8 ธ.ค. 2023 เวลา 10:00 • ธุรกิจ

‘ค่ายรถจีน’ จะขึ้นมาเป็น ‘เบอร์ 1 โลก’ แทนญี่ปุ่น?

“ค่ายรถจีน” จ่อโค่นบัลลังก์ “รถญี่ปุ่น” หลังใช้ความพยายามกว่า 40 ปี! นักวิเคราะห์ชี้ “BYD” ผงาดคู่แข่งสุดหินในตลาดโลก ปักธงประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาเซียน-ลงทุนครั้งใหญ่ในรอบ 27 ปี ด้านรัฐบาลไทย ลั่น ผลิต “รถสันดาป” แห่งสุดท้ายของโลก ไม่ลืมพระคุณ “ญี่ปุน” ลงทุนไทยมากที่สุด!
สมญานาม “ดีทรอยต์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มาจากการลงทุนของผู้ผลิตยานยนต์แดนอาทิตย์อุทัยในช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้า ปัจจุบัน “ไทย” ยังคงเป็นเช่นนั้นและยิ่งตอกย้ำสถานะ “ผู้ถูกเลือก” ด้วยการเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานการผลิตของ “บีวายดี” เมื่อต้นปี 2566 และล่าสุด “ฉางอาน” (CHANGAN) ค่ายรถจีนที่เพิ่งปิดดีลกับ “WHA” ไปหมาดๆ ด้วยเงินลงทุน 8,862 ล้านบาท เพื่อสร้างฐานการผลิตในพื้นที่ จ.ระยอง โดยหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
แม้ว่าปัจจุบันจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังไม่สามารถเทียบชั้นรถยนต์สันดาปได้ แต่การเข้ามาเจาะตลาดของค่ายรถจีน รวมทั้งความนิยมในรุ่นรถที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ทำให้ที่ผ่านมาบรรดาค่ายรถที่มองเห็นโอกาสรีบเข้ามาปักธงแบบไม่รอช้า ไล่มาตั้งแต่ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” (Great Wall Motor หรือ “GWM”) เข้ามาตั้งโรงงานใน จ.ระยอง ตั้งแต่ปี 2563 โดยปีที่ผ่านมา (ปี 2565) ครองส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยได้มากถึง 45% ในช่วง 9 เดือนแรก และเป็นที่พูดถึงด้วยรุ่นรถสุดน่ารักอย่าง “ORA Good Cat”
“เดวิด นาร์โดน” (David Nardone) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแผนกพัฒนาอุตสาหกรรม “WHA” ให้ความเห็นกับ “ไฟแนนเชียล ไทม์ส” ว่า ตนมองว่าการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางการค้าระหว่างสหรัฐเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้บรรดาผู้ประกอบการจีนเร่งขยายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอื่น โดยมีประเทศไทยเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ เนื่องจากมีห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอย่างดี ผู้ประกอบการที่เข้ามาล้วนต้องการใช้ซัพพลายเออร์ไทย ทั้งชิ้นส่วนโลหะ ที่นั่ง ระบบภายใน โดยอาจเป็นซัพพลายเออร์รายเดียวกับที่ญี่ปุ่นใช้ด้วย
1
ด้านประเทศไทยเองก็พบว่า ยังมีข้อเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านหลายอย่าง แม้จะมีสัดส่วนการลงทุน “FDI” มากกว่า “อินโดนีเซีย” และ “เวียดนาม” แต่ปัจจัยอื่นๆ อย่างตัวเลขทางประชากรศาสตร์ที่อีกไม่กี่ปีข้างหน้า “ไทย” จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในภูมิภาค เป็นรองเพียง “สิงคโปร์” เท่านั้น ทั้งยังได้รับการย้ำเตือนถึงวิกฤติอัตราการเกิดต่ำที่จะส่งผลให้แรงงานในตลาดลดลง ประเทศไทยอาจต้องนับถอยหลงเข้าสู่วิกฤติในไม่ช้านี้
อย่างไรก็ตาม “ไทย” ยังคงเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ผู้ผลิตรถยนต์จีนเลือกปักหลัก หลังจากการแข่งขันระหว่างค่ายรถญี่ปุ่นและจีนรุนแรงมากขึ้น “นาโอโตะ อินนูซูกะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด ระบุว่า เขารู้สึกกังวลว่าญี่ปุ่นจะสูญเสียฐานธุรกิจที่สร้างในประเทศไทยอีกไม่ช้า โดย “เด็นโซ่” ได้เตรียมแผนสำหรับอนาคตในการตอบสนองผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยซึ่งคาดว่า จะเริ่มมีการผลิตขึ้นราวปี 2567 หรือ 2568
3
ด้าน “ฮอนด้า” (Honda) ประกาศแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 และจะตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศไทย โดยจะเป็นการค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิตไปทีละน้อย ทั้งยังยอมรับว่า ไม่สามารถลงทุนสเกลใหญ่ในคราวเดียวได้เนื่องจากขณะนี้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เฉลี่ยแล้วราคารถยนต์ไฟฟ้าไทยยังอยู่ที่ 1,000,000 บาท สูงพอๆ กับราคาที่อยู่อาศัย ทั้งยังมองว่า สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างสถานีชาร์จไฟก็ยังไม่มากเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวได้
#ค่ายรถจีน #รถญี่ปุ่น #BYD #EV
#กรุงเทพธุรกิจ #กรุงเทพธุรกิจBusiness #กรุงเทพธุรกิจAuto #EV #จีน
โฆษณา