3 ธ.ค. 2023 เวลา 17:00 • ประวัติศาสตร์

เบื้องหลังสุดดาร์กของเพลงชาติไทย

ในสมัยรัชกาลที่ 4 (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้มีครูฝึกทหารชาวอังกฤษมาทำการฝึกทหารไทย พร้อมทั้งได้นำเพลง "God Save the Queen/King" มาให้ทหารแตรฝึดหัดเป่าเพื่อใช้เป็นเพลงถวายความเคารพต่อพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในกองทหาร ต่อมาพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ประพันธ์เนื้อร้องใส่ในทำนอง “ก๊อดเซฟเดอะควีน” ให้ชื่อว่า “จอมราชจงเจริญ” โดยมีเนื้อร้องสั้นๆ ว่า
“ความสุขสมบัติทั้งบริวาร เจริญพละ ปฏิภาณผ่องแผ้ว
จงยืนพระชน...มาน นับรอบร้อยแฮ มีพระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์เพี้ยง จันทร”
เพลงนี้จึงถือได้ว่าเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติเพลงแรกของไทย ใช้ระหว่างปี พ.ศ. 2395-2414
ใน พ.ศ. 2414 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์ ทางการสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในปกครองของอังกฤษ ได้ใช้กองดุริยางค์ทหารบรรเลงเพลง “ก๊อดเซฟเดอะควีน” ถวายความเคารพ ทรงตระหนักว่าสยามจำเป็นจะต้องมีเพลงชาติของตัวเอง จึงโปรดตั้งคณะครูดนตรีไทยขึ้นเป็นที่ปรึกษา หาทำนองเพลงที่มีความเป็นไทยมาเป็นเพลงชาติแทนเพลงก๊อดเซฟเดอะควีน
คณะครูดนตรีไทยได้เลือกทำนองเพลง “บุหลันลอยเลื่อน” บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเรียกกันว่า “เพลงพระสุบิน” มาใช้เป็นทำนอง แต่ให้ เฮวุดเซน (Heutsen) นักประพันธ์เพลงชาวต่างประเทศเรียบเรียงให้เป็นทำนองสากลขึ้น ใช้ในระหว่าง พ.ศ. 2424-2431
ต่อมาใน พ.ศ. 2431 ซึ่งอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกัน ทรงโปรดให้ ปโยตร์ สชูโรฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์เพลงชาวรัสเซีย ประพันธ์เพลงประจำชาติขึ้นใหม่ ส่วนคำร้องเป็นของสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งก็คือเพลงสรรเสริญพระบารมีในปัจจุบัน และใช้เป็นเพลงชาติระหว่าง พ.ศ. 2431-2475 อีกด้วย
สำหรับเพลงสรรเสริญพระบารมี (ในปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขเพิ่มเติมในบางท่อน ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2456
ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บุญดิเรก
เอกบรมจักริน พระสยามินทร์
พระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายชัย ชโย
ในยุคชาตินิยมสุดโต่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการตัดเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมีให้สั้นลงพร้อมแก้ไขเนื้อเพลงในบางท่อนให้เป็นแบบพิสดาร ต่อมาหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) เสด็จนิวัติพระนครพร้อมกับพระเจ้าน้องยาเธอ (รัชกาลที่ 9) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ได้ยกเลิกเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับสังเขปพิสดาร พร้อมกับนำเพลงฯ ฉบับที่เราใช้กันในปัจจุบันกลับมาใช้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เพลงสรรเสริญพระบารมี ก็ยังคงใช้เป็นเพลงถวายความเคารพพระมหากษัตริย์อยู่เสมอมา
ในปี พ.ศ. 2475 ตอนคณะราษฎรคบคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายเรือเอกหลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) หนึ่งในคณะผู้ก่อการสายทหารเรือ ซึ่งเป็นเพื่อนกับพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ปลัดกองดนตรีฝรั่งหลวง ได้ขอร้องให้พระเจนช่วยแต่งเพลงชาติให้ใหม่ มีทำนองปลุกเร้าใจอย่างเพลง “ลา มาร์เซเยส์” เพลงชาติของฝรั่งเศส
คำขอร้องของเพื่อนนี้ทำให้พระเจนดุริยางค์รู้สึกหนาว เพราะเพลงนี้เป็นเพลงที่ชาวฝรั่งเศสร้องขณะเดินขบวนเข้าทำลายคุกบาสติลล์ ในการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ของฝรั่งเศส ขืนแต่งอาจหัวขาดได้ง่ายๆ ซึ่งพระเจนฯได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัวว่า
“...ระหว่างที่ข้าพเจ้าไปให้การอบรมแก่วงดนตรีทหารเรือราวปี ๒๔๗๔ ข้าพเจ้าได้พบกับนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ขอร้องให้ข้าพเจ้าประพันธ์เพลงให้บทหนึ่ง ขอให้ทำนองเป็นเพลงที่มีความรู้สึกคล้ายคลึงกับเพลงชาติฝรั่งเศส
...ข้าพเจ้าตอบไปว่า ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เพราะเพลงชาติที่มีชื่อว่า “สรรเสริญพระบารมี” ของเรามีอยู่แล้ว แต่เขาไม่ยอม จะให้ข้าพเจ้าแต่งขึ้นใหม่ให้จงได้ .... ข้าพเจ้าประวิงเวลาเรื่อยมา จนถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เพลงชาติที่เพื่อนทหารเรือของข้าพเจ้าต้องการก็ยังไม่อุบัติขึ้น
...หลังการปฏิวัติ ๕ วัน เพื่อนของข้าพเจ้าเป็นผู้ร่วมก่อการคนหนึ่ง ได้มาหาข้าพเจ้าที่สวนมิสกวัน แสดงความเสียใจที่มิได้เพลงชาติไปร้องในวันปฏิวัติ จึงขอให้แต่งโดยด่วน การเมืองมาในรูปแบบนี้ข้าพเจ้าปฏิเสธไม่ได้ จึงขอเวลา ๗ วัน และขอให้เขาปิดนามผู้แต่งด้วย ระหว่าง ๗ วันนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกกระวนกระวายเป็นอย่างยิ่ง เพลงจึงคิดไม่ออกเพราะสมองหงุดหงิด
เมื่อครบ ๗ วัน เช้าวันหนึ่งข้าพเจ้าออกจากบ้านขึ้นรถรางประจำสายสุริวงศ์ มาเปลี่ยนรถที่สี่แยก เอสเอบี. เพื่อต่อสายใบพร สี่เสาเทเวศร์ ขณะข้าพเจ้านั่งอยู่บนรถรางชั้น ๑ ทำนองเพลงก็บังเอิญปรากฏขึ้นมาในสมองข้าพเจ้าอย่างครบถ้วน ข้าพเจ้าลงจากรถเมื่อถึงสวนมิสกวัน เข้าไปจดทำนองเพลงและทำสกอร์ทันที”
ขณะที่รอเพลงจากพระเจนดุริยางค์อยู่นั้น คณะราษฎรได้ขอให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) นำเพลงมหาชัยมาใส่เนื้อร้อง เพื่อใช้ปลุกใจให้เกิดความรักชาติและความสามัคคีขัดตาทัพไปก่อน โดยเรียกชื่อว่า “เพลงชาติมหาชัย” มีเนื้อร้องว่า
สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย
เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ
ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย
เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน
วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่
ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย
ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า
เมื่อทำนองเพลงชาติของพระเจนฯ มาถึงมือคณะราษฎร จึงถูกนำไปบรรเลงในพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งใช้เป็นรัฐสภาทันที แต่ที่พระเจนฯ ขอร้องไว้ไม่ให้เปิดเผยชื่อผู้แต่งก็ไม่เป็นผล เพราะในวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ศรีกรุงก็ลงข่าวชมเชยว่าไพเราะ เหมาะสมจะใช้เป็นเพลงชาติ พร้อมทั้งเปิดเผยชื่อผู้ประพันธ์เพลงด้วย
พระเจนฯ นั่งอ่านข่าวมาในรถรางก็หนาวทันที และก็เป็นไปตามที่วิตก พอถึงที่ทำงานก็มีโทรศัพท์มาจากกระทรวงวังต้นสังกัดเรียกให้ไปรายงานตัว คำของท่านเสนาบดีนั้นทำเอาพระเจนฯหนาวถึงสั่น เมื่อท่านถามว่า “รู้หรือไม่...พระเจ้าแผ่นดินของเรายังอยู่”
ต่อมาในเดือนตุลาคม พระเจนดุริยางค์ก็ได้รับชะตากรรมที่คาดว่าต้องมาจากการแต่งเพลงชาติ ถูกปลดออกจากราชการให้เป็นข้าราชการบำนาญ ด้วยเหตุผลว่ารับราชการมาครบ 30 ปี ทั้งๆที่พระเจนฯ เพิ่งมีอายุ 49 ปี มีเงินเดือน 500 บาท
ผู้แต่งคำร้องเพลงชาติในทำนองของพระเจนดุริยางค์คนแรก ก็คือ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ซึ่งแต่งเนื้อร้องไว้ว่า
แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
ร่วมรักษาเอกราชชนชาติไทย
บางสมัยศัตรูมาจู่รบ
ไทยสมทบสวนทัพเข้าขับไล่
ตะลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไทย
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราชคือกระดูกที่บูชา
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสระเสรี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินไทย
สถาปนาสยามให้เชิดชัยชโย
ในระยะนั้น ฝ่ายอำนาจเก่าที่รับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังมีอยู่มาก อย่างที่พระเจนดุริยางค์โดนคิดบัญชีไปแล้ว ขุนวิจิตรมาตราก็ไม่รอดอีก โดนโจมตีหนัก โดยเฉพาะท่อนที่ว่า “ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสระเสรี” ตีความหมายกันว่าเป็นการยึดอำนาจของคณะราษฎร ซึ่งจะตอกย้ำให้แตกแยกกันทุกวันที่เปิดเพลงชาติ และยังกล่าวหาว่าขุนวิจิตรฯ เอาชื่อของตัวเองที่ชื่อ “สง่า” และเมียชื่อ “ประเทือง” ใส่ไว้ในเพลงชาติด้วย แต่ความจริงภรรยาของท่านชื่อวิเชียร ไม่ได้ชื่อประเทือง ก็ล้วนแต่หาเรื่องกันไป
ในที่สุดคณะราษฎรซึ่งไม่อยากให้มีเรื่องขัดแย้งกัน จึงได้มีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อร้องของขุนวิจิตรมาตราออกมาใหม่เป็น
แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
ร่วมรักษาสามัคคีทวีไทย
บางสมัยศัตรูจู่โจมตี
ไทยพลีชีวิตร่วมรวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไทย
สยามสมัยโบราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราชคือเจดีย์ที่บูชา
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินไทย
สถาปนาสยามให้เทอดไทยไชโย
1
กล่าวกันว่าผู้แก้ไขเนื้อร้องนี้ก็คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ แต่หลวงวิจิตรวาทการเขียนลงในหนังสือพิมพ์ว่าเป็นผู้ “ช่วยประแป้งเนื้อเพลงชาติไทยให้” ขุนวิจิตรมาตราก็เลยเขียนลงบ้างว่า “ถ้ารู้ว่ามีคนมาช่วยประแป้ง ก็จะได้แก้ผ้าแอ่นพุงให้”
ปัญหาเนื้อร้องของเพลงชาติไทยพูดกันมาก คณะราษฎรก็เลยเปิดประกวดแต่งเนื้อร้องขึ้นใหม่ ผู้ชนะประกวดในครั้งนี้คือ นายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งมีคำร้องว่า
เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต
รักษาสิทธิ์อิสระ ณ แดนสยาม
ที่พ่อแม่ยอมม้วยด้วยพยายาม
ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
ถึงแม้ภัยไทยด้อยจนย่อยยับ
ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา
นั้นมิใช่ว่าจะขัดสนหมดคนดี
เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย
มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสระเสรี
เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น
ว่าไทยนั้นมั่นรักชาติไม่ขาดสาย
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงชาย
สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัยไชโย
แม้จะประกาศผู้ชนะมาแล้ว รัฐบาลก็ยังไม่อยากทิ้งเนื้อร้องของขุนวิจิตรมาตราที่แก้ไปใหม่ เลยนำคำร้องของทั้งสองท่านนี้มาต่อกัน ทำให้เพลงชาติไทยที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477 มีความยาวถึง 3 นาที 52 วินาที ได้รับการวิพากย์วิจารณ์จากประชาชนมาก ว่าฟังเพลงชาติแล้วจะหลับ และยังตั้งข้อสังเกตกันอีกว่า ชาติใหญ่ๆหรือชาติมหาอำนาจมักจะมีเพลงชาติสั้นๆ แต่ชาติเล็กๆมักจะใช้เพลงชาติยาวๆ
ดังนั้นรัฐบาลจึงตัดทอนแบ่งเพลงชาติออกเป็น 2 เพลง เป็นเนื้อร้องของขุนวิจิตรมาตราเพลงหนึ่ง และของนายฉันท์ ขำวิไลอีกเพลงหนึ่ง เช้าอาจจะใช้เพลงหนึ่ง พอเย็นอาจจะใช้อีกเพลง แต่ในพิธีการของทางราชการจะใช้เนื้อร้องเต็มที่รวม 2 เพลง
ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นวันชาติ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” เนื้อร้องเพลงชาติที่มีคำว่าสยามอยู่ด้วยจึงจำต้องเปลี่ยนใหม่ โดยยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์ตามเดิม และได้เปิดการประกวดขึ้น คณะกรรมการได้คัดเลือกเนื้อร้องที่มีผู้ส่งมาเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีชี้ขาด
ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ลงความเห็นให้ใช้เนื้อร้องที่ส่งมาในนามกองทัพบก ซึ่งแต่งโดย พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 เป็นต้นมา ซึ่งก็คือเพลงชาติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย
หลวงสารานุประพันธ์ได้เล่าเบื้องหลังในการแต่งเพลงชาติไว้ว่า
“กว่าจะคิดคำร้องเสร็จ ต้องครุ่นคิดอยู่หลายคืน แต่งไว้ ๕ บทไม่ถูกใจเลย เมื่อนำไปให้คุณพระเจนดุริยางค์ตรวจ ท่านก็ไม่ชอบ หมดแรงแทบจะวางปากกา ในที่สุดฉุกคิดได้ว่า เป็นชายชาติไทยไฉนจะยอมแพ้ฮึดแก้อีกเป็นครั้งที่ ๕ จนหลายเที่ยวก็ยังยิ้มไม่ออก ปรับปรุงไปมา จนที่สุดทำร่างครั้งที่ ๖ ส่งเข้าประกวด”
คุณหลวงปลาบปลื้มมากที่เป็นผู้ชนะ ภูมิใจว่าเป็นผู้แต่งเพลงชาติ ท่านกล่าวไว้ในครั้งนั้นว่า “ฉันได้สั่งเสียบุตรธิดาของฉัน ในภายภาคหน้าเมื่อถึงวาระที่ฉันจะต้องเกษียณอายุลาโลกไปแล้ว ขณะใกล้จะขาดอัสสาละ ขอให้หาจานเสียงเพลงชาติอันนี้มาเปิดให้ฟังจนได้ เพื่อบังเกิดความชุ่มชื่นระรื่นใจ อันไม่มีเวลาเสื่อมคลายจนสิ้นลมปราณ”
แหล่งที่มาและเรียบเรียง : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9590000064520
โฆษณา