4 ธ.ค. 2023 เวลา 17:00 • ประวัติศาสตร์

จากสยามมาเป็นไทย

คำว่า “ไท” กับคำว่า “ไทย” ตามความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความไว้ว่า คำว่า “ไท” หมายถึง ไทย, ผู้เป็นใหญ่, ชนชาติไท, ความมีอิสระในตัว, ความไม่เป็นทาส ส่วนคำว่า “ไทย” หมายถึง ชื่อประเทศไทย
ส่วนคำว่า "สยาม" เป็นชื่อที่ต่างชาติและพระมหากษัตริย์ใช้เรียกประเทศไทยในอดีตและมักรวมถึงชาวไทยสยามซึ่งเป็นชนชาติไทยในภูมิภาคนี้ แต่มิใช่ชื่อคนกลุ่มนี้เรียกตนเอง ราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า สยามเป็นชื่อเรียกดินแดนและกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ พระมหากษัตริย์ไทยทรงใช้ชื่อ "สยาม" ในการทำสนธิสัญญากับต่างชาติเป็นเวลาหลายศตวรรษ
เนื่องจากราชอาณาจักรประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ อาทิ ไท ลาว มอญ ญวน เขมร แขก จีน ฝรั่ง และมลายู พระมหากษัตริย์ไทยจึงเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า ประเทศสยาม เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน อีกทั้ง ชื่อ สยาม นั้น ก็ยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงการวิชาการของต่างประเทศอีกด้วย
ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้อธิบายว่า ชาวสยามเรียกตนเองว่า “ไทย” ซึ่งแปลว่า “อิสระ” ไม่เรียกตนเองว่าชาวสยาม ซึ่งดูเหมือนว่าคำนี้จะเป็นคำที่ชาวต่างชาตินิยมใช้เรียกผู้คนในย่านนี้ ดังที่ ลา ลูแบร์ บันทึกไว้ว่า
“คำว่า สยาม (siam) นั้น ไม่เป็นที่รู้จักของชนชาวสยาม เป็นคำที่พวกปอรตุเกศซึ่งอยู่ในชมพูทวีปใช้เรียก ยากที่จะสืบได้ว่ามีต้นเค้ามาจากคำว่ากระไร. พวกปอรตุเกศใช้เรียกเป็นนามประชาชาติ ไม่ใช่นามแห่งราชอาณาจักร...อนึ่งผู้ที่รู้ภาษาปอรตุเกศนั้น ย่อมจะรู้ดีว่าการเขียนว่า Siam กับ Siaô นั้น อ่านออกเสียงเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งถ้าจะเทียบภาษาฝรั่งเศสกับภาษาปอรตุเกศแล้ว เราก็จะต้องเรียกว่า ชาวซิออง (Sions) แทนที่จะเรียกว่า ชาวสยาม เพราะเมื่อปอรตุเกศเขียนคำชาวสยามในภาษาละติน ก็ใช้เรียกว่า ชาว Sions อยู่
ชาวสยามเรียกตนเองว่า ไทย (Tàï) แปลว่า อิสระ อันเป็นความหมายตามศัพท์ในภาษาของพวกเขาอยู่ในปัจจุบัน…ผู้ที่รู้ภาษาพะโคยืนยันว่า สยาม แปลว่า อิสระ ในภาษานั้นเหมือนกัน ฉะนั้นพวกปอรตุเกศจึงน่าจะนำเอาคำ ๆ นี้มาใช้เรียกชาวสยามก็เป็นได้ เพราะได้รู้จักชาวสยามจากปากคำของชาวพะโค (มอญ)
อนึ่ง นาวาร์แรต (Navarrete) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ พงศาวดารแห่งราชอาณาจักรจีน ตอนที่ 1 บทที่ 5 ว่า คำว่า สยาม ที่เขียน เสียน (Sian) นั้น มาจากคำสองคำ คือ เสียนโล้ (Sien Lô) แต่มิได้บอกไว้ว่าคำสองคำนี้หมายความว่ากระไร และมาจากภาษาไหน แม้จะได้สรุปเอาว่าเป็นคำที่ชาวจีนใช้เรียก เมืองไทย (Meüang Tàï) จึงเป็นนามที่ชาวสยามใช้เรียกราชอาณาจักรสยาม (เพราะคำว่า เมือง แปลว่า ราชอาณาจักร)
และคำ ๆ นี้ เขียนอย่างง่าย ๆ ว่า Muantay…ส่วนเมืองสยามนั้น ชาวสยามเรียกว่า ศรีอโยธยา (Si-yo-thi-ya)… ลางทีพวกเขาก็เรียกเมืองสยามว่า กรุงเทพพระมหานคร (Crung-thé-paprà-maha-nacôn)…
อนึ่ง ชาวสยามที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงนี้ เรียกตนเองว่า ไทยน้อย (Tàï-nôë, Siams-Petits) และตามที่ข้าพเจ้าได้ยินมา ก็ยังมีชนอีกจำพวกหนึ่งซึ่งยังป่าเถื่อนอยู่มาก เรียกกันว่า ไทยใหญ่ (Tàï-yàï, Siams-grands) และตั้งสำนักหลักแหล่งอยู่ตามภูเขาทางภาคเหนือ ข้าพเจ้าได้อ่านพบในจดหมายเหตุหลายฉบับกล่าวถึงแว่นแคว้นอาณาจักรสยามณ (Siammon) หรือสยามี (Siami) แต่เอกสารเหล่านั้นมิได้ลงความเห็นไปในทำนองที่ว่าชนชาติเหล่านี้เป็นคนป่าเถื่อนแต่ประการใด.”
1
สันนิษฐานว่า คำว่า “สยาม” และ “ชาวสยาม” ถูกเรียกโดยชาวต่างชาติ ในขณะที่คนกรุงศรีอยุธยาจะเรียกตนเองว่าไทหรือไทยมากกว่า คำว่าสยามได้นำมาใช้ในราชการ กำหนดเป็นชื่อประเทศแทนนามราชธานีโดยรัชกาลที่ 4 (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายในหนังสือพระนิพนธ์ "อธิบายเบ็ดเตล็ดในเรื่องพงศาวดารสยาม" ความว่า
"ไทยเราพึ่งมาใช้คำ สยาม เปนนามของประเทศในทางราชการต่อในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร (ข้าพเจ้าไม่มีเวลาพอที่จะสอบให้รู้แน่ว่า เริ่มใช้มาแต่ปีใด) เข้าใจว่า ดูเหมือนจะใช้เมื่อทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ เปนเดิมมา เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ที่ใช้คำว่า กรุงศรีอยุธยา เปนแต่นามราชธานีเก่า ไม่ตรงกับนามประเทศ แลนานาประเทศเรียกนามอยู่ว่า ประเทศสยาม ทั่วกันแล้ว จะใช้นามอื่นหาเหมาะไม่ จึงได้ใช้นามว่า ประเทศสยาม ในทางราชการแต่นั้นมา "
สังฆราชปัลเลอกัวซ์ พระสหายในรัชกาลที่ 4 ได้จัดทำพจนานุกรมภาษาไทย-ฝรั่งเศส-อังกฤษเล่มแรก ได้ให้ความหมายของคำว่า “ไทย” ว่าหมายถึง libre, les Thai, les Siamios (ฝรั่งเศส) และ free, the Thai, the Siamese (อังกฤษ) ทั้งนี้ สังฆราชปัลเลอกัวซ์เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ลงไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้คนระดับชนชั้นผู้ถูกปกครอง ท่านจึงอธิบายคำว่า Siamios หรือ Siamese เพิ่มเติมว่าเป็น “คำที่ไม่ใช้แล้ว” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในระดับชนชั้นผู้ถูกปกครองเรียกตนเองว่า “ไท” มาโดยตลอด แต่ในราชสำนักนิยมใช้คำว่า “สยาม”
จนกระทั่งสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีแนวคิดชาตินิยม จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศ จาก “สยาม” เป็น “ไทย” ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 แต่ในทางกฎหมายแล้วต้องถือเอาวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลสมัยนั้นเสนอร่างพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญขนานนามประเทศต่อรัฐสภา
โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้เรียกชื่อประเทศว่า “ประเทศไทย” และตามที่ได้มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ที่มีคำว่า “สยาม” ก็ให้ใช้คำว่า “ไทย” แทน โดยให้เหตุผลในคำแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ตอนหนึ่งว่า
“...ในการที่ทางรัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญขนานนามประเทศนั้น ก็ด้วยได้พิจารณาเห็นกันเป็นเอกฉันท์ว่า นามประเทศของเรา ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ที่เรียกว่า ประเทศสยามนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานที่ได้ตั้งขึ้นไว้ คือ ไม่มีพระราชบัญญัติหรือไม่มีสิ่งใดที่เป็นหลักฐานนามประเทศของเราที่ใช้เรียกกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ได้ด้วยความเคยชิน หรือได้จดจำเรียกกันต่อ ๆ มา และได้พยายามให้เจ้าหน้าที่ค้นในทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ปรากฏว่าใครเป็นคนที่ได้ตั้งขึ้นคราวแรก
และตั้งแต่ครั้งใดก็ไม่ทราบ เป็นแต่ว่าเราได้เรียกเรื่อย ๆ มา เรียกว่าประเทศสยาม และคำว่า ประเทศสยามนั้น ก็มักจะใช้แต่ในวงราชการ และนอกจากนั้นก็ในวงของชาวต่างประเทศเป็นส่วนมาก ส่วนประชาชนไทยของเราโดยทั่วไปเฉพาะอย่างยิ่งตามชนบทด้วยแล้ว เราจะไม่ค่อยใช้คำว่า ประเทศสยาม เราใช้คำว่า ไทย เนื่องด้วยมีนามซึ่งประชาชนคนไทยของเราเรียกเป็นสองอย่าง ดังนี้ และประกอบกับเรายังไม่มีหลักฐานในการที่เรามีการขนานนามประเทศ
ทางรัฐบาลจึงปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า ควรจะร่วมกับสมาชิกผู้มีเกียรติในการที่ได้ตั้งขนานนามประเทศของเราเสียในระบอบประชาธิปไตยนี้ ร่วมกันด้วยความสมัครสมานให้เป็นสิริมงคลแก่ประเทศของเราต่อไปในภายข้างหน้าในการที่ให้ใช้คำว่า ไทย แทนที่เราจะขนานนามในบัดนี้ว่าเป็น สยาม...”
ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 ชั้นคณะกรรมาธิการ มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ การเปลี่ยนมาใช้คำว่า “ไทย” นั้น ควรจะใช้คำว่า “ไทย” มี “ย” หรือ “ไทย” ไม่มี “ย” ตาม
โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสงวนคำแปรญัตติและได้อภิปรายถึงการใช้คำว่า “ไทย” โดยเสนอขอให้ตัดตัว “ย” ออกโดยให้เหตุผลว่า “การเรียกคำว่า “ไท” ของชนชาติไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยมานั้น ตามหลักศิลาจารึกนั้นไม่มีตัว “ย” และเห็นว่าหลักการเขียนคำไทยแท้นั้นต้องรัดกุม ไม่เยิ่นเย้อ อีกทั้งคำว่า “ไทย” ในอดีตที่ใช้กันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ สมัยที่อพยพย้อนลงมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่มี “ย” เช่นเดียวกัน
เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ และในฐานะที่ทรงเป็นประธานคณะกรรมการชำระปทานุกรมได้อธิบายชี้แจงว่า เหตุผลที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเลือกที่จะใช้ “ไทย” มี “ย” ก็เพราะว่า คำว่า “ไท” ไม่มี “ย” นั้น โดยความหมายแปลว่า ความเป็นใหญ่หรือเป็นอิสระ ส่วนคำว่า “ไทย” มี “ย” นั้น
ก็เพื่อจะจำแนกให้เห็นว่าเป็นชื่อเฉพาะและเพื่อความสะดวกทางภาษา เช่น คำว่า “ท้าวไท” โดยไม่มีตัว “ย” ตาม ก็จะแปลว่าท้าวผู้เป็นใหญ่ แต่ถ้า “ท้าวไทย” มีตัว “ย” ตาม ก็จะหมายถึง ท้าวที่มีสัญชาติเป็นไทย ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการชำระปทานุกรม จึงมีความเห็นพ้องต้องกันทั้งหมดให้คงมีตัว “ย” ไว้
เมื่อการอภิปรายในประเด็นดังกล่าวยุติลง สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อเรียกประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ด้วยคะแนนเสียงเป็น เอกฉันท์ และต่อมาได้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช ๒๔๘๒ โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2482 ทั้งนี้ ให้สอดคล้องกับประกาศรัฐนิยม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ซึ่งให้ใช้ชื่อ “ไทย” เป็นชื่อเรียกแทนประชาชน ตลอดจนเชื้อชาติ
ในขณะที่ภาษาอังกฤษให้ใช้คำว่า “Thailand” ซึ่งเหตุผลที่ต้องมีคำว่า “land” ต่อท้ายคำว่า “Thai” นั้นเป็นเพราะเพื่อให้ทราบว่า “Thailand” นั้นเป็นชื่อประเทศ และเพื่อไม่ให้ซ้ำกับคำว่า “ไทย” ที่หมายถึงคนไทย
ในบทความ “เนื่องด้วยประวัติศาสตร์ชาติไทย” โดย สมภพ ภิรมย์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรที่กล่าวว่า ก่อนจะมีตกลงใช้คำว่า “ไทย” เป็นชื่อประเทศแทนคำว่า “สยาม” นั้น ได้มีการถกเถียงกันในสภามาก่อน โดยผู้ที่สนับให้ใช้คำว่า “ไทย” มี “ย” เป็นผู้ชนะในการลงมติไปด้วยคะแนนเสียง 64 ต่อ 57 ด้วยเหตุผลว่า
“‘ไทย มี ย เปรียบเหมือนผู้หญิงที่ดัดคลื่นแต้มลิปสติค เขียนคิ้ว ส่วนไทย ไม่มี ย เปรียบเหมือนผู้หญิงที่งามโดยธรรมชาติ แต่ไม่ได้ตกแต่ง’ จาก น.ส.พ. สุภาพบุรุษ 30 กันยายน 2482 (จากหนังสือชุดประวัติศาสตร์ไทย “เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2” โดย แถมสุข นุ่มนนท์ หน้า 33)”
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ สมภพกล่าวว่าตน “รู้สึกงงและจะขับขันก็ทำไม่ได้ถนัดได้เพียงปลงอนิจจัง” ก่อนกล่าวว่า การจะใช้คำว่า “ไท หรือ ไทย” นั้น “ควรต้องอาศัยหลักภาษาศาสตร์ หลักอักษรศาสตร์ และหลักนิรุกติศาสตร์ เป็นข้อพิจารณาเป็นข้อตัดสินตกลงใจทางวิชาการ มิใช่การออกเสียงเอาชนะกันในสภาผู้แทนราษฎร”
อย่างไรก็ตาม จิตร ภูมิศักดิ์ เคยให้ความเห็นว่าชื่อของชนชาติไทมีพัฒนาการของความหมายมาทีละขั้น ตามสภาพชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไม่ได้คงความหมายสำเร็จรูปมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ส่วนคำว่า “ไทย” ที่มี “ย.” นั้น เกิดจากความเฟื่องฟูของภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะแต่เดิมภาษาบาลีไม่มีสระไอ แต่ก่อนเขียนคำว่า “ไท” ในภาษาบาลีว่า เทยฺย เมื่อจะเขียนเป็นภาษาไทย จึงเอา ย. ยักษ์ พ่วงท้ายเข้าให้ด้วย ไท+ย. จึงเป็นคำว่า “ไทย”
ปรีดี พนมยงค์ ได้คัดค้านการใช้ชื่อประเทศเป็นภาษาอังกฤษว่า "Thailand" โดยอ้างเหตุผลว่า "ด้วยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางภาษาที่มีลักษณะคลั่งชาติคนหนึ่ง" ซึ่งเข้าใจอยู่แล้วว่าเป็นหลวงวิจิตรวาทการ ฟันเฟืองตัวสำคัญของการสร้างนโยบายชาตินิยมของจอมพล ป.
ปรีดีเสนอว่า ควรให้เรียกชื่อประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสว่า “Siam” ตามที่คนทั่วโลกได้รู้จักชื่อนี้อยู่แล้ว ได้ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี ซึ่งเรียกชื่อประเทศเป็นภาษาเยอรมันว่า “DEUTSCHLAND” แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้เรียกชื่อประเทศตนเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสตามชื่อภาษาเยอรมนี หากเรียกชื่อประเทศตนในภาษาอังกฤษว่า “GERMANY” และภาษาฝรั่งเศสว่า “ALLEMAGNE” ตามที่คนอังกฤษและฝรั่งเศสเคยเรียกและเคยรู้จักชื่อประเทศเยอรมนีในชื่อนั้น
และยังให้ความเห็นอีกว่า หากจะต้องใช้ชื่อประเทศใหม่ เพื่อแสดงว่าประเทศนี้ประกอบด้วยคนเชื้อชาติไทยเป็นส่วนมาก ควรจะเรียกตามที่คนไทยเรียกชื่อประเทศของตนว่า “Muang Thai” แทนที่จะใส่คำว่า “Land” หรือ “Lande ” ต่อท้ายคําว่า “Thai”
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ทวี บุณยเกตุ ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ระหว่างรอ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กลับจากสหรัฐอเมริกาเพื่อมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดการเกี่ยวกับสถานะสงครามของไทย
วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2488 มีการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นภาษาอังกฤษ จากคำว่า "Thailand" กลับไปเป็น "Siam" ความว่า
" ตามที่ได้มีการประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒ ซึ่งในภาษาอังกฤษให้ใช้ชื่อเรียกประเทศไทยว่า ‘Thailand’ ชื่อประชาชนและสัญชาติว่า ‘Thai’ นั้น
บัดนี้ รัฐบาลได้พิจารณาว่า โดยที่ชื่อของประเทศเราเป็นที่นิยมเรียกกันทางต่างประเทศว่า ‘Siam’ จนเป็นที่รู้จักกันอย่างดีทั่วไปมาช้านานแล้ว ฉะนั้นจึงให้ชื่อประเทศในภาษาอังกฤษว่า ‘Siam’ กับชื่อประชาชนและสัญชาติให้ใช้ว่า ‘Siamese’ สำหรับในภาษาต่างประเทศอื่นให้ใช้โดยอนุโลม ส่วนชื่อในภาษาไทยให้คงใช้ว่า ‘ไทย’ ไปตามเดิม
ประกาศ ณ วันที่ ๗ กันยายน ๒๔๘๘
ทวี บุณยเกตุ
นายกรัฐมนตรี "
ทั้งนี้ คำประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังญี่ปุ่นยอมจำนนต่อสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เพียงไม่ถึง 1 เดือน ซึ่งชาญวิทย์ เกษตรศิริ มองว่าเป็น “สารที่ผู้นำไทยอีกฝ่ายหนึ่ง คือ ฝ่ายเสรีนิยมของ ปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม (เจ้านาย) ต้องการสื่อกับฝรั่งตะวันตกผู้พิชิตสงครามเสียมากกว่า” ซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยนเพื่อเป็นเอาใจฝ่ายสัมพันธมิตร ในฐานะเป็นผู้ชนะของสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศในภาษาอังกฤษกลับไปเป็น "Thailand" อีกครั้งสืบมาจนถึงปัจจุบัน
แต่อย่างไรก็ตาม คำว่าสยาม ไท-ไทย ยังมีอีกหลายข้อสันนิษฐานและความเห็น รวมถึงการเปลี่ยนชื่อประเทศกลับไปเป็นสยาม ฯลฯ ซึ่งเราอาจจะไม่ได้กล่าวยกมาทั้งหมด แต่ก็ยังเป็นประเด็นหนึ่งที่ถกกันมาอยู่เรื่อยๆ
โฆษณา