28 พ.ย. 2023 เวลา 13:00 • การ์ตูน

'3Hs' : High Cost, High Risk High Return ของ Studio Ghibli

แนวทางสร้างแอนิเมชัน ที่แม้รายได้แสนล้าน แต่ทุนอาจไม่พอสร้างแอนิเมชันเรื่องต่อไป
น้อยคนที่จะไม่รู้จัก ‘สตูดิโอจิบลิ’ (Studio Ghibli) สุดยอดสตูดิโอผลิตแอนิเมชันสัญชาติญี่ปุ่น ที่พาผู้ชมโลดแล่นเหนือจินตนาการไปกับตัวละครที่ราวกับมีชีวิต เต็มไปด้วยฉากสุดแสนประทับใจ ผสมผสานด้วยความเชื่อ อาหาร และความผูกพันระหว่างผู้คน สิ่งแวดล้อม รวมถึงวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์
แต่เชื่อหรือไม่ว่าสตูดิโอแห่งนี้มีปัญหาด้านการเงินเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ เพราะกลยุทธ์การสร้างแอนิเมชันแบบ “3Hs” ที่แม้จะช่วยผลักดันผลงานแอนิเมชันแต่ละเรื่องให้ไปอยู่ในขั้นสุดยอด แต่ก็ต้องลุ้นว่ารายได้จะเหลือมากพอ ที่จะสร้างให้เรื่องต่อไปหรือไม่
aomMONEY ขอหยิบเรื่องราวของแพสชันอันแรงกล้าของจิบลิมาเล่าให้ฟัง ว่าทำไมสตูดิโอที่ผลิตผลงานมายาวนานกว่า 40 ปี มีรายได้รวมกว่า 300,000 ล้านบาทแห่งนี้ จึงไม่ได้มีงบประมาณมากพอในการสร้างแอนิเมชันตามความต้องการของสตูดิโอ
[[ #สายลมร้อนแห่งซาฮารา ]]
ต้นกำเนิดของสตูดิโอจิบลิต้องย้อนไปเมื่อปี 1963 เมื่อ ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) และ อิซาโอ ทาคาฮาตะ (Isao Takahata) มีโอกาสได้ทำงานด้วยกันที่ ‘Toei Doga’ (ปัจจุบันเป็น Toei Animation) ซึ่งทั้งคู่อยู่ในทีมผลิต Wolf Boy Ken (1963) ซึ่งตอนนั้นสตูดิโอในญี่ปุ่นนิยมผลิตการ์ตูนฉายทางโทรทัศน์ ทั้งคู่มองว่าการผลิตงานป้อนโทรทัศน์นั้น ไม่สามารถถ่ายทอดศิลปะตามที่พวกเขาต้องการได้ ทำให้มีแนวคิดจะสร้างสตูดิโอผลิตแอนิเมชันคุณภาพสูงขึ้นมาเอง
ต่อมาฮายาโอะ มิยาซากิเขียนมังงะเรื่อง #Nausicaä ให้นิตยสาร Animage และถูกนำไปสร้างเป็นแอนิเมชันเรื่อง ‘Nausicaä of the Valley of the Wind’ (1984) ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่สตูดิโอ TopCraft ที่สร้างแอนิเมชันเรื่องนี้ประสบปัญหา ฮายาโอะ มิยาซากิและอิซาโอ ทาคาฮาตะ จึงร่วมกับเจ้าของนิตยสาร Animage อย่าง ยาสุโยชิ โทคุมะ (Yasuyoshi Tokuma) และผู้กำกับแอนิเมชัน โทชิโอ ซูซูกิ (Toshio Suzuki) เข้าซื้อกิจการ และเปิดตัวสตูดิโอจิบลิในปี 1985
โดยคำว่า จิบลิ (Ghibli) เป็นชื่อเรียก สายลมร้อนในทะเลทรายซาฮาราและเป็นชื่อที่นักบินอิตาลีใช้เรียกเครื่องบินสอดแนมของพวกเขาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (Caproni Ca.309 Ghibli) ซึ่งเหตุผลที่ ฮายาโอะ มิยาซากิ เลือกชื่อนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความหลงใหลในการบิน เพราะที่บ้านมีกิจการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน และอีกส่วนคือความต้องการที่จะบอกว่า สตูดิโอแห่งนี้ จะพัดพากระแสลมใหม่มาสู่อุตสาหกรรมแอนิเมชันญี่ปุ่น แต่สื่อทั่วญี่ปุ่นมองว่า สตูดิโอจิบลิไม่น่าอยู่ได้นานเพราะเป็นสตูดิโอที่เปิดเพื่อทำงานศิลปะมากกว่าทำกำไร
1
ปี 1986 สตูดิโอจิบลิก็มีผลงานแอนิเมชันเรื่องแรกออกสู่สายตาผู้ชมคือ “Laputa: The Castle in the Sky” กำกับโดยฮายาโอะ มิยาซากิ แม้จะได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก แต่ก็ถือว่าเป็นแอนิเมชันนอกกระแส จึงมีจำนวนโรงฉายน้อยและทำรายได้ไม่มากนัก มีผู้ชมในญี่ปุ่นประมาณ 775,000 คน แต่ก็มากพอที่จะมีทุนในการสร้างแอนิเมชันเรื่องต่อไปได้
“ช่วงเริ่มต้นเราทุ่มเทสร้างภาพยนตร์ขึ้นมาอย่างสุดกำลัง หากประสบความสำเร็จก็จะมีทุนสร้างเรื่องต่อไป แต่ถ้าไม่ก็อาจเป็นจุดจบ” มิยาซากิกล่าว
ปี 1988 สตูดิโอจิบลิก็ทำเรื่องยากลำบากสำหรับสตูดิโอเล็ก ๆ ที่มีงบจำกัด อย่างการสร้างแอนิเมชันถึง 2 เรื่อง คือ "My Neighbor Totoro" กำกับโดยฮายาโอะ มิยาซากิ และ "Grave of the Fireflies" กำกับโดยอิซาโอ ทาคาฮาตะ พร้อมกัน และสร้างความมหัศจรรย์ โดยกวาดแทบจะทุกรางวัลในประเทศญี่ปุ่นปีนั้น แต่ก็ยังประสบปัญหาเรื่องรายได้ เพราะไม่ได้ออกฉายในช่วงที่มีผู้ชมมากที่สุด ทำให้สตูดิโอต้องออกจัดนิทรรศการตามโรงเรียนเพื่อโปรโมตแอนิเมชันและหารายได้เพิ่ม
เกิดเป็นจุดเปลี่ยนเมื่อสตูดิโอผลิตตุ๊กตา Totoro และขายดีมากจนกระทั่งสร้างรายได้ชดเชยต้นทุนการผลิตแอนิเมชันทั้ง 2 เรื่อง ด้วยความสำเร็จนี้ ทำให้ Tororo จึงถูกนำมาเป็นโลโก้ของสตูดิโอจิบลิ และมีทุนในการพัฒนาแอนิเมชันเรื่องต่อมา นั่นคือ "Kiki's Delivery Service” (1989) ที่มีผู้ชมในประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 2.64 ล้านคน กลายเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ทั้งรายได้และรางวัล
2
จากนั้นเป็นต้นมา สตูดิโอจิบลิก็สร้างแอนิเมชันระดับตำนานมากมายไม่ว่าจะเป็น Only Yesterday (1991), Porco Rosso (1992), Pom Poko (1995) และสร้างชื่อเสียงระดับนานาชาติด้วย Princess Mononoke (1997) และอีก 2 ปีต่อมาก็ส่ง Spirited Away (2001) ไปคว้ารางวัลออสการ์ (Oscar) สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นสตูดิโอเดียวจากเอเชียที่ได้รับรางวัลนี้ และสานต่อความสำเร็จของสตูดิโอด้วยแอนิเมชันที่เป็นขวัญใจแฟนคลับอีกมากมาย
ทั้ง Howl's Moving Castle (2004), Tales from Earthsea (2006), Ponyo (2008) , Arrietty (2010), The Wind Rises, The Tale of the Princess Kaguya (2014), When Marnie Was There (2014) และ Earwig and the Witch (2020-- แอนิเมชัน 3D เรื่องแรกของสตูดิโอ)
โดยสตูดิโอจิบลิผลิตแอนิเมชันขนาดยาวทั้งหมด 22 เรื่อง สร้างรายได้รวมมากกว่า 1.5 ล้านล้านเยน หรือราว 372,000 ล้านบาท โดยแอนิเมชันที่ทำรายได้มากที่สุด 5 อันดับได้แก่
Spirited Away 30,800 ล้านเยน (7,650 ล้านบาท)
Howl’s Moving Castle 19,600 ล้านเยน (4,870 ล้านบาท)
Ponyo 19,300 ล้านเยน (4,790 ล้านบาท)
Princess Mononoke 15,500 ล้านเยน (3,850 ล้านบาท)
The Secret World of Arrietty 12,000 ล้านเยน (2,990 ล้านบาท)
[[ #3Hs ]]
รายได้รวมที่สตูดิโอจิบลิทำไปแล้วนั้น อาจมากกว่า 372,000 ล้านบาท ทำให้เข้าใจว่า สตูดิโอจิบลิมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี แต่เปล่าเลย เพราะต้นทุนที่ใช้ผลิตแอนิเมชันแต่ละเรื่องสูงมาก
โทชิโอ ซูซูกิ หนึ่งในผู้บริการสตูดิโอจิบลิเรียกวิธีการบริหารในแบบของจิบลิว่า “3Hs” นั่นคือ High Cost, High Risk, High Return เขากล่าวว่า “จิบลิเป็นสตูดิโอที่ไม่เหมือนที่ไหนในโลก เราผลิตผลงานคุณภาพ จึงต้องการพนักงานจำนวนมาก เราพลาดไม่ได้ จึงจำเป็นต้องใช้ทุนสูง ความเสี่ยงสูง เพื่อผลตอบแทนที่สูงตามไปด้วย”
แม้จิบลิจะใช้เงินทุนสูงมาตั้งแต่แอนิเมชันเรื่องแรก แต่ก็ใช้เพิ่มขึ้นอีกจากความคิดของฮายาโอะ มิยาซากิในปี 1989 โดยตอนนั้น Kiki's Delivery Service สร้างรายได้สูงมาก ทำให้เขาปรับวิธีบริหาร จากเดิมจิบลิจะทำสัญญาจ้างนักวาดระยะสั้นในการสร้างแอนิเมชันแต่ละเรื่อง เมื่อสร้างเสร็จก็จบ พอมีเรื่องใหม่ก็ว่าจ้างใหม่
เปลี่ยนเป็นจ้างนักวาดให้เป็นพนักงานประจำ ทำงานเต็มเวลาและได้ค่าจ้างเป็นเงินเดือน มีโปรแกรมฝึกอบรมโดยเฉพาะ รวมถึงต้องย้ายสตูดิโอไปที่ใหม่เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
ในการสร้างแอนิเมชันแต่ละเรื่องของสตูดิโอจิบลิ ใช้เวลาในการผลิตนานมาก ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเว็บไซต์ https://smpl.is/87fpc ระบุว่า ค่าใช้จ่ายของสตูดิโอจิบลินั้นอาจสูงถึงปีละ 2,000 ล้านเยน (650 ล้านบาท)
เมื่อเอาตัวเลขค่าใช้จ่าย มาลองเทียบกับระยะเวลาแอนิเมชัน เช่น Princess Mononoke ที่ใช้เวลาสร้าง 4 ปี แสดงว่าต้นทุนแอนิเมชันเรื่องนี้อาจจะสูงถึง 2600 ล้านบาท และสร้างรายได้ 3,850 ล้านบาท เท่ากับว่าเหลืองบลงทุนแอนิเมชันเรื่องต่อไปเพียง 1,250 ล้านบาทเท่านั้น
ส่วนแอนิเมชันที่ฮายาโอะ มิยาซากิสร้างเรื่องล่าสุดคือ “The Boy and the Heron” และมิยาซากิบอกว่า นี่เป็นเรื่องสุดท้ายของเขา โดยแอนิเมชันเรื่องนี้เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2017 เพื่อให้ทันฉายช่วงโอลิมปิก 2020 แต่พึ่งฉายในญี่ปุ่นได้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา
โทชิโอ ซูซูกิ อธิบายว่า The Boy and the Heron ใช้งบประมาณในการสร้างสูงที่สุด (ไม่มีการเปิดเผย) การที่แอนิเมชันเรื่องนี้เสร็จช้า ส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและสถานการณ์โควิด-19 โดยทางสตูดิโอจิบลิต้องแก้ปัญหาด้วยการให้สตรีมมิงอย่าง Netflix นำแอนิเมชันเกือบทั้งหมดไปฉายเพื่อหาเงินทุน
“ฮายาโอะไม่เคยใช้สมาร์ตโฟน เขาไม่รู้ว่า Netflix หรือสตรีมมิงคืออะไร แต่ความกังวลใจในการสร้างแอนิเมชันเรื่องสุดท้ายของเขาให้สำเร็จนั้นใหญ่กว่า เมื่อผมบอกกับเขาว่า การยอมให้ Netflix นำผลงานไปฉายจะทำให้เรามีทุนไปสร้าง The Boy and the Heron เขาจึงตอบตกลง” ซูซูกิ กล่าว
และเมื่อ เด็กชายกับนกกระสา (The Boy and the Heron) ออกฉาย ก็ไม่ได้ทำให้สตูดิโอจิบลิและแฟน ๆ ผิดหวัง สามารถกวาดคำชื่นชมได้อย่างล้นหลาม ทำรายได้ในญี่ปุ่นไป 7,400 ล้านเยน (1,750 ล้านบาท) กำลังเดินหน้ากวาดรายได้ทั่วโลก และมีข่าวว่า ฮายาโอะ มิยาซากิ อาจเปลี่ยนใจกลับมากำกับผลงานเรื่องใหม่อีกในอนาคตด้วย
นี่เป็นเรื่องราวของสตูดิโอจิบลิที่หลาย ๆ คนรัก กับผลงานคุณภาพที่ไม่ได้มีกำไรเป็นตัวตั้ง ดังนั้นการได้ชมแอนิเมชันจากจิบลิ ก็เปรียบเสมือนการได้ชมผลงานศิลปะที่เกิดจากความตั้งใจและการลงทุนลงแรงอย่างมหาศาล และเรื่องนี้ทำให้ให้เห็นว่า ความสุขของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน
บ้างอยู่บนพื้นฐานของความมั่งคั่ง
บ้างก็อยู่บนความตั้งใจในการรังสรรค์ผลงาน
‘เด็กชายกับนกกระสา’ มีกำหนดการเข้าฉายในบ้านเราตอนแรกคือปลายเดือนพฤศจิกายน (แต่ตอนนี้ถูกเลื่อนออกไปก่อนจะมีประกาศอีกครั้ง) เชื่อว่า แฟนคลับสตูดิโอจิบลิต้องไม่พลาดแน่ ๆ ส่วนเพื่อน ๆ คนไหน ประทับใจแอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิเรื่องอะไรบ้าง เล่าสู่กันฟังในคอมเมนต์ได้เลยนะครับ ^^
- เรียบเรียงโดย อติพงษ์ ศรนารา
อ้างอิง :
#aomMONEY #ออมมันนี #Animation #StudioGhibli #Japan #HayaoMiyasaki #Netflix #Passion #Arts #SpiritedAway #Oscar #History
โฆษณา