Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อิจฉาอิตาลี
•
ติดตาม
7 ธ.ค. 2023 เวลา 20:22 • ประวัติศาสตร์
แม่หมา ผู้เป็นมารดาของกรุงโรม
บทต่อไปนี้จะกล่าวถึงตำนานหมาป่ากับมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายแห่งในโลกใบนี้ ซึ่งที่โรมนั้นก็ไม่น้อยหน้าไปกว่าใคร มีเรื่องทำนองนี้แบบเดียวกับคนอื่นๆเหมือนกัน
(แต่อย่าไปคิดถึงนิทานหนูน้อยหมวกแดงนะ มันคนละโหมดกันเลย)
2
เรื่องราวที่จะกล่าวถึงต่อไป ถูกแสดงให้เห็นในประติมากรรมซึ่งจัดแสดงอยู่กลางห้องในพิพิธภัณฑ์ เป็นรูปแม่หมาป่ายืนอ้าปากโชว์เขี้ยวมีลูกมนุษย์น้อยๆสองคนนั่งดูดนมอยู่ หลายคนอาจสงสัยว่านี่คือเรื่องราวเมาคลีลูกหมาป่าในแบบฉบับของโรมรึเปล่า (คนที่เรียนวิชาลูกเสือมา คงแอบร้องเพลงเมาคลีล่าสัตว์อยู่ในใจแล้วชิมิ) ก็ขอบอกว่าเกือบใช่แต่ยังไม่ใช่ และความสำคัญของเรื่องราวของเด็กคู่นี้ก็คือพวกคือตำนานของกำเนิดกรุงโรม และยังบอกอีกด้วยว่าทำไมกรุงโรมจึงมีชื่อว่าโรมในทุกวันนี้
พ่อหนูน้อยสองคนนี้มีนามว่าโรมูลุสและเรมุส เป็นบุตรของเรอา ซิลเวีย (Rhea Silvia) ผู้เป็นธิดาของกษัตริย์นูมิตอร์ (Numitor) แห่งอัลบา ลองกา (Alba Longa) ดินแดนในตำนานซึ่งตั้งอยู่ที่เนินเขาอัลบาน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพื้นที่ซึ่งจะกลายเป็นอาณาจักรโรมันในเวลาต่อมา
คุณตาของทารกแฝดคู่นี้ ซี่งก็คือกษัตริย์นูมิตอร์ ได้ถูกน้องชายที่มีชื่อว่าอมูลิอุส (Amulius) แย่งชิงราชบัลลังก์ไป ส่วนแม่นางรีอา (Rheou) ซึ่งจะกลายเป็นคุณแม่ของพ่อหนูทั้งสองต่อไป ถูกบังคับให้ไปเป็นนักบวชหญิงแห่งวิหารเทพีเวสต้า ซึ่งตามกฏของวิหารนั้นเธอจะต้องยังต้องครองประพฤติพรมจรรย์ไปตลอด และนี่ก็เป็นแผนการของอมูลิอุสที่จะป้องกันไม่ให้เกิดทายาทที่จะมาแย่งชิงบัลลังก์ของตนต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ก็ไม่เป็นไปดังที่คิดไว้ เพราะวันหนึ่งแม่นางรีอาได้ออกไปตักน้ำในที่ห่างไกลจากวิหารแต่ไปเจอกับหมาป่าดุร้ายก็เลยไปหลบซ่อนตัวอยู่ถ้ำ (แต่หมาป่าตัวนี้ยังไม่ใช่แม่หมาที่เราเห็นนะ) และแล้วที่ตรงนี้เทพเจ้ามารส์ (Mars) หรือพระอังคารก็ได้เข้ามาหาเธอและได้ทำให้เธอตั้งครรภ์และได้คลอดออกมาเป็นลูกแฝดซะอีก
เมื่ออมูลีอุสรู้เข้าจึงสั่งให้นำเด็กสองคนใส่ตะกร้าแล้วลอยไปในแม่น้ำไทเบอร์ หวังจะให้ล่องออกทะเลและจากไปตามชะตากรรม
สงสัยจังว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้วนะ ทั้งนางสีดา พระยาพาน โมเสส ไม่รู้ใครลอกใคร
แต่ในที่สุดตะกร้านั้นก็ไม่ได้ลอยลงทะเล เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือจากผู้เฒ่าหล่อลำคนหนึ่ง
1
ทายสิฮะว่าเป็นใคร
คำตอบไม่ยากเลย ก็แดดดี้เทพเจ้าผู้พิทักษ์แม่น้ำไทเบอร์นั่นเอง ที่เราไปเจอในบทก่อน กำลังนอนแอ้งแม้งอยู่ริมอ่างนะแหละ จำเขาได้ไหม (ถ้าจำไม่ได้ก็ย้อนกลับไปดูนะ)
ตะกร้านั้นก็เลยติดอยู่ริมฝั่งและถูกพบโดยแม่หมาป่า ซึ่งพอแม่หมาได้เจอก็นำเด็กทั้งสองเข้ามาประคบประหงมดั่งลูกในอุทร
เหตุการณ์ก็เป็นดังนี้ จนในวันหนึ่งมีคนเลี้ยงแกะชื่อเฟาส์ตูลุส (Faustulus) ได้มาพบเห็นภาพของแม่หมากำลังให้นมลูกมนุษย์ ซึ่งก็คือประติมากรรมที่เรากำลังเห็นอยู่นี่แหละ ทำให้สองหนูน้อยผู้โชคดี (ในความโชคร้าย) ได้รับการช่วยเหลือ ได้เป็นบุตรบุญธรรมของคนเลี้ยงแกะและภรรยา โดยตั้งชื่อของพ่อหนูคือโรมูลัส (ROMULUS) และรีมัส (REMUS)
https://en.wikipedia.org/wiki/Romulus_and_Remus
ตัดภาพไปหลายปีต่อมา ทั้งสองได้เติบโตขึ้นและในที่สุดก็สามารถสืบได้ว่าชาติกำเนิดที่แท้จริงของตัวเองคือใคร ทั้งคู่ได้บุกไปยังบ้านเกิดของตน ทำการสังหารอมูลิอุสผู้ชั่วร้าย และได้มอบบัลลังก์คืนให้กษัตริย์นูมิตอร์ผู้เป็นคุณตา ส่วนทั้งสองก็ออกเดินทางไปตั้งอาณาจักรแห่งใหม่ของตนเอง
1
และแล้วสองพี่น้องก็ได้ไปที่จุดเดิมที่ตนเองได้พบกับผู้ช่วยชีวิต นั่นก็คือเนินเขาพาลาไทน์ และทำการสร้างเมืองขึ้นที่นั้น
แต่เรื่องน่าเศร้าของสองพี่น้องก็เกิดขึ้นเมื่อคนทั้งสองถกเถียงกันว่าจะตั้งชื่อเมืองว่าอะไร ต่างคนก็อยากใช้ชื่อตัวเองแล้วก็เลยทะเลาะกัน เมื่อโรมูลุสผู้พี่ได้ขุดคูน้ำและเริ่มสร้างกำแพงเมือง รีมัสก็กระโจนข้ามกำแพงและคูน้ำนั่น สิ่งนี้เป็นกริยาอาการที่บ่งบอกถึงการไม่ยอมให้พี่ชายได้ครอบครองเมืองนั่นเอง ซี่งโรมูลูสก็ไม่ยอมเช่นกัน เรื่องนี้ก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงกับทำให้เกิดการต่อสู้จนในที่สุดโรมูลูสก็ได้สังหารน้องชายของตนสิ้นชีพไป
เหตุการณ์โศกสลดนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 753 ปีก่อนคริสตกาล เป็นกำเนิดของเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า “โรม” ตามสมญานามของโรมูลลูสผู้พี่ และเป็นวันแห่งการสถาปนากรุงโรม ซึ่งต่อมาจะมีความรุ่งเรืองต่อเนื่องนับพันปี และโรมูลสก็ได้เป็นปฐมเกษัตริย์แห่งอาณาจักรโรมันแต่นั้นมา
พี่น้องสุดหล่อ ในภาพยนตร์เรื่อง Romolo e Remo สร้างปี 1961 (ก่อนคนเขียนเกิด)
เล่ามาถึงตอนนี้ ท่านผู้ชมคงคิดว่านิทานจบลงแล้วใช่ไหมครับ
จริงๆยังไม่ใช่ เพราะมันยังมีปัญหาสารพันต่อมาอีก เนื่องจากกรุงโรมในตอนนั้นได้สร้างขึ้นมาใหม่ก็เลยไม่ค่อยจะมีประชากรสักเท่าไร แถมคนดีๆก็ไม่ค่อยอยากจะมาอยู่ ในที่สุดก็เลยกลายเป็นแหล่งรวมของพวกลี้ภัยและโจร (พูดง่ายๆก็คือคนพวกนี้เป็นคนที่เมืองอื่นๆเขาไม่เอา ไม่รู้จะไปไหนก็เลยต้องมาอยู่ที่นี่) แถมยังชอบไปโจมตีทำสงครามกับคนอื่นๆจนเป็นที่รังเกียจกันถ้วนหน้า กรรมนี้ก็เลยตอบสนอง เพราะไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากได้ชาวโรมหรือชาวโรมันเป็นสามี เพราะจะทำให้พวกเธอถูกตราหน้าว่าเป็นเมียโจรไปซะ
ในที่สุดพระเจ้าโรมูลูสก็เลยแก้ปัญหาแบบโจร (เปลี่ยนบทบาทจากที่เป็นพระเอกกลายเป็นตัวร้ายซะงั้น) ด้วยการจัดงานเทศกาลงานฉลองเทพเนปจูนที่แสนจะรื่นเริงสนุกสนานขึ้น หวังจะให้คนเมืองอื่นๆมาดูมาชม
ซี่งก็ได้ผลจริงๆเพราะสาวน้อยสาวใหญ่ชาวซาบีน (Sabine) ซี่งเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงพอได้ข่าวก็เข้ามาตีตั๋วชมงาน (ไม่รู้เนอะว่าสมัยนั้นจะมีคอนเสิร์ต ออกร้าน ซุ้มเกมส์ แบบงานวัดหรือเปล่า) และแล้วเหล่าโจรชาวโรมันก็เข้าไปฉุดกระชากลากเจ้าสาวเข้ามาในบ้านแล้วทำการปลุกปล้ำ สาวๆเหล่านั้นก็ต่างกรี๊ดกร๊าดตื่นเต้นตกใจไปถ้วนหน้า
แน่นอน ชาวเมืองซาบีนก็ไม่มีทางยอม ทวงเอาสาวๆของตนกลับคืนมา แต่ทางโรมก็ไม่ยอมอีก เลยเกิดเรื่องราวยืดเยื้อไป แต่นั่นจะได้เล่าให้ฟังภายหลังละกันนะ
เรื่องราวของการปลุกปล้ำสาวๆแห่งซาบีนนี้ได้ปรากฏในชิ้นงานศิลปะงามๆหลายชิ้น ซึ่งก็ขอนำมาให้ชมกันนิดหน่อยในที่นี้ แต่งานพวกนี้ไม่ได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเนหรอกนะ เดี๋ยวไว้อธิบายคราวหลัง
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Rape_of_the_Sabine_Women
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Rape_of_the_Sabine_Women
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Rape_of_the_Sabine_Women
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Rape_of_the_Sabine_Women
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Rape_of_the_Sabine_Women
จะเห็นได้ว่าหลายรูปแม้ว่าจะเล่าเรื่องเดียวกัน แต่เปลี่ยนรูปแบบไปต่างๆ บอกหน่อยดิว่าพวกคุณชอบภาพไหนกันบ้าง สำหรับผมชอบภาพล่างสุด เป็นงานของรูเบน การใช้ฝีแปรงและแสงทำให้ภาพดูฟุ้งๆเรื่อๆ สีสันกลมกลืนกันตามสไตล์
ส่วนงานประติมากรรมที่เด่นดังมากก็คือชิ้นนี้ ไปดูได้ที่เมืองฟลอเรนซ์ เวลาไปดูก็ต้องควรเดินหมุนวนไปรอบๆนะ จะได้เข้าถึงความงามของฟอร์ม ที่สอดรับกันจนถึงจุดสูงสุด
และถ้าใครเอาเพื่อนไปครบสามคน ก็น่าจะลองโพสต์ท่าเลียนแบบ (ใครไปทำก็ช่วยส่งมาให้เราดูด้วยนะ)
Abduction of a Sabine Woman ที่ฟลอเรนซ์
ตอนนี้เราย้อนกลับมาทัศนาหมาป่ากับเด็กน้อยกันต่อดีกว่า เพื่อนๆลองดูแล้วรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบ หรือรู้สึกอะไรบ้างไหม เล่าให้ฟังกันหน่อยดิ
สำหรับผมแล้ว ครั้งแรกที่ผมได้เห็นแม่หมาป่ากับลูกน้อยนั้นไม่ใช่ที่คาปิโตลิเน แต่เห็นจากหนังสือต่วยตูนต่างหาก (แหม ใครเป็นแฟนหนังสือเล่มนี้ขอบอก ว่าเราคือเพื่อนกั๊นเพื่อนกัน)
ในใจก็สงสัยว่าทำไมตัวหมาป่ากับลูกน้อยช่างไม่เข้ากันเลย เพราะในขณะที่เด็กๆทำกิริยาอย่างเป็นธรรมชาติงดงาม แต่แม่หมานั้นดูแข็งทื่อ อ้าปากมองไปข้างหน้าอย่างไม่สนใจอะไร แถมยังมีหน้าเศร้าๆเซ็งโลกซะอีก ซึ่งคนอื่นเขาจะรู้สึกแบบเดียวกันรึเปล่าก็ไม่ทราบได้
อันนี้ถ่ายภาพเอง ไม่ค่อยสวย ก็เลยใช้รูปจาก wiki มาเป็นปกแทน (อ้อ แม่หมาตนนี้ ภาษาอังกฤษ เรียก she wolf นะ เหมือนชื่อเพลงของ Shakira เลย)
รู้แต่ว่าตอนหลังมานี้ มีคนเสนอความคิดว่าจริงๆแล้วคุณแม่กับลูกแฝดนี้ไม่ได้สร้างมาพร้อมกัน เริ่มแรกมีแค่ตัวแม่หมาก่อน แล้วหลังจากนั้นคงมีใครทำคุณลูกอีกสองคนมาไว้ด้วยกันทีหลัง มันก็เลยดูไม่เข้ากันคนละสไตล์แบบนี้แหละ และนี่ก็เลยตอบข้อสงสัยของเราได้
หลังจากนั้นก็มีคนเข้ามาขุดคุ้ยอีกว่าตัวแม่หมานี้ไม่ได้เป็นศิลปะโรมันด้วยซ้ำ แต่มันเป็นงานของพวกอิทรัสคันต่างหาก (อิทรัสคันคือชนชาติหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ก่อนที่อาณาจักรโรมันจะเกิด มีพิพิธภัณฑ์น่าชมใกล้กรุงโรมด้วย ไว้วันหลังมาเล่าให้ฟัง) อ้าวอย่างนี้แม่หมาตัวนี้ก็ไม่ใช่ตัวที่เป็นคุณแม่ของโรมูลูสกับรีมัสแล้วละสิ เป็นหมาจากไหนก็ไม่รู้ จู่ๆคนโรมันก็เอาใส่เรื่องราวของชาติตัวเองมาใส่แล้วก็ทำเพิ่มเติมให้ดูเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาจนกระทั่งมันกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของกรุงโรมไปซะแล้ว
แต่ในที่สุดประติมากรรมคุณแม่หมากับสองเด็กน้อยที่เรากำลังเล่าถึงก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ประจำกรุงโรมไปเรียบร้อย ยืนยันได้จากการนำมาเป็นโปสเตอร์ของกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโรมเป็นเจ้าภาพในปี 1960 และยังสามารถพบเจอพวกเขาทั้งสามในอีกหลายหนแห่งในกรุงโรม อยู่บนป้าย ธงทิว และของที่ระลึกต่างๆ
สัญลักษณ์โอลิมปิคปี 1960 ที่กรุงโรม
กราฟฟิค สัญลักษณ์อะไรสารพัดแบบ น่ารักน่าชังทั้งน้าน
การ์ตูนนี่ก้อน่ารักดี แม่หมาก็ยิ้มด้วยนะ
ใครไปกรุงโรมช่วยซื้อเสื้อยืดมาให้หน่อยดิ
อันนี้อยู่บนอาร์มทีมฟุตบอลอิตาลี
ใครไปกรุงโรมก็ไปซื้อหามาเป็นของฝากเพื่อนๆญาติๆกันได้ หรือจะเอามาฝากผมก็ได้นะ เพราะตอนที่ผมไปก็ไม่ค่อยมีเงินจะซื้ออะไรกับเขาหรอก ได้แต่เอารูปกับเรื่องมาเล่าให้ฟังแบบนี้แหละ
ประวัติศาสตร์
พิพิธภัณฑ์ศิลปะ
เที่ยวยุโรป
1 บันทึก
5
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อิจฉากรุงโรม
1
5
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย