29 พ.ย. 2023 เวลา 12:09 • ธุรกิจ

ออกเช็คแล้ว เช็คเด้ง มีความผิดอาญาอยู่นะ

เช็คคืออะไร
ความหมายของเช็ค ตาม ปพพ. มาตรา 987 เช็ค คือ หนังสือตราสารซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่า ผู้สั่งจ่าย สั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับเงิน
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2535 มาตรา 4 ได้บัญญัติความผิดเกี่ยวกับการออกเช็คไว้ ดังนี้
“ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(2) ในขณะออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต
เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ”
การกระทำที่เป็นความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คจะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ หากเป็นการออกเช็คเพื่อประกันว่าจะชำระหนี้ก็ไม่มีความผิดตามกฎหมายนี้
ความผิดเกี่ยวกับเช็คเป็นความผิดอันยอมความได้ ต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คือนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค
อย่างไรก็ตาม มติ ครม. วันที่ 21 มิ.ย. 2565
ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ มีการกำหนดโทษไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดหลักการให้พึงกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง และไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในข้อ 11 (กระทรวงยุติธรรมจึงเห็นควรให้มีการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้)
แต่ปัจจุบัน ยังไม่ยกเลิก เป็นเพียงมติ ครม. เท่านั้น ซึ่งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1279/2566
“แม้คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 แต่การมีมติของคณะรัฐมนตรีเป็นเพียงขั้นตอนของการออกกฎหมายยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิด พ.ศ.2534 เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77
เมื่อรัฐยังไม่ได้มีพระราชบัญญัติยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ยังคงมีผลใช้บังคับและมีโทษตามกฎหมายในทางอาญา จำเลยคงมีความผิดและต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4”
ดังนั้น ออกเช็คแล้ว เช็คเด้ง ยังคงมีความผิดอาญา อยู่นะ
โฆษณา