Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช
•
ติดตาม
28 พ.ย. 2023 เวลา 09:03 • สิ่งแวดล้อม
🌸🌺🌼 พรรณไม้เกียรติประวัติไทย "พิไลสมราน" 🌸🌺🌼
(𝘔𝘪𝘭𝘭𝘦𝘵𝘵𝘪𝘢 𝘴𝘶𝘥𝘥𝘦𝘦𝘪 Mattapha & Tetsana)
วงศ์ : Fabaceae (Leguminosae)
คำระบุชนิด "𝘴𝘶𝘥𝘥𝘦𝘦𝘪" ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.สมราน สุดดี นักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้เป็นครั้งแรก
ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 47 ฉบับที่ 2 หน้า 171 ปี ค.ศ. 2019 จากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ 𝘚𝘶𝘥𝘥𝘦𝘦, 𝘛𝘦𝘵𝘴𝘢𝘯𝘢 & 𝘉𝘒𝘍 𝘴𝘵𝘢𝘧𝘧 5206 ที่เก็บจากบริเวณลำธารหินปูน หน่วยพิทักษ์ป่ากะแง่สอด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (holotype BKF; isotypes BK, BKF)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งอ่อนมีขน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย 7-9 ใบ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับแคบ กว้าง 3-6 ซม. ยาว 6-15 ซม. ปลายยาวคล้ายหาง ขอบเรียบ โคนมนกลม แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนประปรายตามเส้นใบ ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มประปราย เส้นแขนงใบข้างละ 5-8 เส้น หูใบย่อยมีขนแข็ง ยาวประมาณ 2 มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะเทียม ออกตามซอกใบ ยาว 10-20 ซม. มีขนหนาแน่น ใบประดับรูปไข่ ขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสีม่วง มีเส้นสีม่วงอ่อน กลีบกลางรูปวงกลม ด้านนอกมีขน กลีบคู่ข้างรูปสามเหลี่ยมถึงรูปขอบขนาน กลีบคู่ล่างคล้ายรูปเคียว ด้านนอกมีขน เกสรเพศผู้เชื่อมติดสองกลุ่ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนหนาแน่น ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบน
นิเวศวิทยา พิไลสมรานหรือเรียกอีกชื่อว่าหางไหลทุ่งใหญ่ เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบขึ้นตามลำธารหินปูน หน่วยพิทักษ์ป่ากะแง่สอด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ขึ้นตามป่าผสมผลัดใบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 760 เมตร ออกดอกเดือน มีนาคม-เมษายน เป็นผลเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย