7 ธ.ค. 2023 เวลา 04:40 • ความคิดเห็น
Japan

ถอดบทเรียนการพัฒนาเมืองเพื่อสังคมสูงวัย : ญี่ปุ่นทำได้ ไทยก็ต้องทำได้

ประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นประเทศแรก ๆ ในโลก คือ ญี่ปุ่น โดยเข้าสู่ระยะเริ่มต้น คือ สังคมสูงวัย (aging society) ในปี 1970 ระยะที่ 2 คือ สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (aged society) ในปี 1994 และได้ก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 คือ สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super-aged society)[1] ตั้งแต่ปี 2007 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กล่าวคือ มีสัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 30% หรือมีอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด
4
ขณะที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ aged society แล้ว และจะก้าวสู่ super-aged society ในอีก 15 ปีข้างหน้าไม่ต่างจากญี่ปุ่น
ในโอกาสที่ผู้เขียนได้เดินทางร่วมกับคณะ IMETMAX เฉพาะกิจ[2] เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไปศึกษาโครงการของเมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ที่เรียกได้ว่าเป็น Unseen ขนานแท้ อาทิ เมือง Saku เมือง Nagano และเมือง Obuse ซึ่งมีระบบการจัดการและพัฒนาเมืองเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างดีเยี่ยม
จึงขออนุญาตตกผลึกความรู้ที่ได้ร่วมกับ คุณณัฐ เหลืองนฤมิตชัย หนึ่งในกัลยาณมิตรผู้ร่วมทริป มาชวนท่านผู้อ่านคิดตามว่า มีอะไรที่ประเทศไทยทำเพิ่มเติมได้บ้างเพื่อรองรับสังคมสูงวัยระดับสุดยอดนี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ กันครับ
1. ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ ทั้งโรงพยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ และบุคลากร โดยเฉพาะบุคลากรเพื่อดูแลผู้สูงวัย (care taker) ซึ่งมีความสำคัญมาก และต้องเร่งเตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ
1
เมือง Saku มีประชากรประมาณ 100,000 คน โดยมีประชากรสูงวัยประมาณ 30,000 คน จึงมีความจำเป็นต้องดูแลผู้สูงวัยจำนวนมาก ทั้งนี้ ด้วยวิสัยทัศน์อันยาวไกลของนายกเทศมนตรี ผู้บริหารจัดการเมือง และคนในท้องถิ่น จึงได้ก่อตั้งโรงพยาบาลกลาง Saku มาตั้งแต่ปี 1944 และพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมา
โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น การระดมเงินในรูปแบบสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ชุมชน จนขยายออกมาถึง 3 โรงพยาบาล และสามารถรองรับคนไข้ได้มากกว่า 800 เตียงด้วยกัน (ในไทยเรา มีเตียงเฉลี่ย 257 เตียงต่อประชากร 100,000 คนเท่านั้นเอง)
1
สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจเป็นพิเศษ คือ การพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่เพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพของคนไข้ติดเตียง การเคลื่อนย้ายผู้สูงวัยจากเตียงโดยใช้เครื่องช่วยพยุงทุ่นแรงของเจ้าหน้าที่ และการคิดค้นเทคโนโลยีที่สามารถนำรถเข็นหลายคันขึ้นรถตู้ได้ โดยไม่ต้องลุกขึ้นจากที่นั่งอย่างสะดวกสบาย
1
(ผู้เขียนได้รับข้อมูลว่า ประเทศไทยยังคงถือว่าอุปกรณ์นี้เป็น “ของตกแต่งรถ” ซึ่งมีการคิดอัตราภาษีที่สูงมาก ดังนั้น หากเล็งเห็นประโยชน์และความจำเป็นของอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งไว้ใช้รองรับสังคมสูงวัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจสามารถพิจารณาปรับลดหรือยกเว้นภาษีสำหรับเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์เช่นนี้ได้)
1
นอกจากนี้ การพัฒนาเมืองยังตอบโจทย์ให้มีสถานที่ดูแลผู้ป่วยสูงวัยอย่างครบวงจร มีบ้านพักคนชราหลายแห่งในเมือง ทั้งแบบอยู่ประจำและแบบไปเช้าเย็นกลับในราคาที่ผู้สูงวัยเอื้อมถึง ผ่านโครงสร้างสวัสดิการผู้เกษียณอายุ และเงินอุดหนุนจากรัฐ โดยมีมหาวิทยาลัย Saku ผลิตบุคลากรเพื่อดูแลผู้สูงวัยโดยเฉพาะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมากในสังคมสูงวัย
2
มีเรื่องน่าดีใจที่ผู้เขียนได้เห็นความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะกับไทย อาทิ ระหว่างเมือง Saku กับเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี และระหว่างมหาวิทยาลัย Saku กับมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเรียนรู้ระหว่างกันในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ผู้เขียนหวังว่าจะมีความร่วมมือดี ๆ อย่างนี้ขยายผลและดำเนินการต่อเนื่องไปอีกในอนาคต
3
2. สังคมสูงวัยทำให้เมืองในชนบทท้องถิ่นมักมีปัญหาบ้านร้าง เพราะผู้สูงวัยเสียชีวิต หรือประชากรย้ายครอบครัวไปในเมืองใหญ่ จึงต้องปรับเปลี่ยนฟื้นฟูเมืองและสร้างความเจริญให้กลับมาในพื้นที่
1
เมืองใด ๆ ที่มีแต่ผู้สูงวัยอาศัยอยู่ ย่อมเป็นเมืองที่อยู่อย่างยั่งยืนไม่ได้ เพราะเมืองจำเป็นต้องมีคนทุกรุ่น โดยเฉพาะวัยแรงงานที่มาทำงานหรือเปิดธุรกิจ เมือง Saku ก็เช่นกัน แม้จะมีสัดส่วนผู้สูงวัยมากถึง 30% แต่ก็พยายามดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น โดยการพัฒนาพื้นที่และระบบคมนาคม มีรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นเข้าถึงซึ่งใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงกว่า ๆ จากโตเกียวก็ถึงเมือง Saku แล้ว
2
ขณะที่วัยแรงงานบางส่วนที่ย้ายมาอยู่ที่เมือง Saku เป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีมลพิษ และสามารถ work from anywhere ตามสภาพการทำงานใหม่ที่บริษัทต่าง ๆ ยอมให้พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้ตามความเหมาะสม
1
อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสำหรับการพัฒนาเมืองให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง คือ เมือง Nagano ซึ่งมีผู้สูงอายุจำนวนมากเช่นเดียวกัน ทั้งภาครัฐและเอกชนของเมืองต่างร่วมกันปรับปรุงพื้นที่ให้ทันสมัย เช่น สำนักงานที่เคยเป็นชุมสายโทรศัพท์ขนาดใหญ่ เมื่อผู้คนหันไปใช้โทรศัพท์มือถือแทนและไม่มีความจำเป็นแล้ว สำนักงานก็ถูกปรับปรุงให้เป็น co-working space เก๋ ๆ มีคาเฟ่และสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้คนได้มาใช้งาน
2
บริษัทเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นที่ธุรกิจนี้อยู่ในช่วงขาลง ก็ได้พยายามปรับตัว โดยปรับปรุงสำนักงานให้พื้นที่ชั้นล่างเป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่มาวิ่งเล่น และพ่อแม่แต่ละครอบครัวได้พบปะกันมากขึ้น มีคาเฟ่ไว้บริการ และแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นห้องครัวสอนทำอาหารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนทุกวัย
2
3. หน้าที่ของการพัฒนาเมือง ไม่ใช่ของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน
1
บางคนอาจมองว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาฟื้นฟูเมืองเป็นหน้าที่ของรัฐ เพราะใหญ่เกินกว่าหน้าที่ของปัจเจกชน ซึ่งก็เป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่อันที่จริง การพัฒนาเมืองเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน เพราะทุกคนมีส่วนในการดึงความมีชีวิตชีวาของเมืองกลับมาได้
1
สะท้อนจากตัวอย่างการพัฒนาเมือง Obuse ซึ่งเคยเป็นเมืองที่มีศิลปินชื่อดังอย่าง Hokusai อาศัยอยู่ (เป็นศิลปินที่วาดรูปคลื่นยักษ์ที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นอันโด่งดัง และกล่าวกันว่ามีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินตะวันตกอย่าง Monet และ Van Gogh ด้วย)
ด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่ต้องการให้เมือง Obuse เฟื่องฟูขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันพัฒนาอย่างจริงจัง โดยการปรับปรุงทัศนียภาพและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ให้เหมาะสมมากขึ้น มีพื้นที่สาธารณะให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม รวมไปถึงร่วมมือกับร้านค้าต่าง ๆ ในการปรับปรุงพื้นที่รอบ ๆ เมือง มีการจัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับ Hokusai และการแข่งขันวิ่งมาราธอน
2
ท่านผู้อ่านเชื่อหรือไม่ครับว่า อันที่จริง การปรับปรุงเหล่านี้ริเริ่มโดยภาคเอกชน คือ ร้านผลิตขนมเกาลัดรายใหญ่ที่มีชื่อว่า Obuse-do ซึ่งได้พยายามเริ่มต้นจับมือกับภาครัฐท้องถิ่น ขยายความร่วมมือ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองเก่าแก่อย่างมีนัยสำคัญ โดยผสมผสานความมีเอกลักษณ์ดั้งเดิมของเมืองที่ควรอนุรักษ์ไว้เข้ากับความทันสมัยของโลกใหม่อย่างพอดิบพอดี จนทำให้เมือง Obuse สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้กว่าปีละ 1.2 ล้านคน แม้จะมีประชากรเพียง 11,000 คนก็ตาม
หันกลับมาที่ประเทศไทย ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ยังไม่สายเกินไปครับ ด้วยศักยภาพของคนไทย เมื่อภาครัฐและเอกชนร่วมใจกันและมีความตั้งใจที่จะพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนแต่ละแห่งอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเมืองหลักหรือเมืองรอง เราย่อมสามารถจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม เพื่อพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้สามารถรองรับสังคมสูงวัยไทยที่จะก้าวเข้าสู่ระดับสุดยอดในอนาคตได้ครับ
3
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **
[1] บ้างก็แปลว่าสังคมสูงวัยระดับเต็มที่ บ้างก็แปลว่าสังคมสูงวัยระดับยิ่งยวด ซึ่งล้วนมีความหมายเดียวกัน
2
[2] เป็นคณะที่รวมตัวกันเฉพาะกิจ มีทั้งผู้บริหารในภาครัฐ เอกชน และผู้นำทางธุรกิจของไทย ซึ่งทุกคนได้ผ่านหลักสูตร IMETMAX หรือโครงการพัฒนาผู้นำที่มีศักยภาพสูงและมุ่งสร้างคุณค่าให้กับตนเองและผู้อื่น อันเป็นโครงการของมูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย (IMET : Institute for Management Education for Thailand Foundation)
ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
1
โฆษณา