4 ธ.ค. 2023 เวลา 02:30 • ธุรกิจ

มหากาพย์แย่งหุ้นเสริมสุข สงครามระหว่างบริษัทไทย กับเป๊ปซี่

หลายคนอาจจะเคยเห็น การชิงไหวชิงพริบกันในตลาดหุ้น เพื่อแย่งกิจการกันจากในซีรีส์ หรือหนังต่างประเทศ
แต่รู้หรือไม่ว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในตลาดหุ้นไทยเอง ก็มีเหตุการณ์การชิงไหวชิงพริบกัน ระหว่างบริษัทไทยและบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก
2
นั่นคือ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) และบริษัท เป๊ปซี่โค เจ้าของน้ำอัดลมแบรนด์ “Pepsi” จากสหรัฐอเมริกา
ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ก่อตั้งบริษัทอย่างตระกูลบุลสุข ถือหุ้นในบริษัทเพียง 7% เท่านั้น ขณะที่คู่ขัดแย้งอย่างเป๊ปซี่โค ถือหุ้นมากถึง 41.5%
แล้วตระกูลบุลสุข ใช้กลยุทธ์อะไรถึงสามารถทำให้เสริมสุข ยังเป็นบริษัทของคนไทยอยู่จนถึงทุกวันนี้ได้ ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
แต่เดิมนั้นเสริมสุขและเป๊ปซี่ เป็นพันธมิตรกัน ซึ่งเสริมสุขเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ผลิตและจัดจำหน่ายเป๊ปซี่ในไทย แต่เพียงผู้เดียว
สิ่งที่เสริมสุขต้องจ่ายก็คือ “ค่าหัวเชื้อ” ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ต้องรับมาจากเป๊ปซี่เท่านั้น
แต่ทว่าในช่วงที่จับมือกัน ราคาค่าหัวเชื้อที่เสริมสุขต้องจ่าย มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี
นอกจากนี้ทางบริษัท เป๊ปซี่โค ยังไม่อนุญาตให้เสริมสุขขึ้นราคาขายเป๊ปซี่อีกด้วย
1
ทำให้ในปี 2553 ทั้ง 2 บริษัทมาถึงจุดแตกหักกัน เพราะเสริมสุขมีอัตรากำไรสุทธิเพียง 2% หรือก็คือขายของ 100 บาท ได้กำไร 2 บาท
1
ซึ่งถือว่าน้อยมาก บวกกับหากเสริมสุขไม่สามารถขึ้นราคาขายได้ บริษัทอาจจะถึงขั้นขาดทุน
เรื่องนี้หากเรามองในมุมของเสริมสุข ก็คงรู้สึกว่าไม่แฟร์เท่าไรนัก เพราะในเวลานั้นไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เป๊ปซี่ สามารถเอาชนะโค้กได้
2
โดยปัจจัยความสำเร็จนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งของเสริมสุข ที่มีเครือข่ายร้านค้าอยู่ในมือจำนวนมาก รวมถึงระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
1
พอเรื่องเป็นแบบนี้ คณะกรรมการของบริษัท เสริมสุข จึงมีมติให้ฝ่ายบริหารทบทวนเงื่อนไขสัญญา ที่ทำไว้กับทางเป๊ปซี่
1
เมื่อฝ่ายเป๊ปซี่รู้ข่าว จึงรีบจัดตั้ง บริษัท สตราทีจิค เบฟเวอร์เรจเจส (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นมา เพื่อเสนอซื้อหุ้นเสริมสุขในตลาดหุ้น
1
โดยบริษัท สตราทีจิค เบฟเวอร์เรจเจส เสนอซื้อหุ้นเสริมสุข จากนักลงทุนในตลาดที่ราคา 29 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาในตลาด ณ ขณะนั้น ราว 40%
แต่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ได้ออกมาประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นเสริมสุข อยู่ที่ 41 บาท
ในเวลานั้น ผู้ที่กุมชะตาชีวิตของเสริมสุข คือผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ถือหุ้นรวมกันถึง 58%
พอนักลงทุนรายย่อยมองว่า ราคาที่ทางเป๊ปซี่เสนอมา ต่ำกว่าราคาที่ถูกประเมิน จึงไม่ค่อยมีใครยอมขายหุ้นให้กลุ่มเป๊ปซี่
บทสรุปก็คือ กลุ่มเป๊ปซี่ได้หุ้นมาเพียง 22.7 ล้านหุ้น คิดเป็นเพียง 8% เท่านั้น
ซึ่งต่ำกว่าเงื่อนไขที่ประกาศไว้ว่าต้องได้หุ้นไม่น้อยกว่า 25.14 ล้านหุ้น กลุ่มเป๊ปซี่จึงต้องยกเลิกการเสนอซื้อหุ้นในครั้งนี้ไป
1
นอกจากกลุ่มเป๊ปซี่ จะยกเลิกการซื้อหุ้นออกไปแล้ว ทางกลุ่มตระกูลบุลสุขเอง ก็มีหุ้นในมือเพิ่มขึ้นอีก 12%
2
จากการรับซื้อหุ้นที่ราคา 29 บาท จากนักลงทุนรายใหญ่ อันดับ 3 ของบริษัท ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น คุณนิติ โอสถานุเคราะห์ ตำนานนักลงทุนหมื่นล้านในตลาดหุ้นไทย นั่นเอง
ว่ากันว่าตระกูลโอสถานุเคราะห์ และตระกูลบุลสุข รู้จักกันมานานแล้ว
และการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ ก็น่าจะทำเพื่อเพิ่มอำนาจในการควบคุมบริษัท ของตระกูลบุลสุขให้ใกล้เคียงกับเป๊ปซี่
1
การขายหุ้นของคุณนิติ ถือว่าต่ำกว่าราคาตลาดไปพอสมควร เพราะตั้งแต่มีข่าวการแย่งซื้อหุ้นเสริมสุข ราคาหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตลอด จาก 20 บาท ขึ้นไปสูงสุดที่ 35 บาท
ซึ่งนอกจากสงครามในตลาดหุ้นแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีคดีฟ้องร้องระหว่างกันอีกด้วย
ความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่ายยังคงดำเนินต่อไป แต่แล้วก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง เมื่อมีข่าวว่ามีมือที่ 3 จะเข้ามาแย่งเก็บหุ้นเสริมสุขด้วย
นั่นคือ บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด ที่อยู่ดี ๆ ก็ประกาศคำเสนอซื้อหุ้นของเสริมสุข ที่ราคาหุ้นละ 42 บาท รวมมูลค่าเสนอซื้ออยู่ที่ 11,000 ล้านบาท
1
ที่น่าสนใจคือ บริษัทนี้เพิ่งเริ่มจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพียงไม่กี่วัน ก่อนที่จะเสนอซื้อหุ้น รวมมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท ทำให้เกิดเสียงลือกันไปต่าง ๆ นานาว่า บริษัทนี้เป็นนอมินีของฝ่ายไหนกันแน่
เสริมสุขออกมาปฏิเสธว่า บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทนี้ ไม่กี่วันต่อมาทางกลุ่มเป๊ปซี่ก็ออกมาปฏิเสธเช่นกัน
ท้ายที่สุดแล้ว ก็มีผู้เสนอขายหุ้นให้ บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ คิดเป็นสัดส่วน 32.6% ทำให้บริษัทลึกลับแห่งนี้ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ อันดับ 2 ทันที
1
และที่น่าแปลกใจไปมากกว่านั้นก็คือ ผู้ที่เสนอขายหุ้นให้บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ ก็คือ คุณสมชาย บุลสุข และลูกชายของเขา ชนิดที่ไม่เหลือหุ้นในมืออยู่เลยแม้แต่หุ้นเดียว
ตระกูลบุลสุข ออกจากเกมแย่งหุ้นนี้ไป พร้อมกับเงินจากการขายหุ้นในดีลนี้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
2
ซึ่งดูเหมือนว่า บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ ค่อนข้างมีความสัมพันธ์ที่ดี กับคุณสมชาย บุลสุข เป็นอย่างมาก
เพราะคุณสมชายยังคงได้รับความไว้วางใจ ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการของเสริมสุขต่อไป แม้จะมีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นก็ตาม
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็น่าจะพอเห็นภาพกันแล้วว่า บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ น่าจะเป็นพันธมิตรของคุณสมชาย
ซึ่งคุณสมชาย อาจจะตั้งใจเชิญกลุ่มทุนรายใหญ่ ที่เป็นพันธมิตรของตัวเอง มาคานอำนาจกับกลุ่มเป๊ปซี่ ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลก โดยมีเงื่อนไขว่าให้คุณสมชาย อยู่ในตำแหน่งบริหารต่อไป
ด้วยความที่เสริมสุข มีช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่ดีอยู่แล้ว ทำให้คุณสมชายหาพันธมิตรเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ในระหว่างนี้ ความขัดแย้งเรื่องสัญญาระหว่างเสริมสุข กับเป๊ปซี่ ก็ยังคงดำเนินต่อไป
1
เป๊ปซี่ยังคอยเก็บหุ้นของเสริมสุขอย่างเงียบ ๆ โดยพยายามใช้บริษัทนอมินีชื่อ บริษัท เอสบีเค เบฟเวอเรจ และบริษัท ซันโทรี่ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเครื่องดื่มญี่ปุ่น เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท เสริมสุข
1
ในเวลานั้น เมื่อรวมหุ้นที่ถือโดยบริษัทในกลุ่มเป๊ปซี่ทั้งหมด จะมีสิทธิ์ออกเสียงเกิน 50% แล้ว
1
และพอก่อนถึงวันเสนอชื่อกรรมการบริษัทชุดใหม่ ให้ผู้ถือหุ้นร่วมพิจารณา ผู้ถือหุ้นรายย่อยคนหนึ่งของเสริมสุข ฟ้องศาลให้มีการตรวจสอบว่า บริษัท ซันโทรี่ และบริษัท เอสบีเค เบฟเวอเรจ เป็นบริษัทนอมินีของกลุ่มเป๊ปซี่ ที่ต้องการครอบงำกิจการอย่างผิดกฎหมายหรือไม่
4
ศาลจึงมีคำสั่งระงับสิทธิ์การเข้าร่วมประชุม ของบริษัททั้ง 2 แห่ง และทำให้กลุ่มเป๊ปซี่พ่ายแพ้ในการเสนอชื่อกรรมการบริษัทชุดใหม่ของเสริมสุข
2
เมื่อเสริมสุขสามารถรักษาอำนาจ ในคณะกรรมการบริษัทของตัวเองไว้ได้แล้ว อำนาจต่อรองก็กลับมาอยู่ที่ฝ่ายเสริมสุขอีกครั้ง
คราวนี้ดูเหมือนว่า เป๊ปซี่เริ่มยอมลดค่าหัวเชื้อลงแล้ว พร้อมกับยื่นข้อเสนอ ขอซื้อหุ้นทั้งหมดจากบริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ ที่ถือหุ้นอยู่ประมาณ 32.6%
แต่ถึงตอนนี้ราคาหุ้นเสริมสุข ก็พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 50 บาทแล้ว จากราคาที่กลุ่มเป๊ปซี่เสนอซื้อตอนแรกที่ 29 บาท
1
พูดง่าย ๆ ก็คือ ตอนนี้เป๊ปซี่ต้องจ่ายเงินซื้อหุ้นแพงขึ้นถึง 72%
1
ในตอนนั้น ทุกคนคิดว่าเรื่องคงจบลงตรงที่ว่า เป๊ปซี่ได้เสริมสุขไปครอบครอง และรักษาแชมป์ธุรกิจน้ำอัดลมในไทยต่อไป
แต่พอใกล้ถึงวันที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงเรื่องราคาซื้อขายหุ้นกัน กลับมีบุคคลที่ 4 มาชิงเสนอราคาตัดหน้ากลุ่มเป๊ปซี่
1
บุคคลที่ 4 ในเรื่องนี้ก็คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด บริษัทในเครือของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยเสนอราคาซื้ออยู่ที่ 58 บาทต่อหุ้น
1
และในที่สุด กลุ่มเป๊ปซี่ก็ยอมยกธงขาว ยอมแพ้กับสงครามในการแย่งชิงหุ้นเสริมสุข พร้อมกับทำสัญญาขายหุ้นทั้งหมดให้กับกลุ่มไทยเบฟ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,400 ล้านบาท
เรื่องทั้งหมดมาเฉลยตรงที่ว่า บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ เป็นผู้ชักชวนให้กลุ่มไทยเบฟ เข้ามาเสนอราคาซื้อหุ้นจากกลุ่มเป๊ปซี่
โดยกลุ่มไทยเบฟเอง ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเสริมสุขมานานแล้ว เพราะเสริมสุขเป็นผู้กระจายสินค้าของโออิชิ ให้กลุ่มไทยเบฟมาโดยตลอด
ปัจจุบันกลุ่มไทยเบฟ ก็กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ อันดับ 1 ของเสริมสุข ผ่านบริษัท โซ วอเตอร์ จำกัด ในสัดส่วน 64%
และคุณสมชาย บุลสุข ก็ยังคงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทของเสริมสุข ซึ่งเป็นบริษัทที่ตระกูลของเขาเป็นผู้ก่อตั้ง แม้วันนี้มันจะถูกเปลี่ยนมือไปให้กลุ่มไทยเบฟครอบครองแล้วก็ตาม
2
ส่วนตลาดน้ำอัดลมในไทย ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะจากเดิมที่เป๊ปซี่ครองส่วนแบ่งตลาดได้ 60% อันดับ 2 คือ โคคา-โคล่า ที่มีส่วนแบ่งตลาด 40%
มาวันนี้ โคคา-โคล่า กลายเป็นแชมป์ แทนที่เป๊ปซี่ ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ 51% อันดับ 2 คือ เป๊ปซี่ ที่มีส่วนแบ่งตลาด 37%
1
ส่วนเสริมสุขก็พัฒนาน้ำอัดลมเป็นของตัวเองขึ้นมาคือ เอส โคล่า ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 8%
กรณีความขัดแย้งระหว่างเสริมสุขกับเป๊ปซี่ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะมีการเดินเกมในตลาดหุ้น และการชิงไหวชิงพริบกันทางกฎหมายแล้ว
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญ คือคำว่า พันธมิตร
ในฝั่งเป๊ปซี่โค ถ้าไม่นับบริษัทนอมินีแล้ว ก็ต้องสู้ศึกแบบโดดเดี่ยว แต่ในฝั่งเสริมสุข หรือก็คือตระกูลบุลสุข กลับมีพันธมิตรมากมาย
1
ไม่ว่าจะเป็น
- ตระกูลโอสถานุเคราะห์
- บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด
- กลุ่มไทยเบฟ ของเจ้าสัวเจริญ ที่สุดท้ายได้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
และนี่ก็คือบทสรุปของ มหากาพย์แย่งหุ้นเสริมสุข สงครามระหว่างบริษัทไทย กับเป๊ปซี่..
โฆษณา