1 ธ.ค. 2023 เวลา 01:52 • ความคิดเห็น
ผมเห็นด้วยนะครับ และชอบประโยคนี้มาก
คนเราหลงคำว่าโง่กับฉลาดมาก เพราะงั้นความโง่กับความฉลาดเลยเอามาทำการค้าได้
จำได้มั๊ยครับว่า ก่อนหน้านี้นั้นมีเครื่องดื่มอย่างหนึ่งที่เอาความโง่ความฉลาดมาขาย แล้วสมัยเรียนนะ พวกเพื่อนๆ ของผมก็ชอบซื้อกินกันด้วย (แต่ก็อาจจะจริง เพราะพวกเขาดูจะฉลาดกว่าผมอยู่เหมือนกัน) ชื่อว่าเป็ปๆ อะไรนี่แหละ
คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมอยากตอบ(อยากบ่นนั่นเอง)อย่างที่สุด ผมคิดว่าสังคมไทยเรานั้นยังติดกับดักของความดง่ความฉลาดแบบยุคกลาง คือเราเห็นว่าความฉลาดนั้นอยู่ในตำรา และเป็นของที่จะต้อง "นำเข้า" สมัยก่อนนั้น(ในสังคมไทยเรา)ความฉลาดอยู่ที่ "พระไตรปิฎก" และ "ภาษาบาลี" การเรียนบาลีจึงจัดเป็นความฉลาดในประเทศของเรา
พอมายุคนี้ความฉลาดอยู่ที่ "ตะวันตก" เราจึงต้องต้อนเด็กๆ และผู้คนในประเทศของเราให้เรียน "ภาษาอังกฤษ" แล้วภาษาอังกฤษก็เป็น "มาตรฐาน" วัดความโง่ความฉลาดของสังคมเราในยุคนี้ แล้วอันดับในการใช้ภาษาอังกฤษของเราจึงเป็นตัววัดว่าศักยภาพของเรามีมากน้อยเพียงใด
ผมไม่ได้กล่าวว่าสิ่งนี้ไร้เหตุผลหรอกนะครับ แหงล่ะ องค์ความรู้สมัยนี้อยู่ในรูปภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทยจริงๆ นั่นแหละ แต่ความหมายที่อยู่ในใจของผมคือ เรายังไม่พ้นไปจากยุคกลาง เราไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายองค์ความรู้เหล่านั้นให้มาอยู่ในภาษาของเราได้ และพัฒนาองค์ความรู้เหล่านั้นต่อไปเองด้วยตัวเราเองได้ จนกระทั่งตอนนี้นะครับ นักเรียนนอกยังมีค่ากว่านักเรียนในประเทศอยู่ แม้เราจะเริ่มส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศกันมาตั้งแต่สมัย ร.5 โดยหวังว่าคนพวกนั้นจะนำองค์ความรู้จากภายนอกเข้ามาถ่ายโอนให้กับคนในประเทศได้
แต่จนป่านนี้เรายังอยู่ที่เดิม ไม่ไปหน้ามาหลังที่ไหนเลย
ลองคิดดูว่า พวก "อังกฤษ" จะสามารถพัฒนาตัวเองจนมาได้อย่างทุกวันนี้หรือไม่ หากพวกเขายังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ "ภาษาละติน" ซึ่งเป็นภาษาสูงหรือภาษาของปัญญาชนของคนในยุคกลางของพวกเขา (ซึ่งเหมือนกับที่ตอนนี้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสูงและภาษาของปัญญาชนในยุคของเรา)?
สำหรับผมนะ มันน่าอดสูมากเมื่อเวลาที่ได้เห็น "นักวิทยาศาสตร์" (ซึ่งเป็นชนชั้นนำทางสติปัญญาของยุคนี้ เหมือนกับพระในยุคก่อนั่นแหละ) ของเรา โจมตีไปที่ชาวบ้านหาว่าโง่งมงายด้วยเรื่องไสยศาสตร์ ผีสางนางไม้ พญานาคอะไรแบบนี้ โดยที่พวกเขาเองก็ไม่ได้พยายามที่จะทำให้ชาวบ้านหายโง่อย่างจริงๆ จังๆ กันเลย ซึ่งไม่ใช่คาถาบทใหม่ที่เป็นภาษาอังกฤษและกฎทางฟิสิกส์หรือวิชาวิทยาศาสตร์อื่นๆ แต่ด้วยการทำให้เราหลุดพ้นจากกรอบในการรับรู้(ภาษา)ต่างหาก
มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะหวังให้คนในประเทศนี้ใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างช่ำชองและลึกซึ้งเหมือนกับภาษาของตัวเอง เพื่อที่จะได้เข้าถึงภูมิความรู้ที่อยู่ในรูปของภาษาอังกฤษได้ มันควรจะกลายเป็นว่า คุณต้องแปลงภูมิความรู้เหล่านั้นให้ออกมาอยู่ในรูปของภาษาที่คนในสังคมนี้จะเข้าถึงได้ง่ายและใช้เป็นภาษากลางหรือภาษาแม่อยู่แล้ว(ภาษาไทย)ต่างหาก
โฆษณา