29 พ.ย. 2023 เวลา 08:45 • การเมือง

🗳️“Double majority” ในกฎหมายประชามติ

ประเด็นเสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น หรือ Double majority ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ประชามติฯ 2564 ว่า
การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น
"ม.13 พ.ร.บ.ประชามติฯ 2564"
ความหมายของมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ คือ การทำประชามติจะเป็นที่ยุติได้ จะต้องมีสองเงื่อนไขที่ต่อเนื่องกันเป็นขั้นตอน หากไม่ครบเงื่อนไขทั้งสองชั้นก็จะถือว่าการทำประชามตินั้นไม่สามารถหาข้อยุติได้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือไม่ผ่านนั่นเอง
ชั้นที่ 1️⃣ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง เช่น ถ้า “ผู้มีสิทธิออกเสียง” มีจำนวน 40 ล้านคน ต้องมี “ผู้ออกมาใช้สิทธิ” มากกว่า 20 ล้านคน ถ้าผู้ออกมาใช้สิทธิน้อยกว่านั้นจะทำให้ประชามตินั้นตกไป ซึ่งหมายความการไม่ออกไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจะมีผลต่อการลงประชามติ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิก็จะทำให้คำถามที่ถูกทำประชามติยังไม่ตกไป
ชั้นที่ 2️⃣ เมื่อผ่านขั้นที่ 1 คือ มีผู้ออกมาใช้สิทธิมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง ขั้นตอนที่ 2 คือ ต้องมีจำนวนเสียงที่เห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ เช่น ถ้ามีผู้ออกมาใช้สิทธิจำนวน 30 ล้านคน ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเห็นชอบกับประเด็นนั้นเกิน 15 ล้านคน ผลการออกเสียงจึงจะเป็นข้อยุติ
จากตัวอย่างในภาพจะเห็นว่าทั้งสองกรณีมีจำนวน "ผู้มีสิทธิ" เท่ากันคือ 40 ล้านคน แต่มีจำนวน "ผู้ออกมาใช้สิทธิ" ต่างกัน กรณีที่ 1 ผู้ออกมาใช้สิทธิ 26 ล้านคน ส่วนกรณีที่ 2 ผู้ออกมาใช้สิทธิ 19 ล้านคน ทำให้ในขั้นที่หนึ่งที่ต้องการเสียงผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ คือ 20 ล้านคน ส่งผลให้กรณีที่ 2 แม้จะมีเสียงเห็นชอบเท่ากับกรณีที่ 1 แต่มีผู้ออกมาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จึงทำให้ประชามติต้องตกไป
ในกรณีที่ 1 เมื่อมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของมีสิทธิคือ 26 ล้านคน จาก 40 ล้านคน ต่อมาต้องมาลุ้นในชั้นที่สอง ให้จำนวนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเห็นชอบมากกว่าไม่เห็นชอบ ซึ่งจากตัวอย่างในภาพจำนวนผู้มาใช้สิทธิเห็นชอบมากกว่าไม่เห็นชอบทำให้ประชามติผ่าน
โฆษณา