2 ธ.ค. 2023 เวลา 12:55 • ดนตรี เพลง

[รีวิวอัลบั้ม] LAHAI - Sampha >>> คลื่นชีวิต

-Sampha Lahai Sisay ศิลปินหนุ่มชาวอังกฤษที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมมาจาก Sierra Leone แล้วอพยพตามครอบครัวย้ายมาอยู่ South London ตั้งแต่ยุค 80 เป็นน้องคนสุดท้องของตระกูล จุดเริ่มต้นการเป็นศิลปินคือการได้หัดเล่นเปียโนในบ้านตั้งแต่เยาว์วัย ค้นพบความสนใจที่มีต่อดนตรีอิเล็กทรอนิกส์จากการได้ฟัง Groove Armada, Kings of Tomorrow, Masters at Work และการได้เห็นพี่ชายจิ้มเครื่อง DX7 เล่นเพลงบราซิล และแกะบีทตามเพลงของ The Stroke, Wu-Tang ทำให้จุดประกายความอยากเป็นศิลปินในตัวเขาให้ลุกโชน
-จนกระทั่งการได้ประสบพบเจอจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ นั่นคือการเสียชีวิตของคุณแม่ด้วยโรคมะเร็งในปี 2015 โดยก่อนหน้านั้นคุณพ่อก็จากไปโดยโรคมะเร็งเช่นกันตั้งแต่ปี 1998 ด้วยประสบการณ์ความสูญเสียคนในครอบครัวก็ส่งผลต่อ vibe และอิทธิพลที่มีต่อผลงานเพลงของ Sampha มากพอสมควร
-จะเห็นได้ว่าเดบิวต์อัลบั้มแรก Process จึงไม่ใช่งาน electronica ที่มีลูกเล่นล้ำๆอย่างเดียว สมด้วยอารมณ์แห่งความเศร้า โดยมีคลื่นแห่งดนตรีเป็นตัวเยียวยาประคับประคองตัวเขาเองรวมถึงผู้ฟังจนสามารถชนะใจคนฟังได้อย่างถ้วนหน้า คว้ารางวัลใหญ่ Mercury Prize ประจำปี 2017
-ถ้าใครยังจำกันได้ ผมเคยรีวิว Process ลงในเพจ “ฟังไปฟังมา-Fungpaifungma” เพจดั้งเดิม นี่คืออัลบั้มที่ผมรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษเมื่อปี 2017 สิ่งที่ทำให้หนุ่มวัย 34 ปีคนนี้ได้รับความสนใจจาก Drake, Frank Ocean, Solange, Kendrick Lamar จนได้ไปร่วมงานด้วยความไม่แปลกใจเลยคือ ท่วงทำนองแห่งความล้ำที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแห่งโซลและเอกลักษณ์แห่งความสุขุมที่จับตัวยาก
-ภายใต้อุตสาหกรรมวงการเพลงที่หลั่งไหลไปด้วย industry plant หวือหวาแล้วก็จากไป เนื่องด้วยการขาดความหนักแน่นแห่งการโฟกัส ความยาวเพลงไม่กี่นาทีเอื้อต่อโซเชี่ยลแพลตฟอร์ม ยากมากที่จะเจอความรื่นรมย์ที่ค่อยเป็นค่อยไป Sampha แกคือศิลปินที่มาเติมเต็มการพักหายใจหายคอและความเย็นที่ยุคสมัยดิจิตอลได้ขาดหายไป
-มันจึงชัดเจนมากๆว่า LAHAI อัลบั้มชุดที่ 2 ในรอบ 6 ปีได้กลายเป็นเซฟโซนให้คนฟังยุคนี้ได้ไม่ยากเย็น ด้วยท่วงทำนอง electronica ที่ไม่เล่นท่ายากอันซับซ้อน ลดทอนความโฉ่งฉ่างจาก Process มากพอสมควร เหลือไว้ซึ่งเพียงการทะนุถนอมความสงบจิตสงบใจ เป็นไปได้ว่าการได้เป็นพ่อคนจะทำให้แกเริ่มบาลานซ์ความสุขและเศร้าได้ดียิ่งขึ้น เมื่อลิ้งค์กับปกอัลบั้ม คอสตูมนุ่งขาวห่มขาวให้ฟีลคนปฏิบัติธรรมชัดๆ
-Spirit 2.0 ซิงเกิ้ลแรกที่บ่งบอกถึงความอบอุ่นในแง่ที่ว่า “คุณไม่ได้อยู่คนเดียว” และรู้จัก ask for help เพื่อที่จะสัมผัสถึงพลังงานรอบข้างบางอย่างในการโอบกอดตัวคุณเอง ซิงเกิ้ลลำดับถัดมา Only ก็เช่นกัน เป็นเพลงร้องกึ่งแรปที่ชิวล์ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บางทีการรอให้คนอื่นช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวก็คงจะไม่ได้ หากไร้ซึ่งการนับถือตัวเองในขั้นต้น นี่คือบริบทสุดชิวล์ของพี่ Sampha ที่สัมผัสได้ถึงพลังงานฟีลกู๊ดที่สร้างความสบายใจให้ผู้ฟังได้ไม่ยาก
-ที่ผมบอกว่าเป็นเซฟโซนเนี่ย ไม่ได้หมายถึงการเพลย์เซฟจนเกิดความตื้นเขิน แต่เป็นการรังสรรค์บรรยากาศที่วิจิตรงดงามมาอย่างดี การกลับมาในรอบ 6 ปีจึงไม่สูญเปล่า มีแต่จะดีขึ้นในการนำพาคนฟังไหลไปตามคลื่นชีวิตในฐานะเจ้าของอัลบั้มที่ได้เข้าสู่การเป็นพ่อคน
-ถ้าประสบการณ์แห่งการสูญเสียใน Process ส่งผลต่อความวิตกกังวลว่า เขาจะทำหน้าที่พ่อที่ดีอยู่เคียงข้างลูกสาวได้นานหรือไม่ นั่นทำให้ Sampha ให้ความสำคัญและตั้งคำถามถึงเรื่องของกลไกของเวลา จิตเสรี และพลังงานความรักเป็นพิเศษ โดยมีจุดเชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์และปรัชญา นี่จึงทำให้อัลบั้มนี้มีกลิ่นอายแห่งความไซไฟมากพอสมควร
-แค่เปิดอัลบั้มด้วย Stereo Color Cloud (Shaman’s Dream) ที่ห้อมล้อมด้วยความแอนิเมชั่นที่มาพร้อมการพึงระลึกถึงเวลาอันจำกัด เพื่อที่จะแคร์คนรอบข้างให้มากขึ้น Satellite Business interlude บ่งบอกการรับรู้ถึงความเชื่อมโยงของวงตระกูลที่ต่อให้ตัวจะจากไป แต่ก็ยังรู้ว่าพวกเขาไม่เคยไปไหน อีกทั้งการตั้งคำถามถึงนาฬิกาทรายแห่งชีวิตที่ไม่รู้เลยว่าเขาจะอยู่บนโลกนี้ดูแลลูกสาวไปอีกนานหรือไม่?
-การตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับข้อจำกัดในการทำตามเสียงหัวใจตัวเองในเพลง Jonathan L. Seagull โดยชื่อเพลงอ้างอิงจากวรรณกรรมสุดคลาสสิคในชื่อเดียวกันของ Richard Bach ที่ว่าด้วยนกนางนวล“จอน” ที่อยากปลดแอกตัวเองด้วยการออกโบยบินไปจากจุดเดิมๆที่ต้องคอยกินเศษปลาเศษขนมปังตามที่บรรพบุรุษนกนางนวลทำกันมาจนเป็นส่วนนึงของชีวิต
ซึ่งนกนางนวลจอนกลับรู้สึกว่านกนางนวลเป็นได้มากกว่านกที่จิกหาอาหารไปวันๆ แต่เราก็มีศักยภาพในการโบยบินไปตามทางของตัวเองเช่นกัน ด้วยความคิดแหวกขนบของจอนกลับทำให้เขากลายเป็นขบถโดนขับออกจากกลุ่มนกนางนวล การค้นหาความหมายชีวิตด้วยการโบยบินจึงเริ่มต้นขึ้น เป็นเพลงที่ผมหลงรักในท่อนคอรัสมากเป็นพิเศษ แลดูมีความโอบอ้อมอารีในความแตกต่างของผู้คน
Time travels memories (Uh)
We were two birds
Flying away from each other
Lookin' to recover
Dancing Circles
-ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า Sampha หยอดการเปรียบเปรยความเป็นมนุษย์กับนกไว้เยอะพอสมควร ไม่ใช่แค่ Jonathan L. Seagull เพลงเดียว ยังมีเพลงจังหวะเปียโนลีลาศอย่าง Dancing Circles ที่เปรียบเปรยความเป็นคนกับนกที่วันใดวันนึงก็ต้องแยกย้ายบินไปตามทางของตัวเอง สุดท้ายแล้วก็ต้องบินกลับมาเพื่ออัพเดทสารทุกข์สุขดิบเพื่อเยียวยากันและกันอยู่ดี ในขณะที่ Suspended ที่เปรียบเปรยการวนเวียนผ่านมาผ่านไปของคนในชีวิตที่มีอิทธิพลต่อตัวเราไม่มากก็น้อย
-Inclination Compass (Tenderness) เป็นบัลลาดเปียโนนิ่งๆเงียบๆปล่อยให้คนฟังได้สงบสติอารมณ์ตัวเองในการทบทวนตัวเองเพื่อค้นพบความอ่อนโยนเพื่อเข้าใจคนอื่นด้วย Can’t Go Back ถือเป็นอีกหนึ่ง main idea สำคัญแห่งการมูฟออนและปล่อยวางอดีตที่ชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายโดยทันที การ repeat ในท่อนฮุกเป็นการยึดมั่นในสัจธรรมแห่งสายธารแห่งเวลาที่ไม่อาจไหลกลับคืนอย่างซื่อตรง ไม่เน้นเปรียบเปรยให้มากความ
-What If You Hypnotise Me? การเดินคอร์ดเปียโนเข้มข้นที่สุดในอัลบั้มนี้ และยังหยอกเย้าความติ๊ต่างที่อาจทำให้เกิดภาวะแห่งความสับสนเสียจนไอ้การเรียกร้องต่อคนรักทั้งหลายแหล่คงไม่ต่างจากความเห็นแก่ตัว ความสงบภายในจิตใจควรที่จะเริ่มจากการจัดการตัวเองเป็นขั้นต้นด้วย การปิดท้ายเพลงด้วยนักร้องสาวผิวขาว Léa Sen เป็นการทำให้พายุแห่งความสับสนดูสงบลงได้ไม่น้อย
-Rose Tint เพลงปิดท้ายอัลบั้มที่มี message แห่งการรักษาครอบครัวที่มีอยู่ให้แน่นแฟ้นมากๆ เลือกปิดอัลบั้มแบบจำลองสถานการณ์ถ่ายรูปหมู่ครอบครัวกันอย่างพร้อมเพรียง เป็นความเรียบง่ายที่คมคายในตัว
-เวลาที่ผมได้รีวิวอัลบั้มไม่ได้แค่แชร์ความรู้สึก ประสบการณ์ร่วมที่มีต่ออัลบั้มนั้นอย่างเดียว มันยังเป็นการได้เห็น personal growth ของศิลปินด้วย จากการได้รับฟัง Sampha เขาคือศิลปินหนุ่มผู้ผ่านความเศร้าโศกจากการสูญเสียคนในครอบครัวด้วยโรคภัยจนต้องผ่าน therapy session ค่อนข้างนานพอสมควร
-จนได้มาเป็นพ่อคนจริงๆก็ทำให้ extential crisis ที่เคยมีได้มลายหายลงไปบ้าง โดยที่พึงระลึกถึงเป้าประสงค์ของชีวิตว่า อยู่ไปเพื่อใคร? นี่จึงเป็นอัลบั้มแห่งการมูฟออนและค้นหาทางสงบแห่งจิตใจที่เราเชื่อได้เลยถึง mindset อันหลักแหลมของเขาคนนี้ในการก้าวข้ามผ่านเพื่อการทะนุถนอมความเป็นปัจจุบันได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น ต่อให้ผมจะชอบน้อยกว่า Process นิดหน่อย เนื่องด้วยความโฉ่งฉ่างที่ลดทอนลง แต่ความสบายใจที่ได้ละเลียดผลงานของ Sampha มันได้บังเกิดขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว
ซื้อใจคนฟังอย่างเข้าใจได้
Top Tracks : Stereo Color Cloud (Shaman’s Dream), Spirit 2.0, Suspend, Jonathan L. Seagull, Inclination Compass (Tenderness), Can’t Go Back, What If You Hypnotise Me?, Rose Tint
Give 8/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา