท่ากับครึ่งกัลป์ พระวิษณุมหาเทพทรงพิจารณาเห็นถึงมหันตภัยที่จะมากร้ำกรายแก่โลก และบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายในสากลโลก จึงทรงอวตารลงมาเป็นปลากรายทองชื่อศผริ (อ่านว่า “ศะ-ผะ-ริ”) อยู่ในฝั่งแม่น้ำเมืองอโยธยา (ในโลกมนุษย์) รอเวลา
เมื่อพระสัตยพรตพระราชาผู้ตั้งอยู่ในศีลสัตย์เสด็จมาวักน้ำ สรงพระพักตร์ ปลาน้อยก็ติดขึ้นมาในอุ้งพระหัตถ์กล่าวร้องขอให้ช่วยชีวิต พระราชาจึงนำมาเลี้ยงไว้ในบาตรปลานั้นก็โตเต็มบาตร แม้จะเปลี่ยนภาชนะ เป็นอ่างเป็นสระ ทะเลสาบจนในที่สุดต้องนำไปปล่อยลงในมหาสมุทรเพราะปลาจะขยายใหญ่โตเต็มขนาดของภาชนะที่ใส่ ทำให้ทรงพระสัตยพรตสงสัย ว่าปลาตัวนี้คงมิใช่ปลาธรรมดา คงจะเป็นพระผู้เป็นเจ้าอวตารมาเพื่อลองพระทัย จึงทรงบูชากราบไหว้พญาปลาด้วยความนอบน้อมและเคารพยิ่งพญาปลา
พระวิษณุอวตารก็พอใจยิ่งนักจึงแจ้งเรื่องภัยพิบัติ คือน้ำกำลังจะท่วมโลกและให้สัญญาว่าจะช่วยชีวิตของพระราชาไว้ โดยแนะนำให้พระองค์พร้อม ด้วยข้าราชบริพารเสด็จลงเรือใหญ่พร้อมด้วยพระฤาษีเจ็ดตน และเก็บรวบรวมพันธุ์ไม้ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างละคู่เตรียมไว้ด้วย
.. และในที่สุดภัย พิบัติดังกล่าวก็มาถึงเมื่อพระพรหมธาดาทรงบรรทมหลับสนิทบังเกิดพายุใหญ่พัดโหมกระหน่ำไปทั่วสากลโลก พาให้น้ำในมหาสมุทรท่วมท้นโลกจนพินาศ ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์และดวงดาวต่างจมอยู่ใต้น้ำ
พระราชาพร้อมด้วยพระฤาษีเจ็ดตนและสัตว์ต่าง ๆ ต้นไม้ ฯลฯ อาศัยเรือลำใหญ่ลอยเคว้งคว้างอยู่กลาง มหาสมุทรที่ท่วมโลกแล้วนั้นโดยมีปลาศผริเป็นผุ้ชักลากจูงเรือไปฝ่าคลื่นและลมพายุอยุ่ในมหาสมุทรตลอดพรหมราตรีอันยาวนาน จนน้ำค่อย ๆ ลดลงและ สรรพสิ่งกลับเข้าสู่สภาวะปกติ เรือลำใหญ่นั้นก็เทียบชายฝั่งพร้อมกับกับส่งพระราชาพร้อมด้วยช้าราชบริพารเรียบร้อย
.. แล้วปลาศผริ (อวตาร) ก้รีบดำดิ่งลง สู่มหาสมุทรเพื่อตามล่าอสูรหัยครีพทวงเอาพระเวทคืนกลับมาจนพบอสูรหัยครีพจึงทรงจัดการสังหารเสีย ซึ่งก่อนหน้านั้นอสูรหัยครีพได้นำพระเวททั้ง 4 ไป ฝากกับสังข์อสูร ทำให้พระวิษณุมิได้พระเวททั้ง 4 คืนมาและจักต้องทรงอวตารมาอีกเพื่อทวงเอาพระเวททั้ง 4 คืน
ปางที่ 2 กูรมาวตาร
พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นเต่ายักษ์ เพื่อปราบอสูรมัจฉา .. เรื่องกล่าวย้อนไปถึงการกวนน้ำอมฤต ในขณะที่พระนารายณ์ทรงอวตารเป็นเต่ายักษ์ เพื่อหนุนแผ่นดินมิให้ทะลุลงไปถึงโลกมนุษย์ พระองค์ได้พบกับอสูรมัจฉาในขณะกำลังใช้ปากแทะแผ่นดินเพื่อเปิดทางให้น้ำอมฤตไหลทะลักสู่ โลกมนุษย์ ด้วยอสูรมัจฉามีความคิดที่ต้องการเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียวในโลก
เมื่อพระนารายณ์ (เต่ายักษ์) เห็นการกระทำนั้นจึงเข้าขัดขวางทำการ ต่อสู้กับอสูรตนนั้น หากจะกล่าวถึงอิทธิฤทธิ์ของอสูรย่อมมีมากมายนัก ส่วนเต่ายักษ์ก็เข้าต่อสู้จนที่สุดแล้วเต่ายักษ์เป็นฝ่ายมีชัยชนะ เรื่องจึงจบลง และเต่ายักษ์จึงกลับร่างเป็นพระนารายณ์คืนสู่วิมานดั่งเดิม
ปางที่ 3 วราหาวตาร
อวตารปางที่นี้อยู่ในโลกยุคที่ ๑ พระวิษณุทรงอวตารเป็นหมูป่า (วราห์) เพื่อปราบปรามยักษ์ผู้มีนามว่า “หิรัณยากษะ” (ผู้ซึ่งมีนัยน์ตาทอง) ซึ่งเป็นอสูรที่ชั่วร้ายมีความร้ายกาจยิ่งนัก
เดิมนั้นอสูรตนนี้ได้บำเพ็ญตบะเพื่อบูชาพระอิศวรทำให้พระองค์โปรดปรานและพอพระทัยยิ่งนัก จึงประทานให้อสุรตนนี้มีฤทธิ์สามารถปราบได้ทั่วสากลจักรวาล พญาอสูรจึงได้มีความฮึกเหิมอหังการยิ่งนัก ได้จัดการม้วนแผ่นดินโลกทั้งหมด แล้วหนีบใต้รักแร้ หนีลงไปอยู่ในบาดาล ในที่สุดต้องเดือดร้อนถึงพระวิษณุอวตารลงมาเป็นหมูป่า (วราห์) เพื่อปราบปรามยักษ์ตนนี้
หมูนี้มีเขี้ยว เป็นเพชร ดำน้ำลงไปในมหาสมุทรต่อสู้กับพญาอสูรหิรัณยักษ์ จนเวลาล่วงเลยไปถึง ๑ พันปี จึงสามารถฆ่าหิรัณยักษ์ได้สำเร็จ ท้ายที่สุดก็เอา เขี้ยวเพชรนั้นงัดเอาแผ่นดินขึ้นมาไว้บนผืนน้ำตามเดิม
ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร
อวตารปางนี้อยู่ในยุคที่ ๑ ของโลกคือ กฤดายุคเช่นเดียวกัน .. เรื่องราวของการอวตารในปางนี้ก็มีอยู่ว่าหลังจากหิรัณยากษะ (หิรันตยักษ์) ถูกพระวิษณุอวตาร เป็นหมูป่าสังหารเรียบร้อยแล้วนั้น พญายักษ์ชื่อว่า “หิรัณยกศิปุ” ผู้เป็นน้องชายฝาแฝดก็ขึ้นมาเป็นใหญ่ในหมู่อสูร (ใต้บาดาล) แทนพี่ชาย
พญายักษ์นี้มีจิตใจ หยาบช้ากว่าพี่ชายยิ่งนักได้ไปบำเพ็ญตบะขอพรต่อพระพรหมว่าขออย่าให้ตนเองถูกมนุษย์ เทวดา สัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ฆ่าเอาให้ตายได้ อย่าให้ตายด้วย อาวุธใด ๆ ในสากลโลก อย่าให้ตายในเวลากลางวันและกลางคืน อย่าให้ตายในบ้านนอกบ้าน ซึ่งพระพรหมธาดาก็ประสิทธิ์ประสาทพรให้ตามที่ขอทุกประการ
.. ทำให้พญาหิรัณยกศิปุมีความฮึกเหิมไม่เกรงกลัวผู้ใด แม้แต่พระผู้เป็นเจ้า พญายักษ์ตนนี้มีโอรสองค์หนึ่งชื่อว่า “ประหลาทกุมาร” ซึ่งเป็นอสูรที่ตั้งมั่นอยู่ในศีล ธรรมอันดีมีความจงรักภักดีต่อพระวิษณุมหาเทพยิ่งนัก ทำให้แนวความคิดของพญาหิรัณยกศิปุนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
แลพญายักษ์ก็มีความรักในโอรสยิ่งนัก เรียกได้ว่ารักดังหัวแก้วหัวแหวน ประหลาทกุมารผู้ตั้งอยู่ในศีลธรรมก็พยายามโน้มน้าวจิดใจของบิดาให้เลิกประพฤติชั่วหันมาทำความดีมีความจงรักภักดีต่อผู้เป็นเจ้า แต่บิดาก็หาได้ฟังไม่เที่ยวเบียดเบียนบีฑาบรรดาทวยเทพทั้งหลายให้เดือดร้อนไปทั่วทุกหัวระแหง
พระอินทร์จึงชักชวนบรรดาทวยเทพทั้งหลายไปขอร้องให้พระวิษณุ มหาเทพมาช่วยปราบพญาอสูรผู้ชั่วร้ายตนนี้เพราะไม่มีใครจะปราบมันได้ ... พระวิษณุมหาเทพก็ทรงรับปากว่าจะช่วยแต่ทรงขอเวลาคิดหาหนทางปราบพญาอสูรก่อน
.. ฝ่ายประหลาทกุมารผู้เป็นโอรสก็เพียรพยายามขอร้องให้บิดาเลิกเบียดเบียนผู้อื่นฝ่ายพญาอสูรผู้บิดาก็หาเชื่อฟังไม่จึงใช้พวกพราหมณ์อสูรทั้งหลายไปอบรมพระโอรส ให้มาเข้าข้างตนพระโอรสก็ไม่ยอมแม้จะพยายามอย่างใดพระโอรสก็ไม่ยอม
... จากความรักมากก็กลายเป็นความชังมากจึงสั่งให้จัดการฆ่าโอรสของตนเสีย แต่ไม่ว่าจะ ใช้วิธีใด ๆ ก็ไม่สามารถฆ่าโอรสของตนได้ พญาหิรัณยกศิปุจึงถามโอรสตรง ๆ ว่าพระวิษณุมหาเทพนั้นมีจริงหรือไม่ ถ้ามีจริงและแน่จริงก็ปรากฏตัวออกมาเลย
.. ทันใดในระหว่างนั้นเสาศิลากลางห้องท้องพระโรงก็แตกออกมา มีตัวประหลาดเป็นครึ่งคนครึ่งสิงห์ ปราดเข้ามาจับตัวหิรัณยกศิปุลากออกไปวางไว้บริเวณธรณีประตู (คืออยู่ในปราสาทครึ่งตัวอยู่นอกปราสาทครึ่งตัว)
และนรสิงห์ผู้นั้นก็ถามพญาอสูรว่าตนเป็นมนุษย์เทวดาหรือสัตว์ พญายักษ์ตอบว่าไม่ใช่ทั้งมนุษย์เทวดาและสัตว์ .. นรสิงห์ ก็ถามต่อไปว่าเวลานี้ร่างของหิรัณยกศิปุ อยู่นอกเรือนหรือในเรือน พญายักษ์ตอบว่าไม่ใช่ทั้งในเรือนและนอกเรือน .. และนรสิงห์ถามต่อไปอีกว่าเวลานี้เป็นกลางวันหรือกลางคืน หิรัณยกศิปุตอบว่า มิใช่ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่เป็นเวลาโพล้เพล้ .. นรสิงห์จึงชูมือกางกรงเล็บออกมาถามพญายักษ์ว่าอันนี้คืออาวุธหรือไม่ พญายักษ์ก็ตอบว่าไม่
นรสิงห์จึงประกาศว่าพรทั้งหลายของพระพรหมธาดาเป็นอันเสื่อมแล้ว และตัวพญาอสูรก็ตกอยู่ในภาวะอันนอกเหนือจากพรหมประกาศิตทุกประการแล้ว กล่าวจบนรสิงห์ก็จัดการ สังหารพญาอสูรด้วยการใช้กรงเล็บฉีกกระชากท้องของพญาอสูรจนถึงทรวงอกจนขาดใจตาย
พระวิษณุมหาเทพจึงประทานแต่งตั้งให้ประหลาทกุมารเป็นใหญ่แทนบิดาต่อไป พร้อมกับสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีแล้วเสด็จกลับยังที่ประทับของพระองค์ คืนความสงบให้กลับมาสู่ไตรโลกอีกต่อไป
ปางที่ 5 วามนาวตาร หรือ ทวิชาวตาร
อวตารปางนี้ทรงอวตารมาเป็นคนแคระเพื่อช่วยเหลือพระอินทร์ให้ได้กลับมาครอบเมืองสวรรค์ เพราะมีอสูรตนหนึ่งชื่อพลีซึ่งเป็นหลานของประหลาท (ในปางที่ ๔) จอมอสูร ได้เสียทีถูกบรรดาทวยเทพฆ่าตาย
ภายหลังจากได้รับการช่วยชุบชีวิตจากพวกพราหมณ์ในใต้บาดาลแล้วก็เริ่มทำพิธีกรรมเพื่อเพิ่มฤทธานุภาพของตนให้มากยิ่งขึ้นจนสำเร็จ .. แล้วก็ยกพลบรรดาแทตย์และอสูรทั้งหลายพากันมาตีเอาเมืองสวรรค์ได้ ซึ่งพระอินทร์พร้อมทวยเทพบริวารที่แปลงกายเป็นนกยูงได้พากันไปขอร้องให้พระวิษณุมหาเทพลง มาช่วยปราบขุนพลี
องค์พระวิษณุมหาเทพจึงอวตารไปเกิดเป็นโอรสของพระกัศยปมุนีและพระนางอทิติเมื่อประสูติออกมาแล้วประทานชื่อให้ว่า “วามน” อันมีความหมายว่า เตี้ยหรือสั้น และได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปะวิทยาการต่าง ๆ จนเจนจบครบถ้วนและก็บวชเป็นพราหมณ์ตามประเพณี
ต่อมาวามนพราหมณ์ทราบข่าวว่าขุนพลีจะประกอบพิธีอัศวเมศ เพื่อเพิ่มอำนาจอีก วามนพราหมณ์ก็ลาพระบิดาและพระมารดาไปยังมณฑลพิธีของขุนพลี ซึ่งขุนพลีก็มีความศรัทธานำน้ำมาล้างเท้าให้แล้วเอ่ยถามว่าวามนพราหมณ์ต้องการอะไร วามนพราหมณ์ก็ออกอุบายขอแผ่นดินเพียงสามย่างก้าวเท่านั้น ฝ่ายขุนพลีไม่ทันคิดก็ตกลงยกให้ทันที พร้อมนั้นก็ยกเต้าน้ำขึ้นเพื่อหลั่งให้ตามประเพณี
พระศุกร์ผู้เป็นอาจารย์ของ ขุนพลีก็ร้องห้ามแต่ขุนพลีเป็นกษัตริย์ตรัสแล้วย่อมไม่คืนคำ พระศุกร์จึงหายตัวเข้าไปอุดรูเต้าน้ำนั้นเสีย เพื่อขัดขวางการหลั่งทักษิโณทก วามนพราหมณ์รู้ทันจึงได้เอายอดหญ้าคา แยงเข้าไปในน้ำเต้าถูกลูกตาของพระศุกร์
.. พระศุกร์ ทนไม่ไหวจึงรีบออกมาวามนพราหมณ์ก้รีบแบมือรับน้ำได้ตามปรารถนาพร้อมกันนั้นก็สำแดงเดชย่างก้าวทีหนึ่งลงไปชนแดนยักษ์ (แดนอสูร) ย่างก้าวที่สองลงไปชนแดนมนุษย์ ขุนพลีเห็นดังนั้นก็ผวาเกรงกลัวพร้อมยกมือไหว้
วามนพราหมณ์ ก็กลับร่างเป็นพระวิษณุทันทีทรงเป่าสังข์เรียกบรรดาทวยเทพทั้งหลายให้มาประชุม พร้อมกันทันทีและเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้เหล่าทวยเทพทั้งหลายฟัง และมีเทวโองการให้พระอินทร์กลับเข้าไปครองสวรรค์ตามเดิม
ส่วนขุนพลีนั้นพระวิษณุทรงมีเทวโองการให้ลงไป ปกครองอยู่ใต้สุดบาดาลชั้นที่สาม และทรงสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในศีลในธรรมอย่าเบียดเบียนผู้อื่นอีก
ปางที่ 6 ปรศุรามาวตาร
พระนารายณ์ทรงอวตารเป็นมนุษย์นามปรศุราม เพื่อปราบท้าวอรชุน กษัตริย์ใจพาล รังแก่ผู้คนทั่วไปไม่เว้นแม้พราหมณ์ ฤาษีที่บำเพ็ญตบะก็ไม่มีเว้น .. คัมภีร์ทางศาสนาฮินดูได้บันทึกและกล่าวถึงไว้ว่า พระวิษณุเทพได้อวตารลงมาถือกำเนิดเป็นมนุษย์เป็นบุตรของฤาษีนาม ชมทัคนี กับนางเรณุกา เมื่อกำเนิดขึ้นมาแล้วได้ชื่อว่า ราม ต่อมาได้รับขวานเพชรจากพระเป็นเจ้าจากสวรรค์ประทานมาจึงได้ชื่อว่า "ปรศุราม" ตั้งแต่นั้นมา
เรื่องการปราบท้าวอรชุนเริ่มจากว่า ท้าวอรชุนได้ไปประพาสป่าและได้ขอเข้าพักที่อาศรมของฤาษีชมทัคนีกับนางเรณุกาผู้เป็นบิดามารดาของปรศุราม ท้าวอรชุนได้รับการต้อนรับเป็นอันดีจากนางเรณุกา (บางก็ว่าท้าวอรชุนได้เสด็จมาพบฤาษีชมทัคนี แต่ฤาษีไม่อยู่) ก่อนที่จะเสด็จกลับ ท้วอรชุนเห็นโคตัวหนึ่งที่ฤาษีเลี้ยงไว้จึงได้จูงโคตัวนั้นกลับไปด้วย โดยที่นางเรณุกาไม่สามารถทัดทานอะไรได้แต่นิ่งเฉยไว้ด้วยเกรงกลัวต่อท้าวอรชุน
เมื่อฤาษีชมทัคนีกลับบมาถึงอาศรมนางเรณุกาจึงเหล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ฟัง จึงสร้างความโกรธให้กับฤาษีมากเนื่องจากโคตัวนั้นมีความสำคัญกับฤาษีชมทัตนีมาก .. ต่อมาเมื่อปรศุรามทราบเรื่องนี้จึงอาสาไปแก้แค้นท้าวอรชุนแทนบิดาของตน ฝ่ายนางเรณุกาได้แต่ห้ามปรามขอร้องมิให้ไปแต่ก็หาได้มาผลไม่ ปรศุรามจึงเดินทางเพื่อแก้แค้นท้าวอรชุนที่นครมหิษมดีที่ท้าวอรชุนปกครองอยู่
เมื่อผ่านการเดินทางถึงนครมหิษมดี จนได้พบกับท้าวอรชุนจึงเกิดการต่อสู้กันจนพื้นดินสะเทือนตากผลัดกับรุกพลัดกับถอยอยู่มิพลาดพลั้งกัน แต่แล้วโอากสก็เป็นของปรศุรามเข้าฟันท้าวอรชุนถึงความถึงได้รับชัยในที่สุด
ท้าวอรชุนกษัตริย์ก็มีโอรสนามว่า อริชา เมื่อปรศุรามมาฆ่าบิดาตน โอรสอริชาจึงกลับไปแก้แค้นโดยฆ่าบิดาของปรศุรามที่อาศรม โดยมิสนใจว่าฤาษีกำลังบำเพ็บตบะ ที่ไม่มีโอกาสได้ต่อสู้หรือป้องกันตัวแต่อย่างใด
.. เมื่อปรศุรามได้รู้ข่าวจึงรีบกลับอาศรมเมื่อพบศพบิดาจึงเกิดความรู้สึกถึงว่าการตายในครั้งนี้ช่างโหดเหี้ยมนัก ทำไมจึงฆ่าได้โดยที่บิดาตนมิได้ป้องกันตนและฆ่าได้แม้ผู้ที่ไม่มีทางต่อสู้ได้ นับแต่นั้นเป็นต้นมาจึงสาบานว่าจะฆ่าศัตรูที่มิได้อยู่ในศิลธรรมมักรังแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการรังแกเหล่าฤาษี ชี พราหมณ์ให้เดือดร้อนจนกว่าจะครบอายุตน (ขณะนี้นอายุ 21 ปี) จึงเท่ากับต้องฆ่าถง 21 ครั้ง จึงจะลดความแค้นได้
ปรศุรรามนับแต่นั้นจึงออกค้นหาผู้ที่ใจบาปเที่ยวรบกวนระราน ทำผิดทั้งหลายที่พบและฆ่าให้ตายเป็นแบบนี้อยู่ตลอด จนในที่สุดเมื่อคิดขึ้นมาได้ว่าหากเราฆ่าคนบาป คนทำผิดก็คงจะหมดโลกนี้แน่
.. ว่าแล้วก็ตั้งจิตใหม่จะฆ่าก็แต่เฉพาะผู้ที่เป็นกษัตริย์ใจบาปหยาบช้า จิตใจชั่วร้าย เที่ยวรบกวนผู้อื่นรวมถึงฤาษี ชี พราหมณ์ ผู้ทรงศีลเท่านั้น .. เมื่อคิดดังนั้นจึงไปบำเพ็ญตนอยู่ ณ เขามเหนทรบรรพต และหากมีข่าวคราวใดที่มีเหล่ากษัตริย์ใจพาล พระปรศุรามก็จะออกจากเขาไปฆ่ากษัตริย์ใจพาลนั้นทันที
ปางที่ 7 รามาวตาร
“พระราม” เป็นโอรสของท้าวทศรถและพระนางเกาสุริยา กษัตริย์แห่งกรุงอโธยามีพระอนุชาทรงพระนามว่า “พระลักษมณ์” “พระพรต” และ “พระสัตรุต” .. ต่อมาภายหลังพระรามได้ทำสงครามกับท้าวราพนาสูร(ทศกัณฐ์)เพราะว่าท้าวราพนาสูรมาลักพาตัวนางสีดา ผู้เป็นชายาของพระองค์ไปกักขังไว้ที่กรุงลงกา
การสงครามครั้งนี้เป็นสงครามระหว่างยักษ์กับมนุษย์โดยมีกองทัพวานร (ลิง) มาช่วยมนุษย์ด้วยโดยที่พระรามมีขุนพลเป็นวานรเป็นวานรคู่พระทัยคือ “หนุมาน” พระรามและพระลักษมณ์ได้คุมกองทัพวานรของสุครีพข้ามทะเลไปทำสงครามกับทศกัณฐ์ เป็นศึกสงครามที่ยืดเยื้อกินเวลาหลายปี ทั้งพระรามและพระลักษมณ์ได้ฆ่าพวกพ้องของท้าวราพนา สูรตายจนหมด
จนในที่สุดท้าวราพนาสูรต้องถอยออกมาสู้รบด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการรบตัวต่อตัวกับพระรามทั้งสองได้ต่อสู้กันหลายครั้งหลายหน พระรามก็ไม่สามารถสังหารท้าวราพนาสูรได้
พิเภกทูลพระ รามว่าที่ท้าวราพนาสูรไม่ตายนั้นก็เพราะว่าถอดดวงใจฝากไว้กับพระฤาษีโคบุตรผู้เป็นอาจารย์ พระรามจึงส่งหนุมานไปหลอกเอากล่องดวงใจจากฤาษีโคบุตรมาทำลายเสีย
เมื่อหนุมานได้กล่องดวงใจมาแล้ว พระรามก็ออกไปรบกับท้าวราพนาสูรเป็นครั้งสุดท้าย .. พระรามแผลงศรไปปักอกท้าวราพนาสูร พร้อมกันนั้นหนุมานก็ขยี้กล่องดวงใจของท้าวราพนาสูร ก็ถึงแก่ความตายทันที พระรามจึงโปรดให้จัดพิธีอภิเษก ให้พระยาพิเภกให้เป็นกษัตริย์ครองกรุงลงกาต่อไป
ปางที่ 8 กฤษณาวตาร
กล่าวถึงคัมภีร์ปุราณะ มหากาพย์รามายณะ มหาภารตะ และตำนานเก่าต่าง ๆ ของอินเดีย รวมถึงคัมภีร์ทางศาสนาฮินดูอื่น ๆ ได้บันทึกและกล่าวถึงไว้ว่า .. พระวิษณุเทพได้อวตารลงมาเพื่อปราบยุคเข็ญให้แก่ เหล่ามวลมนุษย์ทั่วไป
ในช่วงเหตุการณ์โลกเกิดกลียุคและเกิดความไม่สงบสุขจากเหล่าอสูร จึงทรงอวตารลงมาในปางต่างๆ ซึ่งปางพระกฤษณะเทพ คือปางที่ 9 ในการอวตาร 10 ปาง ของพระวิษณุเทพ นั่นเอง
.. ลัทธิไวษณพนิกาย กล่าวไว้ว่าพระกฤษณะเกิดมาเพื่อทำลายอสูร ชื่อกังสะ ซึ่งเป็นลุงของพระกฤษณะเอง อสูรกังสะตนนี้ปลอมตัวมาเป็นกษัตริย์นามว่า อุคราเสน แห่งเมืองมถุรา และได้ใช้อำนาจ แย่งชิงมเหสีจากกษัตริย์ (องค์จริง) มาโดยมิชอบ และมเหสีก็ทรงไม่ทราบว่าเป็นอสูรที่แปลงกายมาเป็นสวามีของตนอสูรกังสะ
เมื่อขึ้นครองเมืองก็สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทั่วไป ต่อมาเมื่อพระ วิษณุเทพทรงทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงทรงอวตารมาในปางพระกฤษณะเพื่อปราบอสูรกังสะตนนี้
ปางที่ 9 พลรามาวตาร
พลราม พี่ชายพระกฤษณะ .. ชาวฮินดูเชื่อว่าพระพลราม คืออวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ อวตารคู่กับพระกฤษณะ
ปางนี้ขอข้ามเลย ยังไม่มีรายละเอียดของปางนี้
ปางที่ 10 กัลกิยาวตาร
พระวิษณุอวตารในปางนี้ ทรงเป็นมหาบุรุษขี่ม้าขาวถือดาบในมือขวาทำลายศัตรูของมนุษย์เพื่อปราบกลียุค ที่เต็มไปด้วยเหล่าคนชั่วหรือเหล่าอธรรมทั้งหลาย
เมื่อปราบอธรรมแล้วก็จะสถาปนาศาสนาขึ้นใหม่ มหาบุรุษนี้จะมีนามว่า กัลก, กัลกี, หรือ กัลกิน เป็นบุตรของพราหมณ์ชื่อวิษณุยศ .. อวตารนี้เป็นอนาคตาวตาร (อนาคต+อวตาร) คือ เป็นการอวตารของพระวิษณุยังไม่เกิดขึ้น และหลังจากอวตารแล้ว กลียุคก็ จะสิ้นสุดลง
จึงพอจะกล่าวได้ว่ากัลกยาวตารนี้เป็นอวตารที่จะเสด็จลงมาปราบคนชั่วที่มีมากมายโดยไม่เจาะจงว่าเป็นใครจะมีลักษณะคล้ายกับกฤษณาวตารที่คนชั่วมีมากจนไม่อาจจะชี้ชัดได้ว่าเป็นใครซึ่งต่าง กับรามาวตาร (อวตารเป็นพระราม) หรือนรสิงหาวตารที่จะอวตารลงมาเพื่อปราบปรามคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะและอาจกล่าวได้ว่าโลกเราทุกวันนี้ก็คงจะจะใกล้ถึงยุคของกัลกยาวตารเพราะว่าคนชั่วมากมายเหลือเกิน
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/05/K5450529/K5450529.html
เดินมาจากจุดถ่ายภาพ ทศอวตาร ไม่นาน .. ก็จะมาถึงเทวาลัยที่เล็กมากๆ ดูเหมือนถ้ำ ที่ไม่มีชื่อ ภายในมีภาพหินสลักจากผนังโขดหินด้านหลัง “พระวิษณุอนันตศายิณปัทมนาภา” ซึ่งเราคุ้นเคยในชื่อเรียกว่า “นารายณ์บรรทมสินธุ์” และว่ากันว่ามีอายุกว่า 1400 ปีเลยทีเดียว
เดินต่อมาอักหน่อย .. จะมาเจอเพิงผาที่รูปสลักที่ดูเหมือนจะยังไม่เสร็จ หรืออาจจะเป็นการร่างภาพ เพื่อนำไปสลักในพื้นที่อื่นก็ได้
.. สุดทางเดิน เป็นถ้ำเล็กๆ ซึ่งที่ในวันที่เราไปเยือน ถ้ำถูกปิด .. แต่ภายในถ้ำที่มีรูปสลักหินของพระพุทธรูปแบบมหายานนั่งขัดสมาธิราบบนบัลลังก์ ด้านข้างของบัลลังก์มีรูปสลักของ มกร ทั้ง 2 ข้าง
.. ด้านขวาของภาพสลัก มีรูปสลักของฤาษี นั่งขัดสมาธิในซุ้มขนาดเล็ก
การเดินชมโบราณสถาน ณ พื้นที่นี้รื่นรมย์มาก .. ทิวทัศน์ภูเขา ก้อนหินขนาดใหญ่ที่เรียงรายบนทางเดิน รวมถึงทัศนียภาพของทะเลสาบที่ส่งสายลมอ่อนๆมากระทบใบหน้าและเนื้อตัวของเรา ช่วยเพิ่มความรู้สึกประทับใจได้มากมายค่ะ
1 บันทึก
2
1
2
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย