9 ธ.ค. 2023 เวลา 02:30 • ธุรกิจ

“Foshan Haitian” บริษัทซีอิ๊วใหญ่สุดในโลก มูลค่าหายไป 2 ล้านล้าน ใน 2 ปี

ถ้าพูดถึงแบรนด์ซีอิ๊วไทยที่ทุกคนรู้จัก ก็คงเป็นตราเด็กสมบูรณ์
3
ถ้าเป็นโชยุหรือซีอิ๊วญี่ปุ่น ก็คงเป็นยี่ห้อ Kikkoman
แต่ถ้าถามว่าเจ้าของซีอิ๊วใหญ่สุดในโลก มาจากประเทศอะไร คำตอบก็คือ “ประเทศจีน”
เรากำลังพูดถึง Foshan Haitian
รู้ไหมว่า บริษัทเจ้าของซีอิ๊วจีนแห่งนี้ แม้จะไม่ค่อยคุ้นหูเราเท่าไร แต่เคยมีมูลค่าสูงถึง 3.6 ล้านล้านบาท เมื่อ 2 ปีก่อน
แต่ปัจจุบัน มีมูลค่าเหลือเพียง 1.1 ล้านล้านบาท มูลค่าหายไป 7 ใน 10 หรือ 2.5 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปี
เรื่องราวของผู้ผลิตซีอิ๊วใหญ่สุดในโลก เป็นอย่างไร
แล้วทำไมปัจจุบัน มูลค่าของบริษัทถึงหายไปมหาศาล ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ถ้าพูดถึงจุดเริ่มต้นของ Foshan Haitian
เราต้องย้อนกลับไปที่จีนเมื่อ 300 กว่าปีที่แล้ว ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ยุคทองของราชวงศ์ชิง
โดย Foshan Haitian เป็นร้านขายซีอิ๊วและซอสปรุงรส ประจำเมือง Foshan มีจุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจครอบครัว
จนในปี 1995 Foshan Haitian ได้สร้างโรงงานผลิตซีอิ๊วขึ้นมา
บริษัทแห่งนี้กลายมาเป็นบริษัทร่วมทุน ระหว่างเอกชนและรัฐบาล
หลังจากนั้น Foshan Haitian ขยับขยายธุรกิจมาเรื่อย ๆ ทั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใน แตกไลน์สินค้า และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย
2
จนทำให้ Foshan Haitian กลายมาเป็นบริษัทผลิตซีอิ๊วและเครื่องปรุงรส ที่มีกำลังการผลิตมากสุดเป็นอันดับ 1 ของจีน
2
ที่มีสินค้าขายดี คือ ซีอิ๊ว น้ำมันหอย และซอสปรุงรส
ต่อมาในปี 2014 จากร้านขายซีอิ๊วสมัยราชวงศ์ชิง Foshan Haitian ก็ได้กลายมาเป็นบริษัทมหาชน และได้ IPO เข้าสู่ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้
โดย Foshan Haitian มีมูลค่าบริษัทตอน IPO อยู่ที่ 301,300 ล้านบาท
ตั้งแต่ปี 2014 ไปจนถึงปี 2020 รายได้และกำไรของ Foshan Haitian เติบโตมาโดยตลอด
- รายได้เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี
- กำไรเติบโตเฉลี่ย 22% ต่อปี
จนเมื่อต้นปี 2021 มูลค่าบริษัทของ Foshan Haitian สูงถึง 3.6 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 12 เท่า ในเวลา 7 ปี
แต่ในปัจจุบัน Foshan Haitian มีมูลค่าบริษัทเหลืออยู่เพียง 1.1 ล้านล้านบาท คำถามคือเกิดอะไรขึ้น ?
เรามาดูผลประกอบการของ Foshan Haitian ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากันก่อน
1
ปี 2020
รายได้ 112,000 ล้านบาท
กำไร 31,000 ล้านบาท
1
ปี 2021
รายได้ 123,000 ล้านบาท
กำไร 33,000 ล้านบาท
ปี 2022
รายได้ 126,000 ล้านบาท
กำไร 30,000 ล้านบาท
1
จะเห็นว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งรายได้และกำไรของ Foshan Haitian ไม่ได้เติบโตดีเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย
อย่างแรกเลยก็คือ Foshan Haitian ไม่สามารถขยายตลาดเพิ่มเติมได้ พูดง่าย ๆ เลยก็คืออิ่มตัวแล้ว
ถึงแม้จะเป็นพี่ใหญ่ในตลาดซีอิ๊วมาโดยตลอด แต่ส่วนแบ่งตลาดของ Foshan Haitian อยู่ที่ราว 15%
นั่นเป็นเพราะ คนจีนในแต่ละพื้นที่ มีวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างกัน ทำให้รสชาติของซีอิ๊วที่ถูกปากนั้น แตกต่างกันไปด้วย
ซึ่งเราสามารถดูได้จากรายได้ของบริษัทซีอิ๊วเจ้าอื่น ๆ ในจีน โดยที่แต่ละเจ้าจะมีรายได้หลัก มาจากแต่ละภูมิภาคต่างกันไป เช่น
- Qianhe Flavor มีรายได้หลัก 40% มาจากภาคตะวันตก
- Jiajia Food มีรายได้หลัก 35% มาจากภาคกลาง
- Foshan Haitian มีรายได้หลัก 25% มาจากภาคเหนือ
เพราะคนจีนในแต่ละภูมิภาค มียี่ห้อซีอิ๊วในใจไม่เหมือนกัน เลยทำให้ Foshan Haitian แย่งส่วนแบ่งตลาดจากภูมิภาคอื่นได้ยาก
เรื่องต่อมาก็คือ Foshan Haitian ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้มากนัก
เพราะสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัท ขายในตลาดซีอิ๊วแบบ Mid-Low End
กลุ่มลูกค้าของ Foshan Haitian เลยมีความอ่อนไหวต่อราคามากกว่า ถ้าขึ้นราคา ก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะเปลี่ยนไปซื้อยี่ห้ออื่น
โดยครั้งล่าสุดที่ Foshan Haitian ปรับราคาขายขึ้น คือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้อีก แม้ต้นทุนวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้นมาแล้วก็ตาม
ซึ่งจุดนี้ เราสามารถดูได้จากอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัท ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 42.2% ในปี 2020
เหลือเพียง 35.7% ในปี 2022
เหตุผลต่อมา คือ จุดแข็งในการควบคุมต้นทุนที่บริษัทเคยมี ถูกคู่แข่งไล่ทันแล้ว
ถ้าลองดูจะเห็นว่า อัตรากำไรสุทธิของ Foshan Haitian สูงถึง 24% ซึ่งเป็นเพราะบริษัทมีความสามารถในการควบคุมต้นทุน
Foshan Haitian มีต้นทุนอยู่ที่ 1,470 บาทต่อตัน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 1,860 บาทต่อตัน
ที่ Foshan Haitian สามารถควบคุมต้นทุนได้ดี ก็เพราะเป็นรายใหญ่ และยังมีกระบวนการผลิตต่าง ๆ ที่ควบคุมโดยระบบอัตโนมัติ แทบไม่ต้องใช้คน
แต่ความสามารถในการควบคุมต้นทุน ก็ถูกไล่ตามทันแล้ว โดยตอนนี้บริษัทคู่แข่งอย่าง Qianhe Flavor มีต้นทุนต่อตันอยู่ที่เพียง 1,240 บาทแล้ว
1
โดย Qianhe Flavor คือบริษัทซอสและเครื่องปรุงรสจากเสฉวน ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้เช่นเดียวกัน ตอนนี้มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท
อีกเหตุผลสำคัญเลยก็คือ การสูญเสียความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน จากปัญหาความไม่มีมาตรฐาน
เมื่อปลายปี 2022 มีรายงานออกมาว่า ซีอิ๊ว Foshan Haitian ที่ขายในจีน กับต่างประเทศนั้น มีส่วนผสมที่แตกต่างกัน
1
โดยสูตรที่ขายในต่างประเทศ จะมีแค่วัตถุดิบจากธรรมชาติ แต่ที่ขายในจีนจะมีวัตถุเจือปนอาหาร เช่น วัตถุกันเสีย หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาล..
2
ซึ่งแม้ Foshan Haitian จะออกมาชี้แจงแล้วว่า สูตรเป็นไปตามมาตรฐานและกฎระเบียบ แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาได้
จากเหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้รายได้และกำไรของ Foshan Haitian ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เติบโตดีเท่าช่วงก่อนหน้านี้
ซึ่งก็ได้ส่งผลต่อมายัง ราคาหุ้นของบริษัท
ที่ปรับตัวลงมากถึง 70% นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม มูลค่าของ Foshan Haitian หายไป 2.5 ล้านล้านบาท
ในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี
ถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า Foshan Haitian กำลังเจอกับความท้าทายในหลายด้านพร้อม ๆ กัน ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่า บริษัทซีอิ๊วใหญ่สุดในโลกแห่งนี้ จะแก้เกมอย่างไร..
โฆษณา