8 ธ.ค. 2023 เวลา 04:37 • ธุรกิจ

KFC ในเครือ CRG รีเฟรชแบรนด์ ปรับเป็น “ดิจิทัล สโตร์” มีหน้าจอกดสั่ง ตั้งเป้า 50 สาขา ในปีหน้า

เมื่อไม่นานมานี้ หากใครเดินผ่าน KFC สาขา Central World คงเห็นอะไรใหม่ ๆ
เพราะสาขานี้ เพิ่งทำการรีเฟรชแบรนด์ปรับเป็น “KFC Digital Lifestyle Hub” ที่เปิดตัวบริการใหม่ ๆ
1
ไม่ว่าจะเป็น
Bucket Kiosk จุดสั่งอาหารผ่านเครื่องสั่งอาหารและชำระค่าอาหารอัตโนมัติ
Photo Spot จุดถ่ายรูปด้วยภาพ “Bucket Crew Space” ที่ได้ศิลปินกราฟิตี้มาร่วมถ่ายทอด
KFC Cafe by Arigato Coffee Bar มุมกาแฟใหม่ในร้าน
- CRG เดินหน้ารีเฟรชแบรนด์ KFC ให้ทันสมัยมากขึ้น
ต้องบอกว่าอย่างที่หลายคนรู้กันดีว่า KFC ในประเทศไทยมีแฟรนไชซีอยู่ 3 เจ้า ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG), เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย (QSA) และ เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ (RD)
ซึ่งการปรับ KFC ให้เป็นรูปแบบ “KFC Digital Lifestyle Hub” เป็นกลยุทธ์ของเครือ CRG
หลัก ๆ คือ การปรับร้านเป็นดิจิทัล ให้ลูกค้าสามารถกดสั่งอาหารผ่านหน้าจอ และชำระเงินได้ด้วยตัวเอง
คุณ ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) กล่าวว่า เพื่อเป็นการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ทันสมัย และให้เข้ากับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่
ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ CRG เท่านั้น ที่เดินหน้ารีเฟรชแบรนด์และปรับร้านเป็นดิจิทัล
เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายหลัก ที่บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเจ้าของแบรนด์ KFC วางแผนไว้ให้ Franchisee ทุกเจ้าต้องพัฒนาร่วมกัน ทั้ง CRG, QSA และ RD
- CRG ปรับรูปแบบ KFC เป็นดิจิทัล ตั้งเป้ามี 50 สาขาในปีหน้า
ปัจจุบัน KFC ในประเทศไทย มีด้วยกัน 1,060 สาขาทั่วประเทศ
โดย KFC ในเครือของ CRG ด้วยกัน 330 สาขา คาดว่าสิ้นปีนี้จะมี 335 สาขา
นอกจากนี้ ปัจจุบัน KFC ในเครือของ CRG มีร้านที่ปรับเป็นดิจิทัลแล้ว 10 สาขา
ซึ่งคุณปิยะพงศ์ ตั้งเป้าว่า ในปี 2567 จะมีการปรับโฉมร้านเดิม และเพิ่มสาขาใหม่ในรูปแบบดิจิทัล ที่มีหน้าจอกดสั่งอาหาร เพิ่มเป็น 50 สาขา
- เทรนด์ QSR คือ ดิจิทัลมาแน่ใน 3 ปีข้างหน้า
คุณปิยะพงศ์ เชื่อว่าหน้าร้านแบบดิจิทัล ที่ KFC ในเครือ CRG กำลังดำเนินการปรับเปลี่ยน จะเป็นเทรนด์สำหรับตลาดร้านอาหารจานด่วน (QSR) ที่ต้องปรับตัวกันภายใน 3 ปีข้างหน้า
ซึ่งถ้าถามว่า แล้วดิจิทัล ดีกว่ารูปแบบเดิม ๆ อย่างไร ?
คุณปิยะพงศ์สรุปให้ฟัง 4 ข้อง่าย ๆ
1. ตอบโจทย์ Journey ของลูกค้า ทั้งอ่านเมนูง่าย สั่งง่าย
2. เจ้าของแบรนด์ เจ้าของร้านค้า ก็ operate หรือดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น เช่น
3. สามารถไฮไลต์สินค้าตัวใหม่ ๆ มาขึ้นโชว์ได้
4. การชำระเงิน (Payment) ก็ง่าย ไม่ต้องเตรียมเงินทอน
คุณปิยะพงศ์ ยังบอกอีกว่า สำหรับ KFC ในเครือ CRG มีสัดส่วนการใช้งานระหว่างหน้าจอดิจิทัลและสั่งจากเคาน์เตอร์พนักงานอยู่ที่ 75% : 25%
สาเหตุที่การสั่งผ่านหน้าจอดิจิทัลค่อนข้างมาก แม้ว่าในช่วงแรกนี้เกิดจากการผลักดันให้ลูกค้าใช้งาน แต่ก็จะคอยมีพนักงานดูแลในทุก ๆ ขั้นตอน
- KFC ในเครือ CGR ยังโต Double Digit
คุณปิยะพงศ์ เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในประเทศมีมูลค่ากว่า 400,000 ล้านบาท
หากคิดเฉพาะตลาดอาหารจานด่วน (QSR) มีมูลค่าอยู่ที่ราว 40,000-50,000 ล้านบาท โดยที่ “ไก่ทอด” ยังคงครองสัดส่วนมากกว่า เบอร์เกอร์ หรือไก่ทอด
และหากพูดถึงตลาดไก่ทอด “KFC” ยังคงเป็นแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งอันดับ 1 อยู่ที่ 80-90%
สำหรับ KFC ในเครือของ CRG ในปี 2566 ที่ผ่านมานี้ คาดว่าจะมียอดขายรวม 7,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าที่มียอดขาย 6,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตราว 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ซึ่งกลยุทธ์สร้างการเติบโตของ KFC ในเครือ CGR
นอกจากในเรื่องของดิจิทัล เพื่อรองรับคนรุ่นใหม่แล้ว ก็ยังจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์ลูกค้า เหมือนอย่าง “หนังไก่ทอด” ที่เป็นกระแสไวรัล ขายดีจนหมดภายในไม่กี่วัน
ที่สำคัญ ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ราคา” ที่ต้องเข้าถึงง่ายด้วยนั่นเอง..
โฆษณา