29 พ.ย. 2023 เวลา 16:21 • การเมือง

องคมนตรี รัฐประหาร กับบทบาทใหม่ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำคณะรัฐประหารปี 2557 และอดีตนายกรัฐมนตรี นำพรรครวมไทยสร้างชาติ พ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยได้ที่นั่ง สส. เพียง 36 ที่นั่ง เข้าป้ายเป็นลำดับที่ห้า
จึงทำให้หมดความชอบธรรมที่จะเป็นแกนนำจะตั้งรัฐบาล และเสนอตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ส่งผลให้หลังจากนั้นความเคลื่อนไหวของพลเอกประยุทธ์ได้ค่อยๆ หายไปจากหน้าการเมือง
 
อย่างไรก็ตาม วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกประยุทธ์เป็นองคมนตรี ทำให้ชื่อของพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นที่กล่าวถึงอีกครั้งในบทบาทใหม่ที่ทำงานใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มากยิ่งขึ้น
ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 10 ระบุว่า ตำแหน่งองคมนตรีมาจากการเลือกและแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ โดยกำหนดให้มีประธานองคมนตรีหนึ่งคน และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 18 คน รวมกันทั้งหมด 19 คน เป็นคณะองคมนตรี เพื่อทำหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระองค์ทรงปรึกษา
 
ดังนั้นในการแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์เป็นองคมนตรีจึงทำให้ ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ตำแหน่งองคมนตรีมีครบทั้ง 18 คน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว
สำหรับผู้มีหน้าที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง คือ ในกรณีแต่งตั้งประธานองคมนตรีให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนาม ส่วนในกรณีองคมนตรีอื่นให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนาม
ทั้งนี้ในประกาศแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ ที่เผยแพร่อย่างเป็นทางการถูกตั้งคำถามว่า ไม่มีชื่อผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการซึ่งในกรณีนี้คือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ในฐานะประธานองคมนตรี
นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 จนถึงปี 2566 ประเทศไทยมีนายกฯ ทั้งหมด 30 คน แต่มีอดีตนายกฯ เพียงห้าคนเท่านั้นที่ได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี คือ
1. สัญญา ธรรมศักดิ์ (นายกฯ พระราชทาน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516)
2. พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (นายกฯ 3 สมัยต่อเนื่อง (ปี 2523 - 2531) ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ)
 
3. ธานินทร์ กรัยวิเชียร (นายกฯ แต่งตั้งหลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519)
 
4. พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ (นายกฯ แต่งตั้งหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549)
 
5. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกฯ แต่งตั้งหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557)
 
ในห้าคนนี้มีถึงสามคน ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานองคมนตรี คือ สัญญา ธรรมศักดิ์, พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
จะเห็นว่าอดีตนายกฯ ที่เป็นองคมนตรี ล้วนเป็นนายกฯ ที่มีที่มาแบบ “พิเศษ” กล่าวคือ มีสามคนเป็นนายกฯ จากการแต่งตั้งหลังรัฐประหาร คือ ธานินทร์ พลเอกสุรยุทธ์ และพลเอกประยุทธ์ ขณะที่สัญญา เป็นนายกฯ พระราชทาน ส่วนพลเอกเปรม แม้จะมาจากการเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎรแต่ก็เป็นสภาชุดแรกหลังการรัฐประหาร ปี 2520 ซึ่งเป็นสภายุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่กองทัพยังมีบทบาทนำในการเมือง
สำหรับคณะองคมนตรีชุดปัจจุบัน นับถึง 29 พฤศจิกายน 2566 มีองคมนตรีที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีสองคน คือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานองคมนตรี และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งองคมนตรี
 
นอกจากนี้ในบรรดาองคมนตรี 18 คน มีองคมนตรีจำนวนเจ็ดคน มีบทบาทสำคัญหลังการรัฐประหารปี 2557 โดยพลเอกประยุทธ์ได้แต่งตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), รัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
โฆษณา