Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
INVENTLY ประวัติศาสตร์ของสิ่งประดิษฐ์
•
ติดตาม
30 พ.ย. 2023 เวลา 09:21 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
บ้านฮอลันดา
กล้องของกาลิเลโอ กับคณะทูตจากอยุธยา
เหตุบังเอิญที่การเดินทางเยือนยุโรปครั้งแรกของคณะทูตจากสยาม มีส่วนช่วยกระจายข่าวการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ครั้งแรกของโลก
ในคืนที่หนาวเย็นของวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1609 บนดาดฟ้าของบ้านหลังหนึ่งที่ปาโดวา ใกล้กับเวนิส กาลิเลโอ กาลิเลอี (1564-1642) วัย 45 ได้หันกล้องโทรทรรศน์ที่เขาออกแบบและสร้างขึ้นเองขึ้นไปยังท้องฟ้า ปรับระยะเลนส์เว้าจนมองเห็นดวงจันทร์ครึ่งซีกได้อย่างชัดเจน
ภาพหลุมบ่อบนผิวดวงจันทร์ วงจรเสี้ยวของดาวศุกร์ จุดดับบนดวงอาทิตย์ ดาวบริวารของดาวพฤหัสและปรากฏการณ์ในฟากฟ้าอื่นๆ ได้ถูกสังเกตการณ์ไว้อย่างละเอียด และนำมาตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ ผลงานนี้ได้ทำให้กาลิเลโอ อาจารย์จากโรงเรียนทหารวัยกลางคน มีชื่อเสียงไปทั่วยุโรปในชั่วข้ามคืน
ภาพวาดผิวดวงจันทร์ จากกล้องดูดาวของกาลิเลโอ ปี 1609
ประวัติศาสตร์ฉบับย่อตามสมัยนิยมมักจะบันทึกไว้ว่า “กาลิเลโอเป็นผู้ที่คิดค้นกล้องดูดาวขึ้น เป็นบุคคลแรกของโลกที่้ใช้กล้องส่องสำรวจดวงจันทร์ และสร้างทฤษฎีใหม่ทางดาราศาสตร์ ล้มล้างความคิดเดิมของศาสนจักรที่เชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล”
ข้อความข้างต้นนี้ไม่ถูกต้องเท่าใดนัก จริงๆแล้ว มีความผิดพลาดในข้อเท็จจริงทั้งสามประการ
กาลิเลโอไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ ไม่ได้เป็นคนแรกที่ใช้มันส่องขึ้นไปสำรวจฟากฟ้า และไม่ได้เป็นคนแรกที่คิดว่า โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์
สิ่งประดิษฐ์อันเป็นต้นแบบกล้องโทรทรรศน์ของกาลิเลโอ กำเนิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วในดินแดนของชาวดัตช์ ที่ชาวสยามสมัยนั้นเรียกว่าวิลันดา หรือฮอลันดา ในปี 1608 ซึ่งถือว่าเป็น “ยุคทองของเนเทอร์แลนด์” นับแต่ชาวดัตช์ที่ส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนท์ได้ประกาศแยกตัวออกจากราชอาณาจักรสเปนที่เป็นคาทอลิก และเกิดสงครามระหว่างฮอลันดากับสเปนตามมา
(ที่จริงแล้ว ฮอลันดา หรือฮอลแลนด์ เป็นเพียงรัฐหนึ่งที่ประกอบขึ้นเป็นประเทศเนเทอร์แลนด์ ซึ่งยุคนั้นเป็นสหพันธรัฐ หรือ Dutch republic ประกอบด้วยรัฐย่อย 7 รัฐ เช่นฮอลแลนด์, ซีแลนด์,อูเทร็คท์,โกรนิงเกน ฯลฯ)
ฮันส์ ลิปเปอร์เฮย์ (บางแห่งพิมพ์ผิดเป็น Lippershey) ช่างแว่นตาที่เกิดในเยอรมัน แต่มาอาศัยอยู่ที่เมืองมิดเดลเบิร์ก รัฐซีแลนด์ (ที่มาของชื่อประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งนักเดินเรือชาวดัทช์เป็นคนตั้ง) ศูนย์กลางของช่างฝนเลนส์ ส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐดัตช์ในเวลานั้น เป็นผู้ที่ถูกบันทึกไว้ว่าได้สร้างกล้องส่องทางไกลขึ้นเป็นคนแรก จากการสังเกตเห็นวิธีที่ลูกๆของเขาเองนำเลนส์แว่นตามาเล่นกัน และมองเห็นภาพขนาดใหญ่ขึ้น
ฮันส์ ลิปเปอร์เฮย์ ช่างแว่นตา ผู้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์
กล้องของลิปเปอร์เฮย์ ใช้เลนส์นูนสำหรับแก้สายตายาวเป็นเลนส์วัตถุ และเลนส์เว้าสำหรับแก้สายตาสั้นไว้เป็นเลนส์ใกล้ตา ขยายภาพในระยะไกลได้ราวสามเท่า เขาเห็นโอกาสทำเงินจากสิ่งประดิษฐ์ที่เขาเรียกว่ากล้องสอดแนม หรือ spyglass นี้ เพื่อใช้ในสงครามที่กำลังรบกับสเปน (กาลิเลโอเป็นคนแรกที่ใช้คำว่ากล้องโทรทรรศน์หรือ telescope ในภายหลัง) จึงได้ติดต่อไปยังผู้ปกครองที่กรุงเฮกในเวลานั้นคือเจ้าชายมอริซแห่งออเรนจ์
เจ้าชายมอริซ เองก็เป็นคนชอบการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นรถศึกพลังลมที่ใช้ใบเรือลากแทนรถม้าก็เกิดขึ้นในสมัยนี้
รถศึกพลังลมของชาวดัตช์ ในสมัยของมอริซแห่งออเรนจ์
แต่ช่วงนั้นมอริซมีภารกิจสำคัญอื่นอีกสองเรื่อง คืออยู่ระหว่างการเจรจาหยุดยิงกับนายพลสปิโนลาที่เดินทางมาจากสเปน และต้อนรับคณะทูตจากแดนไกล ได้แก่ทูตชุดแรกจากสยามที่พระเอกาทศรถกษัตริย์อยุธยาส่งมานั่นเอง
ในปี 1608 (พ.ศ. 2151) นั้น ชาติตะวันตกที่มีอิทธิพลอย่างสูงกับอยุธยาคือโปรตุเกส นอกจากค้าขายแล้ว ยังเผยแพร่ศาสนา และมาเป็นทหารรับจ้างด้วย มีการปะทะกับชาวต่างชาติอื่นๆ จนเริ่มจะเหนือการควบคุม ในรัชกาลพระเอกาทศรถจึงมีนโยบายจะผูกสัมพันธ์กับชาติเอกราชชาติใหม่อย่างฮอลันดา ซึ่งไม่ค่อยถูกกับโปรตุเกส เพื่อให้มาถ่วงดุลอำนาจ และอยากจะได้วิชาการต่อเรือของชาวดัตช์ด้วย
ส่วนฮอลันดา ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ที่ต้องพึ่งพาการค้าต่างประเทศเป็นหลัก และเพิ่งก่อตั้งบริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย หรือ VOC (Verenigde Oostindische Compagnie) ขึ้นในปี 1602 (พ.ศ. 2145) ก็เห็นว่าอยุธยา จะเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคเอเชีย และเป็นทางผ่านไปยังจีนและญี่ปุ่นได้ จึงตอบรับสัมพันธไมตรีครั้งนี้
คณะทูตจากสยามประมาณ 20 คน รอนแรมข้ามทะเลอยู่หลายเดือน จึงไปถึงอัมสเตอร์ดัม และเข้าพบเจ้าชายมอริซ ที่วัง Moritstoren ในกรุงเฮก เมื่อวันที่ 10 กันยายน 1608 หลังจากนั้นคณะทูตก็ไปทัศนศึกษาดูสภาพบ้านเมือง และการต่อเรือ ส่วนเจ้าชายมอริซก็ไปเจรจากับสเปนต่อ
จดหมายข่าวการเยือนกรุงเฮก ของคณะทูตจากอยุธยา 10 กันยายน 1608
ปลายเดือนกันยายนนั่นเอง ที่ลิปเปอร์เฮย์ ได้ถูกเรียกให้มาสาธิตกล้องสอดแนม สิ่งประดิษฐ์ของเขาที่บนดาดฟ้าของ Moritstoren โดยที่ สปิโนลา ผู้แทนจากสเปนก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย (แต่ไม่ทราบว่าขณะนั้นทูตสยามอยู่ด้วยหรือไม่) กล้องของลิปเปอร์เฮย์ได้ทำให้ผู้สูงศักดิ์ทั้งหลายในที่นั้นอัศจรรย์ใจ
จากดาดฟ้าชั้นหกบนอาคารในกรุงเฮก จะสามารถอ่านตัวเลขเข็มนาฬิกาบนหอคอยโบสถ์แห่งเมืองเดลฟ์ และมองเห็นหน้าต่างโบสถ์เลย์เดน ที่ห่างออกไปราว 10 กิโลเมตร ได้ชัดเจน สปิโนลา ถึงกับกล่าวว่า พวกท่านมีสิ่งนี้ก็เห็นกองทัพเราได้หมด คงสู้พวกท่านไม่ได้แน่ ไม่ทราบว่าด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้การเจรจาประสบผล ดัตช์และสเปนสงบศึกอยู่สิบสองปี (จากนั้นก็เกิดเรื่องทำให้มารบกันต่ออีกหลายปี)
วัง Moritstoren ในกรุงเฮก สถานที่ทดสอบกล้องส่องทางไกล และรับคณะทูต
ภารกิจสามประการในเดือนกันยายนของเจ้าชายมอริซนี้ คือการรับทูตจากสยาม, การเจรจากับสเปน และการสาธิตกล้องส่องทางไกล ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาฝรั่งเศสในจดหมายข่าวที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่เกินสามฉบับในโลก โดยมีพาดหัวข่าวว่า
“ราชทูตที่กษัตริย์แห่งสยามส่งมาเข้าเฝ้าท่านเจ้าชายมอริซ ได้มาถึงกรุงเฮก เมื่อวันที่ 10 กันยายน 1608”
(Ambassades du Roy de Siam envoyé à L 'Excellence du Prince Maurice, arrivé à la Haye le 10 Septembre 1608)
เรื่องราวของคณะทูตอยุธยาได้ถูกบรรยายไว้อย่างละเอียด เพราะเห็นเป็นเรื่องแปลก ตั้งแต่การหมอบคลานเข้าเฝ้า ที่เขียนไว้ว่า พวกเขาไม่ยอมลุกขึ้นสักที จนท่านมอริซต้องไปขอจับมือ ส่วนข่าวเรื่องการทดสอบกล้องสอดแนมนั้น กลับถูกให้ความสำคัญน้อยที่สุด ใส่ไว้ในที่ว่างตอนท้ายเนื่องจากมีกระดาษเหลือเท่านั้น และไม่มีแม้แต่ชื่อของฮันส์ ลิปเปอร์เฮย์เลย
เพียงแต่ระบุว่าเป็นผลงานของ “ช่างแว่นตาจากมิดเดลเบิร์ก ผู้ยากไร้และศรัทธาในพระเจ้า” เท่านั้น แต่รัฐบาลฮอลันดาก็ตอบแทนเขาด้วยการสั่งซื้อกล้องสอดแนมจากลิปเปอร์เฮย์เพื่อไว้ใช้ทางการทหาร
จดหมายข่าว (เหมือนหนังสือพิมพ์สมัยนั้น) ที่พาดหัวเรื่องราชทูตจากสยามฉบับนี้นั่นเอง ที่ทำให้สิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่เป็นที่รู้จัก ผู้คนไม่ได้สนใจเรื่องราวของคณะทูตจากแดนไกลเท่าใดนัก แต่ข่าวเล็กๆที่ต่อท้ายเรื่องกล้องส่องทางไกลต่างหากที่เป็นเรื่องโจษจันกันไปทั่วยุโรป
ข่าวคณะทูตจากสยาม และการสาธิตกล้องส่องทางไกล ที่ไม่เอ่ยชื่อผู้ประดิษฐ์แม้แต่คำเดียว
ส่วนใหญ่มิได้อ่านจากข่าวฉบับพิมพ์โดยตรง แต่รับฟังกันมาปากต่อปาก ถึงสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นได้ง่ายเหมือนเส้นผมบังภูเขา แต่ช่วยร่นระยะทางการมองเห็นได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน หนึ่งในผู้ที่ฟังข่าวนี้อย่างกระตือรือร้น ก็คืออาจารย์สอนคณิตศาสตร์ชาวอิตาลีที่ชื่อ กาลิเลโอนั่นเอง
กาลิเลโอไม่เห็นกล้องตัวจริงมาก่อน และจดหมายข่าวก็ไม่ได้อธิบายรายละเอียดของกล้องไว้ แต่นั่นก็เพียงพอที่จะจุดประกายความคิดให้กับกาลิเลโอแล้ว เขาได้ออกแบบและสร้างกล้องส่องทางไกลขึ้นเอง ด้วยความรู้ด้านทัศนศาสตร์ของแสงเป็นอย่างดี อีกทั้งมีความชำนาญในการสร้างเครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่างๆอยู่แล้ว คุณภาพกล้องของกาลิเลโอจึงเหนือกว่ากล้องสอดแนมของลิปเปอร์เฮย์ที่ใช้วิธีลองผิดลองถูกอย่างมาก
เคล็ดลับที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือขณะนั้นกาลิเลโออาศัยอยู่ในเขตปกครองเวนิส ซึ่งมีเกาะมูราโนเป็นแหล่งผลิตแก้วชั้นเลิศที่นำมาทำเป็นเลนส์หักเหแสงคุณภาพสูงได้ ในระยะที่นั่งเรือข้ามฟากไปก็ถึง ปัจจัยเหล่านี้ประกอบกันทำให้กล้องของกาลิเลโอ มีทั้งกำลังขยายเพิ่มขึ้น จากสามเท่าเป็นสามสิบเท่าในที่สุด และพื้นที่การมองเห็น (field of view) ก็สูงขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก เขาให้ชื่อมันใหม่ว่ากล้องโทรทรรศน์ (telescope)
อย่างไรก็ตาม การจัดวางเลนส์กลับใกล้เคียงกับการออกแบบเดิมของลิปเปอร์เฮย์ โดยบังเอิญ คือใช้เลนส์นูนเป็นเลนส์วัตถุและเลนส์เว้าเป็นเลนส์ใกล้ตา ทั้งที่กาลิเลโอไม่เคยเห็นตัวอย่างมาก่อนเลย
การขยายภาพของกล้องโทรทรรศน์แบบกาลิเลโอ (ลิปเปอร์เฮย์)
แต่สิ่งที่ทำให้โลกรู้จักกาลิเลโอ ไม่ได้อยู่ที่คุณภาพของกล้อง แต่อยู่ที่วิธีการใช้ของเขา กาลิเลโอไม่ได้ใช้มันเพื่อการสอดแนม สิ่งที่เขาทำกับสิ่งประดิษฐ์ของลิปเปอร์เฮย์ ในคืนวันนี้เมื่อ 414 ปีที่แล้ว คือการ “Put to another use” หันกล้องขึ้นไปยังท้องฟ้า ส่องสำรวจหุบเหวและยอดเขาบนดวงจันทร์ สิ่งซึ่งเคยเชื่อกันมานับพันปีว่าเป็นทรงกลมเกลี้ยงไร้มลทิน
จากกล้องสอดแนมของลิปเปอร์เฮย์ จึงกลายมาเป็นกล้องดูดาวของกาลิเลโอ
การศึกษาดาราศาสตร์ก่อนหน้านั้น นับแต่ยุคบาบิโลน ล้วนแต่เป็นการแหงนมองฟ้าด้วยตาเปล่าทั้งสิ้น กาลิเลโอเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ ที่สังเกตการณ์เทหวัตถุต่างๆบนฟากฟ้าอย่างใกล้ชิดและชัดเจน และนำภาพที่จดบันทึกไว้มาเผยแพร่ต่อชาวโลก ก่อให้เกิดความเข้าใจใหม่ต่อธรรมชาติ มนุษย์ และจักรวาล ที่ทำให้ความคิดของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
แต่เขาก็ไม่ใช่คนแรกสุดที่นำกล้องมาดูดวงจันทร์ ในปีสากลแห่งดาราศาสตร์ ฉลองครบรอบสี่ร้อยปีของกล้องดูดาว เมื่อ ค.ศ. 2009 นั้น มีผู้เสนอหลักฐานว่า บุคคลแรกที่ใช้กล้องดูดวงจันทร์และจดบันทึกไว้ ในเดือนสิงหาคมปี 1609 ที่กรุงลอนดอน ก่อนหน้ากาลิเลโอราวสี่เดือน คือ โทมัส แฮร์เรียต (Thomas Harriot. 1560-1621) นักคณิตศาสตร์ชาวอ้งกฤษ โดยใช้กล้องของชาวดัตช์ขนาดกำลังขยายหกเท่า
โทมัส แฮร์เรียต ดูดวงจันทร์เป็นคนแรกแต่ไม่ได้บอกใคร
กล้องที่แฮร์เรียตใช้คุณภาพต่ำกว่า ภาพจึงขาดรายละเอียด และเขาก็ไม่ได้เผยแพร่ผลงานที่ไหน ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาได้ปลีกตัวออกจากวงการวิชาการ ตั้งแต่เกิดการก่อกบฏของกาย ฟอคส์ ในปี 1605 ที่เขาเองถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีส่วนรู้เห็นด้วย บันทึกของแฮร์เรียตไม่มีใครรู้จักในสมัยนั้น เพิ่งจะปรากฏขึ้นภายหลังการตีพิมพ์ของกาลิเลโอ หลายร้อยปี
กล้องดูดาวแบบหักเหแสงที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นนิยมใช้ในปัจจุบัน ก็มิได้ใช้การออกแบบของกาลิเลโอ แต่เป็นของโยฮันเนส เคปเลอร์ นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ซึ่งอาศัยอยู่ที่กรุงปราก เคปเลอร์ปรับปรุงกล้องของกาลิเลโอโดยใช้เลนส์ตาเป็นเลนส์นูนแทนเลนส์เว้า ภาพที่ได้จะกลับหัว แต่ให้พื้นที่การมองเห็นเป็นมุมที่มากกว่า และการส่องสว่างสม่ำเสมอทั่วทั้งภาพมากกว่า
เคปเลอร์ ได้เขียนจดหมายแลกเปลี่ยนความรู้กับทั้งกาลิเลโอ และโทมัส แฮร์เรียต และรับแนวคิดมาใช้ในการสร้างกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์อันเป็นการปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ของเขาด้วย
การขยายภาพของกล้องโทรทรรศน์แบบเคปเลอร์ ใช้เลนส์นูนทั้งสองชิ้น
หลังจากผลงานของกาลิเลโอประมาณหกสิบปี ไอแซค นิวตัน ก็ได้ออกแบบกล้องดูดาวแบบใหม่ ที่ใช้กระจกสะท้อนแสงแทนที่จะเป็นเลนส์ เพื่อขจัดปัญหาการเกิดแถบสีรุ้ง จากความคลาดสี (chromatic aberration) ของกล้องดูดาวแบบหักเหแสง เนื่องจากแสงแต่ละสีหักเหผ่านเลนส์เป็นมุมไม่เท่ากัน
ขณะนั้นนิวตันเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างเลนส์ที่ปราศจากความคลาดสี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะต่อมาในปี 1729 เชสเตอร์ มัวร์ ฮอลล์ ทนายความนักประดิษฐ์ ก็ได้ประดิษฐ์เลนส์อรงค์ (achromatic lens) ขึ้นได้สำเร็จ
กาลิเลโอจึงไม่ได้เป็นคนแรกที่ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ (ผลงานของลิปเปอร์เฮย์) ไม่ได้เป็นคนแรกที่ใช้กล้องดูดาว (โทมัส แฮร์เรียต) และประการที่สาม ผู้ที่เสนอว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ (แทนที่จะเป็นดวงอาทิตย์โคจรรอบโลกตามความเชื่อเดิม) เป็นคนแรกก็ไม่ใช่เขา แต่เป็น นิโคลัส โคเปอร์นิคัส นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ ผู้สังเกตท้องฟ้าด้วยตาเปล่าก่อนกาลิเลโอหลายสิบปี
กล้องดูดาวของกาลิเลโอ ทำจากท่อออร์แกน ปัจจุบันแสดงอยู่ที่ฟลอเรนซ์
สิ่งที่ทำให้เรารู้จักกาลิเลโอ ไม่ได้อยู่ที่เพียงผลงาน แต่เป็นความกล้าหาญที่เขายืนหยัดในหลักการ ปกป้องวิทยาศาสตร์ ต่อสู้กับความงมงายไร้เหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ของศาสนจักรที่ทรงอานุภาพ จนตนเองต้องสูญสิ้นทั้งอิสรภาพและการมองเห็น
ถึงแม้จะต้องจำยอมประกาศปฏิเสธคำสอนของตนเองในที่สุด ไม่งั้นก็จะต้องถูกเผาทั้งเป็น เหมือนจอร์ดาโน บรูโน บาทหลวงผู้ซึ่งเคยสอนอยู่ที่ปาโดวาเช่นกัน และถูกประหารย่างสดในกรุงโรมเมื่อปี 1600 มาแล้ว ในนามของศาสนาที่ “สอนให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” โดยคำสั่งของสันตะปาปาคลีเมนที่ 8 ผู้ที่คอกาแฟว่ากันว่า “ใจกว้าง” ที่ยอมให้นำกาแฟจากอาหรับเข้ามาในยุโรปได้
สันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 เพิ่งจะประกาศขอโทษในนามของวาติกัน ต่อกาลิเลโอ และบรูโน ในปี 1992 หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้วสามร้อยกว่าปี
การเดินทางเยือนยุโรปครั้งแรกของคณะทูตจากสยาม จึงเข้าไปมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์โลกที่พลิกวงการวิทยาศาสตร์อย่างน่าพิศวง ด้วยการเป็นพาดหัวของจดหมายข่าว ฉบับเดียวกันกับที่ประกาศการค้นพบกล้องส่องทางไกล จนรู้ไปถึงกาลิเลโอ ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ ด้วยหลักฐานจากกล้องดูดาว และสร้างผลสะเทือนตามมาอีกมากมาย
สำหรับคณะราชทูตจากอยุธยา ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์การทดสอบกล้องโทรทรรศน์เป็นครั้งแรกของโลกที่กรุงเฮก ทราบข่าวนี้ก่อนกาลิเลโอ และก่อนคนส่วนใหญ่ในโลกยุคนั้น จะเข้าใจสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก และความสำคัญของมันหรือไม่ ก็ไม่มีใครบอกได้
เราทราบกันแต่เพียงว่า คณะทูตได้ดูงานการต่อเรือของชาวดัตช์ต่อไปตามที่ได้รับมอบหมายอยู่หลายเดือน จึงเดินทางกลับ ไม่มีข้อมูลหลักฐานว่าคณะทูตเหล่านั้นเป็นใคร มีจำนวนเท่าใดแน่ หรือแม้แต่ได้กลับถึงสยามครบทุกคนหรือไม่ด้วยซ้ำ
หลังจากนั้น ฮอลันดาก็ได้เข้ามาช่วยสอนการต่อเรือให้ตามสมควร แลกกับสิทธิทางการค้าของอยุธยาที่ทำกำไรอย่างงาม ผลงานหนึ่งของชาวฮอลันดาในอยุธยาสมัยนั้นที่ยังทิ้งหลักฐานเอาไว้ก็คือ ถนนพระเจ้าทรงธรรม หรือในชื่อเดิมว่า “ถนนฝรั่งส่องกล้อง” เส้นทางไปพระพุทธบาทสระบุรี ซึ่งพระเจ้าทรงธรรมได้ให้ช่างสำรวจชาวฮอลันดามาดำเนินการ “ส่องกล้อง” สร้างไว้
การนำฮอลันดามาคานอำนาจโปรตุเกสนับว่าได้ผลเกินเป้าหมายไปมาก เมื่อบริษัท VOC ได้สิทธิผูกขาดการค้าของสยามหลายอย่าง และยังได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จนถึงสมัยพระนารายณ์เกิดกรณีเรือรบของฮอลันดาปิดล้อมอ่าวไทยขึ้น
แสตมป์เนเทอร์แลนด์ ที่ระลึกการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ของลิปเปอร์เฮย์
อยุธยาจึงได้สร้างสัมพันธ์กับฝรั่งเศสเพื่อมาถ่วงดุลอำนาจของฮอลันดาอีกครั้ง มีการตั้งหอดูดาวขึ้นเป็นชาติแรกๆในเอเชียด้วยผลงานของนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสที่เลียนแบบมาจากชาวดัตช์นั่นเอง แต่ในที่สุดฝรั่งเศสก็ถูกกวาดล้างในสมัยพระเพทราชา การค้าและแลกเปลี่ยนวิทยาการกับชาติตะวันตกก็เสื่อมถอยลงไปด้วย อย่างที่ทราบกันดีแล้ว
ปัจจุบันที่ตั้งของสถานีการค้า VOC ของชาวดัตช์ในสมัยอยุธยา ได้ถูกบูรณะขึ้นเป็น “บ้านฮอลันดา” อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านญี่ปุ่น ผู้สนใจสามารถเข้าชมศึกษาประวัติศาสตร์ได้ ส่วนความคิด ความเชื่อในสังคมสยาม ก็ดูเหมือนจะยังมี “ความเป็นวิทยาศาสตร์” ไม่ต่างไปจากยุคของกาลิเลโอเท่าใดนัก
https://siamrat.blog/2020/01/27/thais-and-telescopes-the-remarkable-history-of-astronomy-in-thailand/
https://brunelleschi.imss.fi.it/esplora/cannocchiale/dswmedia/esplora/eesplora2.html
https://www.basgriffioen.nl/maan/embassies-of-the-king-of-siam-2008/
youtube.com
Who invented the telescope? What was it first used for?
In this new Hubblecast episode, Dr. J guides us through the first chapter of Eyes on the Skies, the International Astronomical Union’s official movie celebra…
เรียนรู้เพิ่มเติม
เยี่ยมชม
youtube.com
History of the Telescope
https://www.facebook.com/profile.php?id=100089773247444
ประวัติศาสตร์
วิทยาศาสตร์
อวกาศ
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย